ไต้หวันเป็นประเทศหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงมีทีมชาติ?

ไต้หวันเป็นประเทศหรือไม่ เพราะเหตุใดจึงมีทีมชาติ?
มฤคย์ ตันนิยม

หลังเกมที่ ไทย บุกเสมอ ไต้หวัน 2-2 มีความสงสัยว่าทำไมเราเรียกชื่อพวกเขาว่าทีมชาติไต้หวัน แต่ชื่อแบบเป็นทางการของพวกเขาคือ ไชนีส ไทเป  

แท้จริงแล้ว ไต้หวัน เป็นประเทศหรือไม่ เพราะตามนโยบายจีนเดียว ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เกาะที่นักเดินเรือชาวโปรตุเกสตั้งชื่อว่า “ฟอร์โมซา” แห่งนี้คือส่วนหนึ่งของพวกเขา

และถ้าหากไต้หวัน ไม่ได้เป็นประเทศ ทำไมพวกเขาจึงมีทีมชาติลงเล่นในเกมอุ่นเครื่อง รวมทั้งเกมอย่างเป็นทางการของฟีฟ่า อย่างเอเชียนคัพ และฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก

ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ประเทศไต้หวัน?

แม้ว่า ไต้หวัน หรือไชนีส ไทเป ในเวทีโลก จะสามารถปกครองตนเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งมีพรมแดน สกุลเงิน พาสปอร์ต และรัฐบาลเป็นของตัวเอง แต่สถานะในระดับนานาชาติ พวกเขากลับไม่ได้เป็น “ประเทศ”

จุดเริ่มต้นของความแปลกประหลาดนี้ อาจจะต้องย้อนกลับไปในปี 1949 เมื่อพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคชาตินิยมที่ครองอำนาจมากว่า 40 ปี โดนพรรคคอมมิวนิสต์ของเ หมา เจ๋อตุง โค่นล้ม จนทำให้พวกเขาต้องหนีไปตั้งหลักที่เกาะฟอร์โมซา เกาะที่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ไปทางตะวันออกราว 160 กิโลเมตร

ที่นั่น เจียง ไคเช็ค ผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ตั้งสาธารณรัฐจีนขึ้นมา โดยมีผู้สนับสนุนบางส่วน ย้ายมาพร้อมกัน ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา ก็ได้ก่อตั้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นการอ้าง “ความเป็นประเทศจีน” ของทั้งคู่

ในช่วงแรก ไต้หวัน อาจจะมีแต้มต่อและได้ใช้ชื่อจีน เนื่องจากได้รับรองในองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ  (UN) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตร ส่วนจีนได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียดเท่านั้น

แต่จุดเปลี่ยนก็มาเกิดขึ้นในปี 1971 เมื่อสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการทูต ด้วยการจับมือกับจีนแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าจีนคอมมิวนิสต์ กำลังขัดแย้งกับสภาพโซเวียด ศัตรูในสงครามเย็นของอเมริกา และทำให้สหประชาชาติ รับรองจีนแผ่นดินใหญ่ แทนจีนไต้หวัน

Photo : AFC

ผลดังกล่าวทำให้ ไต้หวัน ถูกขับออกจากการเป็นชาติสมาชิกของ UN และไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐโดยสมบูรณ์ รวมถึงไม่ได้เป็นประเทศ โดยมีเพียง 25 ชาติจาก 200 ชาติเท่านั้นที่รับรองพวกเขา

นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลปักกิ่ง จะไม่สามารถควบคุม ไต้หวัน อย่างสมบูรณ์ แต่พวกเขาถือว่าเกาะแห่งนี้คือส่วนหนึ่งของ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้นโยบายจีนเดียว

แล้วถ้าอย่างนั้น เพราะเหตุใด พวกเขาจึงมีทีมชาติ ?

ทีมชาติจีนไทเป

ไต้หวัน ถือเป็นชาติที่ลงโม่แข้งในระดับนานาชาติมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยยังเป็นสาธารณรัฐจีน พวกเขาก่อตั้งสมาคมฟุตบอลมาตั้งแต่ปี 1924 และเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ในปี 1931

อย่างไรก็ดี กว่าที่พวกเขาจะมีทีมชาติลงเล่นในเกมอย่างเป็นทางการในระดับนานาชาติ จีนไทเป ก็ผ่านการต่อสู้มาไม่น้อย

ย้อนกลับไปในปี 1949 หลังสงครามกลางเมืองจีน ไต้หวันก็ต้องเสียสิทธิ์ในการดูแลสมาคมฟุตบอลจีน ไปให้จีนแผ่นดินใหญ่ ที่ทำให้สมาคมฟุตบอลสาธารณรัฐจีนของไต้หวันที่ก่อตั้งขึ้นมาภายหลัง ไม่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่า

หลังจากนั้น ไต้หวัน ก็พยายามสมัครเข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่าอีกครั้ง ก่อนจะได้รับรองในปี 1954 ท่ามกลางการคัดค้านของจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้พวกเขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี ในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ดี จีนแผ่นดินใหญ่ก็ไม่ยอมแพ้ พวกเขาพยายามขับไล่จีนไต้หวันออกจากการเป็นสมาชิกของฟีฟ่ามาตลอด แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

7 ฤดูกาลแห่งความทรงจำ : เพื่อนร่วมทีม คู่แข่ง กุนซือ พูดถึง ‘ชนาธิป’ ตอนอยู่ญี่ปุ่นไว้อย่างไร ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ชนาธิป สรงกระสินธ์ กำลังนับถอยหลังช่วงเวลาสุดท้ายของตัวเองในเจลีก หลังมีกระแสข่าวหนาหูว่าเขาเตรียมเก็บข้าวของกลับมาเล่นให้กับทีมสโมสรในบ้านเกิด แม้มันอาจจะเป็นการปิดฉากที่ไม่สวยหรู แต่ตลอดระยะเวลา 7 ฤดูกาล ดาวเตะชาวไทย ก็สร้างปรากฏการณ์มากมายในลีกแดนอาทิตย์อุทั

จนกระทั่งในปี 1958 สมาคมฟุตบอลจีน ที่ตอนนั้นอยู่ภายใต้ All China Athletic Federation (ACAF) ก็ประท้วงด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกฟีฟ่า แต่ฟีฟ่า ไม่อยากให้เรื่องบานปลาย จึงให้ วิคตอร์ กรานัตคิน รองประธานฟีฟ่าในตอนนั้น ไปช่วยคุย

จีนแผ่นดินใหญ่ยืนยันว่า พวกเขาจะยังเป็นสมาชิกฟีฟ่าต่อไป ก็ต่อเมื่อขับไล่จีนไต้หวันออกเท่านั้น แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธด้วยคะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วยมากถึง 45 ต่อ 8 (งดออกเสียง 16)  ในการประชุมฟีฟ่า ครั้งที่ 32 ที่โรมในปี 1960

Photo : FIFA.com

ปัญหาของทั้งคู่ยังคงดำเนินต่อไปอย่างคาราคาซัง ที่ทำให้ไม่มีฝ่ายไหนได้ลงเล่นในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก แถมในปี 1974 ไต้หวันยังถูกขับออกจาก เอเอฟซี (แต่ยังเป็นสมาชิกของฟีฟ่า) จนต้องไปสังกัดสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งโอเชียเนีย (OFC)  แต่ก็ถูกระงับสมาชิกในปี 1978 ด้วยปัญหาเรื่องชื่อ

ทว่าในปี 1980 สถานการณ์ก็เริ่มคลี่คลายลง เมื่อในการประชุมของฟีฟ่าครั้งที่ 42 อนุญาต ไต้หวัน ได้เป็นสมาชิกของฟีฟ่าต่อไป เพียงแต่ต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น สมาคมฟุตบอลจีนไทเป (Chinese Taipei Football Association) และทำให้สมาคมฟุตบอลจีน กลับเข้ามาเป็นสมาชิกฟีฟ่าอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ ทั้งจีนไทเป หรือไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่ ก็สามารถลงเล่นในเวทีระดับนานาชาติพร้อมกัน เนื่องจากทั้งคู่ต่างเป็นสมาชิกฟีฟ่า

และทำให้ ไต้หวัน มีทีมชาติ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ถูกรับรองให้เป็นประเทศก็ตาม ในแบบเดียวกับ ปาเลสไตน์, มาเก๊า, โคโซโว หรืออีกหลายชาติบนโลกใบนี้

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก

คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ

แหล่งอ้างอิง

https://www.scienceabc.com/social-science/why-is-taiwan-called-chinese-taipei.html

https://hongkongfp.com/2022/02/02/why-is-taiwan-called-chinese-taipei-at-the-olympics/

https://www.blockdit.com/posts/6052335b2ec2471171831ab1

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ