จากปากคนร่วมงาน : ‘โค้ชหระ’ เก่งจริงไหม? กับการทำงานระดับชาติ
กระแสความพ่ายแพ้แบบย่อยยับของ ฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดลุยศึก เอเชียน เกมส์ ครั้งที่ 19 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อทีมชาติเกาหลีใต้ ด้วยสกอร์ 0-4 ทำให้เสียงของแฟนบอลออกเป็นสองฝ่ายทั้งฝ่ายที่เขาใจและสนับสนุนการทำงานของ ‘โค้ชหระ-อิสสระ ศรีทะโร’ รวมไปถึงฝ่ายที่มองว่าเขามือไม่ถึง
แน่นอนว่าการมารับงานคุม ทีมชาติไทยชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี ซึ่งทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและสตาฟฟ์โค้ช ได้คุยกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะใช้นักเตะที่อายุอยู่ในช่วงที่เกิดหลังปี 2001 เพื่อเตรียมขุนพลให้พร้อมสำหรับรายการใหญ่อย่างการคัดเลือกไป โอลิมปิก เกมส์ ประเทศฝรั่งเศสไม่ให้อายุเกินเกณฑ์
ดังนั้นผู้เล่นที่อยู่ในข่ายที่ โค้ชหระ เรียกมาใช้งานจะเริ่มต้นทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ศึก โดฮา คัพ, ซีเกมส์, เอเอฟเอฟ ชิงแชมป์อาเซียน, ชิงแชมป์ เอเชีย รอบคัดเลือก และล่าสุดเป็น เอเชียน เกมส์ แต่ไม่สามารถเรียกขุนพลคู่ใจมาใช้งานได้แบบเต็มสูบทุกครั้ง เนื่องจากติดโปรแกรมบอลลีกในประเทศที่กำลังแข่งขันอยู่
ถ้ามองถึงการเตรียมงานระยะยาวและภาระที่หนักอึ้ง แต่สมาคมกลับเลือกกุนซืออย่าง โค้ชหระ ที่โปรไฟล์ไม่ได้สวยหรูมากนักมารับหน้าที่ หมายความว่า ลึกๆ แล้วโค้ชสัญชาติไทยรายนี้ คงต้องมี ‘ดี’ อะไรสักอย่าง? ที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในวงการฟุตบอลไทยกล้าเสี่ยงที่จะใช้งานเขา ซึ่งเป้าหมายที่คาดหวังไว้นั้นเป็นสิ่งที่ใหญ่และไม่สามารถทำพลาดได้เลย
ความจริงแล้ว โค้ชหระ มีฝีมือดีพอหรือไม่ในการคุมทีมระดับชาติ? บุคคลที่เคยทำงานร่วมกับเขามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ผลงานดีแล้วแต่ไม่เคย ‘ดีพอ’
ก่อนหน้านี้ โค้ชหระ เคยได้รับมอบหมายให้คุม ทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 19 ปีมาก่อนในปี 2018 โดยที่เป็นทีมชุดที่ไม่ได้มีใครคาดหวัง กระแสข่าวค่อนข้างเงียบในช่วงแรก แต่เดิมพันในรายการชิงแชมป์เอเชียปีนั้นค่อนข้างสูง เพราะส่งผลถึงการตีตั๋วไปเล่น ‘ฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี’
อย่างไรก็ตาม โค้ชหระ กลับพาลูกทีมไปไม่ถึงฝั่งฝัน ด้วยการพ่ายยับให้กับ ทีมชาติกาตาร์ ในช่วงต่อเวลาพิเศษแบบขาดลอย 3-7 พลาดตั๋วบอลโลกไปเพียงแค่ก้าวเดียวเท่านั้น แล้วเมื่อบทสรุปผลงานกระจายไปตามหน้าสื่อ จากที่แฟนบอลไม่เคยสนใจรายการนี้ กระแสกลายเป็นย้อนตีกลับว่า ‘มือไม่ถึง’ จากการสนใจแค่เรื่องผลลัพธ์ในตอนท้าย
สุดท้ายแล้ว โค้ชหระ เลือกที่จะรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งเฮดโค้ช แล้วถอยกลับไปเป็นแค่ทีมงานเบื้องหลังทีมชาติ ทำงานร่วมกับ อากิระ นิชิโนะ อดีตเทรนเนอร์ทีมชาติไทยชุดใหญ่ รวมไปถึงการรับงานคุมทีมในระดับสโมสรกับ ‘ต่อพิฆาต’ พีที ประจวบ เอฟซี พาทีมรอดการตกชั้นได้สำเร็จ พร้อมผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ รีโว่ ลีก คัพ แต่ต้านความแข็งแกร่งของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ไหว พ่ายไป 0-4
หากมองถึงเรื่องของรายละเอียดการทำงานของ โค้ชหระ แล้วนั้น เขามักจะได้ภารกิจที่มีข้อจำกัดเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศักยภาพผู้เล่นที่ไม่พร้อม หรือแม้แต่การสนับสนุนจากรอบด้าน ทำให้ผลงานโดยรวมไปเคยไปได้สุดสักที ไม่มีแชมป์หรือความสำเร็จมาการันตีแบบเป็นชิ้นเป็นอันได้ว่า เก่งจริงหรือไม่?
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ โค้ชหระ ถูกทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ตามตัวมารับตำแหน่งคุมทัพ ช้างศึก ยู-23 แล้วเปิดหัวทัวร์นาเมนต์แรกๆ ด้วยการคว้าอันดับที่ 4 ในศึก โดฮา คัพ ประเทศกาตาร์ จากการชนะเจ้าภาพ 1-0, เสมอ ซาอุดิอาระเบีย (แชมป์เอเชีย) 2-2 และพ่ายคูเวต 0-1 ล้วนทำให้แฟนบอลมองแบบผิวเผินว่า ทีมชาติไทย ยู-23 มีศักยภาพดีพอจะต่อกรกับชาติชั้นนำในทวีปเอเชียได้
แต่ความเป็นจริงแล้วเป้าหมายของ โค้ชหระ ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ที่ผลลัพธ์เรื่องอันดับ แต่กลับเป็นแผนงานระยะยาวเพื่อชิงตั๋ว โอลิมปิก เกมส์ มากกว่า ตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“เป้าหมายหลักของเราในการไปแข่งขันครั้งนี้คือการสร้างความสัมพันธ์ในทีม และลองใช้นักเตะในแท็กติกใหม่ๆ ด้วย เราต้องการเห็นความสัมพันธ์ภายในทีมและการตอบสนองของเด็กว่าตอบสนองแค่ไหน และข้อบกพร่องต่างๆที่เราจะได้เจอแน่ๆ มันจะชัดเจนยิ่งขึ้น”
“เราจะพยายามมองหา ข้อดี-ข้อเสีย ของนักเตะทุกคนที่มาให้ได้มากที่สุด เพื่อวิเคราะห์แล้วหานักเตะที่ดีที่สุด สำหรับการทำการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติต่างๆ ที่จะเข้ามาในปีหน้า”
จากข้อความดังกล่าวสื่อความหมายได้ว่า โค้ชหระ เป็นโค้ชที่มีวิธีการเชิงกลยุทธ, การจัดการ และ การวางแผนเรื่องต่างๆ ล่วงหน้า มองภาพใหญ่เอาไว้โดยไม่ใส่ใจว่าระหว่างทางต้องเจอกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์หนักขนาดไหน แล้วให้ความสำคัญกับเรื่องของการวิเคราะห์สถิติไม่น้อยเลยทีเดียว
ซึ่งพอทางทีมงานไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้พบว่าเส้นทางการทำงานของ ‘เลี้ยง-อธิคุณ ปิ่นทอง’ นักวิเคราะห์เกมชาวไทย ที่ปัจจุบันทำงานอยู่กับสโมสร อาร์เซนอล ทีมชั้นนำในศึก พรีเมียร์ลีก เคยมีประสบการณ์ร่วมงานกับ โค้ชหระ มาแล้วเช่นกัน
มุมมองจากนักวิเคราะห์สโมสร ‘อาร์เซนอล’
ทุกวันนี้การวิเคราะห์เกม สถิติ และการศึกษาคู่แข่งอย่างละเอียด เป็นเรื่องที่ทีมชั้นนำของโลกให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะไม่ใช่เพียงแค่จะสามารถพัฒนาศักยภาพทีมของตัวเอง ด้วยข้อมูลที่อ้างอิงเชื่อถือได้ ยังสามารถรับรู้ถึงเทรนด์ฟุตบอลว่า ต้องแบบไหนให้เข้ายุคสมัยและได้รับความนิยมจากแฟนบอลอีกด้วย
ดังนั้นจึงเป็นที่มาของอาชีพนักเก็บสถิติ, นักวิเคราะห์เกม หรือ วิดีโอ สเกาท์ (Video Scout) ที่อาจรวมอยู่ในแผนก วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) ที่ทำหน้าที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายทีมที่เป็นแชมป์รายการสำคัญ รวมไปถึงบริษัทที่ให้บริการข้อมูลดังกล่าวอย่าง Opta ที่แฟนบอลต่างคุ้นชื่อนี้ดี
สำหรับ เลี้ยง-อธิคุณ ก็เป็นคนไทยที่มีความสามารถอีกคนหนึ่งในวงการฟุตบอล แล้วได้รับโอกาสให้ทำงานกับองค์กรใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งเขาก็เคยร่วมงานกับ โค้ชหระ แล้วให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า
“ผมมองว่าโค้ชส่วนใหญ่ในยุคเก่ามักจะให้คำแนะนำกับนักเตะ ด้วยการใช้ความรู้สึกและอารมณ์มากเกินไป ไม่ได้แสดงตัวอย่างที่เป็นความจริงให้เห็นภาพ หรือการวิเคราะห์ ทั้งที่ความจริงมันเป็นพื้นฐานหลักที่ควรทำ”
“ตอนผมมีโอกาสทำงานกับ ทีมชาติไทย เห็นได้ว่าเรื่องพวกนี้ไมได้รับการยอมรับมากนัก ขึ้นอยู่กับวิธีการทำงานของโค้ชคนนั้นๆ อย่าง พี่หระ เป็นคนที่เชื่อมั่นในการวิเคราะห์มาก เขาคือครูผู้ให้โอกาสคนนึงของผม ด้วยการสอนสิ่งต่างๆ ที่เขาเรียนรู้มา จากการใช้ คีย์โน้ตและภาพการเคลื่อนที่ของนักเตะ มันทำให้นักเตะเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น”
เลี้ยง เพิ่มข้อคิดที่น่าสนใจเอาไว้ว่า การทำทีมฟุตบอลในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสโมสรหรือทีมชาติ แนวทางของทีมนั้นๆ ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจยอมรับและเชื่อมั่นในเรื่องอะไร แล้วตีกรอบให้อยู่ในเรื่องนั้นๆ ตามความเชื่อของพวกเขา ซึ่งมันต่างกับประเทศที่คลั่งฟุตบอลมากๆ อย่าง อังกฤษ ที่สามารถจับเรื่องนี้มาทำเป็นอาชีพได้
ผลลัพธ์ที่เห็นก็ไม่ต้องมองไปไหนไกล ยกตัวอย่าง เช่น ลิเวอร์พูล ภายใต้การทำทีมของ เจอร์เก้นน์ คล็อปป์ ในยุครุ่งเรืองที่ก้าวไปถึงแชมป์ลีกและแชมป์ยุโรป หรือแม้แต่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เห็นภาพจากความสำเร็จของทีมคู่แค้นและดำเนินรอยตามอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามผลของการพัฒนามันไม่อาจรวดเร็วดั่งใจ เพราะต้องวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ไปทีละเปราะทีละจุด ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องของความเร็วในการพัฒนาการของนักเตะแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนช้า-บางคนเร็ว ถ้าหวังจะให้ออกดอกออกผลแบบจับต้องได้ ทีมจำเป็นต้องมีทั้งความเชื่อมั่นและอดทนอย่างสูง เนื่องจากปัญหาใหม่ๆ หรือจุดบอด สามารถเกิดขึ้นมาเพิ่มเติมได้ตลอด แล้วใช่ว่าปัญหาเก่าจะจัดการไปได้แล้ว
เสียงจากขุนพลตัวหลัก
นอกจากนี้ทีมงานยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว เพลย์เมคเกอร์ที่เป็นอีกหนึ่งไม้เด็ดของ โค้ชหระ ที่ใช้งานมาตั้งแต่ โดฮา คัพ แล้วตอนนี้ก็ถูกเรียกตัวไปติดทีมชาติชุดใหญ่เรียบร้อยแล้ว แถมยังทำผลงานได้เข้าตาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หนึ่ง เป็นนักเตะอีกหนึ่งคน ที่พลาดโอกาสไปลุยศึก เอเชียน เกมส์ ครั้งนี้ เนื่องจากสโมสรมีภารกิจเกมลีกนัดสำคัญอีกมากมายรออยู่ ไม่สามารถเสี่ยงปล่อยตัวผู้เล่นคนสำคัญไปช่วยงานทีมชาติในเกมที่ไม่ใช่โปรแกรม ฟีฟ่า เดย์ ซึ่งทาง ชลบุรี เอฟซี ก็พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างที่สุดแล้ว
ผู้เล่นอย่าง ทรงชัย ทองฉ่ำ, พงศกร ตรีศาตร์, บุคฆอรี เหล็มดี, พิทักษ์ พิมแป้ หรือ ยศกร บูรพา กองหน้าตัวเป้าแท้ๆ รายเดียวในทีมชุดนี้ ล้วนเป็นผู้เล่นจาก ฉลามชล ที่ส่งไปช่วยทั้งหมด แต่ถ้าถามความเห็นลึกๆ ของ ชาญณรงค์ แล้ว เจ้าตัวยืนยันว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเดินทางไปแข่งเพื่อช่วยเพื่อนๆ เช่นกัน
ซึ่งหลังจากสอบถาม หนึ่ง ถึงการทำงานของ โค้ชหระ ว่าเก่งจริงไหมสั้นๆ ก็ได้คำตอบกลับมาว่า
“เก่งครับ (พยักหน้า) พี่หระ วิเคราะห์สถิติ อธิบาย และพยายามสอนน้องๆ หลายเรื่อง คนอื่นอาจไม่เห็นการทำงานของเขา แต่นักเตะในทีมรู้ว่าเขาทำงานหนักมากๆ ก็น่าเสียดายที่เขาได้ตัวไปไม่ครบ”
แล้วสิ่งที่น่าชื่นชมอีกเรื่องของ โค้ชหระ คือ การแสดงความรับผิดชอบด้วยตัวเองทุกครั้ง ไม่ว่าผลงานของทีมจะออกมาดีหรือไม่ดี เขาไม่เคยหนีหรือบ่ายเบี่ยงการให้สัมภาษณ์หลังเกม ด้วยการส่งตัวแทนหรือผู้ช่วยไปรับหน้า พร้อมแบกรับความกดดันเหมือนกับในเกมล่าสุดที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดเอาไว้ว่า
"เกมนี้พวกเขาได้เห็นความต่าง ความเข้มข้น ความชะล่าใจในเกมเสี้ยววินาทีเดียว มันจะทำโทษเราทันที ในเกมระดับสูง และโอกาสการทำประตูที่ไม่มากครั้ง และพอเราทำไม่ได้ เราก็จะไม่มีอีก นี่คือเกมระดับเอเชีย นี่คือทีมระดับท็อป เราต้องใส่ใจรายละเอียดมากกว่านี้”
“ต้องยอมรับว่าเกาหลีใต้แกร่งว่าเราทุกรูปแบบ เชื่อว่านักเตะไทยจะได้ประสบการณ์ที่ดีในเกมนี้"
แม้ว่าบทสรุปจะออกมาด้วยการพ่ายแพ้ 0-4 ยับเยินให้กับทัพโสมขาว แต่เชื่อว่าชุดข้อมูลสำคัญที่ได้จากเกมนี้ คงเป็นเรื่องของวิธีการเล่น รายละเอียดนักเตะแต่ละคน รวมไปถึงประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้นอกจากต้องลงดวลด้วยจริง ซึ่งคงเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาทีมหากเจอกันในรายการต่อไป
ถ้าสุดท้ายแล้วแฟนบอลตัดสินคำว่า ‘เก่ง’ ด้วยผลลัพธ์หรือสกอร์ที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว เฮดโค้ช แบบ อิสสระ อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องการคว้าความสำเร็จมาแบบเฉียบพลัน แต่ถ้าเป็นเรื่องของการวางรากฐานไว้เผื่ออนาคต สิ่งที่เขาได้ทำไว้คงจะเป็นผลบวกให้กับผู้ที่มารับไม้ต่อไปอย่างแน่นอน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
การสัมภาษณ์ส่วนตัว
https://www.siamsport.co.th/asian-games/32038/
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
Outside In : ‘วันแห่งความอัปยศ’ เมื่อไทย 9 คน ช็อคเกาหลีใต้ คว้าชัยในเอเชียนเกมส์ 1998
ข่าวและบทความล่าสุด