จากมุมมองคณบดีสถาปัตย์ : งบ 1.2 หมื่นล้านบาทซ่อมราชมังฯ หรือสร้างใหม่ดีกว่ากัน ?
หลังจากมีข่าวออกมาว่า กกท. หรือ การกีฬาแห่งประเทศไทย เตรียมงบประมาณ 12,000 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับปรุงสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นสนามกีฬาแห่งชาติของประเทศไทย
โดยทาง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แผนการปรับปรุงพื้นที่ภายในการกีฬาแห่งประเทศไทย ในโครงการ สมาร์ท เนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค มีแผนจะดึงภาคเอกชนมาร่วมทุน ภายใต้งบประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการไปแล้ว 2 ครั้ง หากผ่านอีกครั้งเดียวก็จะดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมประมูลต่อไป
หากบุคคลภายนอกมองจากตัวเลขงบประมาณ อาจจะดูว่าเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก แล้วอาจมีคำถามเกิดขึ้นภายในใจว่า ถ้าสร้างสนามแห่งใหม่น่าจะคุ้มค่าเรื่องของการลงทุนมากกว่าหรือไม่?
ทีมงาน Think Curve - คิดไซด์โค้ง จึงได้ติดต่อสอบถามเพื่อหาความรู้เรื่องดังกล่าวจาก ผศ. อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าในมุมมองของศาสตร์ทางด้านสถาปัตยกรรม มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเช่นไร?
ว่าด้วยเรื่องงบประมาณ
งบประมาณการปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่ตีตัวเลขออกมาที่ 12,000 ล้านบาทโดยประมาณ จากความเห็นส่วนตัวของ ผศ. อาสาฬห์ ให้ความรู้เอาไว้ว่า
“ความจริงแล้วงบหมื่นล้านบาทนี่ไม่ได้เยอะเลยนะครับ ตีง่ายๆ ว่าค่าก่อสร้างในยุคปัจจุบันจะคิดกันอยู่ที่ราว ตรม.ละ 20,000 - 30,000 บาท ต่อตารางเมตรพื้นที่ใช้สอย ลองไปคิดคำนวนตัวเลขคร่าวๆ ดูว่าขนาดพื้นที่ที่ต้องการปรับปรุงทั้งหมด จะออกมาใช้งบประมาณประมาณเท่าไหร่ในความเป็นจริง ซึ่งสำหรับโครงการปรับปรุงจัดเป็นโครงการที่มีความซับซ้อนมาก อาจมีค่าก่อสร้างที่สูงมากขึ้นตามมาได้ (จากข่าว คือ 250 ไร่ เท่ากับ 400,000 ตารางเมตร ต้องนำมาคิดคำนวนแบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยภายในและภายนอก แล้วนำมาหาค่าใช้จ่ายตามจริงอีกที)”
“ลองเทียบดูคอนโดต่างๆ ที่ก่อสร้างขึ้นมาในช่วงหลัง แล้วเทียบเรื่องสาธารณูปโภค พื้นที่การใช้สอย รวมไปถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ดูก็ได้ เพราะโครงการเหล่านั้นใช้งบประมาณหลักหมื่นล้านเหมือนกัน”
“หากมองเรื่องของการสร้าง สปอร์ต คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ พื้นที่ใจกลางเมืองที่สาธารณูปโภค การเดินทางต่างๆ สะดวกสบายครบถ้วน คงไม่มีพื้นที่เหลือให้ใช้งานอีกแล้ว ซึ่งนั่นก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คณะกรรมการเลือกที่จะปรับปรุงสนามก็มีความเป็นไปได้”
อย่างไรก็ตาม ผศ. อาสาฬห์ ก็เสนอแนวคิดอีกด้านหนึ่งให้แอบฉุกคิดอยู่ว่า
สร้างแล้วต้องเกิดประโยชน์คุ้มค่าเงิน
หากมองเรื่องพื้นที่ตั้งของสนาม ราชมังคลากีฬาสถาน ต้องยอมรับว่าการเดินทางนั้นไม่ได้ง่ายหรือสะดวกสบายมากนัก รถสาธารณะมีเข้าถึง แต่ยังไม่มีรถไฟฟ้า ถ้าเทียบผังเมืองย้อนกลับไปในยุคก่อน พื้นที่ตรงนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นจุด ‘ใจกลางเมือง’
การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ อาจมีแรงกระเพื่อมมาจากปัญหาล่าสุดที่เกิดขึ้นในเกมกระชับมิตรระหว่างสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ พบกับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ที่จำเป็นต้องยกเลิกไปเพราะปัญหาเรื่องการระบายน้ำไม่ทัน แล้วอาจดูเหมือนเป็นการแก้ไขแบบ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” ไปอีกครั้ง
ทางด้าน ผศ. อาสาฬห์ เทียบตัวอย่างจากต่างประเทศให้เห็นชัดๆ ว่า
“การจะตัดสินใจสร้าง ซูเปอร์ สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ขึ้นมาในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ควรจะต้องคำนึงถึงระบบ Infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การคมนาคมที่สะดวกสบาย, มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ใกล้เคียง และเข้ากับระบบโครงสร้างผังเมืองที่วางอยู่ในปัจจุบันควบคู่กันไป เพื่อจะได้ประโยชน์รอบด้านในการลงทุน”
“ยกตัวอย่างเช่น โอลิมปิก ปาร์ค เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ที่ตั้งอยู่ใกล้เขตกลางเมือง การเดินทางสะดวกมีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมให้ทำหลายอย่าง แล้วก็ยังอยู่ใกล้สนาม อลิอันซ์ อารีน่า ของสโมสร บาเยิร์น มิวนิค ห่างกันไม่กี่กิโลเมตร เรื่องของการเดินทางนั้นสะดวกสบายไม่ต้องพูดถึง”
“ประเทศไทย ก็เคยมีการสร้างสนามกีฬาที่มีมาตรฐานออกมาตามชานเมืองแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สนามกีฬาธรรมศาสตร์ รังสิต แต่ปรากฎว่าการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ กลับไม่ตามมาด้วย ทำให้การเดินทางมาใช้งานสนามแห่งนี้ไม่ได้สะดวกสบาย ถึงแม้ว่าจะใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยกว่า ราชมังคลากีฬาสถาน แล้วได้รับคำชมก็ตาม แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามมา”
แน่นอนว่าการปรับปรุงสนามราชมังคลากีฬาสถานเป็นความคิดที่ดีก็จริง แต่ต้องมองเรื่องของข้อจำกัดหลายๆ อย่างประกอบด้วย เช่น โครงสร้างที่เก่าต้องมารื้อระบบ, ข้อจำกัดด้านสถานที่ในการทำงาน และ การซ่อมแซมที่โครงสร้างแบบเก่าย่อมต้องใช้งบประมาณสูงกว่าสร้างใหม่ บางทีระบบโครงสร้างเดิมอาจไม่เข้ากับระบบใหม่ที่ต้องการใส่เข้าไปเพื่อพัฒนาพื้นที่ มันไม่ใช่ปัญหาด้านการภาพที่เป็นปัญหาเพียงประเด็นเดียว
ถ้าการเพิ่มงบประมาณสร้างสนาม หรือ ซูเปอร์ สปอร์ต คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ ชั่งน้ำหนักแล้วมันคุ้มค่ามากกว่าก็ควรลงมือทำแบบรอบเดียวให้จบไปเลย ดังนั้นการจะลงทุนในโปรเจ็คท์ต่างๆ คณะกรรมการอาจควรจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะได้ข้อสรุปควรมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการให้รอบด้าน เช่น การศึกษาแผนแม่บทที่เคยมีการนำเสนอขึ้นมา ข้อจำกัดทางด้านผังเมืองและการพัฒนาโครงข่ายการขนส่ง งบประมาณการก่อสร้าง ให้ได้แนวทางที่สามารถเปรียบเทียบเพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในการใช้งบประมาณก้อนนี้ให้เจอ ไม่เช่นนั้น ‘การพัฒนาแบบยั่งยืนก็จะไม่เกิดขึ้น’ สุดท้ายก็อาจต้องวนลูปมาแก้ปัญหาเดิมๆ กันแบบไม่จบไม่สิ้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.facebook.com/MGR.SPORT/posts/pfbid06xQS6GX75D77Scq1vL6Lu91Ro4AZu9bpAPSwRSxX5KDajbQPUK55zsXjKGmnmmJ7l
การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สโมสร ‘แตงโม’ : ตำนานแชมป์เงินล้านบอลเดินสายสองปีติดทีมเดียวในประเทศไทย
ศราวุฒิ มาสุข : กับชีวิตใหม่ในเส้นทางฟุตบอลเดินสาย
เทพนิยายภูธร : ‘สโมสร ดอนมูล’ ตำนานทีมระดับตำบลผู้พิชิตแชมป์ เอฟเอ คัพ
เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก
คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ
เวียดนามกร้าวก่อนซีเกมส์ : "4 ปีก่อน ทรุสซิเย่ร์ ก็เคยพาทีมเวียดนามยู 19 เอาชนะไทยมาแล้ว
เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?
บุรีรัมย์ ยังห่างแค่ไหน ? 10 สถิติไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้
คุณสมบัติอะไรที่ทำให้ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เป็นทีมไร้พ่ายนานที่สุดในโลก ณ ตอนนี้ ?