อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?

อาวุธลับที่หายไป : เพราะเหตุใดทีมชาติญี่ปุ่นยุคหลังจึงไม่มีจอมสังหารฟรีคิก?
มฤคย์ ตันนิยม

“ในฟุตบอลโลก ถ้าคุณเตะฟรีคิกได้ดี มันอาจจะเป็นตัวตัดสิน และนำไปสู่ชัยชนะได้” วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช อดีตกุนซือทีมชาติญี่ปุ่นกล่าว

ทีมชาติญี่ปุ่น ต้องหยุดเส้นทางฟุตบอลโลก 2022 ที่รอบ 16 ทีมสุดท้ายอีกครั้ง หลังพ่ายให้กับโครเอเชียในการดวลจุดโทษ ปิดฉากการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นไว้เพียงเท่านี้

ทั้งนี้ แม้ว่า “ซามูไรบลู” จะได้รับเสียงชื่นชมจากผลงานอันลือลั่น ด้วยการปราบอดีตแชมป์โลกทั้งเยอรมัน และสเปน แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงการหายไปของตัวสังหารฟรีคิก ซึ่งเคยเป็นอาวุธลับของพวกเขามาตลอด นับตั้งแต่เข้าร่วมฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1998

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทีเด็ดนี้ของญี่ปุ่นหายไป ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ยิงยังไงให้ชนะ 100% ? : เจาะเคล็ดลับการดวลจุดโทษแบบไร้พ่ายของ เยอรมัน | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สถิติไร้พ่ายในโลกฟุตบอล เป็นอะไรที่น่าทึ่ง แต่ส่วนมากมักจะอยู่ไม่เกินปีหรือสองปี ก็เป็นอันต้องหยุดลง กระนั้น ก็ยังมีอย่างหนึ่ง ที่ยังสถาพร อยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ”จุดโทษไร้พ่าย” ของทีมชาติเยอรมนี ในทัวร์นาเมนต์รายการเมเจอร์ของโลกฟุตบอล

อาวุธลับฉบับซามูไร

“ทีมชาติญี่ปุ่นไม่เคยขาดตัวยิงฟรีคิก” อาจจะไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เพราะนับตั้งแต่ ซามูไรบลู ออกมาโชว์ฝีเท้าให้โลกได้เห็น พวกเขาก็สร้างจอมสังหารฟรีคิกขึ้นมาประดับวงการได้อย่างมากมาย

ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ และ ฮิโรชิ นานามิ ที่ได้เป็นตัวเตะลูกนิ่งตอนออกไปค้าแข้งในยุโรป, ยาซูฮิโตะ เอ็นโดะ นักเตะที่เตะฟรีคิกได้ดีที่สุดในเจลีก หรือ ชุนซูเกะ นาคามูระ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในจอมสังหารลูกนิ่งที่ดีที่สุดในโลก

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าทีเด็ดนี้ จะเริ่มหายไปหลังฟุตบอลโลก 2018 เพราะลูกฟรีคิกโดยตรงที่เคยเป็นอาวุธสังหาร และสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วเอเชียและทั่วโลก

เริ่มไร้พิษสง โดยเฉพาะในทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์

Photo : Football Tribe

ยกตัวอย่างเช่น ในเอเชียนคัพ 2019 ที่ซามูไรบลู คว้าตำแหน่งรองแชมป์ พวกเขาไม่สามารถทำประตูจากลูกฟรีคิกโดยตรงได้เลยจากทั้งหมด 12 ประตูที่ทำได้ในรายการดังกล่าว และมีเพียง 3 ประตูที่มาจากลูกนิ่ง (จุดโทษ 2 เตะมุม 1)

หรือล่าสุดในฟุตบอลโลก 2022 ที่นอกจากจะไม่มีประตูจากลูกฟรีคิกโดยตรงแล้ว ขุนพลซามูไรยังไม่สามารถทำประตูได้จากลูกนิ่งแม้แต่ลูกเดียวในเวลาปกติ หรือแม้กระทั่งลูกโทษ พวกเขาก็ยิงเข้าไปเพียงแค่ลูกเดียวในเกมกับโครเอเชีย

ทั้งนี้ เหตุผลหลักก็มาจากในบรรดาตัวหลักของทีมชาติญี่ปุ่น ไม่มีใครเลยที่มีความสามารถในยิงฟรีคิกได้เทียบเท่า หรือใกล้เคียงเหล่ารุ่นพี่ หรือที่มีก็เป็นเพียงแค่ตัวสำรอง หรือไม่ได้ติดทีมชุดนี้มา

ไม่ว่าจะเป็น โชยะ นาคาจิมะ ที่ถูกคาดหมายว่าจะสานต่อเบอร์ 10 ในฐานะตัวยิงฟรีคิก ก็หลุดทีมชาติไปตั้งแต่ปี 2019, ทาเคฟูสะ คุโบะ ซึ่งเป็นนักเตะที่เล่นลูกนิ่งได้ดี ก็โชว์ฟอร์มไม่ออกในฟุตบอลโลก 2022 จนถูกดร็อปเป็นตัวสำรอง หรือ กาคุ ชิบาซากิ ก็ไม่ได้ลงเล่นแม้แต่นาทีเดียวในเวิลด์คัพฉบับอาหรับ

ที่ดีที่สุดที่ได้เล่นอยู่บ้างก็คือ ริตสึ โดอัน แต่เขาก็แทบไม่มีจังหวะได้ยิงมากนัก หรือ ยูกิ โซมะ ที่ถูกมองว่าเป็นตัวเตะลูกนิ่งที่ดีที่สุดในชุดลุยกาตาร์ 2022 ก็ทำได้อย่างน่าผิดหวัง โดยเฉพาะโอกาสในเกมพบ คอสตาริกา

Photo : The Korea Times

มันทำให้ดูเหมือนกับว่าตำแหน่งนี้เริ่มจะสูญพันธ์ไปจากวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ทั้งที่มันเคยเป็นจุดขายของพวกเขา

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในชาติที่สามารถยกระดับมาตรฐานฟุตบอลขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และเป็นระบบ ที่เห็นได้จากการที่พวกเขาเป็นขาประจำในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายตั้งแต่ปี 1998 รวมถึงสามารถส่งผู้เล่นไปค้าแข้งในลีกชั้นนำของยุโรปเป็นประจำทุกปี

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ญี่ปุ่น มีความแข็งแกร่งในระดับนานาชาติ แต่ยังทำให้โครงสร้างพื้นฐานในการฝึกซ้อมของพวกเขาพัฒนาตามไปด้วย

และที่เห็นได้ชัดคือสนามดิน ซึ่งเป็นสนามที่โรงเรียนญี่ปุ่นนิยมใช้หลายแห่ง ได้แปรเปลี่ยนเป็นสนามหญ้าเทียม หรือแม้แต่สนามหญ้าจริง ให้ผู้เล่นได้คุ้นชินตั้งแต่เด็ก  

อย่างไรก็ดี ด้วยสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น ก็ไม่ได้เป็นข้อดีเสมอไป เพราะมีข้อสังเกตุว่ามันอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นสร้างตัวยิงฟรีคิกได้น้อยลง

เนื่องจากในยุคที่ลีกกำลังตั้งไข่ สภาพแวดล้อมที่แย่ ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เหล่านักเตะพยายามดิ้นรน และต้องฝึกฝนตัวเองเพื่อให้มีจุดแข็งในการต่อกรกับคู่แข่งที่เหนือกว่า แน่นอนว่าสิ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตอนนั้นคือการฝึกยิงฟรีคิก

"ผมไม่ได้มีเทคนิคพิเศษอะไรในการเตะฟรีคิก จนมาเป็นนักเตะอาชีพ ผมรู้สึกว่านี่คือจุดแข็งของผม แต่ก่อนหน้านั้น ผมไม่ได้คิดถึงมันขนาดนั้น" ชุนซูเกะ นาคามูระ เจ้าของสถิติผู้เล่นที่ยิงฟรีคิกมากที่สุดในเจลีก กล่าวในหนังสือ 「中村俊輔式 サッカー観戦術」

Photo : Sky Sports

นาคามูระ เป็นผู้เล่นที่ฉายแววเด่นมาตั้งแต่สมัยประถม ก่อนที่ตอนมัธยมต้น เขาจะได้เข้ามาอยู่ในทีมเยาวชนของ โยโกฮามา มารินอส แต่ถูกตัดออกจากทีมตอนขึ้นมัธยมปลาย เนื่องจากโค้ชมองว่าเขาตัวเล็กเกินไป

เพื่อชดเชยในจุดนั้น นาคามูระ จึงหมั่นฝึกฝนการเตะฟรีคิก และทำอย่างสม่ำเสมอตอนอยู่ชมรมฟุตบอลของโรงเรียนมัธยมปลายโทโค กัคคุเอ็น หรือแม้กระทั่งตอนเล่นอาชีพ

“เขาไม่ได้มีแรงเตะมากนัก แต่การจ่ายบอลสั้นที่ออกมาจากเท้าซ้ายของเขานั้นสุดยอดมาก” ฮิโรคาซึ ซาคูมะ อดีตโค้ชโทโค ย้อนความหลังกับ Number

“ผมคิดว่าเขาเป็นผู้เล่นที่มองเห็นระยะไกลได้ดีมาก ถ้ามีวิสัยทัศน์กว้างไกลและจ่ายบอลได้ เขาจะเป็นผู้เล่นที่น่าสนใจหากร่างกายเขาเข้าที่”

ในตอนนั้นเขามักจะใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งหลังซ้อมไปกับการซ้อมลูกตั้งเตะ ที่รวมถึงจุดโทษ และเตะมุม จนเป็นคนสุดท้ายที่อยู่ในสนามจนกระทั่งถึงเวลาปิดไฟ และการฝึกฝนซ้ำ ๆ แบบนั้น ก็ทำให้เขากลายคนที่สามารถสร้างความแตกต่างทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ

“สภาพแวดล้อมที่แย่ คือเหตุผลที่ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น” นาคามูระให้ความเห็น

“หากแต่ละคนมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะ ‘อยากให้ตัวเองเป็นแบบนั้น’ ผมคิดว่ามันจะกลายเป็นการฝึกฝนแบบซ้ำ ๆ ตามธรรมชาติ และ ‘ฉันต้องฝึกซ้ำไปซ้ำมา’ จะเป็นสิ่งที่คุณทำได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอก”

ทว่า ยุคสมัยก็เป็นอีกปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้

Photo : Played on Paper

เทรนด์ฟุตบอลยุคใหม่

ฟุตบอลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่ทำให้เกิดเทรนด์ยอดนิยมเป็นช่วงๆ ไล่มาตั้งแต่ คาเตนัชโช่ อันลือลั่นของอิตาลี, ติกิตากะ ของสเปน, เกเก้นเพรสซิ่งของเยอรมัน หรือล่าสุดระบบกองหลัง 3 ตัว ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในสโมสรและทีมชาติ

สำหรับญี่ปุ่น พวกเขาก็ไม่ยอมตกเทรนด์เหล่านี้ และพยายามเลือกรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดมาปรับใช้ ดังที่เห็นได้จากการเปลี่ยนมาเล่นระบบกองหลัง 3 คน หลายครั้งในฟุตบอลโลก 2022 จากเดิมที่มักใช้แบ็คโฟร์เป็นหลัก

อย่างไรก็ดี เทรนด์ฟุตบอลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ทำให้รูปแบบการเล่นของซามูไรบลูเปลี่ยนไป แต่มันยังทำให้การเล่นลูกนิ่ง ซึ่งเคยเป็นอาวุธลับของพวกถูกลดความสำคัญลง

Photo : The Japan Times

เนื่องจากฟุตบอลในยุคปัจจุบันการเล่นลูกโต้กลับอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหนึ่งในวิธีหาโอกาสทำประตู ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเล่นลูกนิ่งของคู่แข่งที่ไม่สำเร็จ ทำให้ช่วงหลัง ซามูไรบลู เลือกที่จะเล่นลูกนิ่งแบบสั้น หรือใช้ลูกสูตร แทนที่จะโยนเข้าไปให้โหม่ง หรือเน้นยิงโดยตรง

หรือหากจะเน้น ส่วนใหญ่ก็จะมาเน้นกับลูกเตะมุม แต่ก็ไม่ค่อยสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะในการเจอทีมจากตะวันตก ที่ต้องยอมรับว่า รูปร่างและส่วนสูงของพวกเขาค่อนข้างเสียเปรียบอยู่มาก

“น่าจะเป็นเพราะว่าในฟุตบอลตอนนี้ เวลาทำประตูไม่ได้จากการยิงฟรีคิกโดยตรง อาจจะทำให้โมเมนตัมของเกมเปลี่ยนไป และสุดท้ายถ้าผู้เล่นเตะบอลแม่น จะถูกใช้กับลูกเตะมุมมากกว่า” คาซูชิ มิอูระ จอมเตะฟรีคิกของทีมชาติญี่ปุ่นในยุค 1980s กล่าวกับ sportiva

“ผมคิดว่าฟุตบอลญี่ปุ่นได้สร้างยอดนักเตะที่สามารถยิงฟรีคิกได้ดีในสถานการณ์ที่สำคัญ และหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมผู้เล่นแบบนี้จึงหายไปก็เพราะผู้เล่นที่ฝึกฟรีคิกอย่างจริงจังน้อยลงกว่าเดิม

Photo : BBC

อย่างไรก็ดี อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือรูปแบบการซ้อมที่เปลี่ยนไป

ในยุคก่อนนักเตะญี่ปุ่นเป็นชาติที่ซ้อมกันหนักมาก เพราะนอกจากพวกเขาจะขึ้นชื่อในฐานะคนทำงานหนักแล้ว มันยังมาพร้อมกับความหวังที่จะยกระดับฝีเท้าให้ทัดเทียมกับตะวันตก

แต่ในปัจจุบัน การซ้อมมากเกินจำเป็น อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ทั้งร่างกายอ่อนล้า กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงกลายเป็นโรค Overtraining Syndrome ที่จะทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน (ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับผู้เล่นระดับทีมชาติอย่าง ชูอิจิ กอนดะ) จึงทำให้โค้ชหลายคนไม่ค่อยแฮปปี้ ที่นักเตะอยู่ฝึกพิเศษเองหลังการซ้อมปกติ

“โดยพื้นฐานแล้ว ถ้าคุณซ้อมยิงฟรีคิก คุณก็จะยิงได้ แค่ฝึกซ้อม ผมคิดว่านักเตะสมัยนี้ไม่ว่าใครก็ยิงได้” คิมูระ กล่าวต่อ

“แต่จากสภาพปัญหาในปัจจุบัน ผมเดาว่าผู้จัดการทีมไม่ชอบให้ใครยังคงอยู่ที่สนามเพื่อฝึกต่ออีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ มันจึงเสียเวลาที่จะฝึกมัน (ระหว่างซ้อม)”

นอกจากนี้ ด้วยความที่ฟุตบอลยุคใหม่เน้นสภาพร่างกายมากขึ้น เวลานอกจากการซ้อมส่วนใหญ่ หากไม่พักผ่อน ก็จะหมดไปกับการเข้ายิมเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แทนที่จะได้ฝึกยิงฟรีคิกเหมือนในยุคก่อน

อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ  

Photo : NDTV Sports

ตามหาต่อไป

อันที่จริง คนในวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ก็รับรู้เรื่องนี้มาตลอด และพยายามออกมาเน้นย้ำถึงความสำคัญในตำแหน่งนี้ ผ่านบทความ นักวิจารณ์ ผู้สันทัดกรณี หรือแม้กระทั่งอดีตกุนซือทีมชาติญี่ปุ่น

หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า แม้ว่าคุณภาพโดยรวมของนักเตะญี่ปุ่น จะแข็งแกร่งขึ้นมากกว่าในอดีต แต่หากพวกเขาต้องการจะต่อกรกับชาติระดับโลก พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องมีตัวยิงฟรีคิกที่ไว้ใจได้ เพื่อสร้างความแตกต่าง หรือตัดสินใจเกม

เหมือนที่ครั้งหนึ่ง นาคาตะ ยิงฟรีคิกพาญี่ปุ่น เข้าชิงชนะเลิศ คอนเฟดเดอเรชั่นคัพ 2001 ในเกมพบออสเตรเลีย หรือ หรือตอนที่ ยาซูฮิโตะ เอ็นโด และเคซูเกะ ฮอนดะ ช่วยกันทำคนละประตูในเกมเอาชนะ เดนมาร์ก 3-1 และพาทีมผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์ในฟุตบอลโลก 2010 ได้สำเร็จ

(แนบคลิป https://www.youtube.com/watch?v=k1YK0e-UWNg )

“ในฟุตบอลโลก ถ้าคุณเตะฟรีคิกได้ดี มันอาจจะเป็นตัวตัดสิน และนำไปสู่ชัยชนะได้” วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ที่เคยคุมทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงปี 2015-2018 กล่าวกับ football-zone.net  

“แต่ต้องฝึกนักเตะในหลากหลายด้าน ทั้งสภาพจิตใจ แทคติก และเทคนิค ไปพร้อมกัน”

แน่นอนว่ามันจำเป็นต้องใช้เวลา ในการสร้างนักเตะที่ยิงฟรีคิกได้ดีเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับรุ่นพี่ แต่มันจะเป็นการรอคอยที่คุ้มค่า และหากญี่ปุ่นทำได้อีกครั้ง พวกเขาจะกลายเป็นหนึ่งในทีมที่น่ากลัว ที่ไม่ใช่แค่เอเชีย แต่อาจเป็นระดับโลกก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

https://number.bunshun.jp/articles/-/830399

https://sportiva.shueisha.co.jp/clm/football/jfootball/2020/09/25/fk/

https://www.football-zone.net/archives/75389

https://www.nikkansports.com/soccer/qatar2022/news/202211290000885.html

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ