จาก Zlatan Court ถึง Dream Stadium เมื่อพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์ได้จุดฝันให้ยอดนักเตะ
พื้นที่สาธารณะที่มีทัศนียภาพดี ๆ บรรยากาศสวย ๆ และเปิดกว้างสำหรับผู้คนทุกเพศทุกวัยส่งผลกับความเก่งกาจของนักฟุตบอลในประเทศแค่ไหน ? ถ้าเราบอกว่าสนามฟุตบอลแบบเปิดฟรีให้ทุกคนเล่นสร้างนักเตะอย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ล่ะ ? คุณอยากให้ประเทศไทยมีสนามฟุตบอลและพื้นที่ธารณะอื่น ๆ หรือไม่ ?
ผู้สื่อข่าวคิดไซด์โค้งได้มีโอกาสลงพื้นที่ เมืองมัลโม่ ประเทศสวีเดนเพื่อเยี่ยมชมอีกหนึ่งโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นความร่วมมือของตำนานนักเตะสวีเดนอย่าง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และทางบริษัทไนกี้ ในการจัดทำ Zlatan Court ขึ้นในพื้นที่เคหะบริเวณตัวเมืองมัลโม่ ย่านโรเซการ์ด ใกล้กับบ้านเกิดของอิบราฮิโมวิช
โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นลานที่เคยสร้างนักเตะอย่าง “พระเจ้า” คนนี้เมื่อวัยเยาว์ โดยเมื่อมีโอกาสและชื่อเสียง เขาเลือกที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดอีกครั้ง สร้างเป็นสนามฟุตบอลที่สามารถแบ่งข้างเล่นข้างละ 5 คน ซึ่งเปิดใช้มาตั้งแต่ปี 2007 และยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
บริเวณหน้าสนามยังมีการประทับรอยเท้าของอิบราฮิโมวิช เพื่อเป็นจุดบอกเล่าว่าชีวิตของเขาเกิดได้เพราะที่แห่งนี้ และทางเข้าประตูยังมีคำอุทิศถึงว่า “ที่นี่คือหัวใจของผม ที่นี่คือประวัติศาสตร์ของผม และที่นี่คือเกมของผม ขอให้พวกคุณได้ใช้มันต่อไป จาก ซลาตัน” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไป รวมไปถึงภาพสลักที่เป็นเอกลักษณ์ของซลาตันกำลังกระโดดเตะฟุตบอลดด้วยท่าวอลเลย์
ประเทศไทยสามารถสร้างนักเตะอย่าง ซลาตัน ได้หรือไม่ ? .. เรื่องนี้ไม่มีใครคาดเดาได้ แต่ที่แน่ ๆ คือคุณสามารถสร้างพื้นที่สาธารณะที่เปรียบเสมือนสนามฟุตบอลแห่งแรกในชีวิตให้กับเด็ก ๆ อีกหลายคน ให้เริ่มจุดประกายความฝัน อย่างที่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช เคยได้รับได้
เรื่องดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นที่สนใจในวงกว้างมากนัก แต่ในช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ทาง Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ดำเนินโปรเจกต์ Dream Stadium โดยได้รับการสนับสนุนจาก บิ๊กวันกรุ๊ป (Big One Group) แกรนด์สปอร์ต, สโมสรฟุตบอลบีจี ปทุม ยูไนเต็ด และสีทาบ้านอุไรเพ้นต์ เริ่มปรับปรุงทัศนียภาพ 4 ชุมชนตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม และมีทัวร์นาเมนต์การแข่งขันไปวันที่ 5 - 13 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีทางกรุงเทพมหานครเป็น Strategic Partner ร่วมด้วยช่วยสร้างเมืองให้น่าอยู่ และกำลังพัฒนาโปรเจกต์ที่2ขณะนี้
เรื่องราวปลายทางนั้นคาดเดายาก การสร้างนักเตะระดับโลกนั้นยากยิ่งเพราะถ้ามันง่ายจริงประเทศไทยเราคงสร้างนักเตะระดับพรสวรรค์ขนาดซลาตันได้ไปแล้ว
สิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องยากในตอนท้ายของเรื่อง แต่คุณสามารถเริ่มเรื่องนี้ได้ด้วยการส่งมอบสนามและพื้นที่สาธารณะให้ทุก ๆ คน โดยเฉพาะเด็กได้เริ่มขีดเขียนความฝัน ความตั้งใจ และเป้าหมายของพวกเขา
เพราะสนามกีฬาดี ๆ ที่เปิดต้นรับทุกคน ทุกวัย ทุกเพศ ทุกฐานะ คือจุดเริ่มต้นของจิตนาการ แม้เด็กทุกคนที่เล่นในสนามเหล่านี้อาจจะไม่ได้เติบโตมาเป็นนักฟุตบอลที่เก่งกาจเสียหมด แต่ที่แน่ ๆ ... มันจะทำให้พวกเขาได้ค้นหาตัวเองเจอ ในแบบที่ตัวเองอยากเป็น
เรียกได้ว่าเป็นจุดส่งต่ออุดมการณ์ความฝันได้ดีที่สุด... ซึ่งโครงการ Dream Stadium โครงการที่ 2 ก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการสนับสนุนการสร้างLocal Hero ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กในท้องถิ่นนั้น ที่มีโอกาสเติบโตไปสู่ทีมชาติและสโมสรชั้นนำของไทยและต่างประเทศ แต่จะเป็นใครนั้น ต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางคิดไซด์โค้งต่อไป
ที่มา
https://en.as.com/en/2019/07/23/soccer/1563916774_499972.html
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR