ไปฟุตบอลโลกเองไม่ได้ ก็เป็นเจ้าภาพเลยละกัน?
เป้าหมายการไปฟุตบอลโลกของทีมชาติไทย มีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยที่ลีกอาชีพยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนกระทั่งผ่านยุครุ่งเรือง มาสู่ยุคที่รายได้การถ่ายทอดสดไม่ได้ดึงดูดอีกต่อไป แต่คนไทยก็ยังฝันถึงการได้ไปฟุตบอลโลกกันอยู่ดี เมื่อเป็นความฝันที่แสนหวาน ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้สานฝันนั้น
การเป็นเจ้าภาพ คือ ทางลัดที่เร็วที่สุด ลองตัดปัญหาเรื่องงบประมาณ หนี้ก้อนโตที่รออยู่ การเมืองระดับโลกของฟีฟ่า หรือกระทั่งคิดว่าไทยได้สิทธิ์ในวันเปิดหรือปิดการแข่งขันหรือเปล่าออกไปก่อน สมมติว่า เราได้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก และได้โควตาเข้าไปแข่งขันเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร
นอกจากจะไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจอะไรแล้ว ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ ความยั่งยืนที่เราจะไม่สามารถไปถึงได้เลย นั่นคือ โครงสร้างและกลไกของกีฬาฟุตบอลของไทยที่จะยกระดับสร้างมาตรฐานสูงในระดับนานาชาติ การไปด้วยโควต้าเจ้าภาพ มันคือ การลัดวงจรความสำเร็จเพียงประเดี๋ยวประด๋าวด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองและเงิน เราจะได้ปักธงไตรรงค์ครั้งแรกในเวทีฟุตบอลโลก บนพื้นฐานที่ไม่เข้มแข็ง ดีไม่ดีก็อาจจะทำให้การลงแข่งครั้งนั้นอาจเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้สานฝันทั้งหลายอาจไม่แคร์ แต่มันดีจริงๆ หรือสำหรับวงการฟุตบอลไทย
การสร้างรากฐานที่เข้มแข็งก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า เราต้องการอะไรบ้าง บ้างก็ว่านักฟุตบอลที่มีคุณภาพ บ้างก็ว่าระดมทีมเยาวชน บ้างก็ว่า เทคนิคต่างๆ บ้างก็ว่าศรัทธาแฟนบอล แต่ทั้งหมดนี้ก็ล้วนอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีจำกัดคือ เวลา เงินและทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงผู้นำด้วย ในที่นี้ลองมาวิเคราะห์กันดูว่ามีอะไรที่ต้องคิด และผู้เขียนพยายามข้อเสนอว่ามีอะไรที่ควรจะทำกันในระยะยาว
ความทะเยอทะยานระดับโลกนั้น ไม่สามารถแยกขาดได้จากทัวร์นาเมนท์ระดับภูมิภาคอย่างซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ บอลถ้วยระหว่างประเทศอาเซียน และเอเชียนคัพที่เป็นด่านความสำเร็จแรกๆ ที่จะเป็นบททดสอบ แต่ในระยะหลัง แม้ด่านทดสอบที่น่าจะเป็นเรื่องง่ายในอดีต ก็ไม่ได้หมูเสียแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับสวนทางกับการเติบโตของฟุตบอลอาชีพในประเทศ
แม้จะมีนักฟุตบอลเป็นตัวเลือกอยู่มากมายในฟุตบอลลีก แต่กลับมีเสียงพร่ำบ่นว่า ขาดนักฟุตบอลที่มีความสามารถมากพอที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมชาติ ขาดตำแหน่งนั้น ขาดตำแหน่งนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ บ้างก็ว่ามันขาดความต่อเนื่องในการพัฒนานักฟุตบอลเยาวชน บ้างก็ว่าฝีมือไม่ถึง บ้างก็ว่าขาดวินัย
คนในวงการฟุตบอลหลายคนยอมรับว่า การพาทีมชาติไทยไปแข่งขันฟุตบอลโลก มันไม่ใช่งานระยะสั้น เวลา 4 ปี ตามวาระของนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ไม่มีทางเพียงพอ มันต้องการเวลาในการบ่มเพาะและการประคบประหงมไปตามช่วงวัยเพื่อให้เติบโตและเบ่งบานได้ในที่สุด ในระบบการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติที่แบ่งออกเป็นระดับ U17, U20, โอลิมปิก (U23) และทีมชาติชุดใหญ่ การจะมองไกลไปบอลโลกจึงต้องมองยาว และมีระบบการจัดการที่เชื่อมโยงกันหมด การหวังน้ำบ่อหน้าและอาศัยเพียงความสามารถและโชคชะตาของนักเตะชุดปัจจุบัน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แล้วจะเป็นไปได้เพียงใดที่จะมองโอกาสพาบอลไทยไปบอลโลกผ่านการสร้างรากฐานใหม่ขึ้นมาผ่านเยาวชน ในส่วนของทัวร์นาเมนท์ ไม่ใช่ในฐานะการแข่งขันฟุตบอลเพื่อการแข่งขัน ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ทัวร์นาเมนท์การแข่งขันฟุตบอลไม่ใช่ว่าไม่มี แต่มีเยอะแยะไปหมด เพียงแต่เป็นการจัดแบบไม่มีเอกภาพ และบางครั้งยังจัดไปตามงบประมาณที่ได้รับมาแบบแกนๆ กระทั่งหลายการแข่งขันก็เล่นกันไปแบบไม่มีคนดู ไม่สนใจสื่อสารกับใครในท้องถิ่น เราอาจนับการแข่งขันบอลนักเรียนที่เตะกันเองดูกันเองในกรุงเทพฯ บางโรงเรียนเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนท์นั้นก็ได้
สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ให้มันกลายเป็นพื้นที่สร้างวัฒนธรรมกีฬา โดยใช้ฟุตบอลเป็นตัวชูโรง ซึ่งมันโอบรับทั้งนักฟุตบอลเยาวชน ครอบครัว ผู้ชมกองเชียร์ และการสร้างสำนึกท้องถิ่นขึ้นมา ทั้งยังอาจจะสนับสนุนการค้าในท้องถิ่นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยได้ด้วย ผู้เขียนเสนอว่า ควรมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนมัธยมระดับประเทศที่อาจเทียบได้กับ “อินเตอร์ไฮ” ของญี่ปุ่น ความสำคัญของรายการนี้ที่แตกต่างจากรายการทั่วไปที่ผ่านมา คือ มันต้องเป็นการแข่งขันของโรงเรียนที่เป็นตัวแทนของจังหวัดนั้นๆ ระหว่างทาง ก็มีการทำการตลาด สร้าง STORY สื่อสารกับท้องถิ่น และการสร้างแคมเปญระดับชาติ ในการแข่งขันแต่ละครั้ง แต่ละรอบยังจะสามารถสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เข้าไปผสานได้อีก ตามแต่ผู้จัดจะวางหมาก
สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลดีต่อตัวนักบอล ระบบอาคาเดมี่ สโมสรฟุตบอลไปด้วย เพราะกีฬาเป็นจุดเชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่นไม่ยากนัก ยิ่งมีเยาวชนที่เป็นลูกๆ หลานๆ ของพวกเขาเข้าแข่งขันแล้ว ยิ่งทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นไปอีก นำมาซึ่งการสนับสนุนหลายๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแรงเชียร์ ทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ บนสำนึกรักท้องถิ่น
ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลมัธยมระดับชาติ จะส่งต่อทั้งแพชชั่นให้กับเยาวชนรุ่นหลัง และเชื่อมต่อไปยังระบบอาชีพ การเชื่อมกับระบบอาคาเดมี่ของสโมสรในท้องถิ่นหรือใกล้เคียงเพื่อปั้นนักเตะขึ้นมาบนฐานศาสตร์ฟุตบอล วิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งจะสร้างความเป็นมืออาชีพตั้งแต่เด็กที่ไม่ใช่เป็นเพียงมุ่งหน้าแข่งขันเพื่อคว้าชัยชนะ สะสมรางวัล คว้าถ้วยเป็นเกียรติประวัติเท่านั้น แต่ต้องนำไปสู่จินตนาการของฟุตบอล ความหลงใหลและกระหายต่อฟุตบอล รวมไปถึงประคับประคองร่างกายไม่ให้ถูกใช้อย่างหักโหมเกินวัย
ระบบที่เข้มแข็งนี้ จะทำให้เส้นทางการเป็นนักฟุตบอลอาชีพเปิดกว้างขึ้น ทำให้ทีมชาติระดับ U17 และหลังจากนั้นมีตัวเลือกมากขึ้นไปด้วย สิ่งที่ต้องการอย่างมากต่อไปคือ ระบบการคัดตัวและดูแลนักเตะเหล่านั้นในระดับทีมชาติ ซึ่งรวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอย่างสนามซ้อมไปจนถึงเทคนิคอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องสนับสนุนพวกเขา
ในระดับลีกฟุตบอล อาจจะต้องคิดถึงการสร้างระบบนิเวศน์ของการแข่งขันไม่ให้มีทีมใดทีมหนึ่งที่ผูกขาดความสำเร็จด้วยทรัพยากรที่มีมากเกินไป การคิดถึงกฎการควบคุมทางการเงิน (financial fair play) แบบในญี่ปุ่น รวมไปถึงทีมเล็กควรได้รับการสนับสนุนมากกว่าทีมใหญ่ในบางกรณี ทีมท้องถิ่นควรได้รับการสนับสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ถูกเพ่งเล็งจับผิดว่าเอื้อให้บริษัทเอกชนแบบที่เป็นอยู่ หรืออาจจะต้องคิดถึงโควตานักเตะต่างชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเตะท้องถิ่นมีโอกาสได้โชว์ฝีเท้า มากกว่าการทุ่มเงินของทีมใหญ่ๆ ซื้อนักเตะต่างชาติแล้วมากจนแน่นทีม และทำให้นักเตะท้องถิ่นหมดโอกาสในที่สุด ในทางตรงกันข้าม การที่นักเตะไทยได้โอกาสไปเล่นในลีกยุโรปก็เป็นโอกาสเก็บเกี่ยวประสบการณ์และพัฒนาฝีเท้า
แต่ในที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญที่คนมักพูดถึงกันน้อยของนักฟุตบอลอาชีพก็คือ การคุ้มครองนักเตะในฐานะแรงงานที่พึงมีการคุ้มครอง ไม่ถูกละเมิดสัญญาจ้าง การเบี้ยวเงินเดือนและสิ่งที่ควรจะได้รับ อันเป็นปัญหาที่มักไม่ถูกพูดถึง อย่างน้อยก็ทำให้อาชีพนักฟุตบอลมีความมั่นคง และทัดเทียมหน้ากับแรงงานอื่นๆ ในสังคมไทย โดยที่นักฟุตบอลจะไม่กลายเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อบรรลุความสำเร็จของชาติและนายทุนแต่เพียงอย่างเดียว
การจะทำให้ระบบอะไรทำนองนี้เกิดขึ้นได้ มันเป็นไปไม่ได้เลย หากจะหวังแค่การลัดวงจรความสำเร็จ หากต้องคิดและวางแผนปฏิบัติกันแบบข้ามรุ่น ข้ามทศวรรษกันไปเลย.
ท้ายที่สุดนี้บทความมดังกล่าวเขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งล่าสุดได้เขียนหนังสือที่ชื่อว่า "(ก่อน)บอลไทยจะไปบอลโลก” ที่กำลังจะมีทอล์กโชว์ที่พูดถึงเรื่องของฟุตบอลไทย ว่าจะต้องทำอะไรบ้างหากอยากจะไปฟุตบอลโลกจริง ๆ
ถ้าคุณอยากพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าวในมุมมองที่แตกต่างออกไป สามารถมาเจอกันได้ที่งาน "Talk จี้ใจ (ก่อน) บอลไทยจะไปโลก"
โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวัน เสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป ณ ร้าน Hops and Hope craft bar ติด MRT พหลโยธิน ปากซอย ลาดพร้าว 4
"Talk จี้ใจ (ก่อน) บอลไทยจะไปโลก" เป็นทอล์กโชว์ที่เปิดให้รับชมฟรี และภายในงานจะมีหนังสือเล่มดังกล่าวมาวางขายด้วย ... ถ้าคุณอยากมองประเด็นนี้ด้วยมุมมองที่ต่างออกไป อย่าลืมมาเจอกันล่ะ!