แพงแปลก ๆ ? : เมื่อ ‘เจ้าชายนโรดม รวิจักร์’ ซื้อ แซงต์ เอเตียนน์ ไม่ได้เพราะ...
เป็นที่ทราบกันดีว่าเชื้อพระวงศ์จากประเทศกัมพูชาหลายท่าน กำลังพยายามเดินหน้าการลงทุนในธุรกิจฟุตบอลทั่วโลก รวมไปถึงสโมสร โปลิศ เทโร ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามความมุ่งหวังของ เจ้าชาย นโรดม รวิจักร์ ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีในการเดินหน้าเรื่องการเสาะหาสโมสรฟุตบอลชั้นนำจากทั่วโลกมาบริหาร ก่อนหน้าที่จะมาลงเอยกับ โปลิศ เทโร เขาเคยยื่นข้อเสนอขอเทคโอเวอร์สโมสรในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นยักษ์หลับแดนน้ำหอมอย่าง ‘แซงต์ เอเตียนน์’ มาแล้ว
เพียงแต่การซื้อขายสโมสร แซงต์ เอเตียนน์ ไม่เกิดขึ้นด้วยเหุตผลบางประการ และนักข่าวที่ชื่อว่า Jack Adamović Davies ได้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวผ่านบทความที่น่าสนใจ ว่าด้วยเรื่องเหตุผลที่ดีลมูลค่ามหาศาลของ ราชวงศ์กัมพูชา กับทีมจากฝรั่งเศสไม่เกิดขึ้น ?
ปัจจุบัน แซงต์ เอเตียนน์ ตกชั้นมาเล่นอยู่ในศึก ลีก เดอซ์ กำลังหาหนทางกลับไปสู่ดิวิชั่นสูงสุดอย่าง ลีก เอิง ซึ่งผลงานแต่ละซีซั่นกำลังกระเตื้องขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วตอนนี้ก็รั้งอยู่ในอันดับ 3 ของตารางคะแนน มีลุ้นพื้นที่เลื่อนชั้นอัตโนมัติหรือพื้นที่ เพลย์ ออฟ อยู่ในเวลานี้
อย่างไรก็ตามการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายกินระยะเวลานานมาหลายเดือน แล้วยังไม่ได้ข้อสรุปที่ลงตัวกันเสียที ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดส่อท่าว่า ‘ดีลล่ม’ เกือบจะแน่นอนแล้ว เนื่องจากปัญหาเอกสารและเงินทุนที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังที่ไม่น่าไว้ใจซ่อนอยู่ เรื่องราวดังกล่าวเป็นเช่นไร? เหตุใดทางสโมสรจึงเลือกที่จะปัดข้อเสนอมูลค่าราว 100 ล้านยูโรทิ้ง? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ประเด็นการปลอมแปลงเอกสารการเงิน
เรื่องสำคัญที่ทางเจ้าของสโมสร แซงต์ เอเตียนน์ ตรวจสอบและพบว่าเอกสารทางการเงิน มีความผิดปกติ คือ จดหมายรับรองโปรเจ็คท์การเทคโอเวอร์มูลค่า 100 ล้านยูโร ที่ดูไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร แล้วดูเหมือนว่าจะเป็นการปลอมแปลงขึ้นมา โดยทำขึ้นในช่วงวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา
จดหมายรับรองฉบับดังกล่าว การันตีโปรเจ็คท์การเทคโอเวอร์มูลค่า 100 ล้านยูโร โดยธนาคารใหญ่ระดับโลกจากประเทศเยอรมันอย่าง ‘Deutche Bank (ดอยช์ แบงค์)’ แต่ไม่ระบุชื่อโครงการชัดเจนว่าใช้ในการเทคโอเวอร์สโมสรใด มีการกล่าวไว้ในเอกสารว่าใช้เงินก้อนดังกล่าวกับ โปรเจ็คท์กีฬา
แถมตัวคนเซ็นรับรองก็เป็น มาร์คัส เชงค์ (Marcus Schenck) อดีตผู้บริหารของธนาคารแห่งนี้ ซึ่งลาออกจากตำแหน่งไปในปี 2018 แล้วดูเหมือนว่าเครดิตและชื่อเสียงในวงการลงทุน จะดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่นัก
ยิ่งไปกว่านั้นผู้รับผลประโยชน์ หากดีลการเทคโอเวอร์สโมสร แซงต์ เอเตียนน์ สำเร็จถูกระบุเอาไว้ว่าเป็นบริษัท Prolan Trading Pte Ltd ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีทางเจ้าชาย นโรดม ริวิจักร์ เป็นตัวแทนและลงพระนามกำกับไว้ในเอกสาร
ซึ่งน่าแปลกที่บริษัทนี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาในเดือนพฤษภาคม หลังจากทางเจ้าของทีมในฝรั่งเศส เพิ่งจะยืนยันความตั้งใจในการขายทีมแค่เดือนเดียว แต่ได้รับการรับรองในการเป็นผู้รับผลประโยชน์ก้อนโตในอนาคต แล้วพอทางหุ้นส่วนของ Prolan อย่าง โมฮัมเหม็ด ไมดีน ทราบเรื่องดังกล่าว ก็พยายามติดต่อไปทางธนาคาร ดอยช์ แบงค์ เพื่อระงับเรื่องนี้ทันทีหลายรอบ แต่ปรากฎว่า ไม่มีการตอบกลับมาแต่อย่างใด
นอกจากนี้เรื่องของชื่อบริษัท Prolan อาจเป็นการลงชื่อ ‘ผิด’ บริษัท ซึ่งอาจเป็นความผิดพลาดของผู้ดูแลเรื่องการทำเอกสารและหุ้นส่วนในการเทคโอเวอร์อย่าง ฟิลิป ซูลี่ ที่อาจสับสนระหว่าง Prolan Group SA ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นการทำธุรกิจของเจ้าชาย นโรดม รวิจักร์
โดยทางเจ้าชาย นโรดม ริวิจักร์ ยังได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อในแดนน้ำหอมอย่าง เลอ กิ๊ปส์ เอาไว้ถึงเรื่องนี้ว่า
“ถ้าจะมีคนผิดในเรื่องนี้ คงเป็นใครสักคนที่เกี่ยวกับการจัดทำเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นทาง Prolan หรือ ดอยช์ แบงค์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนตัวผมเองมองว่าไม่ได้มีส่วนร่วมที่จะถูกตำหนิกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น”
ด้านบริษัท Prolan ทั้งจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ สิงคโปร์ ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในรอบนี้ โดยเฉพาะทางฝ่าย Prolan Trading แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ผู้บริหารไม่ได้รับทราบหรือยินยอมเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว แล้วไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการทำธุรกิจครั้งนี้
เงินทุนลึกลับ
หากความสัมพันธ์ระหว่าง ซูลี่ และ เจ้าชาย นโรดม รวิจักร์ ไม่ได้รับการแก้ไขจนกลับมาคุยกันต่อไม่ได้ ทว่าทางฝ่ายเจ้าชายจากกัมพูชาก็ไม่ได้เดือดร้อนในการหาเพื่อนร่วมทุนรายใหม่ เนื่องจากตัวของเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักธุรกิจเงินหนามากมายอยู่ในมือ
ซึ่งตัวของเขาได้เกริ่นกับ เลอ กิ๊ป เอาไว้ถึงเรื่องเงินทุนในการเทคโอเวอร์ก้อนโตว่า
“ผมไม่เคยเริ่มการเจรจาที่ข้อเสนอระดับ 100 ล้านยูโร เงินทุนนี้มาจากชาวจีน”
ข้อเสนอแรกที่ทางเจ้าชาย เจ้าชาย นโรดม รวิจักร์ ยื่นเข้าไปให้ แซงต์ เอเตียนน์ พิจารณาอยู่ที่ราว 30 ล้านยูโร โดยมีการการันตีเงินทุนจาก Soteria Capital กองทุนการเงินชื่อดังจากฮ่องกง ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของธนาคารใหญ่อย่าง Bank of Asia แล้วเขาจะนั่งแท่นเป็นผู้บริหารร่วมกับน้องชายอย่าง เจ้าชาย นโรดม นรินทรพงษ์
อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวถูกทาง แซงต์ เอเตียนน์ ปัดตกไปเพราะว่า Soteria Capital เกี่ยวข้องกับเงินทุนส่วนตัวของราชวงศ์กัมพูชา ซึ่งยากที่จะตรวจสอบที่มาที่ไปของเส้นทางการเงินได้ แล้วมีการนำเงินทุนไปพัฒนาหลายเรื่องในบ้านเกิดของพวกเขา
ยิ่งไปกว่านั้นเส้นทางการเงินของ Bank of Asia ที่เป็นธนาคารดิจิตอล ยังรับฝากทรัพย์สินของนักธุรกิจมากมายที่ไม่รู้จะเอาไปฝากไว้ที่ธนาคารไหน ซึ่งเป็นเงินทุนลึกลับจากหลากหลายแหล่งที่มา ทำให้การตรวจสอบเส้นทางการเงินนั้นยุ่งยากและซับซ้อนเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ แล้วเคยมีกรณีการรับฝากเงินก้อนโตหลักพันล้านดอลล่าร์ที่ตรวจสอบไม่ได้ จนเกิดการขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาแล้ว ซึ่งสุดท้ายจบที่คดีดังกล่าวนั้นเงียบหายไป
ความคิดเห็นของนักข่าวสายฟุตบอลอย่าง เจมส์ มอนตากี มองว่า มหาเศรษฐีทั่วโลกพยายามเข้ามาลงทุนในธุรกิจฟุตบอล ซึ่งหากตรวจสอบเส้นทางการเงินกันจริงๆ จังๆ อาจพบความผิดปกติมากมายกับหลายสโมสรในวงการลูกหนัง
หากมีใครสักคนพยายามรวมรวมหลักฐาน ต่อจิ๊กซอว์ชิ้นต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อปะติดปะต่อเรื่อง จะสามารถตรวจสอบวิธีการทำกำไรจากธุรกิจสโมสรฟุตบอลได้ เนื่องจากทีมฟุตบอลนั้นไม่ใช่ทัพย์สินทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นตัวแทนของสถาบันสังคมกลุ่มหนึ่งด้วย
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ข่าวและบทความล่าสุด