ไขปัจจัยแข้ง Fox Hunt : เหตุใดจึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ?
แฟนบอลชาวไทยคงเคยได้ยินชื่อโครงการ Fox Hunt ซึ่งเป็นโปรเจ็คท์ของทางสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ที่มีทางคุณ อัยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา เป็นเจ้าของทีม โดยมีแนวคิดในการตามหาผู้เล่นดาวรุ่งฝีเท้าดี ในช่วงอายุไม่เกิน 15 ปี ไปฝึกฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษแบบเข้มข้น เพื่อพัฒนาทักษะด้านฟุตบอลให้รุดหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตามจากจำนวนดาวรุ่งที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการดังกล่าวหลายสิบคน กลับมีเพียงแค่ไม่กี่รายเท่านั้น ที่สามารถไปต่อบนเส้นทางฟุตบอลอาชีพได้อย่างสดใส มีโอกาสสังกัดสโมสรใหญ่ๆ ในประเทศไทย หรือออกไปเล่นที่ต่างประเทศ
ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยไม่น้อยว่า ทำไมเหล่าดาวรุ่งที่ได้มีโอกาสไปฝึกฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษในโครงการ Fox Hunt จึงไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพแบบที่ควรจะเป็น บางรายต้องกระจัดกระจายไปค้าแข้งกับทีมในลีกรอง, หันไปเตะฟุตบอลเดินสาย หรือแม้แต่หายไปจากวงการเลยก็มี
ทางทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงพยายามวิเคราะห์หาเหตุผลประกอบ พร้อมกับได้มีการต่อสายไปสอบถามโค้ชฟุตบอลในวงการ ที่มีส่วนร่วมคลุกคลี รู้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการนี้ พร้อมสอบถามถึงสาเหตุว่า ทำไมเหล่าดาวรุ่งจากโครงการ Fox Hunt จึงเกิดมากกว่าดับ? ซึ่งก็ได้รับคำตอบแยกออกมาเป็นประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ช่วงวัยที่ส่งตัวไป
โครงการ Fox Hunt มีเกณฑ์การคัดเลือกนักเตะที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือก ก็แทบจะอายุสูงสุดตามเกณฑ์อยู่ในช่วงวัยรุ่นแล้ว สามารถสื่อสารและพูดคุยกันได้รู้เรื่อง และดูแลตัวเองได้แบบไม่ต้องคอยประคบประหงมมากนัก
แต่ในความเป็นจริงแล้วการคัดเลือกนักเตะเข้าอคาเดมี่ในประเทศอังกฤษ สโมสรชั้นนำนั้นมีการวางรากฐาน เฟ้นหาดาวรุ่งพรสวรรค์สูงในวงการลูกหนัง ตั้งแต่อายุ 9 ปี หรืออย่างมากที่สุดคือไม่เกิน 12 ปี เพื่อพัฒนาโควต้านักเตะ ‘Home Grown’ หรือนักฟุตบอลท้องถิ่น ที่จะบังคับในการลงทะเบียนแข่งขันลีกและฟุตบอลรายการต่างๆ ในการชิงแชมป์ระดับทวีปต่อไป
หากวิเคราะห์กันตามตรงแล้ว การส่งตัวนักเตะไทยที่มีอายุราว 15 ปี เพื่อไปฝึกฝนอบรมแบบเข้มข้นระยะสั้น จะหวังผลให้ประสบความสำเร็จแบบรวดเร็วนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะแนวทางในการพัฒนาในบ้านเรากับแดนผู้ดี นั้นมีการปูพื้นฐานและรายละเอียดการสอนที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นปัจจัยเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ก็เป็นกำแพงใหญ่ที่เหล่าเยาวชน Fox Hunt ต้องปรับตัวเพื่อก้าวข้ามไปให้ได้
หลังจากทีมทีมงานสอบถามโค้ชผู้ไม่ประสงค์ออกนาม เกี่ยวกับการสร้างนักเตะคุณภาพสักคนหนึ่งขึ้นมาในวงการ ก็ได้รับคำตอบไปในทิศทางว่า
“ช่วงอายุที่คัดเลือกไปในโครงการ Fox Hunt เป็นช่วงปลายของผู้เล่นที่จะใช้คำว่าเยาวชนแล้ว ถ้าช่วงวัยที่สำคัญจริงๆ ในการพัฒนาฝีเท้า น่าจะเป็นอายุ 8-12 ปี เพราะว่าเป็นช่วงที่สามารถปูทัศนคติ สอนพื้นฐาน และเพิ่มเรื่องเบสิคฟุตบอลหลายๆ ให้เหล่าดาวรุ่งซึมซับได้ง่าย”
“แต่ตัวผมก็เข้าใจว่ามันมีข้อจำกัดในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น หากจะส่งเด็กไทยไปตั้งแต่อายุเท่านั้น แล้วการฝึกฝนก็จะยากขึ้นแบบทวีคูณเลยทีเดียว เพราะยังเป็นเด็กเล็กกันอยู่ ต้องดูแลเป็นพิเศษ ยิ่งห่างบ้านห่างเมือง อยู่ในพื้นที่ต่างภาษาและวัฒนธรรม มันจะกลายเป็นภาระระยะยาวของโครงการ อย่างไรก็ตามมันก็อาจกลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวได้ หากกล้าที่จะเสี่ยง”
อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องนำมาขบคิดกันด้วย คือ สิทธิ์การครอบครองนักเตะ หลังจากเสร็จสิ้นโปรแกรมการฝึกฝนที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งการที่สโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ขอตัวดาวรุ่งฝีเท้าดีไปจากสโมสรในไทย อาจทำให้ต้นสังกัดมองว่า พวกเขาต้องเสียเพชรที่ยังไม่เจียระไน ออกไปแบบฟรีๆ
ข้อกำหนดเรื่องสัญญา
แน่นอนว่าโครงการ Fox Hunt ที่มีทางสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ทีมดังจากประเทศอังกฤษ เป็นตัวตั้งตัวตีในโปรเจ็คท์นี้ แค่ชื่อเสียงของสโมสรและความสำเร็จต่างๆ ที่ผ่านมา ก็สามารถดึงดูดให้เหล่าดาวรุ่ง หันมาสนใจเข้าร่วมทดสอบฝีเท้ากันได้ไม่ยาก
แต่จุดสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เป็นเรื่องของการต่อยอดเป็นนักเตะอาชีพในแดนผู้ดี ซึ่งการทำงานในประเทศอังกฤษ ยังมีกำแพงที่ยากจะก้าวข้ามในเรื่องของ ‘ใบอนุญาตการทำงาน’ หรือ ‘เวิร์ค เพอร์มิต’ ที่พวกเขาต้องการเอื้อประโยชน์ในการสร้างนักเตะท้องถิ่นในประเทศมากกว่า อันเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ
ทำให้โครงการ Fox Hunt ยังมีจุดบอดที่อาจต้องนำมาขบคิด แก้ไข และ ปรับปรุง ให้ดีขึ้นในอนาคต ตามที่โค้ช ซึ่งมีประสบการณ์คลุกคลีกับโครงการนี้ ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า
“แม้ว่าตัวโครงการจะดูเหมือนว่าไปในนามของการคัดเลือกจากสโมสร เลสเตอร์ ก็จริง แต่นักเตะไม่มีโอกาสได้เทิร์นโปรเป็นมืออาชีพ แล้วการฝึกซ้อมก็เป็นการแยกส่วนกับชุดหลักของพวกเขา พอสโมสรต่างๆ ทราบข้อกำหนดในส่วนนี้ พวกเขาก็ไม่อยากส่งนักเตะที่เป็นเด็กสร้างตัวท็อปของทีมไป”
“ตัวสัญญาก็ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องค่าตัวหรือค่าชดเชยที่ทาง เลสเตอร์ จะมอบให้กับต้นสังกัดของนักเตะ เหมือนกับมาขอนักเตะไปเลย ไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใดๆ ไม่มีการกำหนดว่า สโมสรเดิมจะได้รับสิทธิ์นักเตะคืนหลังจากเสร็จสิ้นโปรแกรมการฝึกที่อังกฤษ”
“ดังนั้น เลสเตอร์ จะไม่ได้นักเตะตัวท็อปของรุ่นไปเลยสักคนเดียว อาจจะได้นักเตะที่มีฝีเท้าดีในระดับหนึ่ง มีพรสวรรค์ในการปั้นต่อได้ แต่จัดอยู่เป็นเกรดรองๆ ในช่วงอายุดังกล่าวประมาณเกรดบี แต่กลุ่มที่ไปก็จะได้เรื่องของความใจสู้และทัศนคติที่ดีไปทดแทน”
เป็นไปได้สูงว่าบอร์ดบริหารของแต่ละสโมสรในไทย คงมีการชั่งน้ำหนักการตัดสินใจเอาไว้อยู่แล้วว่า หากมีนักเตะคนไหนจากสโมสร ไปเข้าคัดเลือกในโครงการ Fox Hunt จะสามารถปล่อยนักเตะคนไหนไปได้บ้าง? ที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสร้างทีมในระยะยาว
หลายคนที่ได้ไปแล้วกลับมาเป็นนักเตะอาชีพในไทยหรือมีโอกาสไปเล่นต่างประเทศ นั่นก็คือ ศักยภาพสูงสุดของพวกเขาที่จะทำได้แล้ว สุดความมารถของตัวนักเตะคนนั้นๆ แล้ว ซึ่งมันไม่ได้เป็นความผิดของตัวนักเตะ ที่อาจไปได้ไม่ไกลเท่าที่แฟนบอลคาดหวัง แต่แฟนบอลต้องเข้าใจว่า พวกเขาพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว
พรสวรรค์และศักยภาพฝีเท้าของพวกเขาไม่ได้หายไปไหน แล้วยังมีหลายรายที่แฟนบอลพอจะได้เห็นหน้าค่าตากันตามเวที ไทยลีก หรือ ไทยลีก สองอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น สมเกียรติ คุณมี Fox Hunt รุ่นที่ 1 ที่เพิ่งจะเซ็นสัญญากับ นครราชสีมา เอฟซี
รวมไปถึง อภิวัฒน์ ไพรสน แนวรุกสาระพัดประโยชน์ วัย 21 ปี ที่เคยผ่านการค้าแข้งในลีกรองๆ กับหลายสโมสร อาทิ แพร่ ยูไนเต็ด, สมุทรปราการ เอฟซี, ลพบุรี ซิตี้ และ อุบล เอฟซี ซึ่งเคยกล่าวถึงประสบการณ์จากการเข้าร่วม Fox Hunt รุ่นที่ 3 เอาไว้ว่า
“สำหรับผม การเป็น FOX HUNT คือครอบครัว เวลามีปัญหาอะไรรุ่นพี่ก็คอยช่วยเหลือตลอด แนะนำ ชี้แนวทาง สิ่งที่ได้รับมาจึงไม่ได้มีแค่ฟุตบอล แต่เขายังสอนถึงเรื่องการใช้ชีวิต ความมีระเบียบวินัย การกินอาหาร การดูแลร่างกาย มีจุดอ่อน ก็สามารถคุยกับโค้ชว่าเราต้องพัฒนาตรงไหน”
นอกจากนี้ก็ยังมี ทักษ์ดนัย ใจหาญ ที่เข้าร่วมโครงการ Fox Hunt รุ่นที่ 3 ก็กลับมาแล้วได้เซ็นสัญญากับสโมสรใหญ่อย่าง เชียงราย ยูไนเต็ด ด้วยอายุเพียงแค่ 21 ปี กับการได้ลงเล่นรวมทุกรายการในฤดูกาลก่อนไปถึง 19 นัด ดูเหมือนว่า อนาคตของเขายังสามารถเดินต่อไปในเส้นทางนักเตะอาชีพได้อยู่
ด้านตัวท็อปของรุ่น 3 อย่าง ‘ตั้น’ ศิริมงคล รัตนภูมิ กองกลางวัย 21 ปี ก็ได้เซ็นสัญญาอยู่ในทีมเยาวชนของ โอเอช ลูเวิน แล้วมีชื่อติดทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 23 ปีมาแล้ว ถึงแม้ว่านักเตะที่ประสบความสำเร็จจากโครงการนี้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็มีตัวอย่างที่พอให้ชื่นใจได้อยู่บ้าง
เส้นทางที่จะไปต่อ
ด้วยช่วงอายุที่คัดเลือกไปในวัย 15 ปีที่เป็นช่วงท้ายของการเป็นนักเตะในอะคาเดมี่ เตรียมตัวที่จะขึ้นเป็นนักเตะอาชีพในทีมชุดใหญ่แล้ว โอกาสที่ต้นสังกัดจะปล่อยตัวท็อปออกไปเป็นเรื่องยาก ยิ่งนักเตะบางรายที่อนาคตสดใสอยู่แล้ว พวกเขาย่อมมีความคิดว่า อดทนอีกนิดเดียวก็จะได้เล่นบอลอาชีพแบบจริงๆ จังๆ แล้ว
ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลย คือ ‘แบงค์-ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา’ ที่เป็นดาวรุ่งหัวแถวจากสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ทาง เลสเตอร์ ซิตี้ ก็อยากได้ตัวไปฝึกฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษ แต่ทางสโมสรไม่มีความจำเป็นต้องปล่อยตัวไป แล้วสุดท้ายก็ได้ลงสนามสัมผัสเกมอาชีพตั้งแต่อายุ 15 ปีกว่าๆ
ยิ่งไปกว่านั้นโค้ชได้กล่าวเสริมถึงนักเตะในรุ่นเดียวกันกับ แบงค์ ว่า
“เท่าที่รู้รุ่น ศุภณัฏฐ์ มีนักเตะหลายคนจากหลายสโมสรในไทย ที่เข้าไปคัดเลือกแล้วติดเป็นตัวแทน แต่ต้นสังกัดไม่ปล่อยให้ไป แล้วทุกวันนี้หลายคนก็เป็นนักบอลอาชีพ เป็นกำลังสำคัญให้กับสโมสรของตัวเองหมดแล้ว”
อคาเดมี่ของหลายสโมสรในไทย ต้องยอมรับว่า ขาดในเรื่องของงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลนักเตะเยาวชน ที่ต้องลงทุนสูงในหลายปัจจัย อาทิ การกินอยู่, การดูแลเรื่องการศึกษา และ การสนับสนุนในเรื่องของรายได้ เลยยังทำให้การพัฒนาเยาวชนของประเทศไทย ยังไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามสโมสรที่พอจะมีกำลังเงินอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ชลบุรี เอฟซี หรือ เมืองทอง ยูไนเต็ด ให้ความสำคัญในการปลุกปั้นเยาวชนในอคาเดมี่ของตัวเองอยู่เสมอ เนื่องจากพวกเขาเล็งเห็นว่า นักเตะเหล่านี้มีโอกาสจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักให้ทีมได้ในอนาคต หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
ซึ่งถ้าผู้บริหารสโมสรในประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ แล้วหันมาใส่ใจกันแบบจริงจัง นักเตะดาวรุ่งที่มีพรสวรรค์ ก็จะมีเส้นทางที่จะไปต่อในการตามฝันเป็นนักฟุตบอลอาชีพชัดเจนขึ้น สุดท้ายแล้วตัวนักเตะก็จะชั่งน้ำหนักเอาเองว่า อนาคตของพวกเขาจะเดินไปในทิศทางไหน
แม้ว่าโครงการ Fox Hunt อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่สามารถผลักดันนักเตะไทยไปเล่นในอังกฤษได้สักรายเดียว แต่อย่างน้อยทางโครงการก็ไม่ได้ทอดทิ้งนักเตะที่เข้าร่วมซะทีเดียว เพราะพวกเขาก็มีการเตรียมสโมสรที่เป็นพันธมิตรในไทย แล้วสามารถส่งตัวไปทดสอบฝีเท้า เพื่อจะลุ้นเซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพต่อไปได้เช่นกัน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.lcfcthai.com/
https://ministry-of-football.com/academies-success/
การสัมภาษณ์ออนไลน์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สโมสร ‘แตงโม’ : ตำนานแชมป์เงินล้านบอลเดินสายสองปีติดทีมเดียวในประเทศไทย
ศราวุฒิ มาสุข : กับชีวิตใหม่ในเส้นทางฟุตบอลเดินสาย
เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ
เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้
คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?