‘อัตลักษณ์เอเชีย’ เมื่อสามสตาร์ ‘เกาหลีใต้’ เริ่มอยู่ยากจากการโดนสื่อยุโรปโจมตีอย่าง ‘ไม่ยุติธรรม’

‘อัตลักษณ์เอเชีย’ เมื่อสามสตาร์ ‘เกาหลีใต้’ เริ่มอยู่ยากจากการโดนสื่อยุโรปโจมตีอย่าง ‘ไม่ยุติธรรม’
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

ขึ้นชื่อว่าเป็นนักฟุตบอลจากเอเชีย การย้ายไปค้าแข้งในยุโรปย่อมเป็นความฝันสูงสุดของพวกเขา เนื่องจากต้องยอมรับกันตามตรงว่า พัฒนาการของฟุตบอลและความนิยมในย่านนี้ ยังคงเป็นรองลีกยุโรปที่เป็นเจ้าตลาด อย่างวลีฮิตที่แฟนบอลคงเคยได้ยินผ่านหูกันมาว่า 5 ลีกใหญ่ยุโรป ที่ประกอบไปด้วย พรีเมียร์ลีก (อังกฤษ), กัลโช เซเรีย อา (อิตาลี), บุนเดสลีก้า (เยอรมัน), ลา ลีกา (สเปน) และ ลีก เอิง (ฝรั่งเศส) ที่ถูกแบ่งแยกชัดเจนว่าเป็น ลีกระดับเทียร์ 1

ตลอดหาลยปีที่ผ่านมา ผู้เล่นฝีเท้าดีจากเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลี หรือชาติอื่นๆ ถูกส่งออกไปค้าแข้งอยู่กับทีมชั้นนำทั่วโลก มีหลายต่อหลายคนที่สร้างชื่อกับสโมสรชั้นนำ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับตัวเอง กลายเป็นที่จับตามองของสื่อในต่างประเทศเล่นข่าวกันไม่เว้นแต่ละวัน แตกต่างจากในยุคก่อนที่มักจะถูกมองข้าม

อย่างไรก็ตามยิ่งพวกเขามีพื้นที่สื่อมากเท่าไหร่ ใช่ว่าจะเป็นผลดีต่อตัวพวกเขาเองเพียงด้านเดียว เพราะท้ายที่สุดแล้วการขายข่าวของสื่อต่างๆ ประเด็นเรื่อง ดราม่า, การโจมตีผลงาน และทุกอย่างที่เป็นด้านลบ ย่อมเป็นจุดสนใจของผู้เสพย์สื่อออนไลน์มากกว่าด้านดี แล้วยิ่งการที่พวกเขาเป็นกลุ่มนักเตะที่มีอัตลักษณ์แตกต่างจาก ‘ชาวยุโรป’ ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ โอกาสที่จะเป็น เป้าโจมตี หรือ แพะรับบาป ย่อมง่ายกว่าในการชี้เป้า

ปัจจัยต่างๆ ที่นักเตะเอเชียอย่างเช่น เกาหลีใต้ รวมไปถึงชาติอื่นๆ ที่ย้ายไปค้าแข้งในยุโรป ถูกมองแบบ ‘อคติ’ จากชาวยุโรปมีที่มาที่ไปอย่างไร? ประเด็นใดบ้างที่พวกเขามักจะถูกตีตราและเปลี่ยนภาพลักษณ์ไม่ได้? สื่อในบ้านเกิดพวกเขาจัดการแบบใดกับเรื่องนี้? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

อคติจากมุมมอง

ดร. แดเนียล ลิฟวิงสตัน ผู้เขียนหนังสือ ‘British Asians, Exclusion and the Football Industry’ ที่ศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง ชี้จุดสังเกตเอาไว้ว่า นักเตะจากเอเชีย มักถูกตีตราหรือตีค่าด้อยกว่านักเตะจากยุโรป จากประเด็นการตัดสินเรื่อง ทัศนคติทั่วไปของสังคม และ อคติในหลายๆ เรื่อง

PHOTO : The Niles

ตัวอย่างของแนวคิดที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้จากภาพลักษณ์ภายนอกหรือความเชื่อ ดร. ลิฟวิงสตัน ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ว่า

“ผู้เล่นผิวสี (Black Players) มักจะถูกเห็นบ่อยๆ ว่า แข็งแกร่งกว่าผู้เล่นทั่วไป, เร็วกว่า และ มีพรสวรรค์ แต่เมื่อมองมาที่ผู้เล่นชาวเอเชีย พวกเขามักจะถูกมองว่าเป็นนักเตะที่มีเทคนิคดี แต่ร่างกายไม่ได้แข็งแกร่งเทียบเท่า”

“โครงสร้างพันธุกรรม และ การแข่งขัน เป็นค่านิยมที่ถูกสร้างขึ้นมาในสังคม ที่ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจนยืนยันเกี่ยวกับ ชีววิทยา และ พันธุกรรม ตามหลักวิทยาศาสตร์มารองรับว่า ผู้เล่นที่มีสีผิวเหมือนกัน ที่เรามักจะใช้จำแนกชาติพันธุ์ตามลักษณะเด่นโดยธรรมชาติ ทำให้เราเข้าใจกันไปเอง”

ความเชื่อเหล่านั้นทำให้เหล่าแมวมองมักจะมองข้าม นักเตะเอเชีย ด้วยการตั้งธงเอาไว้แล้วว่า พวกเขาจะไม่เก่งพอ, ไม่เร็วพอ และ ไม่ได้มีร่างกายที่แข็งแกร่งพอ เป็นการตัดสินไปล่วงหน้าแล้ว ถ้ามีดาวเตะรายใดที่หลุดรอดผ่านเกณฑ์มาได้ ก็ไม่ต่างกับการชนะการเดิมพันเท่านั้น

นอกจากนี้งานวิจัยระดับ ปริญญาเอก สนับสนุนแนวคิดเรื่อง อคติ ของชาติยุโรป ต่อนักเตะชาวเอเชียเพิ่มเติมว่า พวกเขานั้นมองปัจจัยต่างๆ โดยรอบ ด้วยการเอามุมมองของตัวเองเป็นศูนย์กลาง หรือ Eurocentric View ทำให้เกิดเป็นปัญหาสืบเนื่องตามมาในหลายประเด็น เช่น อคติทางเชื้อชาติ (Racial Bias), การนำเสนอของสื่อ (Media representation), การคัดสรรและพัฒนาพรสวรรค์ (Scouting and talent development) และ แนวคิดเรื่องรูปแบบการเล่นและแท็คติก

PHOTO : Canterbury

อคติดทางเชื้อชาติ จากมุมมองยุโรปเป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่าผู้เล่นเอเชีย นั้นไม่แข็งแกร่งเท่า, ไม่ฉลาดเท่า และ ไม่มีทักษะเท่า เมื่อเทียบกับผู้เล่นในยุโรป โดยเทียบจากการเอาความสำเร็จต่างๆ เป็นตัวชี้วัด ยกตัวอย่างเช่น การคว้าแชมป์, มาตรฐานของลีก, คุณภาพผู้ฝึกสอน และภาพลักษณ์ภายนอกที่ถูกทำให้เชื่อเช่นนั้น จนทำให้ในช่วงแรกๆ แมวมองชั้นนำ มักจะมองข้ามผู้เล่นจากโซนนี้ เพราะเชื่อว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ยาก

การนำเสนอของสื่อ เป็นปัญหาต่อมาจากการที่ ผู้เล่นจากเอเชีย มักจะไม่ได้รับพื้นที่การนำเสนอเรื่องราวมากเท่าที่ควรจะเป็น ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักเมื่อเทียบกับผู้เล่นในยุโรป ซี่งนับเป็นเรื่องของความ ‘ไม่เท่าเทียม’ ทำให้แฟนบอลแทบไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องของความสำเร็จ ฝีเท้าที่เก่งกาจ และ ผลงานในสนามที่ดี ยิ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ในทวีปเอเชียด้วยแล้ว ยิ่งถูกมองข้าม เมื่อถูกนำเสนอในมิติเดียว มูลค่าทางการตลาดและภาพลักษณ์ของนักเตะเอเชีย ก็ไม่ได้ก้าวไปอยู่ในระดับเดียวกันกับผู้เล่นยุโรป

PHOTO : Football.London

การคัดสรรและพัฒนาพรสวรรค์ ชัดเจนเลยว่า เหล่าแมวมองมีแนวคิดตั้งต้นว่า ผู้เล่นยุโรปนั้นดีกว่า อยู่ในชาติที่เพียบพร้อมเรื่ององค์ประกอบในการพัฒนาฟุตบอลกว่า พวกเขาจึงไม่จำเป็นมองชาติที่ด้อยการพัฒนาแม้ว่าในช่วงหลังจะมีการช่องว่างในเรื่องนี้ลง แต่สุดท้ายแล้วมูลค่าของนักเตะเอเชีย เมื่อต้องย้ายไปเล่นกับทีมในยุโรป ก็ถูกประเมินฝีเท้าในราคาที่ต่ำกว่าอยู่ดี

แนวคิดเรื่องรูปแบบการเล่นและแท็คติก คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เนื่องจากรูปแบบการเล่นฟุตบอลในทวีปเอเชีย นั้นมีความแตกต่างจากยุโรปอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของสไตล์การเล่น,วัฒนธรรมฟุตบอลของชาติต่างๆ, ความเข้มข้นของเกม, คุณภาพผู้ฝึกสอน และ ความเข้าใจในแท็คติก องค์ประกอบต่างๆ ที่ด้อยกว่า ย่อมชี้นำไปสู่การตีค่าผู้เล่นให้เป็นเกรดต่ำกว่าจากการที่ใช้ มุมมองชาวยุโรปเป็นศูนย์กลาง

ทาสอารมณ์

โลกฟุตบอลเวลานี้หากพูดถึงดาวเตะจาก ทีมชาติเกาหลีใต้ ที่ค้าแข้งอยู่ในลีกยุโรป คงจะไม่มีใครไม่รู้จักสามทหารเสืออย่าง ซน ฮึง-มิน (ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์) คิม มิน-แจ (บาเยิร์น มิวนิค) และ อี คัง-อิน (ปารีส แซงต์ แชร์กแมง) โดยแฟนฟุตบอลที่ติดตามพวกเขาผิวเผน คงคิดว่าการใช้ชีวิตของดาวเตะระดับซูเปอร์สตาร์จะมีแต่เรื่องบันเทิงเริงใจ แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้นเลย

ทุกครั้งที่ ทัพโสมขาว ทำผลงานได้ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของแฟนบอลชาติตัวเอง พวกเขามักจะเจอกลุ่มแฟนบอลหัวร้อน รอต้อนรับพวกเขาด้วยอารมณ์ที่โกรธเกรี้ยวพร้อมหาที่ระบาย ซึ่งทัพนักเตะก็เคยเจอเหตุการณ์แฟนบอล ปาไข่-ปาหมอน ใส่มาแล้วก่อนหน้านี้

หนักกว่านั้น ซน สตาร์เบอร์หนึ่งผู้แสนดีของพวกเขา ที่ย้ายไปเล่นในยุโรปตั้งแต่อายุยังน้อย ก็เคยประสบพบเจอเหตุการณ์อันเลวร้าย จากการถูกเหยียดในสมัยที่เริ่มต้นค้าแข้งอยู่ในประเทศเยอรมัน ตามที่กล่าวถึงช่วงเวลานั้นเอาไว้ว่า

“ผมย้ายไปเยอรมันตั้งแต่ยังเด็ก ผ่านเหตุการณ์ยากต่างๆ มากมายจริงๆ เป็นโมเมนต์ที่แทบยากจะจินตนาการถีงได้เลย ผมเผชิญหน้ากับการโดนเหยียดมานับไม่ถ้วน แล้วการข้ามผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมันแสนยากเย็น ซึ่งผมแอบมีความคิดผุดขึ้นมาในหัวด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งจะแก้แค้นให้ได้”
PHOTO : Sky Sports

ด้านรุ่นน้องที่เดินรอยตาม ซน ไปค้าแข้งในแดนไส้กรอกอย่าง คิม มิน-แจ เจ้าของฉายา ‘เดอะ มอนสเตอร์’ อดีตปราการหลังจาก นาโปลี ชุดคว้าแชมป์ลีกอิตาลี พอย้ายไปอยู่กับ บาเยิร์น มิวนิค พร้อมกับความคาดหวังที่สูงลิบลิ่ว ก็โดนสื่อชื่อดังในเยอรมันอย่าง คิกเกอร์ส โจมตีเรื่องฟอร์มในสนาม ที่มีส่วนทำให้ เสือใต้ เสียประตู จนเสียตำแหน่งตัวจริงไปให้กับ เอริก ไดเออร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดเป็นทาง อี คัง-อิน กองกลางดาวรุ่งจากสโมสร ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ที่ถูกทาง แดเนียล ไรโอโล่ โจมตีผ่านทางสื่ออย่าง RMC Sports เอาไว้ว่า

PHOTO : Les Tranferts
“ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ มาร์โก อเซนซิโอ มีอะไรที่เขาด้อยกว่า อี คัง-อิน อย่างงั้นเหรอ? เหตุผลอะไร คัง-อิน ถึงได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงกันแน่”

แท้จริงแล้วผลงานของ คัง-อิน ไม่ได้แย่อย่างที่ ไรโอโล่ ตั้งคำถาม แล้วเขาอาจจะสร้างความประทับใจในบางมุมให้กับ หลุยส์ เอ็นริเก้ กุนซือของ เปแอสเช ก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อสื่อในเกาหลีใต้อดทนกับการโจมตีสามสตาร์ของเขาจากสื่อในยุโรปแบบไม่เป็นธรรม พวกเขาจึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องตอบโต้เพื่อปกป้องนักเตะคนบ้านเดียวกัน

สื่อบ้านเกิดออกมาป้อง

สปอร์ตส โชซุน สื่อแดนโสม มีการออกบทความที่ชื่อว่า ‘มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของนักกีฬาเกาหลีใต้ทั้ง อี คัง-อิน, คิม มิน-แจ และ ซน ฮึง-มิน’ เพื่อเป็นการตอบโต้สื่อในต่างประเทศที่ปฏิบัติแบบไม่ยุติธรรมกับสามสตาร์ของพวกเขา ด้วยการระบายอารมณ์ที่โกรธเกรี้ยวออกมา

โดยเนื้อความในบทความดังกล่าว มีใจความสำคัญระบุเอาไว้ว่า 

“จากการที่ คิม มิน-แจ และ อี คัง-อิน ต้องเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์ด้านลบแบบไม่เป็นธรรม โดยทาง คัง-อิน นั้นเพิ่งย้ายมาเล่นให้กับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง เป็นฤดูกาลแรก แล้วทำผลงานได้ดีจนได้รับความไว้วางใจจาก หลุยส์ เอ็นริเก้ ให้ลงสนามเป็นตัวจริงจากการที่เล่นได้อย่างลงตัวกับเพื่อนร่วมทีมไปแล้ว”

PHOTO : Soccerdigest

“ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลฝรั่งเศสอย่าง ไรโอโล่ เรื่องที่ คัง-อิน ไม่มีความกระตื้อรือล้นในการเล่นมากพอ เป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณากันใหม่ จริงอยู่ที่ คัง-อิน อาจไม่ได้มีบทบาทสำคัญในทุกๆ เกมที่ลงสนาม แต่ต้องอย่าลืมว่านี่คือฤดูกาลแรกของเขา แล้วยังเป็นนักเตะที่เล่นได้หลากหลายตามแท็คติกของ เอ็นริเก้ ในระดับที่น่าพึงพอใจ”

การพิสูจน์ตัวเองของเหล่านักเตะเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ หรือชาติอิ่นๆ ต่อสายตาสื่อและแฟนบอลจากยุโรป ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังคงยากเหมือนเดิม หากอคติยังคงบังตา บวกกับประเด็นเรื่องชาตินิยม ซึ่งความเท่าเทียมในการปฏิบัติจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้น คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหน?

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : 

https://sportsgazette.co.uk/stereotypes-bias-still-weighing-british-asian-footballers-down-academic-expert-daniel-kilvington/

https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=151236

https://thediplomat.com/2013/02/asian-footballers-speak-out-against-racism/

https://www.france24.com/en/live-news/20220705-tottenham-s-son-heung-min-says-he-faced-racism-as-teen-in-germany

https://marclamberts.medium.com/phd-chronicles-eurocentric-view-of-asia-2a484b0f6142

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ