ไขข้อข้องใจ : ทำไมเกม สเปอร์ส - เลสเตอร์ ยกเลิก, ทางแก้มีไหม ?

ไขข้อข้องใจ : ทำไมเกม สเปอร์ส - เลสเตอร์ ยกเลิก, ทางแก้มีไหม ?
ชยันธร ใจมูล

เกมอุ่นเครื่องระหว่าง สเปอร์ส กับ เลสเตอร์ ที่สนามราชมังคลากีฬาสถานต้องถูกยกเลิกเนื่องจากฝนตกหนักทำให้สภาพสนามไม่พร้อมเล่น... นี่คือเหตุผลหลัก ๆ

แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีทางแก้ได้หรือไม่ ? เวลาฝนตกแบบนี้ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้สนามกลับมาใช้แข่งขันปกติได้

คิดไซด์โค้ง มีคำตอบ

ทำไม สเปอร์ส - เลสเตอร์ ถึงยกเลิก

ประการแรกเลยหน้าฝนในเมืองไทยนั้นถือว่าเป็นหนึ่งใน "นัมเบอร์วัน" ที่นักเตะต่างชาติหลายคนต้องยอมรับ ครั้งหนึ่งคิดไซด์โค้งเคยได้โอกาสสัมภาษณ์ วิลเลี่ยม ไวเดอร์เฌอ ดาวเตะลูกครึ่งสวีเดน-ไทย ที่เล่นให้กับการท่าเรือและเราถามเขาถึงสิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดนับตั้งแต่เขามาค้าแข้งในเมืองไทย เจ้าตัวก็ตอบอย่างไม่คิดเลยว่ามันคือ "ฝน"

"เรื่องที่เซอร์ไพรส์ที่สุดผมคิดว่าเป็นเรื่องของอากาศ เราออกสตาร์ทฤดูกาลในหน้าฝน ด้วยการมีฝนตกเยอะมาก บางเกมฝนตกหนักอย่างกับเล่นบนสระน้ำ ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ที่ประเทศสวีเดนมาก่อน ที่นั่นบางครั้งก็มีหิมะตก อาจจะมีฝนบ้าง แต่ฝนที่นั่นแตกต่างกับที่ไทยอย่างสิ้นเชิง" นี่คือสิ่งที่ ไวเดอร์เฌอ บอก

Photo : Goal Thailand

การที่ฝนตกนำมาซึ่งสนามลื่น หากระบบระบายน้ำไม่สามารถรีดน้ำออกจากสนามได้มากพอ สำหรับเกมระหว่าง สเปอร์ส กับ เลสเตอร์ นั้นสามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่า นี่คือแมตช์อุ่นเครื่อง นี่เปรียบเหมือนกับการออกมาเตรียมพร้อมสำหรับซีซั่นที่รออยู่ และพวกเขาไม่สามารถเอานักเตะที่มีค่าตัวและค่าเหนื่อยสูงลิบมาเสี่ยงบนพื้นสนามที่ยากต่อการทรงตัว ควบคุมบอล สิ่งเหล่านี้มาซึ่งอาการบาดเจ็บมากกว่าสนามแห้ง ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

เราจะโทษว่ามันเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ หรือภัยธรรมชาติก็พอจะฟังขึ้นอยู่ แต่อันที่จริง ณ ปัจจุบันบนโลกนี้มีสิ่งที่เรียกว่า "เทคโนโลยี" ที่สามารถทำให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาลงได้ หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เรียก "ระบบระบายน้ำ" ซึ่งสนามฟุตบอลระดับโลกของชาติต่าง ๆ ก็ได้อัพเกรดเรื่องระบบระบายน้ำจนปัจจุบันเราแทบไม่เห็นในลีกฟุตบอลระดับแถวหน้ายกเลิกเกมเพราะว่าฝนตกหนักมากเท่าแต่ก่อน

แน่นอนว่ามันอาจจะยากสักหน่อยที่จะเอามาเปรียบเทียบกับสนามในเมืองไทย เพราะบ้านเราคือเมืองร้อนชื้นถ้าฝนตกก็ตกหนักจริง ๆ อย่างไรก็ตามใช่ว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ... และเมื่อเราลองค้นข้อมูลก็พบว่าในเมืองไทยก็เคยมีเกมที่น้ำท่วมสนามเพราะฝนตกหนักกว่า 1 ชั่วโมงมาแล้ว แถมยังกลับมาแข่งขันกันได้อีกด้วย

ช้าง อารีน่า เคยทำได้

ย้อนกลับไปในวันที่ 29 เมษายน ปี 2565 (ปีที่แล้ว) ในเกมเอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ระหว่างเชียงราย ยูไนเต็ด กับ คิตฉี ที่เตะกันที่สนามช้าง อารีนา ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เกมนี้ก็เคยโดนฝนตกหนักจนน้ำท่วมสนามมาแล้ว ทว่าระบบระบายน้ำของสนามแห่งนี้ก็ได้สร้างเรื่องไวรัลขึ้นมา ณ เวลานั้น ด้วยการแสดงให้เห็นพื้นสนามที่เรียบไร้น้ำขัง พร้อมแข่งภายในเวลาราว ๆ 20 กว่านาทีเท่านั้น

สามารถดูคลิปการระบายน้ำของสนามช้างอารีน่าได้ที่ลิงค์นี้

https://fb.watch/lYQKRMVevE/

โดยมีการเปิดเผยระบบระบายน้ำของสนาม ช้าง อารีน่า ว่าเป็นการดูแลโดยบริษัท พันตา จำกัด ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ในปี 2565 ที่ได้รับคำชมเเล้ว บุรีรัมย์ ยังได้ปรับปรุงสนามใหม่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีการแจ้งว่า สิ่งสำคัญในการปรับปรุงครั้งนี้คือการพัฒนาระบบระบายน้ำ เพราะจากเดิมใช้เวลาประมาณ 20 นาที หลังฝนตกถึงจะแห้ง แต่เป้าหมายคือต้องลดเวลาให้เหลือประมาณ 10 นาทีเท่านั้น โดยการพัฒนาระบบดังกล่าวคือการทำความสะอาดและเคลียร์ระบบ ซึ่งช่วยให้การระบายดีขึ้นกว่าเดิม

ภาพระหว่างที่ฝนตก

ระบบระบายน้ำสำคัญอย่างมากสำหรับสนามฟุตบอลในประเทศไทย โดยเฉพาะในฟุตบอลไทยลีกที่ตอนนี้มีการขยับเวลาการแข่งขันมาตรงกับที่ยุโรป ซึ่งจะทำให้มีการออกสตาร์ทลีกในช่วงหน้าฝนพอดี

ซึ่งแน่นอนว่าการสร้างระบบระบายน้ำให้ได้มาตรฐานแบบที่สนาม ช้าง อารีน่า อาจจะต้องใช้งบประมาณมากสวนทางกับสถานการณ์ของฟุตบอลไทยลีกเวลานี้ ... แต่ที่สุดแล้วหากแก้ไม่ได้ก็ต้องเผชิญปัญหาเรื่องฝนตก น้ำท่วมสนามซ้ำเเล้วซ้ำเล่า และมันจะกระทบต่อการแข่งขันแน่นอนหากมีการเลื่อนโปรเเกรมด้วยเหตุผลเหล่านี้

ภาพหลังฝนหยุดตก 20 นาที

บางทีฟุตบอลไทยอาจจะต้องทบทวนเรื่องช่วงเวลาการแข่งขันที่หลบหลีกหน้าฝนสักหน่อย หากเรายังมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการปรับปรุงแก้ไข้ระบบระบายน้ำในสนามฟุตบอลหลาย ๆ แห่ง... ซึ่งการกลับไปเตะช่วงเดือนมกราคมแบบที่เคยเป็นมาในอดีต น่าจะเป็นปัญหาที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมขังในสนามไม่เกิดขึ้น

ท้ายที่สุดนี้เราได้พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องระบบระบายน้ำในราชมังคลากีฬาสถานดูแล้ว ทว่ากลับไม่พบข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ดังนั้นเราจึงไม่สามารถยืนยันได้ว่าระบบระบายน้ำของสนามแห่งนี้เป็นเช่นไร และสภาพสนามในวันนี้ "พอจะลงเตะได้หรือไม่" ในกรณีที่ไม่ใช่เกมอุ่นเครื่องที่ทั้งสเปอร์ส และ เลสเตอร์ ไม่อยากให้นักเตะของพวกเขาเสี่ยงได้รับบาดเจ็บ

แต่ที่แน่ ๆ คือเหตุการณ์นี้ถูกนำเสนอไปยังสื่อต่าง ๆ ทั่วโลกแล้ว ซึ่งหากไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ดูเหมือนว่าการพยายามปรับปรุงและพัฒนาน่าจะเป็นทางออกเดียวของสนามกีฬาแห่งชาติสนามนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ