แฟน ๆ แห่ดูลิงค์เถื่อน : มองปัญหาไทยลีก สู่วิธีแก้ระดับพรีเมียร์ลีก
ไทยลีก กำลังประสบปัญหาในการขายแพ็คเกจดูฟุตบอลไทยลีกในซีซั่นนี้ เนื่องจากมีการตรวจพบการดูแบบไม่ถูกลิขสิทธิ์ หรือ "ลิงค์เถื่อน" มากถึง 400,000 วิว จนทำให้คนไม่สนับสนุนลิขสิทธิ์แท้
ปัญหานี้เกิดขึ้นกับทุกลีกทั่วโลกโดยเฉพาะลีกยอดฮิตอย่างพรีเมียร์ลีก ซึ่งโดนปัญหา "ลิงค์เถื่อน" หนักกว่าไทยลีกหลายเท่า แล้วพวกเขาแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ? ... ลองไปดูกันดีกว่าว่าไทยลีกจะลองใช้วิธีเหล่านี้ได้หรือไม่ ?
เดิมพันด้วยการเป็นลีกยอดนิยม
ไม่ต้องสงสัยว่า พรีเมียร์ลีก ของอังกฤษ คือลีกยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกนี้ และการเป็นที่นิยมหมายความว่าพวกเขาจะตกเป็นที่สนใจของกลุ่มมิจฉาชีพที่จะฉวยโอกาส "ขโมยสัญญาณ" เอาไปถ่ายทอดสดแบบเถื่อนมาโดยตลอด
การถูกขโมยสัญญาสร้างปัญหาใหญ่มาก เพราะถ้าหากไม่แก้ไข ผู้คนจะหนีจากของแท้ที่มีราคาสูง ไปสู่ของเถื่อนที่ไม่ต้องจ่ายเงิน หรือจ่ายน้อยกว่าหลายเท่า ซึ่งเรื่องนี้ทางพรีเมียร์ลีกก็รู้ดี พวกเขาไม่ได้นิ่งเฉย และได้ปราบปรามเรื่องนี้อย่างหนัก นับตั้งแต่ยุคอินเตอร์เน็ตเฟื่องฟู
ถึงตอนนี้ พรีเมียร์ลีกแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และมันก็ได้ผลอย่างคุ้มค่าเพราะราคาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกเวลานี้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดย 1 ฤดูกาล มีค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 1.6 แสนล้านบาท(อ้างอิงจากข้อมูลของ ทรู วิชั่น ที่เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในซีซั่นนี้)
นี่แค่เจ้าเดียวเท่านั้นพวกเขายังขายลิขสิทธิ์ได้มากขนาดนี้ เหตุผลเดียวที่ พรีเมียร์ลีก ทำได้คือพวกเขาแก้ปัญหาลิงค์เถื่อนอย่างจริงจังทำให้ลูกค้าของพวกเขามั่นใจได้ว่าเมื่อซื้อลิขสิทธิ์แท้ พวกเขาจะได้ทั้งความสะดวกสบาย และไม่โดนใครมาเอาเปรียบจากสัญญาณเถื่อนอย่างแน่นอน พวกเขาแก้ไขปัญหานี้ยังไง ? ลองไปดูกัน
คนผิดต้องไม่มีที่ยืน
ความจริงจังในการปราบลิงค์เถื่อนของพรีเมียร์ลีกนั้นเข้มมากถึงขนาดที่ว่า พวกเขาจะไปเคาะประตูบ้านของคนดูที่ดูถ่ายทอดสดแบบผิดลิขสิทธิ์เพื่อเเจ้งว่า "พวกคุณกำลังทำผิดกฎหมาย" กันเลยทีเดียว
มีการระบุว่า พรีเมียร์ลีก จ่ายเงิน "จำนวนมาก" เพื่อทำให้เข้าถึงผู้กระทำความผิดง่ายขึ้น ไม่ว่าจะในทางของเทคโนโลยี หรือทางกฎหมาย
วิธีดังกล่าวถูกเปิดโดย แม็ตต์ แม็คเนลลิส เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลคดีนี้ได้เผยกับ เดอะ มิร์เร่อร์ ว่า "มันอยู่ที่ว่าคุณจะเอาจริงกับเรื่องนี้แค่ไหน เพราะทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่ม่คุณตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ในโลกอินเตอรืเน็ตได้ง่ายมาก"
"เราตรวจสอบข้อมูลผ่านกลยุทธ์ทางดิจิทัล หาตัวคนที่กำลังละเมิดลิขสิทธิ์ได้ นั่นหมายความว่าหากคุณอยู่ในสหราชอณาจักรและคุณกำลังดูสตรีมมิ่ง หรือเผยแพร่สัญญาณแบบผิดลิขสิทธิ์เป็นประจำ ชื่อของคุณจะอยู่ในฐานข้อมูล และแน่นอนว่าคุณจะถูกตำรวจไปเคาะประตูบ้านได้"
จากจุดนี้คุณสามารถเข้าใจได้เลยว่าพรีเมียร์ลีก จ่ายเงินเป็นพิเศษเพื่อทำให้การจับผู้ทำผิดกฎหมายง่ายขึ้น พวกเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศ จับมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี, หน่วยอาชญากรรมทรัพย์สินทางปัญญา
พวกเขาเอากฎหมายมาชี้ขาดแบบไม่มีข้อต่อรอง ไม่การทำเป็นเล่น และเมื่อคุณโดนจับคุณจะวุ่นวายแบบที่ตัวเองคาดไม่ถึงแน่นอน ... มันไม่ใช่แค่การจับ - ปรับ - ปล่อย แต่มันคือการโดนดำเนินคดีทางกฎหมายถึงขั้นติดคุกติดตารางเลยทีเดียว
จับจริงไม่ใจดี
"ถ้าคุณเป็นคนที่ดูลิงค์เถื่อน คุณคือหนึ่งในผู้ทำความผิด และคุณจะได้รับผลกระทบแน่นอน ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกค้า หรือผู้ปล่อยสัญญาณเถื่อน คุณจะถูกตามตัวได้ ไม่ช้าก็เร็ว" แม็ตต์ แม็คเนลลิส บอกเช่นนั้น และเขามีกรณีตัวอย่างเพื่อเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วย
เรื่องนี้เกิดขึ้นสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทำความผิดที่ขโมยสัญญาณถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกไปใช้ภายใต้ชื่อสตรีมมิ่ง Flawless , Shared VPS และ Optimal เชื่อหรือไม่ว่าแค่ 3 ชื่อนี้ที่โดนจับได้ ก็สร้างความเสียหายให้พรีเมียร์ลีกเป็นมูลค่าถึง 7 ล้านปอนด์ (ราว 310 ล้านบาท) ผ่านลูกค้าจำนวนกว่า 50,000 คนทั่วประเทศ
พวกเขาถูกตรวจสอบผ่านสัญญาณ และเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลงพื้นที่จับกุมทันที สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือเขาถูกจับขึ้นศาล ก่อนจะถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลานานถึง 30 ปี ... ซึ่งนี่คือข่าวดังสุด ๆ ในช่วงที่ผ่านมา และทำให้ธุรกิจดูบอลเถื่อนในอังกฤษหลายเจ้าปิดตัวลงเพื่อหนีการถูกจับกุมในลักษณะนี้ทันที
เควิน พลัมท์ ที่ปรึกษาทั่วไปของพรีเมียร์ลีกกล่าวว่า “การพิจารณาคดีในวันนี้เป็นผลมาจากการดำเนินคดีที่ซับซ้อนและยาวนานต่อการดำเนินการที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามในการนำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และสะท้อนถึงความรุนแรงและขอบเขตของอาชญากรรม"
“การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนของความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างการละเมิดลิขสิทธิ์และอาชญากรรมในวงกว้าง ซึ่งเป็นคำเตือนที่เราทำมาแล้วหลายครั้ง และเราจะทำต่อไปอย่างไม่มีวันหยุดแน่นอน" เขาทิ่งท้ายในแบบที่ผู้ทำผิดหลาย ๆ คนต้องหวั่นใจ และมันยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้
ส่วนในปีนี้ ขณะที่ไทยลีกประสบปัญหาลิงค์เถื่อน พรีเมียร์ลีก ก็เจออยู่ไม่ต่างกัน แต่พวกเขามีมาตรการรองรับที่ประกาศตั้งแต่ก่อนฟุตบอลลีกจะเริ่มกลับมาแข่งขันกันเเล้ว นอกจากการลุยจับถึงที่แล้ว พวกเขายังมีแคมเปญ Boot out Piracy ที่ให้นักเตะออกมาแสดงพลังต่อต้านการถ่ายทอดสดแบบผิดลิขสิทธิ์อีกด้วย
แน่นอนว่าขณะที่ผู้ทำผิดหลายเจ้ากลัว แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่พยายามคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อปกปิดความผิด สิ่งที่ทางพรีเมียร์ลีกทำคือการใช้มาตรการที่ชื่อว่า "Super Block" นั่นคือการใช้เทคโนโลยีมาแข่งกับผู้ทำความผิด เพื่อปิดทุกช่องโหว่ ให้ปัญหาลิงค์เถื่อนลดน้อยลงให้ได้ ซึ่งที่สุดแล้ววิธีการ "เจาะถึงพื้นที่ เคาะถึงประตูบ้าน" ยังคงเป็นสิ่งที่พรีเมียร์ลีกใช้อยู่ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มในส่วนนี้ ทว่าพวกเขาก็ชั่งน้ำหนักมาอย่างดีแล้วว่า การไล่ไปจนถึงต้นตอ จะส่งผลในระยะยาว และทำให้มูลค่าลิขสิทธิ์ของพวกเขาสูงขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่
หากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ พรีเมียร์ลีก ยอมเสียเวลาและงบเล็กน้อย ๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์ก้อนใหญ่ที่สุดที่พวกเขามีนั่นเอง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ประทุม ชูทอง : นักสู้มืออาชีพแห่งโลกบอลเดินสาย
เปิดใจ ‘เบ็ค-สมเกียรติ คุณมี’ : ทำไมตัวท็อป ‘ฟ็อกซ์ฮันท์’ ถึงเลือกเส้นทางบอลเดินสาย ?