ไหนว่าผิดกฎ : เหตุใดแฟนบอลลีกซาอุฯ จึงจุดแฟลร์จนควันคลุ้งสนามได้ ?
ฟุตบอลลีกซาอุดิอาระเบียคู่บิ๊กแมทช์ ระหว่าง อัล-นาสเซอร์ พบ อัล-อาห์ลี สองทีมเงินถุงเงินถังที่มีซูเปอร์สตาร์เต็มทีม เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
นอกจากความมันระดับ 5 ดาว ที่มีประตูให้ชมกันอย่างจุใจ (อัล-นาสเซอร์ ชนะ 4-3) ประตูแรกที่เกิดขึ้นจากฝีเท้าของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก็ได้รับความสนใจจากแฟนบอลทั่วโลก ด้วยทัศนียภาพในสนามที่ค่อนข้างจำกัด ณ เวลานั้น
จังหวะดังกล่าวเกิดขึ้นในนาทีที่ 4 ซาดิโอ มาเน่ จ่ายบอลให้ โรน้ลโด้ พาบอลขึ้นไปกดด้วยซ้ายผ่านมือ เอดูอาร์ เมนดี้ นายด่านของ อัล-อาห์ลี เข้าไป ทั้งที่มีควันจากพลุแฟลร์ลอยคลุ้งไปหมด
บางคนก็รู้สึกทึ่งว่าที่เขายิงลูกนั้นเข้า บางคนก็ชมว่าเขาฉวยโอกาสได้ดี ในขณะที่บางคนก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะมุมมองของเขาในสนามอาจไม่ถูกควันบังเหมือนแฟนบอลที่อยู่ข้างนอกก็ได้
แต่สำหรับแฟนบอลชาวไทย พวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องนั้นเลย สิ่งที่เกิดคำถามในใจมากกว่าคือ คนซาอุดิอาระเบียนำพลุแฟลร์เข้ามาจุดในสนามได้อย่างไร ? ไหนว่ามันผิดกฎในระดับสากลไม่ใช่หรอ ? Think Curve - คิดไซด์โค้ง ขออาสาไขความกระจ่างในเรื่องนี้
การจุดพลุแฟลร์ยังคงเป็นการทำผิดกฎในระดับสากล นี่คือข้อห้ามที่ถูกระบุในระเบียบการของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า), สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า), สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) หรือแม้แต่ลีกส่วนใหญ่ทั่วโลก
หากแฟนบอลคนใดฝ่าฝืน สมาคมฯหรือสโมสรก็ต้องถูกลงโทษ อย่างเคสล่าสุด ส.บอลไทย ก็โดน เอเอฟซี ปรับเงินมากกว่า 2 ล้านบาท จากการที่มีแฟนบอลจุดพลุแฟลร์ในเกม U17 ชิงแชมป์เอเชีย ที่แพ้เกาหลีใต้ 1-4 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
แต่ในส่วนของฟุตบอลลีกในประเทศนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับสมาคมฟุตบอลนั้น ๆ ว่า พวกเขาจะร่างระเบียบในการปฏิบัติตัวในสนามอย่างไร อย่าง ไทยลีก, เจลีก และ มาเลเซียลีก บันทึกไว้ชัดเจนว่า ห้ามแฟนบอลจุดพลุแฟลร์ในสนามโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี สมาคมฟุตบอลซาอุดิอาระเบีย (SAFF) ไม่ได้ระบุข้อห้ามดังกล่าวไว้ นั่นหมายความว่า แฟนบอลทุกสโมสรสามารถจุดพลุแฟลร์ในสนามเพื่อสร้างบรรยากาศได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่นำไปก่อความเสียหายให้กับสนาม หรือ ใช้เป็นอาวุธทำร้ายแฟนบอลฝั่งตรงข้าม
หากพลิกดูระเบียบการฉบับปรับปรุง ว่าด้วยการปฏิบัติตัวในสนามของ ลีกซาอุดิอาระเบีย ที่เพิ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของ SAFF ไม่ได้ระบุถึงการห้ามจุดพลุแฟลร์เลย
ข้อห้ามที่ถูกเพิ่มเข้ามามีเพียงแค่ สูบบุหรี่ในสนามโดนปรับ 200,000 บาท, นักเตะถ่มน้ำลายใส่ผู้ตัดสินหรือใครก็ตาม โดนแบน 6 เดือน และปรับ 1 ล้านบาท รวมถึงการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของแฟนบอลต่าง ๆ
SAFF ได้จำแนกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของแฟนบอลไว้ 3 ประการ ได้แก่ แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง, ทำลายทรัพย์สินในสนาม และขว้างวัตถุอันตรายใส่แฟนบอลคู่แข่ง อาทิ พลุแฟลร์
จะเห็นว่า สมาคมฟุตบอลซาอุฯไม่ได้ห้ามแฟนบอลจุดพลุแฟลร์ แต่ห้ามนำมาเป็นอาวุธขว้างปาใส่กันต่างหาก ซึ่งหากสโมสรใดปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะมีโทษปรับเงินตั้งแต่ 100,000 บาท - 1,000,000 บาท แต่ถ้าเป็นกรณีที่หนักสาหัสจริง ๆ ก็มีโอกาสโดนลงโทษถึงขั้นปรับลงไปเล่นในลีกล่างสุดของประเทศ
นี่คือเหตุผลที่เราเห็นภาพแฟนบอลสโมสรลีกซาอุดิอาระเบียจุดพลุแฟลร์ในสนามได้อย่างอิสระ แต่พวกเขาก็จะทำได้แค่ในเกมลีกเท่านั้น เพราะถ้าขืนไปจุดในถ้วยสโมสรเอเชีย สโมสรก็จะโดน เอเอฟซี ลงโทษตามกฎ ซึ่งแฟนบอลเหล่านี้ก็เข้าใจและปฏิบัติตามแต่โดยดี เห็นได้จากเกม เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ที่ผ่านมา เพราะพวกเขาไม่อยากทำให้สโมสรเดือดร้อน
อย่างที่บอกไปแล้ว สมาคมฟุตบอลแต่ละประเทศมีกฎแตกต่างกัน ดังนั้นแฟนบอลควรเคารพและปฏิบัติระเบียบการของลีกตัวเอง เพราะหากเกิดฝ่าฝืนขึ้นมา สมาคมฯหรือสโมสรก็จะโดนลงโทษ ความสนุกของคุณเพียงชั่วครู่ อาจนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง