อาเธอร์ ปาปาส : ประธานเทคนิคคนใหม่ บุรีรัมย์ เจ๋งไหม ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
ชื่อของ อาเธอร์ ปาปาส กลายมาเป็นที่รู้จักกันในวงการฟุตบอลไทยหลังจากเขารับงานในตำแหน่งประธานเทคนิคของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ตัวของเขานั้นมีโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดา เคยเป็นผู้ช่วยของ อังเก้ ปอสเตโคกลู ในสมัยที่คุมทีม โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส เป็นแชมป์ เจ ลีก ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
ความเจ๋งของ ปาปาส นั้นมีที่มาอย่างไรกันบ้าง? ก่อนมารับตำแหน่งประธานเทคนิคกับ บุรีรัมย์ เคยผ่านงานใดที่เกี่ยวข้องกับการคุมทีมหรือไม่? หน้าที่ของเขาในปัจจุบันต้องทำอะไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ไม่ใช่แค่ผู้ช่วยธรรมดา
พื้นเพของ ปาปาส ที่เชื้อสายเป็นชาวกรีซ ที่มาอาศัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เขาเริ่มก้าวเข้ามาในวงการฟุตบอลด้วยการเป็นนักเตะตั้งแต่อายุ 16 ปี พร้อมกับเรียนรู้ศาสตร์ของการเป็นโค้ชไปด้วย เมื่ออายุได้ 25 ปี ตัวเขาก็ตัดสินใจแขวนสตั๊ด เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่เข่า ซึ่งผ่านการผ่าตัดมาแล้วถึง 6 ครั้ง
ปาปาส มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะเป็นโค้ชฟุตบอลอาชีพ แล้วด้วยศักยภาพที่โดดเด่นของเขาทำให้ได้การคัดเลือกจากประธานเทคนิคของสมาคมฟุตบอลประเทศออสเตรเลียอย่าง ร็อบ บาน และ ฮันส์ แบร์เกอร์ ในปี 2008 ให้ได้รับทุนการศึกษามาเรียนต่อกับสถาบันกีฬาประเทศออสเตรเลีย
เขาตัดสินใจย้ายมาเมืองเมลเบิร์น มาเรียนที่เมืองแคนเบอร์ร่า ในปี 2009 โดยเข้าอบรมหลักสูตรการเป็นโค้ชฟุตบอลจาก KNVB (สมาคมฟุตบอลประเทศเนเธอร์แลนด์) โดยมีอาจารย์ที่แนะแนวทาง คือ แยน เวอร์สไลเยน เฮดโค้ชชาวเนเธอร์แลนด์ที่รับหน้าทีคุมทีมชาติออสเตรเลีย ยู-17 และ ยู-20 อยู่ในตอนนั้น
ปาปาส ได้รับประสบการณ์ในการทำงานสายโค้ชจริงๆ กับทีมชาติออสเตรเลียชุดเยาวชน เรียนรู้ศาสตร์ด้านการวิคราะห์เกมเชิงลึก, การพัฒนาเยาวชน และ การวางแผนการเล่นต่างๆ จนมีดีกรีระดับสามารถคุมทีมได้จริง จนภายหลังเจ้าตัวไปอบรมต่อจนได้ ยูฟ่า โปรไลเซนส์ จาก เอเอฟซี มาครองแล้วในวัย 43 ปี
โดยตัวของ ปาปาส เคยกล่าวถึงความคิดเห็นส่วนตัวในการเลือกเส้นทางสายโค้ชฟุตบอลเอาไว้ว่า
“ผมรู้สึกว่าการอบรมต่างๆ เพื่อเป็นโค้ช มันมีที่มาจากการพัฒนาองค์ความรู้แบบเป็นระบบ เก็บประสบการณ์เรียนรู้จากการทำงานจริง ไม่ใช่ศึกษาเพียงแค่ในหนังสือเพียงอย่างเดียวถึงจะเกิดประโยชน์”
ในปี 2010 ปาปาส วัย 30 ปี ได้รับโอกาสให้นั่งแท่นเป็นผู้จัดการทีมเต็มตัวครั้งแรกกับสโมสร โอ๊คเล่ห์ แคนน่อนส์ ในศึก วิคตอเรียน พรีเมียร์ลีก ซึ่งเขากลายเป็นผู้จัดการทีมที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ พาทีมขึ้นนำเป็นจ่าฝูงยาวๆ ผ่านข้ารอบ เพลย์ ออฟ มีโอกาสได้ชิงแชมป์ แต่น่าเสียดายที่ต้องพลาดหวังไป แต่ผลงานของเขาก็เพียงพอที่จะได้รับการโหวตให้รับรางวัล “โค้ชยอดเยี่ยมแห่งปี” ที่มีอายุน้อยที่สุดอีกด้วย
ต่อมาช่วงปลายปี 2011 ปาปาส ก็กระโดดไปรับงานกับสโมสร นิวคาสเซิ่ล เจ็ทส์ โดยรับหน้าที่เป็นโค้ชทีมชุดใหญ่ พร้อมกับควบตำแหน่งเฮดโค้ชทีมเยาวชน ต่อด้วยการไปรับงานคุมทีมชาติอินเดีย ยู-23 พร้อมร่วมงานกับ ร็อบ บาน ในการผลักดันการสร้างอะคาเดมี่ขึ้นมา เพื่อหวังสร้างเยาวชนฝีเท้าดีมาเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมชาติในอนาคต
บทบาทของเขาไม่หยุดเพียงแค่นั้น ปาปาส ได้รับการแแต่งตั้งให้ไปเป็นเฮดโค้ชของสโมสร ไพลัน แอร์โรวส์ ในศึก ไอ ลีก ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นสโมสรพันธมิตรกับสมาคมฟุตบอลอินเดีย ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี ให้มีเกมการลงสนามแข่งขันจริง
ต่อจากนั้น ปาปาส ก็ยังเก็บประสบการณ์ทำงานต่อด้วยการคุมทีม เดมโป สปอร์ตส คลับ ที่เคยมีดีกรีเป็นแชมป์ลีกถึง 3 สมัย ก่อนจะย้ายไปรับหน้าที่ผู้ช่วยผู้จัดการทีมให้กับ เอฟซี โกอา ที่มีเฮดโค้ช คือ ซิโก้ ตำนานนักเตะทีมชาติบราซิล
เส้นทางการเป็นโค้ชของ ปาปาส ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีแวะกลับไปรับงานคุมทีมในออสเตรเลียกับ โอ๊คเล่ย์ แคนน่อนส์ และ กรีน กัลลี่ย์ เอสซี ต่อด้วยการไปรับตำแหน่งผู้ช่วยกับสโมสร อัล อิตติฟัก ในลีก ซาอุดิอาระเบีย รวมไปถึงรับงานเป็นที่ปรึกษาให้กับศูนย์พัฒนาศักยภาพเยาวชนชื่อว่า ดับเบิ้ล พาส ในประเทศเบลเยี่ยม และกลับไปนั่งแท่นผู้ช่วยที่สโมสร นอร์ธอีสต์ ยูไนเต็ด ในอินเดีย
สุดท้ายเส้นทางการทำงานในวงการของเขาก็มาบรรจบกับ อังเก้ ปอสเตโคกลู ด้วยการนั่งแท่นเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม พาสโมสร โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส เถลิงแชมป์ เจ ลีก ประเทศญี่ปุ่นได้ในรอบ 15 ปี โดยมีส่วนในการวางแผนการซ้อม และ การะัฒนาในส่วนอื่นๆ ของทีมที่เขาสามารถใช้ประสบการณ์ก่อนหน้านี้มาช่วยได้
หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้รับงานคุมทีมเต็มตัวในประเทศญี่ปุ่นกับสโมสร คาโกชิม่า ยูไนเต็ด ในปี 2020 ซึ่งเป็นทีมในระดับ เจ 3 แต่อยู่ในตำแหน่งได้ไม่นานก็ต้องแยกทางกัน เพราะเหตุผลส่วนตัวที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ก่อนที่เขาจะหันไปรับงานคุมทีมอีกครั้งในประเทศออสเตรเลียกับสโมสร นิวคาสเซิ่ล เจ็ทส์ ก่อนจะมาลงเอยกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในตำแหน่งประธานเทคนิคในปัจจุบัน
ดราม่าก่อนมาไทย
ก่อนทาง ปาปาส จะมารับงานกับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ต้องยอมรับกันตามตรงว่า เขาจบเส้นทางกับอดีตต้นสังกัดอย่าง นิวคาสเซิ่ล เจ็ทส์ ได้ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก แม้ว่าจะอยู่กับทีมนานถึง 2 ปี ได้คุมทีมลงดวลกับคู่แข่งมาราว 53 เกมก็ตามที
ปัญหาของ เจ็ทส์ เป็นเรื่องของเจ้าของทีมคนเก่าอย่าง มาร์ติน ลี ที่ถังแตกไม่สามารถหาเงินมาอัดฉีดเข้าสโมสรในการบริหารส่วนต่างๆ ได้ตั้งแต่ปี 2021 ดังนั้นเขาจึงถูกยึดสิทธิ์การเป็นเจ้าของทีมไปในที่สุด แล้วกลายเป็นว่า เจ็ทส์ ต้องพยายามหาเจ้าของใหม่มาเทคโอเวอร์ แต่ปรากฏว่า การดำเนินการต่างๆ นั้นยืดเยื้อจนหาจุดที่ตกลงกันได้ไม่ลงตัวสักที
ซึ่งเมื่อเจอปัญหาแบบนี้เข้าทาง ปาปาส ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์สับต้นสังกัดตรงๆ เอาไว้ว่า
“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ใครจะเป็นโค้ช หรือ นักเตะของทีมจะมีใครได้ลงเล่นกันบ้าง แต่ควรไปให้ความสำคัญกับความมั่นคงของสโมสรในการบริหารมากที่สุด”
“ตัวผมและคณะกรรมการบริหารปลื้มใจนะที่ยังมีเจ้าของทีมคนเก่าทำหน้าที่อยู่ แต่มันก็ผ่านมาสามปีแล้วที่ปัญหานี้ยังไม่ก้าวข้ามไปสู่ยุคใหม่สักที มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขายทีมและถ้าคุณไม่อยากเสียทีมของคุณไป มันเป็นการเล่นแง่แล้ว ยังไงถ้าคุณไม่มีสิทธิ์การเป็นเจ้าของอย่างถูกต้อง สุดท้ายคุณก็ต้องเสียมันไปทั้งหมดอยู่ดี”
“ผมคิดว่าตอนนี้ถ้ามีการเซ็นสัญญาระดับปรากฎการณ์ประจำซีซั่นนี้เกิดขึ้นกับ เจ็ทส์ คงเป็นที่สโมสรหาเจ้าของทีมคนใหม่มาได้นั่นแหละ”
ก่อนหน้านี้ ปาปาส เคยพยายามหาทางพัฒนาทีม ด้วยให้ความสนใจที่จะเซ็นสัญญากับนักเตะฝีเท้าดี ดีกรีไม่ธรรมดา อย่าง แจ็ค วิลเชียร์ อดีตกองกลางพรสวรรค์สูงของ อาร์เซน่อล แต่ทุกอย่างต้องล่มไปเพราะสภาพการเงินของสโมสร
สุดท้ายแล้ว เชน แม็ตทิสเค่ ประธานของทีม นิวคาสเซิ่ล เจ็ทส์ ก็ต้องออกมายอมรับตามตรงว่า ปาปาส หายตัวไปเฉยๆ จากทีม แต่ตัวของเฮดโค้ชรายนี้ก็เคยมีเปรยๆ ออกมาแล้วว่า ต้องการกลับไปหาความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งพวกเขาคงทำได้แต่ยอมรับการตัดสินใจ แม้ว่าจะเสียดายฝีมือของโค้ชรายนี้มากก็ตาม
สู่ตำแหน่งประธานเทคนิค
หลังจากที่ ปาปาส เจรจาได้อย่างลงตัวกับ ปราสาทสายฟ้า แล้วตัดสินใจมารับงานในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในตำแหน่งประธานเทคนิค (Tecnical Director, Sporting Director หรือ Director of Football) ซึ่งแฟนบอลอาจจะเคยได้ยินบุคคลชื่อดังในวงการลูกหนัง อาทิ เอดู (อาร์เซน่อล), ซิกี้ เบกิริสไตน์ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้) หรือ มิชาเอล ซอร์ก (โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์) ซึ่งย่อมมีความสงสัยว่าพวกเขามีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง?
หากจะลงลึกในเรื่องของรายละเอียดในแต่ตำแหน่งเกี่ยวกับความรับผิดชอบหลัก ทั้งสามตำแหน่งย่อมมีความแตกต่างออกไปในหน้าที่พอสมควร แต่ภาพรวมในการทำงานนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่บ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับสโมสรผู้ว่าจ้างเป็นคนกำหนดว่า ประธานเทคนิค นั้นต้องทำอะไรบ้างมากกว่า
ปาปาส ที่นั่งแท่นประธานเทคนิค ถือว่าเป็นหนึ่งในผู้บริหารของทีม คอยแชร์วิสัยทัศน์เพื่อวางกลยุทธในการทำทีมระยะกลางและระยะยาว ต้องทำงานร่วมกับเจ้าของทีมและเฮดโค้ช เพื่อกำหนดปรัชญาและทำให้มั่นใจได้ว่าถูกนำไปใช้จริง
เป้าหมายคือการกำหนดให้แนวทางของทีมมุ่งไปสู่เป้าหมายแบบถูกทิศถูกทาง ไม่ได้ใช้วิธีการแบบเร่งรัดวัดความสำเร็จในระยะเวลาสั้นๆ ด้วยการเซ็นสัญญานักเตะและผลักดันเยาวชนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ เพื่อเป็นกำลังหลักให้กับทีมในระยะยาว
งานหลักของ ปาปาส ในตำแหน่งนี้ที่ต้องทำจริงๆ คือ การพัฒนาทีมให้ก้าวไปข้างหน้าตามความคาดหวังที่ถูกวางไว้ มองหานักเตะที่มีทัศนคติและการวางตัวที่เข้ากับแนวทางของทีมเข้ามา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทีม โดยต้องขึ้นอยู่กับแนวทางการเล่นของทีม
อาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเองเข้ามาช่วยเสริม บวกกับถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นไปสู่นักเตะเยาวชนในอคาเดมี่ ให้ซึมซับแนวทางการเล่นของทีมให้ได้มากที่สุด เพื่อวันหนึ่งจะได้ก้าวมาเป็นตัวเลือกให้กับทีมชุดใหญ่ในอนาคต
ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น การต่อสัญญานักเตะ, การหาสตาฟฟ์โค้ชกับแมวมองเข้ามาช่วย หรือการมีส่วนตัดสินใจเรื่องการลงโทษทางวินัยของนักเตะ ร่วมกับบอร์ดบริหารคนอื่นๆ ในทีมที่มีอำนาจ ต้องมาดูที่ข้อกำหนดและการตกลงของแต่ละสโมสรอีกที
โดยทาง ไมค์ ริกก์ ผู้อก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการกีฬา กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“การวางกลยุทธระยะยาว และการนำรากฐานของการบริหารในแผนกต่างๆ ในสโมสรฟุตบอลมามีส่วนร่วมที่เป้าหมายเดียวกัน ควบรวมงานต่างๆ ให้เชื่อมโยงและดำเนินการไปแบบไหลลื่น เพื่อเค้นศักยภาพของทุกภาคส่วนออกมาให้มากที่สุด แล้วเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสโมสร คือหน้าที่หลักของตำแหน่งนี้ ซึ่งมันจะเป็นผลดีต่อทั้งวงการฟุตบอลและการทำธุรกิจไปพร้อมๆ กัน”
แน่นอนว่าบุคคลภายนอก ย่อมไม่มีทางรู้ได้ทั้งหมดว่า หน้าที่ของ ปาปาส กับสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นั้นมีรายละเอียดที่ครบถ้วนอย่างไรบ้าง แต่ถ้ามองจากโปรไฟล์ที่ผ่านมาของเขา ทั้งการคุมทีม, พัฒนาเยาวชน และ การเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม ที่ผ่านเรื่องการวางแผนการซ้อม วิเคราะห์เกม มองหานักเตะใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพ แปลว่าคอนเนคชั่นและศักยภาพของเขา ที่ทำให้สามารถไปรับงานได้ทั่วทวีปเอเชียในหลายลีก ย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Arthur_Papas
https://sqaf.club/director-of-football/
https://en.wikipedia.org/wiki/Sporting_director
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ป้องกันแชมป์ไม่ง่าย : วิเคราะห์จุดอ่อน ‘บุรีรัมย์’ หลังพ่าย ‘แบงค็อก’ ชวดถ้วยแรก