ซามูไรแบก : การเปิดใจรับนักเตะญี่ปุ่นที่ทำให้ เซลติก เป็นแชมป์ลีกสก็อตในปีนี้

ซามูไรแบก : การเปิดใจรับนักเตะญี่ปุ่นที่ทำให้ เซลติก เป็นแชมป์ลีกสก็อตในปีนี้
มฤคย์ ตันนิยม

กลาสโกว์ เซลติก ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในซีซั่นนี้ หลังคว้าแชมป์สก็อตติช พรีเมียร์ลีกมาครองได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หนึ่งในกุญแจสำคัญของพวกเขาก็คือพลพรรคนักเตะซามูไร ที่มีอยู่ในทีมถึง 5 ราย นำโดย เคียวโงะ ฟูรูฮาชิ ดาวซัลโวของทีม

เพราะเหตุใดพวกเขาถึงให้ความสำคัญกับนักเตะเอเชียขนาดนี้? หรือว่าลีกสก็อตแลนด์ กำลังจะกลายเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของแข้งจากตะวันออกไกล รวมถึงแข้งไทย?  

ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

อันเก เอฟเฟค

แม้ว่าลีกสก็อตแลนด์ จะเคยเป็นแหล่งสร้างชื่อของแข้งชาวเอเชีย มาก่อน โดยเฉพาะยุคของ ชุนซุเกะ นาคามูระ ที่ถูกยกให้เป็นตำนานของ กลาสโกว์ เซลติก ทว่าหลังจากนั้น ก็แทบไม่มีนักเตะจากตะวันออกไกลแจ้งเกิดได้อีกเลยในลีกแห่งนี้

ทว่า การมาถึงของ อันเก ปอสเตโคกลู ที่เข้ามารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ของ ม้าลายขาวเขียวเมื่อปี 2021 ก็ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไป เมื่อกุนซือชาวออสเตรเลียได้อิมพอร์ทแข้งจากเอเชียมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เคียวโงะ ฟูรูฮาชิ, เรโอ ฮาตาเตะ และ ไดเซน มาเอดะ

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ อันเก เลือกใช้นักเตะจากตะวันออกไกล เนื่องจากเขาเคยคุมทีมในเจลีกมาก่อนถึง 3 ปี ระหว่างปี 2018-2021 แถมยังพา โยโกฮามา เอฟ มารินอส คว้าแชมป์เจลีกได้ในปี 2019

Photo : The New York Times

“ดีลนี้คงจะไม่เกิดขึ้นหาก ปอสเตโคกลู ไม่ได้อยู่ที่เซลติก” ฌอน แคร์โรลล์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟุตบอลญี่ปุ่น กล่าวกับ AFP

ก่อนที่นักเตะเหล่านี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาล ด้วยการเป็นกำลังสำคัญพาเซลติก คว้าแชมป์ได้ทันที ทั้งสก็อตติช พรีเมียร์ลีก และ สก็อตติช ลีกคัพ เมื่อฤดูกาล 2021-2022 โดยเฉพาะ ฟูรูฮาชิ ที่ซัดไปถึง 20 ประตูในทุกรายการ

ความสำเร็จอันที่เป็นประจักษ์ของเซลติก ทำให้หลายทีมเดินรอยตาม และทำให้ช่วงตลาดหน้าหนาวที่ผ่านมา มีนักเตะเอเชียมาเล่นในลีกแดนวิสกี้ถึง 5 ราย ตั้งแต่ ยูทาโร โอดะ ที่มาอยู่กับฮาร์ทส, ริคุ ดันซากิ ของมาเธอร์เวลล์ รวมถึง ยูกิ โคบายาชิ, โทโมกิ อิวาตะ และ โอ ฮยอน กิว ที่มาสมทบที่เซลติก

“ผมคิดว่ามันเป็นความจริงที่สโมสร (สก็อตแลนด์) ไม่ได้รู้จักฟุตบอลญี่ปุ่น และบางทีสโมสรก็ค่อนข้างมีความอนุรักษ์นิยม” อลัน กิบสัน บรรณาธิการจากเว็บไซต์ JSoccer Magazine อธิบาย  

“นักเตะญี่ปุ่นเคยมีปัญหาในการขอวีซ่าในต่างประเทศ และใบอนุญาตทำงาน แต่สิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป ญี่ปุ่นอยู่ในท็อป 20 ของอันดับโลกฟีฟ่าในตอนนี้ ที่จะช่วยพวกเขาในสหราชอาณาจักร อันเก แสดงในสิ่งที่ผู้คนคิดว่ามันอาจจะเกิดขึ้นได้ และพิสูจน์ว่ามันคุ้มค่ากับการลงมาลุยตลาดญี่ปุ่น”

Photo : Football Scotland

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้แข้งเอเชีย กำลังจะได้รับความนิยมในลีกนี้

Brexit ขยายขอบเขต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการฟุตบอลยุโรป คือการที่สหราชอาณาจักรออกจากสภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit เมื่อปี 2020 ที่ทำให้ผู้เล่นทุกคน นอกจาก อังกฤษ เวลส์, สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ ต้องขอใบอนุญาตทำงาน หรือเวิร์คเพอร์มิตทั้งหมด

โดยผู้ที่จะได้เวิร์คเพอร์มิต จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ของ Governing Body Endorsement (GBE) ที่จะประเมินจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสถิติการติดทีมชาติ (ชุดใหญ่และเยาวชน), คุณภาพของสโมสรที่ย้ายมา โดยวัดจากระดับของลีก ผลงานในลีก ผลงานในถ้วยระดับทวีป ไปจนถึงจำนวนนาทีที่ได้ลงเล่น

อย่างไรก็ดี แทบเป็นไปได้ยากที่นักเตะที่มาเล่นในลีกสก็อตจะผ่านเกณฑ์เหล่านี้ เนื่องจากส่วนใหญ่พวกเขามักจะเป็นแข้งเกรดรอง ที่ยังไม่ดีพอจะไปเล่นในลีกใหญ่ ทำให้คณะกรรรมการจัดการแข่งขันของลีกไปยื่นคำร้องต่อรัฐบาลสหราชอาณาจักร จนได้รับการยกเว้น

Photo : The Telegraph

“เนื่องจากผู้เล่นต่างชาติจำนวนมากสามารถยกระดับลีกของเรา และสก็อตแลนด์ก็มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับชาติอื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรคงข้อยกเว้นเอาไว้” นีล ดอนคาสเตอร์ ประธานฝ่ายบริหารของ สก็อตติช โปรเฟสชั่นแนล ฟุตบอลลีกกล่าวกับ The Athletic

“การไม่ทำเช่นนั้น จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสโมสรจากสก็อตแลนด์ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในรายการยุโรป และเป็นข่าวดีที่เราสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรได้”

และมันก็เป็นช่องทางในการมาค้าแข้งในลีกแดนสก็อตของแข้งเอเชีย เนื่องจากพวกเขามีสถานะไม่ต่างจากชาติอื่นนอกสหราชอาณาจักร แต่มีค่าตัวที่ถูกกว่า เหมาะสำหรับลีกที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังเหมือนลีกอังกฤษ หรือชาติใหญ่ในยุโรป

จากรายงานของ FIFA ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว สโมสรยุโรปใช้เงินไปเพียง 52,673 ปอนด์ (ราว 2 ล้านบาท) ต่อการซื้อนักเตะเอเชีย 1 คนเมื่อปี 2022 ซึ่งถือว่าถูกที่สุดเมื่อเทียบกับผู้เล่นจากทวีปอื่น ที่เห็นได้จากการที่ ฟูรูฮาชิ, มาเอดะ และ ฮาตาเตะ ย้ายมาเซลติก ด้วยค่าตัวรวมกันไม่ถึง 10 ล้านปอนด์    

Photo : Glasgow Live

“ถ้ามองไปที่ค่าตัวของ มาเอดะ และ ฮาตาเตะ แทบจะเรียกได้ว่า เซลติก ทำการปล้นครั้งใหญ่ในระดับที่อธิบายไม่ได้” แดน ออร์โลวิตซ์ นักข่าวจาก Japan Times กล่าวกับ AFP  

“สโมสรญี่ปุ่น ยังคงมีความภาคภูมิใจในการส่งนักเตะของพวกเขาไปยุโรป”

“ถ้าสโมสรเจลีก คิดค่าตัวเท่ากับนักเตะที่อยู่ในยุโรป สโมสร (ยุโรป) คงจะไม่มาซื้อนักเตะจากภูมิภาคนี้”

นอกจากนี้ จากการที่แข้งเอเชีย มีสัดส่วนการย้ายจากบ้านเกิดมาเล่นในยุโรป น้อยเป็นอันดับ 2 รองจากโซนคอนคาเคฟ หรือแค่ราว 500 คน ยังทำให้อัตราการแข่งขันของนักเตะจากทวีปเดียวกัน ลดน้อยลงไป ซึ่งหมายความว่าพวกเขาจะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น เหมือนที่ ฟูรูฮาชิ ทำได้อยู่ในตอนนี้

Photo : The Japan Times

“เคียวโงะ ดูเป็นความคุ้มค่าในทันที สำหรับผมกองหน้าชาวญี่ปุ่นคนนี้คือนักเตะที่เก่งที่สุดในประเทศในตอนนี้ เมื่อเทียบกันไมล์ต่อไมล์ การเคลื่อนที่ของเขาสุดยอดมาก” คริส ซัตตัน อดีตแข้ง เซลติก กล่าวในบทความของเขาใน Daily Record เมื่อปี 2021

“เคียวโงะ สามารถลงมาต่ำ เล่นด้านข้างหรือข้างใน ความนิ่งในกรอบเขตโทษของเขาก็หาตัวจับยาก ถ้าเขายังรักษาฟอร์มเหล่านี้ไว้ได้ เขาน่าจะเป็นผู้เล่นแห่งปีอย่างแน่นอน”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คิดและทำแบบ “อันเก” : สาเหตุที่อดีตกุนซือ ‘มารินอส’ ถูกยกให้เป็นตัวแทน คล็อปป์ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง หลังจากผลงานของ ลิเวอร์พูล ภายใต้การนำทัพของ เจอร์เก้นน์ คล็อปป์ นายใหญ่ชาวเยอรมัน ที่เคยพาทีมประสบความสำเร็จมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแชมป์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และ สโมสรโลก สมัยแรกของสโมสร นับตั้งแต่เข้ามารับงานในเดือน ตุลาคม ปี 2015 กลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย…


นักเตะไทยมีโอกาสแค่ไหน?

อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลีกสก็อตฯ อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ของแข้งเอเชีย คือโลกที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการยอมรับความหลากหลายที่มากขึ้น และทำให้แข้งจากนอกทวีป สามารถดำรงอยู่ในทีมได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกเหมือนในอดีต

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของเซลติก ที่พวกเขาให้ความสำคัญกับแข้งชาวญี่ปุ่น เทียบเท่ากับนักเตะต่างชาติคนอื่น และเคารพถึงความเป็นปัจเจกบุคคลในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

“เราต้องระวังกับการพูดว่า ‘ผู้เล่นญี่ปุ่น 4 คน’ พวกเขาเหล่านี้คือสี่คนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แตกต่างกันไปในรายบุคคล” อันเก อธิบายกับ BBC Scotland

“มันไม่ใช่ความพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่พิเศษสำหรับพวกเขา พวกเขารู้ว่าการมาอยู่ที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนของสโมสรฟุตบอลแห่งนี้ และรู้ว่ามันต้องมีความท้าทายมาเกี่ยวข้อง”

Photo : VideoCelts

สำหรับแข้งชาวไทย แม้จะไม่เคยมีผู้เล่นของเราลงเล่นในลีกแห่งนี้มาก่อน แต่เงื่อนไขจากที่กล่าวมา ถือว่าเปิดกว้างไม่น้อย โดยเฉพาะการขอเวิร์คเพอร์มิต ที่ไม่ยากเท่าลีกอังกฤษ

ขณะเดียวกัน คุณภาพของลีก ก็ยังอยู่ในระดับกลางๆ ซึ่งถือเป็นเวทีที่ดีในการพิสูจน์ตัวเองของแข้งชาวไทย ว่าอยู่ในระดับใด และพอจะสู้กับแข้งยุโรปได้มากแค่ไหน

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเป็นด่านแรกในการปรับตัวกับฟุตบอลยุโรป ที่มีสภาพอากาศ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต แตกต่างจากเอเชีย รวมถึงไทย อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น การเก็บลีกแดนวิสกี้ไว้ลองพิจารณาก็คงไม่เสียหายแต่อย่างใด  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ยุโรปไม่ได้มีแค่อังกฤษ : “ลีกสเปน” ลีกฟุตบอลที่ตอบโจทย์ทุกอย่างสำหรับนักเตะไทย

ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา : ไปเจออะไรมาที่ เลสเตอร์ ทำไมถึงเก่งเบอร์นั้น ?

เปิดกฎเวิร์คเพอร์มิตพรีเมียร์ลีก : ศุภณัฎฐ์ ไป เลสเตอร์ ได้จริงหรือ ?

แหล่งอ้างอิง

https://www.bbc.com/sport/football/64416897

https://theathletic.com/3687335/2021/12/06/scottish-clubs-handed-transfer-boost-as-work-permit-exemption-made-permanent/

https://www.the42.ie/celtic-reap-rewards-of-japanese-market-on-and-off-the-pitch-5670866-Feb2022/

https://japan-forward.com/soccer-strong-japanese-influence-at-the-heart-of-celtics-domestic-revival

https://www.thescottishsun.co.uk/sport/football/7877782/celtic-jota-learn-japanese-kyogo-furuhashi/

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ