แพสชั่นมา! ย้อนดู JAS กับการทำทีมฟุตบอลสู้ศึกไทยลีก

แพสชั่นมา! ย้อนดู JAS กับการทำทีมฟุตบอลสู้ศึกไทยลีก
Korkit PS

ข่าวที่สั่นสะเทือนวงการฟุตบอล คงหนีไม่พ้น จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ปิดดีลซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และ เอฟเอ คัพ ของอังกฤษ เป็นเวลาขั้นต่ำ 3 ปี มูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท

ภาพ : Jasmine International

ซึ่งหากพูดว่า จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล คนก็อาจจะยังไม่เก็ต แต่หากพูดชื่อว่า 3BB (ที บรอดแบนด์) หรือ MONO29 คนก็อาจจะร้องอ๋อ และคุ้นเคยเป็นอย่างดี

แต่หากใครเป็นคอฟุตบอลไทย หรือแม้แต่คอกีฬา ก็จะรู้ไปอีกว่า พวกเขาคือเจ้าของทีมฟุตบอลอย่าง บีบีซียู เอฟซี และ ทีมบาสเกตบอล อย่าง โมโน แวมไพร์ ซึ่งเรื่องราวสมัยที่พวกเขาทำ บีบีซียู ก็ถือว่าอลม่านตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ามามีบทบาท จนถึงวันสุดท้ายทีเดียว เรื่องราวเป็นอย่างไร คิดไซด์โค้ง จะเล่าให้ฟัง

ภาพ : BB-CU Football Club

จุดเริ่มต้นของ บีบีซียู แท้จริงแล้วทีมนี้ก็คือ สโมสรสินธนา ทีมอดีตแชมป์ไทยลีก ซึ่งมีที่มากับการสร้างทีมในชุมชนเล็กๆ ย่านบางกะปิ ของ มนตรี สุวรรณน้อย นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในชื่อของ 'บางเตย'

ภาพ : สมบัติ ลีกำเนิดไทย

พัฒนาการของ ทีมบางเตย กลายเป็นที่กล่าวขานจากผลงานในฟุตบอลบางกะปิ คัพ กระทั่งทีมตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อปี 2531 ในชื่อของ 'บางเตย-สุวรรณน้อย' ก่อนจะกลายเป็น 'สินธนา' และใช้เวลาเพียง 4 ปี เลื่อนชั้นมาเล่นถ้วยพระราชทาน ก ในที่สุด

ทีมสินธนา ใช้เวลาเล่นในไทยลีก ตั้งแต่ซีซั่นแรก (1996/97) จนถึงปี 2003/04 โดยในช่วงเวลานั้น สินธนา ประสบความสำเร็จอย่างสูง ด้วยการคว้าแชมป์ถ้วยพระราชทาน ก 2 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย และแชมป์ไทยลีก ในปี 1998 ซึ่งเป็นความฝันของ มนตรี ที่จะสร้างทีมไปคว้าแชมป์ไทยลีกให้ได้

โดยใช้ขุมกำลังพลังหนุุ่ม ที่ส่วนใหญ่เป็นแข้งจากรั้ว 'อินทรีแดง' ร.ร.อัสสัมชัญ ทั้ง ธนัญชัย บริบาล, นิเวศ ศิริวงษ์, ประนุพงษ์ ปิ่นสุวรรณ, กิตติศักดิ์ ระวังป่า, สันติ ไชยเผือก ผสมกับแข้งที่อยู่กับทีมอย่าง เศกสรรค์ ปิตุรัตน์, ศัตรูพ่าย ศรีณรงค์, สุรชัย จิระศิริโชติ, ธงชัย อัครพงศ์, อนัน พันแสน, พนิพล เกิดแย้ม ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวทางที่ทีมสร้างกันมา โดยมี 'สันนิบาตฯ สมุทรปราการ' เป็นทีมสำรอง ก่อนจะโอนสิทธิ์ให้กลุ่มชลบุรี ดูแล หลังมีการแข่งขัน ดิวิชั่น 1 ครั้งแรก ในปี 1997

ภาพ : ฟุตบอลสยาม / Tommy Bar

กระทั่งพิษเศรษฐกิจในปี 1997 ส่งผลถึงสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงผลงานของทีมที่ย่ำแย่ ส่งผลให้ ทีมหมู่บ้านจัดสรร ถึงขั้นตกชั้นถึง 2 ปีติดจากตกชั้นสู่ ดิวิชั่น 1 และ สู่ถ้วยพระราชทาน ข. ก่อนที่จะร่วมมือกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำทีม ผ่านความสัมพันธ์ของ มนตรี และ ดร.จุฑา ติงศภัทย์ ที่เป็น 'น้องพี่สีชมพู' โดยใช้ชื่อว่า 'จุฬาฯ-สินธนา' และใช้ผู้เล่นที่เป็นนิสิตของมหาวิทยาลัย ลงเล่น

ภาพ : Juta Tingsabhat

ซึ่งทีมเริ่มต้นไต่เต้าจากระดับ ดิวิชั่น 2 จนกลับมาเล่นใน ดิวิชั่น 1 เรื่อยมาจนสามารถเลื่อนชั้นกลับสู่ไทยลีกได้สำเร็จในปี 2008 ภายใต้การทำทีมของ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ซึ่งพาทีมจบถึงอันดับ 8 ของตาราง ก่อนจะย้ายไปคุม ชลบุรี เอฟซี ในปีต่อมา

ภาพ : OKNation / Doona

แต่ภายหลัง ก็มีกรณีการทวงสิทธิ์ของฝั่ง สินธนา ซึ่งเรื่องนี้ยืดยื้อในช่วงที่ทีมเลื่อนชั้นมาเล่นในไทยลีก ซึ่งมีความพยายามทวงสิทธิ์ทีมคนจากฝั่งสินธนา ถึง 2 ครั้ง คือในปี 2008 และ 2014 ซึ่งฝั่ง จุฬาฯ เองก็แก้เกมโดยจดทะเบียนนิติบุคคลเป็น จุฬา ยูไนเต็ด แต่ยังมีความร่วมมือกับจุฬาฯ จนถึงปี 2011 โดยมี อดิศัย โพธารามิก นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (ในเวลานั้น) เป็น ประธานสโมสร โดยมีกลุ่มทุนที่เป็น 'นิสิตเก่า' และ 'คอนเนกชั่นทางธุรกิจ' เข้ามาร่วมลงขัน ทั้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง, พันธ์เลิศ ใบหยก และ ฐาปน สิริวัฒนภักดี

และเมื่อหมดสัญญาความร่วมมือกัน และฝั่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทีมที่เลื่อนชั้นมาเล่นในลีกอาชีพ (จามจุรี ยูไนเต็ด) ทำให้ทีมตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก จุฬา ยูไนเต็ด มาเป็น 'บีบีซียู เอฟซี' และไม่เกี่ยวข้องกับฝั่งจุฬาฯ อีกต่อไป

ภาพ : BB-CU Football Club

และการที่พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับ จุฬาฯ นั่นทำให้เป็นอีกหนึ่งทีมที่ต้องเปลี่ยนรังเหย้าเป็นว่าเล่น ไล่ตั้งแต่ สนามกีฬากองทัพบก, ราชมังคลากีฬาสถาน, ธันเดอร์โดม สเตเดียม และมาจบที่สนามศูนย์เยาวชน เทศบาลนครนนทบุรี

ผลงานของทีมในช่วงเวลานั้น พวกเขาเลื่อนชั้นกลับมาเล่นไทยลีก 2 ครั้ง คือฤดูกาล 2012 และ 2016 แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดีนัก โดยจบอยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายเป็นส่วนใหญ่ (2012 จบอันดับที่ 17 และ 2016 จบอันดับที่ 18)

กระทั่งซีซั่น 2017 ที่พวกเขาหล่นไปเล่นไทยลีก 2 วีรยุทธ โพธารามิก ผู้จัดการทีม ได้ติดต่อถึง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ขอยุบทีมดื้อๆ ก่อนเกมลีก ที่จะเดินทางไปแข่งขันกับ สงขลา ยูไนเต็ด ในวันที่ 29 เมษายน เพียงวันเดียว รวมถึงยกเลิกการฝึกซ้อมทั้งหมด!

ซึ่งผลพวงการยุบทีมแบบฟ้าผ่า ส่งผลถึงการแข่งขันแบบเลี่ยงไม่ได้ เพราะช่วงเวลานั้น ไทยลีก 2 ลงแข่งขันไปเพียง 11 เกม และทีมเพิ่งจะแข่งขันฟุตบอลลีกคัพไปไม่นาน และทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน ต้องยกเลิกผลทั้งหมด

ภาพ : BB-CU Football Club

นอกจากนี้ การประกาศยุบทีมแบบดื้อๆ ก็ทำให้นักฟุตบอลหลายต่อหลายคนได้รับผลกระทบ เนื่องจากช่วงเวลานั้นนักฟุตบอลในทีมหลายคนต้องหาเงินมาผ่อนบ้านและรถ อีกทั้งยังได้เงินเดือนเฉพาะเดือนที่ยุบทีมเพียงเดือนเดียว

เหนือสิ่งอื่นใด ทีมๆ นี้ก็แจ้งเกิดนักฟุตบอลหลายต่อหลายรายบนวงการฟุตบอลไทย ทั้ง ปกาศิต-ปวริศ แสนสุข, กฤษกร เกิดผล, ประสิทธิ์ เทาดี, วุฒิชัย-ชัยณรงค์ ทาทอง, นฤพล พุดซ้อน, ปฏิภัทร รอบรู้ รวมถึง อัครวินท์ สวัสดี อีกด้วย

ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งที่ตัดสินใจยุติทำทีม บีบีซียู ส่วนหนึ่งมาจากการที่ทีมเบนเข็มไปทำทีมบาสเกตบอลอย่าง โมโน แวมไพร์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2014 หรือช่วงเวลาเดียวกับการแยกตัวออกมาเป็น บีบีซียู ซึ่งมีการลงทุนทำสนามแข่งขัน และสร้างกระแสจนเป็นที่พูดถึงในวงการบาสเกตบอลเมืองไทย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพ : Vampire sports

ซึ่งทีมก็ดำเนินการมาถึงปี 2020 ภายหลังจากฝ่ายบริหารของทีม ขอยุติการส่งแข่งเนื่องจาก 'ไม่เป็นธุรกิจหลัก' ของเครือโมโน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ทำให้ทีมตัดสินใจพักทีมในศึก ASEAN Basketball League พร้อมกับปิดตำนานทีมกีฬาในเครือโมโนในที่สุด

ข้อมูลอ้างอิง

แชร์บทความนี้
ขมิ้นน้อยบนหลังเสือ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ