ไม่สุดทางอย่ากลับมา (ไทย) : มอง ชาก้า จอมทัพ สวิส ชุดยูโร 2024 ถึง ชาริล ชัปปุยส์
ว่ากันว่าอาชีพนักเตะฟุตบอลนั้นสั้นมาก และนั่นทำให้นักฟุตบอลต้องเป็นเหมือนกับหมาล่าเนื้อนั่นคือการพยายามทำเงินให้ได้มาก ๆ ก่อนที่พวกเขาพ่ายแพ้ต่อสังขาร และไปต่อบนเส้นทางอาชีพไม่ได้
แต่ดูเหมือนว่าบางครั้งการพยายามมองหาเงินที่มากเข้าไว้จากที่สโมสรจากไทยพยายามมอบให้พวกเขา อาจจะเป็นการตัดโอกาสของพวกเขาเองก็ได้
จาก ชาริล ชัปปุยส์ ที่ได้เห็นเพื่อน ๆ ทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ชุดเเชมป์โลกยู 17 ประสบความสำเร็จในบนเส้นทางฟุตบอลระดับสากลในทุกวันนี้ เราสามารถเอาบทเรียนนี้มาวิเคราะห์ปัจจุบันของเราได้ยังไงบ้าง ?
ขุนพลสวิสชุดยู 17 ที่มี ชัปปุยส์ เป็น 1 ในนั้น
ชาริล ชัปปุยส์ เกิดที่ซูริก มีแม่เป็นคนไทย และมีพ่อเป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ แน่นอนว่าเรื่องความเก่งกาจในวัยเด็กคงไม่ต้องพูดถึง ว่าชื่อเสียงเรียงนามของเขานั้นยอดเยี่ยมขนาดไหน ยืนยันได้ด้วยการเป็นขุนพลชุดแชมป์ฟุตบอลโลกยู 17 ปี 2009
ณ ทัวร์นาเมนต์นั้น ชัปปุยส์ อายุ 17 ปี พอดี ลงเล่นครบทุกนัดในทัวร์นาเม้นต์ 7 เกม ภายใต้เพื่อนร่วมทีมที่ปัจจุบันเป็นขุมกำลังให้กับทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ในยูโร 2024 อาทิ กัปตันทีมอย่าง กรานิต ชาก้า และ กองหลังอย่าง ริคาร์โด้ โรดริเกซ ที่ยืนหยัดรับใช้ทีมชาติมาเกิน 100 เกมทั้งคู่
หากเปรียบเทียบในปี 2009 ชัปปุยส์ อาจจะเด่นกว่านักเตะทั้ง 2 คนที่กล่าวมาก็ได้ ความยอดเยี่ยมของเขามีถึงขนาดที่ว่าสโมสรใหญ่อย่าง ยูเวนตุส หรือ ฮัมบูร์ก ติดต่อขอซื้อตัวมาแล้ว เพียงแต่เจ้าตัวก็ให้เหตุผลว่า "ยังไม่พร้อม"
"กระทั่งผมอายุ 17 ผมได้รับข้อเสนอจากสองสโมสรดังในยุโรปอย่างยูเวนตุส และฮัมบูร์ก แต่สุดท้ายมันก็ไม่เกิดขึ้น เพราะผมยังเด็กเกินไปที่จะเดินทางออกจากบ้าน บางที ... นั่นคงเป็นสิ่งเดียวในชีวิตที่ผมรู้สึกเสียใจ" ชัปปุยส์ ว่าแบบนั้น
ไม่แปลกที่เขาจะเสียดาย ... เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปี เขาได้รับการบาดเจ็บอย่างหนักที่เข่า จนกระทั่งต้องพักรักษาตัวนานหลายเดือน และสำหรับนักเตะดาวรุ่ง การเจ็บยาวนั้นเสียโอกาสในการพัฒนา และง่ายค่อการถูกเพื่อนรุ่นเดียวกันแซงหน้าไป ซึ่งจุดนั้นเองที่ทำให้ ชัปปุยส์ ที่เคยจะเป็นนักเตะของ ยูเวนตุส ต้องเปลี่ยนเส้นทางมาอยู่กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในศึกไทยลีกแทน
แน่นอนว่าเรื่องรายได้ ถือเป็นสิ่งที่มากโข ชัปปุยส์ กับ บุรีรัมย์ ณ เวลานั้นถือเป็นดีลสะท้านวงการบอลไทย มีการลือกันไปว่าค่าเหนื่อยของเขาใกล้ ๆ หลัก 1 ล้านบาท และหากเทียบกับนักเตะอายุ 21 ปี ในลีกสวิส ที่มีค่าเฉลี่ยรายได้ราว 2-3 พันยูโรต่อสัปดาห์ เฉลี่ยต่อเดือนก็อยู่ที่ราวเดือนละ 2 แสน - 3 แสนบาท การตัดสินใจมาค้าแข้งในไทยก็ไม่เลวนักสำหรับเขา
ในตอนแรกเขาอาจจะคิดว่านี่คือการถอยหลัง แต่เป็นการถอยหลังเพื่อเดินหน้า ถ้าเขาโชว์ฟอร์มในไทยลีกได้ดี เขาอาจจะได้ย้ายไปเล่นและไต่เต้าในลีกที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นลีกญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอาจจะได้กลับไปยุโรปอีกครั้ง
แต่ความจริงมันไม่ได้สวยหรูแบบนั้น เมื่อคุณถอยตัวเองมาอยู่ในภาพแวดล้อมทางฟุตบอลที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่เคยอยู่ มันยากที่จะรักษามาตรฐานเดิมและต่อยอดไปให้สูงขึ้น และชัปปุยส์ ก็ติดอยู่กับไทยลีกไปอีก 10 ปี โดยไม่ได้ย้ายไปลีกไหนเลย
แน่นอนว่าเขาไม่ได้ล้มเหลว ... เขาประสบความสำเร็จทั้งเชิงรายได้ และชื่อเสียง ไม่ว่าจะทั้งในและนอกสนาม โดยเฉพาะในช่วงปี 2014 ที่ถือเป็น ชุปปุยส์ ฟีเวอร์ ที่ไม่ใช่ดังแค่ประเทศไทย แต่ดังไกลไปทั่วอาเซียน
ตอนนั้นใครที่ทันดูก็คงจะได้เห็นว่า ชัปปุยส์ มีครบทุกอย่างในปี 2014 ทักษะเชิงบอล ทัศนคติในการเล่น ระเบียบวินัยในการดูแลตัวเอง อาจจะมีเรื่องของร่างกายที่ยังมีปัญหาจากการเจ็บยาวในอดีตไปบ้าง แต่ชัดเจนว่าในตอนแรกเริ่มระดับของ ชัปปุยส์ เกินกว่าฟุตบอลในประเทศไทย และอาเซียนพอสมควร
น่าเสียดายที่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไมได้ยกระดับตัวเอง สุดท้าย ชัปปุยส์ ก็ไม่เคยดีขึ้นกว่าปี 2014 เลย... นั่นอาจจะเป็นสาเหตุว่าทำไมเขาเคยสัมภาษณ์ว่า "นั่นอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่เสียดายที่ไม่ได้ไปเล่นกับทีมอย่าง ยูเวนตุส ตอนนั้น"
เราลองเทียบเรื่องนี้กับเพื่อนร่วมรุ่นของเขาอย่าง ชาก้า และ โรดริเกซ รวมถึงอีกหลายคนที่ติดทีมชาติชุดก่อนหน้านี้ ที่เลือกจะค่อย ๆ ไต่ระดับกับทีมระดับเล็ก ๆ แต่อย่างน้อยก็มีโครงสร้างฟุตบอลที่ดี แม้ตอนเด็กพวกเขาจะไม่ได้เก่งกาจมากมายนัก แต่เมื่อพวกเขาโตอย่างเป็นระบบ ย้ายจากทีมเล็ก ๆ ลีกเล็ก ๆ ไปยังทีมที่ใหญ่ขึ้น หรือเล่นในลีกที่มีคุณภาพมากขึ้น สิ่งที่เราได้เห็นคือสภาพแวดล้อมผลักดันพวกเขาโดยอัตโนมัติ พวกเขาค่อย ๆ ดีขึ้นในแง่ของประสบการณ์ และความเข้าใจเกมฟุตบอล เรียกได้ว่าไม่เคยตกเทรนด์ฟุตบอล พวกเขาจึงยังเล่นได้จนถึงทุกวันนี้
เรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าแม้การตัดสินใจของ ชัปปุยส์ จะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่เราไม่สามารถก้าวก่ายได้เลย แต่ก็มันก็เป็นตัวอย่างที่ดีของนักเตะลูกครึ่งไทยที่มีข่าวว่าอาจจะกลับมาค้าแข้งในไทยลีก ไม่ว่าจะ นิโคลัส มิคเคลสัน หรือ เอราวัณ กานิเยร์ และนั่นอาจจะรวมถึง จู๊ด เบลล์ ที่เข้าใกล้วงโคจรฟุตบอลไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ
เงินทองมากมายและสถานะซูเปอร์สตาร์ประจำลีก หรือประจำประเทศไทยเปิดรอพวกเขาอยู่แน่ ๆ แต่พวกเขาจะต้องเสียสภาพแวดล้อมที่คุณภาพ การเล่นฟุตบอลที่มีมาตรฐานสูง ประสบการณ์การเล่นร่วมกับนักเตะที่ฝีเท้าดี ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเป็นนักเตะที่ดีขึ้นทั้งสิ้น ... และถ้าพวกเขาเลือกที่จะสู้ตามวิถีนักเตะอาชีพที่ทะเยอทะยานจะไปให้สูงขึ้น สิ่งที่พวกเขาจะได้คือผลประโยชน์ระยะยาวกับตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะด้านฟุตบอล หรือรายได้
การจะกลับมาที่ไทยลีกไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็เราก็ต้องย้อนถามตัวเองว่าลีกเขาเราทำให้นักเตะลูกครึ่งเหล่านี้ดีขึ้นได้จริง ๆ หรือ ? และมันจะดีกว่าใหม่ที่เราจะให้พวกเขาเรียนรู้ให้มากที่สุด ตักตวงทุกอย่างจากโอกาสที่พวกเขามีในต่างประเทศให้เต็มที่ จนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่พวกเขารู้สึกว่า "ไปไกลกว่านี้ไม่ได้แล้ว" พวกเขาจะกลับมาไทยลีกตอนบั้นปลายอาชีพก็ไม่สายไปนัก ... ถ้าเป็นแบบนี้ทั้งนักเตะ และทีมชาติไทยอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า การดึงพวกเขากลับมาตอนที่ยังมีโอกาสหรือไม่ ?