จาก 'กูปรี' สู่ 'ลำดวนเพลิง' : ศรัทธาลูกหนังสู่การคัมแบ็กของฟุตบอลศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด ปิดจ๊อบตัวเองได้สำเร็จหลังบุกไปเก็บหนึ่งแต้มสำคัญ กับการเสมอ มหาสารคาม เอสบีที 1-1 ในเกมไทยลีก 3 รอบแชมเปี้ยนส์ลีก พร้อมกับตีตั๋วไปเล่นไทยลีก 2 ได้สำเร็จ
แต่กว่าการเดินทางในช่วงหลายปีของฟุตบอลเมืองศรีสะเกษ เต็มไปด้วยอุปสรรค ขวากหนาม และเรื่องราวสุดดราม่า โดยเฉพาะเมื่อทีมเก่าแก่อย่าง ศรีสะเกษ เอฟซี นั้นหายไป นำมาสู่การเกิดใหม่อย่างจริงจังในนามของ ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด
Think Curve - คิดไซด์โค้ง ขอนำเสนอท้องเรื่องสุดดราม่าแห่งเมืองลูกหนังถิ่นอีสานใต้ให้ชมกัน
ตำนานลูกหนังภูธร
ศรีสะเกษ เอฟซี สำหรับภาพจำของแฟนบอลไทย นี่คือทีมที่มีประวัติศาสตร์และฐานผู้ชมที่ไม่น้อยหน้าบิ๊กทีมในระดับประเทศ และเป็นไม่กี่ทีมที่ทำให้ สนามศุภชลาศัย แตกได้ จากพลพรรคกูปรีพลัดถิ่นทั่วถิ่นแดนไทย
ย้อนกลับไปช่วงปี 1998 กระแสความนิยมฟุตบอลไทยบูมขึ้นหลังฟอร์มของทีมชาติไทยในศึกเอเชียนเกมส์ สวนทางกับกระแสฟุตบอลลีกในประเทศที่เริ่มถูกตั้งคำถาม นั่นจึงเป็นที่มาของการริเริ่มการกระจายความนิบมของฟุตบอล สู่ความเป็นท้องถิ่นนิยม และ ศรีสะเกษ ถือเป็นหนึ่งในทีมที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ในเวลานั้น เลือกให้เป็น 12 ทีมนำร่องในรายการแข่งขัน "โปรวินเชี่ยลลีก" ที่จัดขึ้นในปีต่อมา (1999)
และเพียงปีแรก ศรีสะเกษ ประกาศจารึกชื่อว่า เป็นปฐมแชมป์ของรายการนี้ แซงหน้ามหาอำนาจลูกหนังภูธรทั้ง สุพรรณบุรี, นครสวรรค์ และ สตูล ซึ่งเบื้องหลังสำคัญ คงหนีไม่พ้น สองคีย์แมนอย่าง "อาเจ๊ก" บุญชง วีสมหมาย สส.ศรีสะเกษ ที่เวลานั้นสวมหมวกนายกสมาคมกีฬาฯ และ อ.จงกล จันทร์พวง เฮดโค้ชของทีมที่ช่วยกันสร้างชื่อให้ลูกหนังเมืองศรีสะเกษนี้
เวลาผ่านไปจนถึงปี 2003 สส.บุญชง เสียชีวิตลง ส่งผลถึงหัวเรือหลักของวงการกีฬาของจังหวัดและทีมฟุตบอล นำมาซึ่งการเข้ามารับหน้าที่นี้ของ สส.หนุ่มในเวลานั้น อย่าง ธเนศ เครือรัตน์
3 ปีต่อมา เมื่อมีการรวมไทยลีก และ โปรลีก เกิดขึ้น ศรีสะเกษ เอฟซี มีโอกาสลงเล่นในระดับ ดิวิชั่น 1 เมื่อซีซั่น 2007 ซึ่งปีนั้นพวกเขาตกชั้นไปเล่นในดิวิชั่น 2 และเป็นจุดกำเนิดของความรุ่งเรืองของฟุตบอลศรีสะเกษ ตั้งแต่การเลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ในปีต่อไปมา และมาบูมสุดๆ ในฐานะรองแชมป์และสร้างปฐมบทความนิยมจนเป็นที่กล่าวขาน
ผลงานในไทยลีก กว่า 7 ฤดูกาล นี่คือทีมที่มีฐานแฟนฟุตบอลหนาแน่นที่สุดไม่ว่าจะเกมเหย้า หรือ เกมเยือน รวมไปถึงเข้าชิงชนะเลิศลีก คัพ ในปี 2015 กับบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จนเป็นที่มาของอีกตำนาน "ลูกอีสานสนามแตก" เพราะแฟนบอลศรีสะเกษในเกมวันนั้น ขนกันมากว่าหลายสิบคันรถต่างรวมพลมาเชียร์จนเต็มสนาม
ทว่า โลกลูกหนังนี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืนไม่ต่างกับชีวิตของคน..
ตกชั้น!
สถานการณ์ของศรีสะเกษ เอฟซี หลังซีซั่น 2015 ส่อแววว่าจะเป็นขาลงอย่างชัดเจน แม้ฤดูกาล 2016 จะยังสามารถจบอันดับที่ 13 ได้แบบไม่ยากเย็น ทว่าในปีต่อมา (2017) ความผิดพลาดในตลาดซื้อขาย และตัวนักเตะที่ฟอร์มดรอปลงไป ส่งผลถึงผลงาน เมื่อพวกเขาต้องตกชั้น พร้อมกับปิดฉาก 8 ปีบนเวทีลีกสูงสุด
ซีซั่น 2018 ศรีสะเกษ เอฟซี ลงเล่นไทยลีก 2 ในรอบหลายปีด้วยผลงานที่ไม่ดีนัก โดยจบอันดับ 8 ของตาราง ชนิดที่ไม่ได้ลุ้นเลื่อนชั้น นั่นทำให้ซีซั่นถัดมา (2019) ศรีสะเกษ เอฟซี ดึงตัวกุนซือขรัวเฒ่าอย่าง สมชาย ชวยบุญชุม เข้ามาดูแลทีม
ผลงานของ ศรีสะเกษ เอฟซี ออกตัวเป็นกลุ่มนำหัวตารางต่อเนื่องจนกระทั่งโดน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตัด 12 แต้มจากกรณีข้อพิพาทกับนักเตะ ซึ่งมันเกิดขึ้นในช่วงโค้ชสุดท้าย!
แต่ว่าทีมเอง ไม่ยอมแพ้จะสามารถโกยแต้มจนได้ลุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายและมีโอกาสเลื่อนชั้นถึงนัดสุดท้าย แต่พวกเขากลับปล่อยโอกาสทองนี้หลุดลอย ด้วยการบุกไปแพ้ไทยฮอนด้า แบบน่าเจ็บใจ
และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ส่งผลถึงการตกชั้นสู่ไทยลีก 3 ในฤดูกาลต่อมา
จาก 'กูปรี' สู่ 'ลำดวนเพลิง'
การตกชั้นสู่ไทยลีก 3 ของ ศรีสะเกษ เอฟซี ส่งผลถึงเรื่องของงบประมาณที่ทางด้าน บิ๊กนาย-ธเนศ เกือบตัดสินใจ 'วางมือ' จากการบริหารทีม จากเรื่องของงบประมาณที่ลดลง
"ตอนแรกผมมีแผนที่จะยุติบทบาท พร้อมกับหาคนที่มีความสามารถ มีความพร้อม มาบริหารต่อ แต่สุดท้ายมันยังหาผู้ที่เหมาะสมไม่ได้ ทำให้สุดท้ายเราก็ตัดสินใจสู้กันต่อ เพราะเห็นใจแฟนบอลส่วนใหญ่ที่ยังให้การสนับสนุนทีมอยู่"
ซีซั่นนั้น ศรีสะเกษ เอฟซี จบด้วยรองแชมป์ไทยลีก 3 โซนอีสาน แต่ก็ยังไม่สามารถกลับไปเล่นในไทยลีก 2 ได้
ประกอบกับผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้ทางด้าน อีสาน ยูไนเต็ด ชนะสิทธิ์การทำทีม นั่นทำให้โปรเจกต์ 'ลำดวนเพลิง' ถูกปัดฝุ่นมาเดินหน้าอย่างเต็มตัว!
“ที่เราก่อตั้งมาตั้งแต่แรกต้องชี้แจงว่าเรารู้อยู่แล้วว่า ศรีสะเกษ เอฟซี ตอนนั้นจะย้ายไป อุบลฯ และเราอยากให้มีทีมคงอยู่ใน จ.ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด ด้วยความที่อนาคต ศรีสะเกษ เอฟซี ค่อนข้างชัดเจนแล้ว มันทำให้ฝ่ายบริหารหันมาโฟกัส และให้ความสำคัญกับ ยูไนเต็ด มากขึ้น”
หากอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของ บิ๊กนาย นั่นคือเมื่อปี 2012 ที่เป็นปีก่อตั้งของ ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด โดยเวลานั้น สถานะของทีมลำดวนเพลิง คือ 'ทีมน้อง' ของ ศรีสะเกษ เอฟซี ซึ่งทีมก็ได้ปั้นแข้งส่งออกให้ทีมใหญ่ อาทิ กิตติพงษ์ วงมา
“ผมบอกเลยว่าหนึ่งในคนที่เสียใจกับศรีสะเกษ เอฟซี มากที่สุด เราพยายามทำทุกวิธีทาง นำเสนอเอกสารต่างๆ ทั้งหมดเต็มที่แล้ว แต่เมื่อคำสั่งศาลปกครองออกมาเราน้อมรับ เราทำอะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่แน่นอนว่าผมเสียใจไม่น้อยกว่าใคร” บิ๊กนาย เปิดเผยถึงความรู้สึกหลังคำพิพากษาออกมา
และนั่นกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญของศรีสะเกษ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้ เมื่อทีมโชว์ฟอร์มแข็งแกร่งต่อเนื่อง ภายใต้การคุมทีมของ ณรงค์ธนพร เฉยไธสงโชดก อดีตผู้ช่วยโค้ชศรีสะเกษ เอฟซี จนสามารถคว้าแชมป์โซนอีสานได้สำเร็จ ชนิด 'ไร้พ่าย'
ซึ่งส่งผลถึงจำนวนแฟนบอลในเกมเหย้าของทีม ที่มีค่าเฉลี่ยเกือบพันคน และเป็นพลังแฟนบอลที่ส่งผลถึงทีมที่ไปสู่การเลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 2 ได้สำเร็จในหนนี้
พลังศรัทธาของแฟนบอลศรีสะเกษ กลายเป็นแรงหนุนนำที่นำพาให้ดอกลำดวนนี้บานสพรั่งอีกครั้ง หลังผ่านพายุร้ายที่โหมกระหน่ำลูกหนังเมืองศรีสะเกษในช่วงที่ผ่านมา และจากนี้จะเป็นบทพิสูจน์ของ ศรีสะเกษ ยูไนเต็ด กับก้าวเดินสำคัญที่จะตามรอย 'กูปรี' ไปสู่ลีกสูงสุดของไทยให้ได้ดังใจหมาย
อ้างอิง