ไทยลีก 1 ซีซั่นใหม่ เพิ่มโควตา U23, สนามสำรองต้องมี, ยืมประตูฉุกเฉินได้
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม ไทยลีก 1 เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 บริษัท ไทยลีก จำกัด แจ้งแนวทางการแข่งขันฟุตบอลรายการ ไทยลีก 1 ฤดูกาล 2024/25 เพิ่มเติมอย่างเป็นทางการ หลัง 16 สโมสร จัดการประชุม และ เห็นชอบร่วมกันเป็นที่เรียบร้อย ในการประชุมครั้งที่ 4/2567 โดยมี ธนวัชร์ นิติกาญจนา ในฐานะประธานจัดการแข่งขันไทยลีก 1 เป็นประธานในการประชุม
1.แนวทางการขึ้นทะเบียนนักกีฬา
- จากเดิม 37 คน เพิ่มเป็น 45 คน โดยจำนวนที่เพิ่ม 8 คนต้องเป็นนักกีฬารุ่นอายุ U23
- นักกีฬาต่างชาติ ลงทะเบียน 5 คน + นักกีฬาต่างชาติสัญชาติสมาชิก AFC 1 คน + นักกีฬาสัญชาติอาเซียน 3 คน
- โควตาต่างชาติ 5+1+3 คน (ส่งชื่อในวันแข่งขันได้ทั้งหมด แต่ลงสนามยังเป็นในรูปแบบ 3+1+3 คน)
- ส่งชื่อนักกีฬาในวันแข่งขันเพิ่มเป็น 23 คน จากเดิม 20 คน เพื่อสอดคล้องกับ การแข่งขันของ เอเอฟซี
ทั้งนี้ การแข่งขันไทยลีก 1 ฤดูกาล 2025/26 จะมีการปรับลดโควตานักกีฬาสัญชาติอาเซียน เหลือจำนวน 2 คน
2.โปรแกรมการแข่งขันที่มีการแจ้งเลื่อนโปรแกรมล่วงหน้า
- MD8 คู่แข่งขันระหว่างสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด พบกับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด จะทำการแข่งขัน เพียงคู่เดียว ในวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เนื่องจากสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ สโมสร บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ไม่สามารถทำการแข่งขันเหมือนทุกคู่ที่เหลือ ในช่วงระหว่างวันที่ 24-26 กันยายน 2567 ได้ เนื่องจากมีโปรแกรมทำการแข่งขัน ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรอาเซียน
3.แนวทางการขอเลื่อน/สลับ วันแข่งขัน
- ให้สิทธิ์เฉพาะสโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติเท่านั้น (เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก และ ชิงแชมป์สโมสรอาเซียน)
- ฝ่ายจัดการแข่งขัน จะจัดโปรแกรมไทยลีกให้สอดคล้องกับทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน
- กรณีสโมสรมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนการแข่งขัน จะต้องมีการยินยอมจากทีมคู่แข่ง โดยทีมสามารถขอเลื่อนวันแข่งขันได้ แต่จะต้องไม่แข่งขันนัดเหย้า และ นัดเยือน ติดต่อกัน เกิน 3 นัด
4.แนวทางการจัดการสำหรับสนามสำรอง
- ให้สโมสรสมาชิกเสนอชื่อสนามสำรองมายังไทยลีก เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีสนามเหย้าไม่สามารถใช้แข่งขันได้
- กรณีที่สนามเหย้า และสนามสำรอง ไม่สามารถใช้งานได้ จะถูกปรับไปเป็นทีมเยือนแทน
5.การยืมนักกีฬาในตำแหน่งผู้รักษาประตูฉุกเฉิน
- สโมสรสามารถยืมตัวนักกีฬา ในตำแหน่งผู้รักษาประตูได้ หากมีอาการบาดเจ็บหลังจากปิดตลาดดซื้อ-ขาย ไปแล้ว และ ไม่มีนักกีฬาสำรองทดแทน โดยต้องมีเอกสารทางการแพย์ประกอบการยื่นขอยืมตัวฉุกเฉิน
- ระยะเวลาของการยืมตัว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ และ เอกสารยืนยันทางการแพทย์
- สโมสรต้องได้รับการอนุมัติจากลีกก่อนการยืมตัว โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐาน การบาดเจ็บของผู้รักษาประตูที่มีอยู่ต่อคณะกรรมการของลีก เพื่อพิจารณา และ อนุมัติการยืมตัวฉุกเฉิน
6.การเปลี่ยนตัวนักกีฬากรณีได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ
- IFAB ได้เพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวสำหรับผู้เล่นที่ได้รับการกระทบกระเทือนศรีษะ (head concussion) โดยอนุญาตให้ทีมสามารถเปลี่ยนตัวได้หากผู้เล่นมีการกระทบกระเทือน โดยไม่ใช้โควตาการเปลี่ยนตัวปกติของทีม โดยทางไทยลีกจะปรับระเบียบให้สอดคล้องรองรับกฏดังกล่าว
ข่าวและบทความล่าสุด