อาร์เตต้า & อาร์เซน่อล: ตัวอย่างของการอดทนและให้เวลากับโค้ชที่ทีมไทยลีกควรพิจารณา
อาร์เซน่อล ของ มิเกล อาร์เตต้า บินฉิวในพรีเมียร์ลีก ทุกคำชมตกไปถึงเฮ้ดโค้ชชาวสเปน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ปีเดียวแทบทุกคนยังบอกว่าเขามือไม่ถึงอยู่เลยด้วยซ้ำ
ความเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการได้เวลาในการทำงาน การได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารที่เชื่อมั่นและอดทน … สิ่งเหล่านี้หอมหวานในตอนท้ายของเรื่องเพราะอะไร ? ติดตามที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ไฮไลต์เกมล่าสุดของ อาร์เซน่อล
การเริ่มต้นยากเสมอ
ต่อให้เก่งแค่ไหน แต่เมื่อถึงวันที่ต้องเริ่มบทบาทใหม่ให้กับตัวเองมันก็เป็นเรื่องยากเสมอ สำหรับ มิเกล อาร์เตต้า เขาไม่เคยเป็นกุนซือใหญ่มาก่อน แม้จะเป็นมือขวาของ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า แต่นั่นก็ถือเป็นบทบาทที่เหมือนกับเงา ไม่ได้ถูกเพ่งเล็งและวิจารณ์อะไร เพราะ เป๊ป ที่เป็นเฮ้ดโค้ชต้องรับหน้าทั้งหมดสำหรับเรื่องนี้
การรับมือกับความคาดหวัง และการเริ่มงานโดยที่ไม่มีประสบการณ์คือความยากของสายงานทุกอาชีพไม่เว้นแม้แต่จอมแท็คติกอย่าง อาร์เตต้า คนที่ เป๊ป เคยออกปากชมด้วยตัวเองว่า อาร์เตต้า เป็นคนที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเยอะมาก ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วยกัน อาร์เตต้า แสดงสิ่งนั้นให้ เป๊ป เห็นอยู่ตลอด
"ผมอยากพูดถึงเรื่องนี้มากๆ แต่คุณอาจหาว่าผมโกหก เขาเคยทำงานกับผมแค่ 3 ปี เขาถูกสอนมาตั้งแต่เกิด บางทีเป็นผมด้วยซ้ำที่ต้องเรียนรู้จากเขา เมื่อตอนที่เราทำงานด้วยกัน" กวาร์ดิโอล่า กล่าว
ถึง เป๊ป จะพูดถึงความเก่งกาจของ อาร์เตต้า มาตลอด การเป็นเฮ้ดโค้ช นั้นเหมือนกับงานปราบเซียน คุณต้องรับมือกับทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นหน้าฉากหลักของสโมสรในยามที่ผลงานไม่ดี เป็นคนแรกที่จะถูกตั้งคำถามเสมอ ซึ่ง อาร์เตต้า เองก็เสียหลักกับช่วงเวลาเหล่านี้มาไม่น้อย แม้ว่าเขาจะใช้เวลาไม่กี่เดือนหลังเข้ามาคุมทีม ก่อนพาทีมคว้าเเชมป์ เอฟเอ คัพ ปี 2020
แต่หลังจากนั้นคือของจริง ฟุตบอลลีกเน้นกันที่การยืนระยะ นอกจากนี้งานที่ยากยิ่งกว่าคือการบริหารคนซื้อใจลูกทีมให้ได้ ไหนจะต้องทำให้เจ้านายเชื่อใจอีก
ซึ่งกว่า อาร์เตต้า จะผ่านเรื่องนี้มาได้ ก็กินเวลาไป 3 ปีเต็ม ๆ ซึ่งตลอดเวลา ไม่มีช่วงไหนที่ อาร์เตต้า ไม่โดนตั้งคำถามเลย ทุกการตัดสินใจของเขาไม่ว่าจะเป็นการซื้อตัว การวาง 11 ตัวจริง หรือแม้แต่แท็คติกที่หลายบอกว่าเขาเป็นได้แค่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า จีนเเดง เท่านั้น
โดยเฉพาะผลงานในช่วงต้นซีซั่น 2021-22 ที่ อาร์เซน่อล แพ้รวด 3 เกมแรก อาร์เตต้า โดนกดดันหนักมาก แฟนบอลอาร์เซน่อล ฉะแหลกถึงการทำงานของเขา นักวิจารณ์ก็บอกผ่านสื่อทุกวันว่าอาร์เตต้า มือไม่ถึงที่จะมางานใหญ่ด้วยตัวเอง
"ถึงคุณจะติดภาพอาร์เซน่อลมาจากยุคแชมป์ไร้พ่ายปี 2004 ก็ตามใจ แต่เชื่อผมเถอะ หากเจอกันตอนนี้แม้แต่ทีมอย่าง ไบรท์ตัน ก็ไล่อัด อาร์เซน่อล ไส้แตกแน่นอน" ริโอ เฟอร์ดินานด์ อดีตนักเตะของ แมนฯ ยูไนเต็ด กล่าวถึง อาร์เซน่อล ในปีนั้น และตอนที่ เฟอร์ดินานด์ พูดคำนี้ เชื่อว่าแม้แต่แฟนของ อาร์เซน่อล ก็ยังไม่อยากจะเถียงเลยด้วยซ้ำ เพราะผลงานมันฟ้องแบบนั้นจริง
อย่างไรก็ตามคล้อยหลังจากคำพูดดังกล่าวแค่ไม่กี่เดือน อาร์เซน่อล กลับกลายเป็นทีมที่อันตรายที่สุดในพรีเมียร์ลีก ทั้งในแง่ของนักเตะ แท็คติก และทัศนคติของทั้งทีม เมื่อสื่อถาม มิเกล อาร์เตต้า ว่าเขาเปลี่ยนทีม ๆ นี้ได้อย่างไร สิ่งที่ อาร์เตต้า ตอบกลับมาคือ "เวลา และความเชื่อใจ" ... ซึ่ง 2 สิ่งนี้คือสิ่งที่กุนซือบนโลกนี้ทุกคนอยากได้เป็นอย่างยิ่ง
อดทนได้หรือไม่ ?
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแม้ในช่วงเวลาที่ล้มเหลวกับ อาร์เซน่อล ในช่วงแรก ๆ อาร์เตต้า คือโค้ชที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นตัวเต็งโดนไล่ออกมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามกลับไม่เคยมีข่าวว่าจากสื่อใหญ่ ๆ หรือนักข่าวเทียร์สูง ๆ ออกมายืนยันเลยสักครั้งว่า อาร์เซน่อล จะหาโค้ชคนใหม่ให้มาแทนทีเขา .... เหตุผลเพราะพวกเขาอดทนมากพอ ซึ่งข้อนี้หาได้ยากยิ่งสำหรับฟุตบอลยุคปัจจุบัน
อาร์เตต้า มีคนที่ทำงานร่วมกันในตำแหน่งผู้อำนวยการกีฬาอย่าง เอดู ที่เข้ามาทำงานในเวลาไล่เลี่ยกัน เอดู คือคนที่ต้องรับความกดดันไม่แพ้ อาร์เตต้า ในช่วงเวลาที่แย่ พวกเขาเคยโดนวิจารณ์ว่าเป็นคู่หูแห่งความพินาศ จากการเสริมทัพที่ขัดหูขัดตาแฟนบอล โดยเฉพาะในฤดูกาลที่แล้ว (2021-22)
ในฤดูกาล 2021-22 พวกเขาก็ใช้เงินไปมากกว่า 150 ล้านปอนด์ กับนักเตะอย่าง อารอน แรมส์เดล เพื่อมาเป็นผู้รักษาประตูมือ 2, กองหลัง 3 คนอย่าง เบน ไวท์, ทาเคฮิโร โทมิยาสึ, นูโน่ ตาวาเรส และกองกลางอีก 2 คนอย่าง ซามบี้ โลก็องก้า และ มาร์ติน โอเดการ์ด
ทุกคนที่กล่าวมาโดนตั้งคำถามเกือบหมด แรมส์เดล ประตูที่ตกชั้น 2 รอบกับ บอร์นมัธ และ เชฟฯ ยุไนเต็ด ดีกว่า เอมี่ มาร์ติเนซ ตรงไหน ? เบน ไวท์ ที่แทบไม่เคยมีประสบการณ์ในเกมพรีเมียร์ลีกควรค่ากับ 50 ล้านปอนด์หรือไม่ ? โทมิยาสึ เล่นตำแหน่งไหนแน่ ? จะซื้อนักเตะใหม่ทั้งทีควรหาคนที่ใช้งานเป็นตัวหลักได้เลยดีกว่ามั้ย ? นี่คือตัวอย่างของคำถามทั้งหมดที่สะท้อนไปถึง อาร์เตต้า กับ เอดู
อย่างไรก็ตาม เอดู เป็นผู้รับหน้าเรื่องนี้ เขาและ อาร์เตต้า ปรึกษากันตลอด และนักเตะทุก ๆ คนที่ เอดู อนุมัติให้ซื้อตัว ไม่มีคนไหนเลยที่ อาร์เตต้า ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรียกได้ว่าเป็นการร่วมหัวจมท้าย และเชื่อมั่นในแผนงานระยะยาวที่ อาร์เตต้า ขายโปรเจ็คนี้ให้กับ เอดู ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาร่วมงานกัน
"อาร์เตตา มีส่วนร่วมในการเลือกซื้อผู้เล่นใหม่เสริมทัพตามปรัชญาของเขาอย่างเต็มที่แน่นอน และมันคือสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเราด้วยเช่นกัน" เอดู กล่าวในปี 2019
เอดู ให้สิทธิ์ อาร์เตต้า คัดเลือกนักเตะด้วยตัวเองโดยตั้งมาตรฐานไว้ว่า นักเตะที่จะซื้อต้องมีตัวเลขเชิงสถิติที่ดีตอบโจทย์กับสิ่งที่ทีมขาด ต้องเป็นนักเตะที่มีคาแร็คเตอร์ที่เหมาะสมกับแนวทางและระบบการเล่นของทีม ซึ่งเมื่อเวลาค่อย ๆ ผ่านไป ทั้งคู่ก็ตบซ้ายตบขวาเคาะจนทีมลงตัว
โดยเฉพาะในตลาดปี 2022-23 ที่พวกเขาได้นักเตะที่ตอบโจทย์ทุกคน ทั้ง กาเบรียล เชซุส, โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ และล่าสุดอย่าง เลอันโดร ทรอสซาร์ คำชมในการคัดเลือกนักเตะจากงบประมาณที่มีของ อาร์เซน่อล ก็ได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมาก
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
เวลาไม่ได้พิสูจน์เเค่เรื่องการซื้อตัวนักเตะเท่าน้น แต่ อาร์เตต้า ยังทำให้นักเตะเดิม ๆ ของทีมกลายเป็นนักเตะที่ดีขึ้น บูคาโย่ ซาก้า, กาเบรียล มาร์ติเนลลี่, กรานิต ชาก้า และ เอ็ดดี้ เอ็นคีเทียห์ คือนักเตะที่โดนวิจารณ์มาก็ไม่น้อย แต่ อาร์เตต้า ก็ให้ความเชื่อมั่น ส่งพวกเขาลงสนามต่อเนื่องจนเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม บวกับได้นักเตะที่ดีมาเสริม ทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง และเข้าใจระบบการเล่นของทีม อาร์เซน่อล จึงติดปีกได้ด้วยพัฒนาการของนักเตะเก่า ๆ ของพวกเขาเหล่านี้นั่นเอง
เรื่องของ อาร์เตต้า และ อาร์เซน่อล ยืนยันได้ว่าเมื่อคุณมีแผนงานที่ชัดเจน มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองลงมือทำแม้จะโดนวิจาณณ์หนักแค่ไหน และท้ายที่สุดก็คือการมีเป้าหมายเดียวกันทั้งองค์กร สิ่งเหล่านี้คือเบื้องหลังความยอดเยี่ยม ที่ตอบแทนความอดทนจนกลายเป็นผลลัพท์ที่หอมหวานในท้ายที่สุด
หันกลับมามองฟตุบอลไทย
สิ่งที่ อาร์เตต้า ได้รับจาก อาร์เซน่อล นั้นถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในวงการฟุตบอลไทย จากการเก็บสถิติในช่วง 5 ปีหลังสุด ตั้งแต่ ซีซั่น 2017 ถึง 2021-22 ไม่มีซีซั่นไหนเลยที่ทีมไทยลีกปลดโค้ชน้อยกว่า 11 คน โดยเฉพาะในปี 2018 นั้น สโมสรในไทยลีกมีการปลดโค้ชระหว่างฤดูกาลถึง 17 คนเลยทีเดียว
ส่วนสาเหตุการปลดโค้ชของทีมไทยลีกนั้นก็มีมากมายหลายกรณี เช่น ผลงานไม่ดีอย่างที่หวังหรือไม่สมกับค่าจ้าง, การไม่กินเส้นกับนักเตะซีเนียร์ในทีมที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าผู้บริหารหรือที่เรียกกันในภาษาโค้ชว่า “สูญเสียห้องแต่งตัว” นอกจากนี้ยังมีแม้กระทั่งในกรณีของโค้ชต่างชาติที่มักจะมีวิธีคิดแตกต่างกับเหล่าผู้บริหาร จนเกิดเป็นความไม่ลงรอยกัน และสุดท้ายก็นำไปสู่การปลดโค้ชในท้ายที่สุด
หากเราเอาเรื่องของ อาร์เตต้า มาเปรียบเทียบกันดู เราจะเห็นได้ว่า อาร์เตต้า นั้นได้สิ่งต่าง ๆ มากมายที่โค้ชไทยลีกยากที่จะได้รับ เช่น สิทธิ์ในการตัดสินใจซื้อนักเตะ การได้รับอำนาจสูงสุดในการปกครองทีม การได้เลือกแนวทาง เลือกใช้งานนักเตะด้วยตัวเองทั้งหมดโดยไม่มีใครมาก้าวก่าย
ย้อนกลับไปกรณีของ อาร์เตต้า อีกสักนิด เขาเคยมีปัญหากับนักเตะซีเนียร์ในทีมมาก็ไม่น้อย สุดท้ายบอร์ดบริหารก็เด็ดขาดพอที่จะให้ดาบอาญาสิทธิ์กับเขา จนทำให้ อาร์เตต้า ค่อย ๆ โละคนที่เขาไม่ใช่งาน ไม่ตอบโจทย์ และมีทัศนคติไม่ตรงกันออกไปได้ในท้ายที่สุด
ชัดเจนแบบไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือการให้สโมสรยกเลิกสัญญา ปิแอร์ เอเมอริก โอบาเมยอง ที่เป็นกัปตันทีม เพราะนักเตะมีความกระด้างกระเดื่อง ต่อต้านการทำงานของเขา ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป การค่อย ๆ เอานักเตะที่ไม่ใช่ออก และเอาคนที่เหมาะสมกับทีมเข้ามาทีละนิด ๆ สุดท้ายคำวิจารณ์ทั้งหลายก็หมดไป หากโค้ชเก่งพอ มีบารมีพอ และได้เวลาทำทีมมากพอ
การปลดโค้ชแบบง่ายเกินไปจนถูกเรียกว่า "ลีกกินโค้ช" ของไทยลีกนั้น ไม่ได้ส่งผลเรื่องคุณภาพการเล่นเท่านั้น แต่มันยังรวมถึงการพัฒนาโค้ชที่อายุน้อย ๆ โดยเฉพาะโค้ชชาวไทยด้วย เพราะการต้องการความสำเร็จแบบทันทีทันใดเหล่านี้ ทำให้ลีกไทยดูจะไม่เหมาะ หรือไม่ใช่สถานที่ฟูมฟักโค้ชหน้าใหม่ มาลองผิดลองถูกมากนัก
แน่นอนเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราเองก็ต้องเข้าใจหัวอกผู้บริหารที่ลงทุนกับทีมด้วย พวกเขามีสิทธิ์จะตัดสินใจและเห็นความเป็นไปในสโมสรแทบทุกวัน พวกเขาอาจจะคิดถูกก็ได้ในการปลดโค้ชแต่ละครั้ง เรื่องนี้ไม่มีใครรู้
แต่อย่างไรเสีย ถ้าโค้ชได้เวลาการทำทีมมากขึ้น พวกเขาก็จะเรียนรู้มากขึ้น ได้เพิ่มองค์ความรู้ในทุก ๆ วัน ทั้งในแง่ของแท็คติก การบริหารคน และการทำงานกับคนที่มีตำแหน่งใหญ่กว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้และเป็นประสบการณ์ล้ำค่า ที่หาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะมันคือสถานการณ์จริง ความกดดันจริง และการตั้งความหวังจริง
และถ้าโค้ชได้รับประสบการณ์เหล่านี้ก็จะทำให้ไทยลีกสามารถสร้างโค้ชเลือดใหม่ ที่มีผลงานดี กลายเป็นอนาคตของวงการฟุตบอลไทยได้ในท้ายที่สุด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
มาปุ๊ปร้อนปั๊ป : 7 แข้งไทยลีกที่ย้ายทีมเลก 2 แล้วปังทันที
วิลเลี่ยน พ๊อพพ์ : การกลับมา “เมืองทอง” เพื่อยืนยันว่าแข้งนอกที่เข้าขาหาใหม่ไม่ง่าย
เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิตพรีเมียร์ลีก : ศุภณัฎฐ์ ไป เลสเตอร์ ได้จริงหรือ ?
แหล่งอ้างอิง :
https://theathletic.com/3345826/2022/06/03/arteta-arsenal-squad-2022-23/
https://paininthearsenal.com/2022/08/02/3-key-tactical-principles-arsenal-improve-2022-23/
https://theathletic.com/3519993/2022/08/20/arsenal-title-evolution-arteta/