ไปแข่งบอล แต่เหมือนโดนคุมตัว : เกาหลีเหนือ ดินแดนที่ ทีมชาติญี่ปุ่น ไม่มีวันลืม
ผลจับสลากฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสองออกมาแล้ว ปรากฎว่า ทีมเบอร์หนึ่งของทวีปในปัจจุบันอย่าง ญี่ปุ่น ถูกวางอยู่ในสาย B ร่วมกับ ซีเรีย, เกาหลีเหนือ และผู้ชนะระหว่าง เมียนมา หรือ มาเก๊า
หากพูดถึงเรื่องฟุตบอลล้วน ๆ ลูกทีมของ ฮาจิเมะ โมริยาสุ น่าจะผ่านเข้ารอบสามได้แบบไม่ยากเย็น เพราะมาตรฐานของพวกเขาทิ้งเพื่อนร่วมกลุ่มไปไกลแล้ว ถึงขนาดล้มแชมป์โลกอย่าง เยอรมัน และ สเปน ได้พร้อมกันในฟุตบอลโลก 2022 ที่ผ่านมา
แต่การแข่งขันในรอบคัดเลือกเป็นการเล่นแบบเหย้า-เยือน ดังนั้นอาจมีปัจจัยภายนอกอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องเดินทางไปเล่นในประเทศที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอกอย่าง เกาหลีเหนือ
ต่อให้เป็นทีมที่แข็งแกร่งอย่าง ญี่ปุ่น ก็ใช่ว่าจะคว้าสามคะแนนกลับออกมาจากที่นั่นง่าย ๆ เพราะนอกจากต้องสู้กับนักเตะเกาหลีเหนือในสนามแล้ว พวกเขายังต้องทนกับแรงกดดันที่สั่นประสาทจากนอกสนาม
และนั่นคือเหตุผลที่ ทีมชาติญี่ปุ่น ภายใต้การคุมทัพของ อัลแบร์โต้ ซัคคาโรนี่ เสียท่าให้กับ ทีมชาติเกาหลีเหนือ ในครั้งล่าสุดที่พวกเขาบุกมาเยือนกรุงพยองยางเมื่อ 12 ปีก่อน (15 พฤศจิกายน ปี 2011)
นักเตะและสตาฟฟ์ญี่ปุ่นเดินทางมาเล่นเกมฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก รอบสาม และพวกเขาก็ต้องเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันตั้งแต่ก้าวแรกที่ได้แตะสนามบิน พยองยาง ซูนาน อินเตอร์เนชันนั่ล เลยก็ว่าได้
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองของสองประเทศที่ไม่สู้ดีนัก เจ้าหน้าที่สนามบินเกาหลีเหนือจึงตรวจค้นอาคันตุกะจากแดนอาทิตย์อุทัยแบบเข้มข้มทุกซอกทุกมุม ไม่เว้นแม้แต่กระเป๋าและอุปกรณ์ที่ขนมาก็ถูกส่งเข้าเครื่องสแกนอย่างละเอียดครั้งแล้วครั้งเล่า
สุดท้ายแล้วทีมชาติญี่ปุ่นต้องใช้เวลาไปทั้งหมด 4 ชั่วโมง กว่าจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของเกาหลีเหนือเข้ามาได้ เท่านั้นยังไม่พอ ก่อนเดินทางออกจากสนามบิน พวกเขาทุกคนยังโดนยึดโทรศัพท์มือถือไว้ด้วย โดยเกาหลีเหนือให้เหตุผลง่าย ๆ ว่าเพื่อความปลอดภัย
นั่นยังไม่ใช่เรื่องโหดที่สุดที่ ญี่ปุ่น ต้องเจอในทริปนี้ เพราะเมื่อไปถึงโรงแรมที่พัก พวกเขาก็ต้องช็อคยิ่งกว่า หลังโรงแรมกักบริเวณให้พวกเขาอยู่ได้เฉพาะชั้นตัวเอง ไม่สามารถเดินขึ้นลงเพื่อไปมาหาสู่กันระหว่างชั้นได้
แน่นอนว่า มันส่งผลกระทบต่อการเตรียมทีมของญี่ปุ่นโดยตรง เพราะพวกเขาไม่สามารถรวมตัวประชุมในโรงแรมได้ ซ้ำร้ายโรงแรมยังยึดราเมงสำเร็จรูปกับหมากฝรั่งที่ทีมเตรียมมาให้นักเตะไปอีก จนสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ต้องไปร้องเรียนกับสหพันธ์ลูกหนังเอเชีย (AFC) แต่ก็ไม่เป็นผล
นักเตะญี่ปุ่นจึงตกอยู่ในสภาวะเครียดทันที พวกเขาไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้ แม้แต่คนในครอบครัวยังไม่มีโอกาสได้คุย สภาพของพวกเขาในตอนนี้ไม่ต่างจากเชลยที่โดนคุมตัว ทั้งที่มาที่นี่เพื่อเล่นฟุตบอลแท้ ๆ บางคนกลัวถึงขนาดไม่กล้านอนคนเดียว ต้องหิ้วหมอนมานอนกับเพื่อนห้องข้าง ๆ
เมื่อญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เตรียมทีมอย่างเต็มที่ และนักเตะพากันสมาธิแตกกระเจิงจากแรงกดดันภายนอก มันก็ส่งผลถึงฟอร์มการเล่นในสนามของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต่างจาก เกาหลีเหนือ ที่ลงเล่นแบบไม่มีอะไรจะเสีย
ผลการแข่งขันที่สนาม คิม อิล ซอง จึงจบลงด้วยชัยชนะของ เกาหลีเหนือ ที่มีต่อ ทีมชาติญี่ปุ่น 1-0 ซึ่งนั่นเป็นประสบการณ์ที่นักเตะญี่ปุ่นชุดนั้นไม่มีทางสลัดออกไปจากความทรงจำได้ ต่อให้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
ดังนั้นการที่ ญี่ปุ่น ถูกจับสลากมาอยู่กลุ่มเดียวกับ เกาหลีเหนือ ในเกมคัดบอลโลกอีกครั้ง จึงเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่พวกเขาต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งเราจะได้รู้ผลกันหลังสิ้นเสียงนกหวีดจบเกมที่พยองยาง ในวันที่ 26 มีนาคม ปี 2024 (ในกรณีที่ AFC อนุญาตให้เกาหลีเหนือลงเล่นในบ้าน)
อ้างอิง : https://www.spotvnews.co.kr/news/articleView.html?idxno=622800
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
สโมสร ‘แตงโม’ : ตำนานแชมป์เงินล้านบอลเดินสายสองปีติดทีมเดียวในประเทศไทย
เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR