ใกล้ตัวและยั่งยืน : การสร้างทีมแบบ "เซเรโซ" โมเดลที่เป็นไปได้สำหรับบอลไทย

ใกล้ตัวและยั่งยืน : การสร้างทีมแบบ "เซเรโซ" โมเดลที่เป็นไปได้สำหรับบอลไทย
ชยันธร ใจมูล

ปฎิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอลยุคทุนนิยมวัดกันด้วยความสำเร็จและตัวเลข ซึ่งมันเป็นเรื่องยากมาก ๆ หากจะทำทีมฟุตบอลทั้งทีมให้ได้ทั้งแชมป์และรายรับที่เป็นตัวเลขสีเขียว นี่คือโจทย์ปราบเซียนที่แม้แต่ทีมระดับโลกบางทีมก็ยังทำไม่ได้  

อย่างไรก็ตามก่อนจะถึงจุดนั้น "รากฐาน" ที่สำคัญที่สุด อันเป็นจุดที่ทุก ๆ สโมสรจะเริ่มนับ 1 มันไม่ใช่เรื่องยากและไกลตัวจนไม่สามารถทำได้ ...และเมื่อวันที่แนวคิดนี้ผลิดอกออกผลเมื่อไหร่ รับรองได้ว่าผลตอบแทนนั้นจะมากมายแบบที่คุณเองก็คิดไม่ถึง

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดที่นี่ 

คุณทำฟุตบอลให้ใครดู ? 

บนโลกนี้มีทีมฟุตบอลทีมเดียวที่สร้างรายได้โดยไม่ยึดฐานแฟนบอลท้องถิ่น แต่เล่นกับกระแสของโลกโซเชี่ยลสร้างจุดขายในทางนั้นนั่นคือสโมสร แฮชแท็ก ยูไนเต็ด ทีมระดับสมัครเล่นของอังกฤษที่สร้างได้ส่วนใหญ่จากยอดวิวในยูทูบ 

แต่ในความเป็นจริงและเนื้อแท้ของฟุตบอลนั้น จุดเริ่มต้นคือสำคัญที่สุดของทีมฟุตบอลคือการผนวกเข้ากับท้องถิ่นให้ได้ การทำให้ตัวตนของสโมสร เปรียบเสมือนตัวแทนของคนในชุมชน คุณจะได้ความมีชีวิตชีวาที่แต่งแต้มให้โสมสรฟุตบอลแห่งนี้มีสีสัน  มีความมีชีวิต  เพราะเมื่อคุณเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนและสร้างฐานกองเชียร์ท้องถิ่นได้แล้ว คุณจะได้กลุ่มแฟนบอลที่เป็นพลังบวก ที่รักทีมจริง ๆ ไม่ใช่เพียงเพราะชัยชนะหรือถ้วยรางวัล ส่วนนี้ต่างหากที่เป็น "แก่นของฟุตบอล" 

มันเป็นโมเดลที่สโมสรทั่วโลกต่างพยายามทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ... 

ซึ่งหากสโมสรฟุตบอลในไทยจะหาสโมสรที่ทำสำเร็จจุดนี้มาเป็นแบบอย่าง แน่นอนว่าการเอาต้นแบบจากสโมสรยุโรปนั้นอาจจะต้องมีการพลิกแพลงและปรับเปลี่ยนพอสมควรด้วยบริบทของสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพง่ายที่สุด เราจะพาคุณไปยังเมือง ๆ หนึ่งในประเทศที่ญี่ปุ่น เมืองที่เมื่อวันสุดสัปดาห์มาถึง คุณจะเห็นผู้คนสวมใส่ยูนิฟอร์มสีชมพูซึ่งเป็นสีประจำสโมสร เดินไปเต็มท้องถนน ก่อนจะขึ้นไปส่งเสียงเชียร์บนอัฒจันทร์แบบเต็มความจุ แม้ทีม ๆ นี้อาจจะไม่ได้เป็นทีมที่คว้าเเชมป์ลีกของญี่ปุ่นมากที่สุด แต่ที่แน่ ๆ ถ้าวัดกันเรื่องฐานแฟนบอลพวกเขาไม่แพ้ใครเหมือนกัน 

เรากำลังพูดถึงสโมสร เซเรโซ โอซาก้า เจ้าของฉายา "นักรบซากุระ" ที่เพิ่งมาเเข่งขันใน J.LEAGUE ASIA CHALLENGE กับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ครั้งที่ผ่านมา 

แม้ตัวสโมสรจะถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1957 ภายใต้ชื่อ "ยันมาร์ ดีเซล"แต่มีปณิธานข้อหนึ่งที่พวกเขาที่ว่าด้วยการทำให้สโมสรฟุตบอลนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กร และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับท้องถิ่นรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน นั้นเกิดมาก่อนที่จะก่อตั้งสโมสรเลยด้วยซ้ำ 

เรื่องนี้เกิดขึ้นจาก มาโกคิชิ ยามาโอกะ ได้ก่อตั้งบริษัท "ยันมาร์" ขึ้นมาในหมู่บ้านเกษตรกรเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จุดเริ่มต้นไม่ใช่เกิดจากความที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือความมั่งคั่ง แต่เป็นการพยายามที่จะทำให้ พ่อ-แม่ ของเขาทีเป็นเกษตรกรได้มีสิ่งที่มาแบ่งเบาภาระ ให้ได้ใช้ชีวิต และมีความสบายในแบบที่ควรจะเป็น .. 

นั่นเองทำให้ เซเรโซ โอซาก้า มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงการริเริ่มและประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่ทางสโมสรร่วมมือกับโรงเรียน องค์กรการกุศล และองค์กรในท้องถิ่นเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

จะเห็นได้ว่าตัวบริษัทแม่อย่าง ยันมาร์ และสโมสรฟุตบอลอย่าง เซเรโซ โอซาก้า มีแนวคิดที่ตรงกันนั่นคือการาร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืนให้กับผู้คนรอบ ๆ องค์กร ซึ่งถามว่าพวกเขาจะได้อะไรกับมาจากแนวคิดแบบนี้ ? 

คำตอบของคำถามนี้คือ ... เมื่อคุณพัฒนาไปพร้อมกับชุมชน พวกเขาจะตอบแทนคุณกลับโดยที่คุณไม่ต้องร้องขอ และถึงตอนนั้นคุณจะได้ในสิ่งที่มากกว่าคุณตั้งเป้าหมายเอาไว้ด้วยซ้ำ 

บันไดขั้นที่ 2 : ระบบเยาวชน 

เมื่อ เซเรโซ โอซาก้า ไม่ได้เป็นทีมเงินถุงเงินถัง พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับระบบอคาเดมี่เป็นอย่างมาก โดย เซเรโซ โอซาก้า มีเยาวชนครบทุกรุ่นอายุ ตั้งแต่ U12 U15 U18 U21 และ U23 ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งทีมหญิงและทีมชาติ โดยทุก ๆ ทีมล้วนเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น และสหพันธ์ฟุตบอลเยาวชนสโมสรญี่ปุ่นทั้งหมด 

โดยเป้าหมายของการมีทีมอคาเดมี่ ไม่ใช่แค่มีไว้เพื่อส่งนักเตะขึ้นชุดใหญ่เท่านั้น แต่ เป้าหมายคือ "พัฒนาผู้เล่นที่สามารถประสบความสำเร็จไปทั่วโลก" ซึ่งนอกจากเรื่องของผลการแข่งขันแล้ว ผู้เล่นที่ระดับเยาวชนทีมชาติที่อยู่ในทีมเยาวชนของทีม จะถูกส่งไปบ่มเพาะฝีเท้ายังต่างประเทศ มีเกมยืนเจอกับทีมต่างชาติ เพื่อฝึกฝนนักเตะในระดับสภาพแวดล้อมที่สูงกว่าการเล่นแต่กับทีมในญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว 

ถ้าถามว่าแนวทางการพัฒนาเยาวชนของ เซเรโซ โอซาก้า ได้ผลขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าพวกเขาดันนักเตะจากเยาวชนขึ้นมาเล่นในทีมชุดใหญ่ทุกปี มีนักเตะหลายคนที่เป็นสัญลักษณ์ของสโมสรที่เติบโตมาจากเยาวชนของทีมอย่าง ยูสุเกะ มารุฮาชิ, ริวยะ นิชิโอะ, โชตะ คิตาโนะ, ทาคุมะ มินามิโนะ และคนอื่น ๆ อีกมากมาย 

หากนับในช่วงหลังปี 2000s เป็นต้นมา เซเรโซ โอซาก้า ผลักดันนักเตะในระดับเยาวชนของตัวเองขึ้นมาเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของพวกเขามากถึง 92 คน  ซึ่งสาเหตุที่พวกเขาผลักดันแข้งท้องถิ่นได้เยอะขนาดนี้ เพราะความใส่ใจในทุกขั้นตอน นอกจากจะระบบการคัดสรรนักเตะที่ดี มีโค้ชที่ตาถึงแล้ว พวกเขายังลงทุนกับศูนย์ฝึกซ้อม เพื่อให้พัฒนาการของเด็ก ๆ พุ่งทะยานขึ้นเร็วยิ่งกว่าเดิม 

ศูนย์ฝึกของ เซเรโซ โอซาก้า มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อมแบบครบรูปแบบ มีการติดตั้งเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกแบบใหม่ล่าสุดตามเทรนด์ เพื่อให้ผู้เล่นมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและการเพิ่มประสิทธิภาพมากที่สุด 

เมื่อทุกอย่างพร้อม พวกเขาก็จะมีนักเตะคอยเสิร์ฟขึ้นชุดใหญ่ตลอดทุก ๆ ปีไม่มีขาดตกบกพร่อง ซึ่งต่อไปคือเรื่องของปลายน้ำที่นักเตะเด็ก ๆ ของพวกเขา จะได้รับการผลักดันให้ไปไกลยิ่งกว่าการเล่นในประเทศเมื่อโอกาสนั้นมาถึง 

ของดีต้องส่งออก 

เซเรโซ โอซาก้า ถือคติว่า "พัฒนานักเตะของเรา เพื่อมุ่งสู่ระดับโลก" นักเตะเยาวชนเก่ง ๆ หลายคนที่พัฒนาการขึ้นมานั้น หากมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปเล่นในยุโรปหรือมีสโมสรดัง ๆ ในยุโรปติดต่อมา พวกเขาจะพยายามผลักดันนักเตะให้ออกไปเจอประสบการณ์ใหม่ เพื่อเร่งขีดพัฒนาการได้ไกลยิ่งกว่าเดิม แม้บางครั้งพวกเขาจะชวดทำเงินก้อนใหญ่จากนักเตะคนนั้นก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น ชินจิ คางาวะ ที่ย้ายจาก เซเรโซ ไปอยู่กับ ดอร์ทมุนด์ แต่เมื่อ คางาวะ ได้ไปทดสอบตัวเองที่เยอรมัน เขาจึงยกระดับขีดความสามารถขึ้นไปได้สูงขึ้นอย่างเหลือเชื่อ เรียกได้ว่าช่วงนั้น คางาวะ เป็นนักเตะเอเชียตัวท็อปของรุ่น ชนิดที่ว่าเป็นตัวหลักของทีมยักษ์ใหญ่ได้สบาย ๆ เลยทีเดียว

พวกเขาสามารถทำเงินกับนักเตะเหล่านี้ได้มากกว่าราคาที่ขายไปแน่ ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ รากฐานสู่อนาคต เพราะจะมีหลายสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น แม้ไม่ใช่เรื่องของตัวเงิน แต่มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก นั่นคือการจุดไฟให้ความฝันของนักเตะทีมเยาวชน ทำให้พวกเขารู้ว่าถ้าพวกเขาดีพอ พวกเขาจะไม่ถูกปิดกั้นโอกาส และจะถูกสนับสนุนแบบสุด ๆ เพื่อไปยังระดับที่สูงกว่าในประเทศญี่ปุ่น 

สิ่งนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันในทีมสูงทั้งแต่ที่อยู่ในระดับเยาวชน เมื่อลงเเข่งจริง นักเตะก็จะรีดศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากฟอร์มส่วนตัวแล้ว พวกเขายังถูกสอนให้คำนึงถึงความเป็นทีมมาก่อนเป็นอันดับแรก 

เมื่อนักเตะได้ออกไปเล่นในต่างประเทศ เขาจะกลายเป็นคนที่ทำให้ฟุตบอลในญี่ปุ่นยกระดับ ด้วยการป็นที่รู้จักมากขึ้น เรียกได้ว่าผลทั้งหมดของการลงทุนลงแรง ก็จะกลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง ฝันของเด็ก ๆ จะสว่างไสวอยู่เสมอ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าฟุตบอลในรูปแบบและแนวคิดของสโมสร เซเรโซ โอซาก้า ไม่ใช่แค่สร้างนักเตะหรือสร้างทีมฟุตบอลที่ดีได้เท่านั้น แต่พวกเขายังสร้างคนที่ดี ภายใต้เครือข่าวสังคมที่่ดีไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

จะเห็นได้ว่าการมีแนวคิดที่ชัดเจน และการเข้าหาท้องถิ่นแบบ "ใจเเลกใจ" สามารถทำมาสู่เส้นทางความยิ่งใหญ่และความสำเร็จมากมาย ... หากฟุตบอลไทยอยากจะสร้างการเติบโตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เชื่อเหลือเกินว่าโมเดลที่สโมสร เซเรโซ โอซาก้า วางไว้จะกลายเป็นต้นแบบที่สามารถเอาเป็นอย่าง หรือแม้กระทั่งถอดแนวคิดเอามาใช้ได้อย่างดีเลยทีเดียว 

รู้จัก Yanmar และเซเรโซ โอซาก้า เพิ่มเติม

ประวัติความสัมพันธ์ของ Yanmar และ เซเรโซ โอซาก้า

“Football is our Engine” โครงการฟุตบอลของ Yanmar

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ เซเรโซ โอซาก้า

แชร์บทความนี้
หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ