ไม่เดือดให้รู้ไป : เหตุใดแม้แต่คนไม่ดูบอลยังอยากดูบอลโลกคู่ สหรัฐฯ vs อิหร่าน
สหรัฐอเมริกา และ อิหร่าน คือสองชาติที่มีปัญหาด้านความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากที่สุดคู่หนึ่งของโลก ความขัดแย้งของสองประเทศนำไปสู่เหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย ทั้งการบุกจับตัวประกันไปจนถึงสงครามตัวแทน
ต้นเหตุเกิดขึ้นในยุค 50s โดยในครั้งนั้น อิหร่าน พยายามจะยึดสิทธิการผลิตน้ำมันกลับมาเป็นของรัฐ เพราะกิจการน้ำมันส่วนใหญ่ ถูกอังกฤษควบคุม
ขณะที่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่ ไม่ได้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันของประเทศ หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ และอังกฤษ จึงวางแผนรัฐประหารกำจัดนายกฯ อิหร่าน ออกจากรัฐบาล จนทำให้ โมฮัมหมัด เรซา ชาห์ ได้ก้าวขึ้นมาปกครองประเทศแทน และผู้ที่สนับสนุนก็คือ อเมริกา และ อังกฤษนั่นแหละ
เรื่องนี้ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปียุค 80s และทวีความเข้มเข้าไปอีก โดยตัวละครหลักของเรื่องนี้มี 2 คนคือ โมฮัมหมัด เรซา หรือ “พระเช้าชาห์” และ อยาตอลเลาะห์ "โคไมนี"
ทั้งสองคนเปรียบเสมือนขั้วบวกกับขั้วลบ เพราะ พระเจ้าชาห์ นั้นเป็นกษัตริย์ของอิหร่าน ที่ฝักใฝ่แนวคิดตะวันตก ขณะที่ โคไมนี นั้นเป็นอนุรักษ์นิยมเต็มขั้น โดยมีมุมมองว่าพระเจ้าชาห์นั้นปล่อยให้มหาอำนาจต่างชาติเข้ามาปล้นประเทศ และใช้ทรัพย์สินของประเทศหาเงินเข้ากระเป๋าของตัวเอง ขณะที่ประชาชนชาวอิหร่านั้นไม่ได้ผลประโยชน์ด้วย
ดังนั้นหากจะอธิบายให้ชัด ๆ คือแนวคิดของ โคไมนี หลัก ๆ แล้วจึงเป็นการโค่นล้มระบบกษัตริย์ในอิหร่าน และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแทนนั่นเอง ขณะที่ฝั่งตะวันตกนำโดยอเมริกา ก็พยายามต่อต้านระบอบ โคไมนี่ ตั้งแต่วันที่เขาสามารถโค่นล้มพระเจ้าชาห์ได้สำเร็จ
เนื่องจากประชาชนชาวอิหร่านมีความไม่พอใจสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน เพราะมองว่ามหาอำนาจจากตะวันตกพยายามเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง นำมาซึ่งการปฏิวัติอิหร่าน เปลี่ยนประเทศให้เป็นรัฐอิสลาม และเปิดโอกาสให้อิหร่านสามารถดำเนินความสัมพันธ์ทางการฑูตแบบไม่เอาอเมริกาได้อย่างเต็มที่ เกิดเรื่องระหองระแหงต่อกันเรื่อยมาระหว่าง 2 ประเทศ
ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติย่ำแย่สุดขีดหลังจากกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงได้ทำการบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน พร้อมกับจับชาวอเมริกัน 52 คนไว้เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน (เรื่องนี้ต่อมาถูกนำมาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มกับภาพยนตร์ Argo ซึ่งคว้ารางวัลออสการ์)
ทำให้สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน ขณะที่ชาติยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกกลางไม่สะทกสะท้าน พร้อมกับประกาศให้สหรัฐฯ เป็นศัตรูทางศาสนาของพวกเขาและเป็นชาติที่ถูกปกครองด้วยแนวคิดบูชาซาตาน
อย่าคิดว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับฟุตบอลโลกเชียว เนื่องจากความตึงเครียดและมุมมองแง่ลบที่มีต่อกันและกันอย่างหนัก มันเหมือนกับฟ้าเล่นตลกที่ในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ อิหร่าน ถูกจับให้ไปอยู่สายเดียวกับ สหรัฐอเมริกา
ในเกมที่ทั้งสองทีมเจอกันเป็นช่วงที่สถานการณ์ยังคุกรุ่น รัฐบาลอิหร่านประกาศว่าจะไม่ยอมให้นักเตะของพวกเขาเป็นฝ่ายเดินเข้ามาจับมือกับนักเตะอเมริกา จนทำให้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA ต้องร้องขอให้นักเตะอเมริกาเป็นฝ่ายเดินเข้าหาอิหร่านเพื่อจับมือ และอเมริกาก็ยอมรับข้อนั้นจนนำมาซึ่งภาพที่งดงามหลังจากนั้นด้วยการที่นักเตะอิหร่านมอบดอกกุหลาบให้กับนักเตะของสหรัฐฯ และมีการถ่ายรูปหมู่ร่วมกัน ซึ่งผลการแข่งขันจบลงด้วยชัยชนะของอิหร่าน ด้วยสกอร์ 2-1 และเป็นชัยชนะนัดแรกของอิหร่านในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
แม้ทุกอย่างดูจะไปได้สวย แต่บนอัฒจันทร์ได้มีการแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองมากมายจากประชาชนของทั้งสองชาติ เป็นการแสดงออกว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับอีกฝ่ายเป็นมิตรอย่างแน่นอน บรรยากาศความขัดแย้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแฟนบอลแต่รวมถึงนักฟุตบอลด้วยเช่นกัน แม้ฉากเบื้องหน้าจะงดงามแต่ผู้เล่นและทีมงานของทั้งสองประเทศมองว่าเกมในวันนั้นคือสงคราม และไม่มีฝ่ายไหนอยากจะเป็นมิตรกับอีกฝ่ายแม้แต่นิดเดียว
"การพ่ายแพ้ต่ออิหร่านคือความพ่ายแพ้ที่แย่ที่สุดในชีวิตการทำงานของผม ผมไม่ได้เจ็บปวดเพราะเราเล่นได้แย่ แต่ผมเจ็บปวดที่เราแพ้ให้กับคนไร้มนุษยธรรมพวกนั้น พวกเขาสั่งสอนเราอย่างน่าอับอาย"
แฮงค์ สไตน์เบรเชอร์ ผู้จัดการทีมสหรัฐฯ ในช่วงฟุตบอลโลก 1998 ว่าไว้เช่นนั้น
ถึงตอนนี้สถานการณ์ระหว่างอิหร่านและอเมริกาก็ยังคงไม่ลงรอยกันเหมือนเดิมหลังจากผ่านมา 24 ปีจากตอนฟุตบอลโลก 1998 คำตอบที่เรารออยู่อาจจะอยู่ในสนามว่าพวกเขาญาติดีและเปิดใจยอมรับกันมากขึ้นแค่ไหน ? จะมีประเด็นหรือข้อแม้อะไรตามมาอีกหรือไม่ ? .... นี่คือเรื่องที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่คอฟุตบอลก็ยังอยากรู้ว่าเกมนี้จะออกมาดุเดือดขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมที่ต่างฝ่ายต่างยังมีลุ้นเข้ารอบ และต้อง "หักกันโดยตรง" แบบนี้ รับรองได้ว่าอุณหภูมิของเกมจะต้องเดือดขึ้นมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน
แม้จะเตะกันตอนตี 2 ... แต่เราเชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณก็ไม่อยากจะพลาดเกมนี้เช่นกัน
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR