จากนอร์เวย์ สู่ ลิเวอร์พูล : ย้อนตำนานครั้งสุดท้ายที่ทีมชาติไทยลุยยุโรป
ข่าวครึกโครมของ ทีมชาติไทย ล่าสุด ที่เป็นกระแสให้แฟนฟุตบอลในบ้านเราได้พูดถึงกันหนาหูช่วงนี้ ย่อมเป็นการประกาศโปรแกรม เกมอุ่นเครื่องอย่างเป็นทางการตามปฏิทิน ฟีฟ่า เดย์ ระหว่างวันที่ 9-17 ตุลาคม ออกมาล่วงหน้า
สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ตัดสินใจประกาศตอบรับคำเชิญ เตรียมบุกยุโรปเป็นครั้งแรกในรอบ 58 ปี สำหรับทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยชุดใหญ่ ที่จะบุกไปเยือน ทีมชาติจอร์เจีย ที่รั้งอันดับ 78 ของโลก ในวันที่ 12 ตุลาคม ต่อเนื่องด้วยโปรแกรมที่จะบุกไปเยือน ทีมชาติจอร์เจีย อันดับที่ 109 ของโลก ในวันที่ 17 ตุลาคม ตามลำดับ
ผลงานครั้งสุดท้ายของ ทีมชาติไทย ในการออกไปเล่นต่างบ้านต่างเมือง ด้วยการลุยทวีปยุโรปครั้งสุดท้าย เป็นการพบกับทีมชาติใด? ผลลงเอยแบบไหน? ร่วมหาคำตอบได้ใน Think Curve - คิดไซด์โค้ง
จุดเริ่มของ ฟุตบอลไทย ปะทะแข้งต่างชาติ
จุดกำเนิดที่ทำให้ ประเทศไทย ได้รู้จักกับกีฬาฟุตบอล ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งชนกลุ่มแรกที่นำกีฬาชนิดนี้เข้ามาเผยแพร่ เป็นชาวยุโรปที่เข้ามาติดต่อทำการค้าหรืออยู่อาศัยในสยามประเทศ แต่เป็นการเล่นในกลุ่มกันเอง
ส่วนคนไทยเริ่มเล่น ฟุตบอล กันในช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 ช่วงคริสตศักราช 1900 เพราะในช่วงเวลานั้น เรารับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษมาเต็มๆ ซึ่งกระแสฟุตบอลในแดนผู้ดีกำลังได้รับความนิยม เล่นกันอย่างแพร่หลาย มีโรงเรียนดังๆ จัดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน อาทิ ฮีตัน, แฮร์โรว, วินเชสเตอร์ หรือแม้แต่ ชรูวสบิวรี่
ช่วงวันที่ 2 มีนาคม ปี 1900 มีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลขึ้นที่สนามหลวง หน้าพระบรมมหาราชวัง เป็นการเจอกันระหว่าง บางกอกทีม และ กรมศึกษาธิการ ที่จบลงด้วยผลเสมอกันไป 2-2 มีผู้เล่นชาวไทยเพียงแค่ 4 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งกระแสตอบรับของผู้ชมก็เป็นไปในทิศทางที่ดี
ต่อมา หลวงไพศาลศิลปศาสตร์ แปลกฏการเล่นฟุตบอลจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ มาจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลแบบแพ้คัดออก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ขึ้นในพุทธศักราช 2544 มีทีมเข้าร่วมเป็น โรงเรียนชั้นนำในกรุงเทพมหานคร และ กรุงธนบุรี มีชื่อว่า “การแข่งขันฟุตบอลชิงโล่ของกระทรวงธรรมการ”
ด้วยความมุ่งหวังจะส่งต่อแนวคิดแบบโรงเรียนในอังกฤษว่า การเล่นฟุตบอลจะช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จัก ความสามัคคี, ความอาจหาญ และ ความอดทน โดยโรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลครอบครองเป็นเวลาหนึ่งปีและจารึกชื่อลงไป
พอเข้าสู่ช่วงสมัย รัชกาลที่ 6 ซึ่งสำเร็จการศึกษามาจาก โรงเรียนนายร้อยกองทัพบกแซนเฮิร์สต์ เล็งเห็นว่า กีฬาฟุตบอล จะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งให้ประชาชนในประเทศหลายด้าน จึงได้มีการก่อตั้ง “คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม” ขึ้นมาในปี 2458
การลงเล่นอย่างไม่เป็นทางการเกมแรก พบกับ ทีมสปอร์ตคลับฝ่ายยุโรป ณ สนามราชกรีฑาสโมสร ซึ่งผลจบลงที่ฝ่าย สยาม เอาชนะไปได้ 2-1 สร้างความนิยมและเรียกความสนใจจากชาวไทย ให้หันมาสนใจกีฬาชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี จนมาถึงวันที่ 25 เมษายน 2459 พระองค์ทรงก่อตั้ง สมาคมฟุตบอลสยามฯ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้นประเทศสยาม ก็มีการเปลี่ยนแปลงชื่อมาเป็น ประเทศไทย ในปี 2481 สมาคมฟุตบอลสยามฯ เดิม จึงมีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และได้เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1956 ที่จัดขึ้นที่เมือง เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
การแข่งขันในรายการนั้นเป็นแบบแพ้คัดออก ซึ่งคู่แข่งของ ไทย เป็นทีมสหราชอาณาจักร ผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้แบบย่อยยับ 0-9 ซึ่งนับเป็นความพ่ายแพ้ขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์ นับมาจนถึงทุกวันนี้อีกด้วย
ประเทศไทยนับเป็นชาติจากทวีปเอเชีย ประเทศแรกที่ได้เข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกขององค์กรลูกหนังระดับโลกอย่าง ฟีฟ่า หรือ สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ในปี 1925เป็นสมาชิกลำดับที่ 35 แถมยังได้รับเชิญไปเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกในปี 1930 ที่ประเทศอุรุกวัย เพียงแต่ในช่วงเวลานั้นประเทศมีเงินทุนสนับสนุนไม่เพียงพอ เลยจำเป็นต้องปล่อยโอกาสนั้นทิ้งไป
การอุ่นเครื่องกับทีมยุโรปทั้งเหย้าและเยือน
เกมกระชับมิตรที่พบกับทีมชาติจากทวีปยุโรปเกมแรก จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร พบกับทีมชาติสวีเดน ผู้ชมเข้ามาในสนามเป็นสักขีพยานราว 8 พันคน ซึ่งผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้ไปแบบฉิวเฉียด 1-2 เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับทีมเป็นอย่างดี ที่ได้ปะทะกับผู้เล่นที่มาจากต่างทวีป
หลังจากนั้นในปี 1965 ทีมชาติไทย มีการเดินทางไปเล่นเกมอุ่นเครื่องถึงเมือง บรานน์ เมืองเบอร์เก้น ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้แบบสู้ไม่ได้ 0-7
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากเกมดังกล่าว คือ ฮารัลด์ เบิร์ก เป็นผู้เล่นที่เล่นในตำแหน่งกองกลาง มีชื่อเป็นคนทำแฮตทริก ยิงได้ 3 ประตูจากเกมนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น คเยลล์ แคสเปอร์เซ่น ที่เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู ได้รับมอบหมายให้สังหารจุดโทษ แล้วยิงไม่พลาด สร้างตำนานเป็นนายทวารคนเดียว นับมาจนถึงปัจจุบันของทีมชาตินอร์เวย์ ที่ยิงประตูได้
พอเข้าสู่ช่วงยุคที่ทีมชาติไทย กำลังผลงานได้อย่างมีพัฒนาการยุค 2000 ช่วงที่มี ปีเตอร์ วิธ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชุดใหญ่ สมาคมเคยส่งนักเตะไปเก็บตัวที่อังกฤษเป็นเวลาหนึ่งเดือน อ้างอิงจากคำพูดของ “โค้ชโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ อดีตกองหน้าทีมชาติไทย ที่กล่าวไว้ว่า
“เคยไป ลิเวอร์พูล เก็บตัวมาเดือนนึง ก่อนที่จะไปคัดฟุตบอลโลกปี 2002 ที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย ไปอยู่ยุโรปมาเดือนนึงเลยได้เข้ารอบ”
“ไปอุ่นกับใครรู้เปล่า? มิดเดิ้ลสโบรซ์, ฮัดเดอร์สฟิลด์ ทาวน์ ที่สนามแย่มากบอกตรงๆ ว่าแล้วทำไมพวกเขาถึงเล่นบอลโยน เพราะพื้นสนามมันไม่เรียบ และก็อุ่นกับ ลิเวอร์พูล ทีมสำรอง ที่มีทาง เจมี่ เรดแนปป์ กัปตันทีมที่เพิ่งหายเจ็บกลับมาเรียกความฟิต จับมือกับผมด้วย ผมเป็นกัปตันทีมชาติไทยครับ แล้วก็มี แพทริก แบร์เกอร์ ด้วย ”
“เสมอกัน 0-0 หรือ 1-1 ไม่รู้ จำไม่ได้ แต่กินเราไม่ลงนะครับ เราซ้อมที่สนามซ้อมลิเวอร์พูลทุกวัน มีคนและทีมงานเข้ามาดูด้วย ส่วนสนามซ้อมมิดเด้ลสโบรซ์ก็สวยมาก”
“ถ้าพูดกันจริงๆ โปรแกรมการไปยุโรปถือเป็นการเตรียมตัวที่ดี แต่ถ้าโปรแกรมช่วงมีนานี้ เป็น กัมพูชา หรือ เวียดนาม นี่งานเข้าเลยนะ”
ส่วนเกมนัดล่าสุดที่ทาง ทีมชาติไทย ปะทะกับชาติจากทวีปยุโรปครั้งล่าสุด เป็นศึก คิงส์ คัพ ในปี 2018 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน เป็นเกมที่เจอกับ ทีมชาติสโลวาเกีย ในยุคของกุนซือ มิโลวาน ราเยวัช ผลจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทัพ ช้างศึก 2-3
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อย่าโฟกัสเพียงแค่ทีมชาย
ความจริงแล้วงบประมาณของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย นั้นต้องมีการแบ่งสรรปันส่วนให้กับทั้ง ทีมชาย และ ทีมหญิง รวมไปถึงสโมสรต่างๆ ในศึก ไทย ลีก แบบเป็นขั้นเป็นตอน แม้ว่าจะมีจำนวนจำกัด
โดยถ้าไม่จำกัดเรื่องเพศ ทีมชาติไทยทีมหญิง ของเรา น่าจะเป็นทีมล่าสุดที่บุกไปเล่นในยุโรปในปี 2019 แถมเป็นทัวร์นาเมนต์ใหญ่อย่างศึก ฟุตบอลโลก อีกด้วย
การแข่งขันทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว มีทาง ฝรั่งเศส เป็นเจ้าภาพ ลงสนามกันในช่วงเดือนมิถุนายน แม้ว่าผลงานของเราจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้สามนัดรวด
เริ่มตั้งแต่โดนทาง สหรัฐอเมริกา ถล่มไป 13-0, พ่าย สวีเดน 1-5 และปิดท้ายด้วยการแพ้ ชิลี 0-2 อย่างน้อยก็ยังได้รับประสบการณ์ที่ดีกลับมา หลังเคยผ่านเข้าไปเล่นรายการนี้ครั้งแรกมาแล้วในปี 2015
ซึ่งจะถูกนำมาปรับใช้ในการแย่งตั๋วโควต้า 3 ใบสุดท้าย เพื่อเข้าไปเล่นในศึก เวิลด์ คัพ หญิง 2023 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ในช่วงกลางกลางปี ระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม - 20 สิงหาคม
คู่แข่งของทัพ ชบาแก้ว ที่ต้องดวลแข้งด้วย ก็คือ “หมอผี” แคเมอรูน โดยจะลงเล่นกันในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2023 หรือในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่เมืองแฮมิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์
ดังนั้นแฟนฟุตบอลทีมชาติไทย อย่าเพิ่งรู้สึกตื่นเต้นไปกับโปรแกรมที่ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า แล้วเป็นเพียงแค่เกมอุ่นเครื่อง แถมกว่าจะลงเตะกันก็ปาเข้าไปช่วงปลายปี
การให้ความสำคัญกับโปรแกรมนัดชี้ชะตา บอลโลกหญิง ที่กำลังจะมาถึง ก็เป็นหน้าที่ของเราๆ ท่านๆ ที่ต้องส่งแรงใจไปเชียร์แบบเต็มร้อยเช่นกัน
ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าทัพ ชบาแก้ว จะยังคงทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ผ่านเข้าไปเล่น บอลโลก รอบสุดท้าย เดินหน้าสร้างสถิติ ร่วมแข่งขัน 3 สมัยติดต่อกันได้สำเร็จ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ทั้งที่เป็นภูมิภาคบ้าบอล : ทำไมไม่ค่อยมีนักเตะสัญชาติ ‘อาเซียน’ ค้าแข้งอยู่ในยุโรป
ย้อนต้นตอจากวูชคิช : ทำไมนักเตะยุโรปตะวันออกจึงนิยมมาเล่นในไทยลีก ?
จากเมืองทองฯ ถึง ท่าเรือฯ : รวมดาวทีมชาติไว้ในสโมสรเดียวกันได้ประโยชน์จริงหรือ?
แหล่งอ้างอิง :
สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
https://www.youtube.com/watch?v=HSxss6K7OIc&t=17s
https://www.youtube.com/watch?v=Uo65TkMVm6w
https://www.youtube.com/watch?v=XNIriTIVavU&t=317s
https://en.wikipedia.org/wiki/Thailand_national_football_team
https://siamrat.blog/2022/01/02/the-origins-of-football-in-thailand/
https://www.11v11.com/matches/norway-v-thailand-19-may-1965-229047/
https://en.wikipedia.org/wiki/Thailand_women%27s_national_football_team_results