แรร์ขึ้นหิ้ง : เหตุผลที่ ยูโกสลาเวีย 1990 เป็นเสื้อบอลที่นักสะสมตามหากันทั้งโลก
หนึ่งในเรื่องราวที่แฟนบอลหลายๆท่านให้ความสนใจไม่แพ้การแข่งขันฟุตบอลโลก นั่นคือเสื้อประจำทีมชาติ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการดีไซน์เสื้อที่แตกต่างกันออกไป ลวดลายบนเสื้อล้วนแล้วแต่มีความหมายซ่อนอยู่ มีทั้งเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และความสวยงาม
สิ่งเหล่านี้ทำให้แฟนบอลนักสะสมหลายคนตามเก็บสะสมเสื้อทีมชาติในแต่ละปีเอาไว้เพราะมีคุณค่าทางใจ ทำให้เสื้อบางตัวมีราคาแพงขึ้นตามความหายาก ตามความต้องการในตลาด แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่ามีเสื้ออีกหนึ่งประเทศที่หายากมากๆ และเป็นที่ต้องการของนักสะสมมากมายทั่วโลก ที่เรียกได้ว่า “ขึ้นหิ้ง” เลยก็ว่าได้ นั่นคือ “เสื้อทีมชาติยูโกสลาเวีย ปี 1990 รุ่นสุดท้าย”
Think Curve - คิดไซด์โค้ง จะพาทุกคนมาค้นหาเหตุผลว่าทำไมเสื้อตัวนี้ถึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก
ความหมายที่ซ่อนอยู่
เสื้อในหลายๆทีมชาติมักออกแบบมาให้ลวดลายบนเสื้อนั้นมีความหมาย เพื่อที่จะสะท้อนจุดยืนและตัวตนของประเทศตัวเอง เช่น เสื้อทีมชาติเยอรมันในฟุตบอลโลก 1994 ลายปีกนกอินทรี ที่มีสีเหลือง บ่งบอกถึงการเอื้ออาทร สีแดงบ่งบอกถึงความกล้าหาญ สีดำบ่งบอกถึงความแน่วแน่
หรือเสื้อทีมชาติเม็กซิโกในฟุตบอลโลก 1998 ที่การออกแบบแสดงให้เห็นถึงปฏิทินแอซเท็กหรือหินของดวงอาทิตย์โดยมีใบหน้าของเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางเสื้อ ได้รับการออกแบบโดย ริคาร์โด้ กุซมาน เขาใช้เวลาในการร่างแบบเสื้อเพียง 30 นาทีเท่านั้น ซึ่งทำให้เขาได้รับเหรียญรางวัลจากประเทศ และมีชื่อเสื้อโด่งดังในฐานะผู้ออกแบบเสื้อที่สวยงามตัวนี้
แต่ยังมีเสื้ออีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของตัวมันเอง โดยที่ลวดลายอาจไม่ได้สวยงามมากและไม่ได้มีความหมายอะไรลึกซึ้งเลย เช่น เสื้อทีมชาติฝรั่งเศสในฟุตบอลโลก 1998 ด้วยความสำเร็จของทีมชาติฝรั่งเศสใน France '98 จบลงด้วยการคว้าแชมป์สมัยแรกของฝรั่งเศสในฐานะเจ้าภาพ
หรือจะเป็นเสื้อทีมชาติโครเอเชีย 1998 ที่ได้รับการยอมรับจากแฟนๆว่าเป็นเสื้อที่คลาสสิกมากๆตัวหนึ่ง ตัวเสื้อถูกพิมพ์เพียงตารางสีแดงและสีขาวตามเอกลักษณ์ของธงโครเอเชีย แต่ด้วยการออแบบที่มีความทันสมัย ถึงแม้จะผ่านไปกี่ทศวรรษแฟนๆนักสะสมหลายคนยังคงตามหาเสื้อแข่งสุดคลาสสิกตัวนี้เพื่อมีไว้ในครอบครอง
อย่างไรก็ตาม “เสื้อบอลสุดแรร์” ที่นักสะสมตามหากันทั้งโลก ณ ตอนนี้ยังไม่มีใครล้มแชมป์เสื้อของทีมชาติ ยูโกสลาเวีย ในฟุตบอลโลกปี 1990 ได้ … เสื้อนี้อาจจะไม่ได้มีดีไซน์โฉบเฉี่ยวแตกต่าง แต่มันมีเรื่องราวมากกว่านั้นซ่อนอยู่
เสื้อทีมชาติฟุตบอลโลกตัวสุดท้าย
ย้อนกลับไปก่อนนี้ โลกเราเคยมีประเทศยูโกสลาเวีย และมีนักฟุตบอลฝีเท้าดีเก่งๆหลายคนไม่ว่าจะเป็น ดราแกน สตอยโควิช,เดยัน ซาวิเชวิช หรือ ซโวนิเมียร์ โบบัน
ทีมชาติยูโกสลาเวีย ปี 1990 เป็นหนึ่งในชาติยอดฝีมือของยุโรปตะวันออก ซึ่งสามารถผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลก 1990 ได้อีกด้วย นอกจากดีไซน์ที่ไม่เหมือนใครแล้วนั้น เรื่องราวของเสื้อตัวนี้คือ เป็น “เสื้อตัวสุดท้ายในนามของทีมชาติยูโกสลาเวีย”
ก่อนที่จะมีสงครามกลางเมืองในช่วง 1991-2001 และยูโกสลาเวียถูกแบนห้ามแข่งขันจนกระทั่งล่มสลายแตกออกเป็น 6 ชาติ โครเอเชีย มาซิโดเนีย มอนเตรเนโกร บอสเนีย เซอร์เบีย ในปัจจุบัน
แต่หลายคนอาจสงสัย … เอ๊ะ ทำไมฟุตบอลโลกปี 1998 ก็ยังมีทีมชาติยูโกสลาเวียอยู่ ซึ่งมีการแบ่งประเทศไปรอบนึงเเล้ว แต่เนื่องจากการจัดการแข่งแข่งฟุตบอลโลก 1998 ยังอยู่ในระหว่างเหตุการณ์สงความการเมือง ทำให้ยังต้องส่งชื่อทีมว่า ยูโกสลาเวีย แข่งไปก่อน แต่ก็มีทีมชาติอย่าง โครเอเชีย และทีมชาติเซอร์เบีย (ในชื่อเซอร์เบียและมอนเตเนโกร) ที่ส่งชื่อในนามของทีมชาติตัวเองในการแข่งขันเช่นกัน
นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเสื้อตัวนี้แล้ว ความโดดเด่นของชุดนี้คือ แม้จะเป็นชุดที่ถูกออกแบบโดยแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่ชื่อดังอย่าง Adidas แต่นี่คือชุดบอลที่แตกต่างที่สุด ที่ Adidas เคยทำมา พวกเขาไม่เคยดีไซน์รูปแบบนี้ให้กับทีมชาติไหนๆเลย เช่น เยอรมันตะวันตก, เนเธอร์แลนด์, อาเจนติน่า, และรีพับบริคออฟไอร์แลนด์ ซึ่งรูปแบบของทีมข้างต้นจะเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมด ด้วยรูปแบบและธีมที่แตกต่างออกไป ลวดลายที่มากกว่า ยิ่งทำให้ชุดนี้เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น
และเสื้อทีมชาติยูโกสลาเวียชุดนี้ไม่เคยถูกวางขายใน Shop ของ Adidas เลย แม้กระทั่งก่อนฟุตบอลโลก 1990 เริ่ม ดังนั้นทำให้เสื้อตัวนี้มีจำนวนน้อยมาก ๆ บนโลก
ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า ยิ่งเก่ายิ่งแพง
ของสะสมที่มีคุณค่าทางจิตใจ ยิ่งเก่ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีราคาเพิ่มมากเท่านั้น โดยเฉพาะนักสะสมส่วนใหญ่มักให้คุณค่ากับ เวลา เรื่องราว ประวัติศาสตร์ ยิ่งเป็นรุ่น Limited ตามหาได้ยาก มีจำนวนน้อยก็ยิ่งมีราคาที่สูงขึ้น และหากมีความต้องการมากขึ้นราคาก็จะยิ่งสูงอีกเช่นกัน
จากเสื้อบอลที่ขายทั่วไปในแต่ละฤดูกาล บางตัวมันอาจจะดูไม่สวยเลยและไม่เป็นที่ถูกใจของแฟนบอล แต่หากเป็นเสื้อที่อยู่ในช่วงฤดูกาลที่มีความสำคัญของทีม เช่น ทีมสามารถคว้าแชมป์ได้ หรือ ครบรอบ 100 ปี มันจะกลายเป็นเสื้อที่มีมูลค่าและกลายเป็นที่ต้องการขึ้นมาทันที เช่น
เสื้อทีมชาติฝรั่งเศสในฟุตบอลโลก 1998 เมื่อออกวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็จะมีราคาเท่ากันหมดทั่วโลก แต่เนื่องจากฝรั่งเศสสามารถคว้าแชมป์โลกครั้งแรกของพวกเขาได้โดยการสวมใส่เสื้อชุดนั้น ก็ทำให้ราคาหลังจากการวางขายอย่างเป็นทางการสูงขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปนับ 10 20 ปี ก็ยิ่งทำให้ราคาเสียงพุ่งขึ้นอีก และอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ราคาสูงขึ้นเพราะในปัจจุบันพวกเราไม่สามารถหาซื้อเสื้อชุดตัวนั้นได้จากตลาดหรือช็อปทั่วไป โดยชุดนี้เลิกผลิตไปแล้ว ทำให้ต้องหาซื้อจากนักสะสมเท่านั้น
และโดยเฉพาะเสื้อทีมชาติยูโกสลาเวีย 1990 เป็นเสื้อทีมชาติรุ่นสุดท้ายของประเทศ และไม่มีการวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทำให้สามารถเรียกได้เลยว่า เป็นเสื้อที่ Limited มากๆ จำนวนน้อย หาซื้อได้ยาก และเลิกผลิตแล้ว แถมยังเป็นประเทศที่ไม่มีอยู่แล้วบนแผนที่โลก ยิ่งทำให้มีคุณค่าทางการเวลา จิตใจ มากขึ้น ราคาก็ยิ่งสูงขึ้น และหากมันผ่านไปเป็น 100 ปี มีหรือที่ราคาของมันจะไม่แพงมหาศาล
และด้วยเรื่องราว ประวัติศาสตร์ ดีไซน์เสื้อที่แตกต่าง เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เสื้อทีมชาติยูโกสลาเวีย 1990 ตัวนี้ กลายเป็นตำนานและขึ้นหิ้งในฐานะเสื้อฟุตบอลสุดหายากและเป็นที่หมายปองของนักสะสมทั่วโลก
แหล่งอ้างอิง
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR