จากสภาถึงสนาม : การเมืองใหญ่ส่งผลต่อวงการฟุตบอลไทยแค่ไหน ?

จากสภาถึงสนาม : การเมืองใหญ่ส่งผลต่อวงการฟุตบอลไทยแค่ไหน ?
ชยันธร ใจมูล

การเมืองคือเรื่องของทุกคน… ไม่ว่าคุณจะไม่เคยติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด และคิดว่ามันไกลตัว แต่สิ่งนี้จะส่งผลต่อทุก ๆ เรื่องที่คุณเกี่ยวข้องเสมอ … ไม่เว้นแม้กระทั่งฟุตบอล

ฟุตบอลเกี่ยวข้องกับการเมืองของประเทศอย่างไร ? Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้พูดคุยกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญที่อยู่กับวงการฟุตบอลไทยมายาวนาน  เพื่อหาคำตอบว่า การเมืองสนามใหญ่ กับวงการฟุตบอลไทยนั้น “ใกล้กัน” แค่ไหน

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดที่นี่

การเมืองเกี่ยวกับฟุตบอลไทยหรือไม่ ?

“อย่าเอาการเมืองมายุ่งกับกีฬา” นี่คือสิ่งที่เราได้ยินมาเสมอ แต่จริง ๆ มันทำแบบนั้นได้หรือเปล่า ?

อย่างแรกเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนเกี่ยวกับเรื่องของการเมืองและกีฬา ซึ่ง 2 เรื่องนี้เกี่ยวข้องกันเป็นอย่างยิ่ง และเราเชื่อว่าคุณน่าจะเคยได้ยินคำว่า "การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน" หรือ "การเมืองเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง" ... ซึ่งเราจะอธิบายสั้น ๆ ว่าทำไมมันมันจึงเป็นเรื่องของทุกคน ?

Photo : Thainews

แน่นอนว่า การสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่กรรมการสมาคมฟุตบอล  ก็เป็นการแสวงหาอำนาจทางการเมือง เพื่อจะใช้อำนาจหรือมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ  จัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสมาชิกในสังคมทั้งสิ้น

สิ่งที่มีคุณค่านี้ หมายถึงสิ่งที่คนในสังคมต้องการ อาจจะเป็นตำแหน่งหน้าที่การงาน งบประมาณ บริการสาธารณะสุข ถนนหนทาง ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ  การจ่ายเบี้ยยังชีพ ให้ผู้สูงอายุ  ให้คนพิการ ให้การศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี ... ไม่เว้นแม้กระทั่งกับวงการฟุตบอลไทย โดยเฉพาะในระบบลีกนั้น ย่อมต้องการงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุนในแง่ของภาพรวมเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น  

และคนที่จะเข้ามาคอยบริหารงบประมาณจากรัฐก้อนนี้ก็คือ นายกสมาคมฟุตบอล และหากจะถามว่าการเลือกตั้งนายกส.บอล นั้นมีการเมืองสนามใหญ่มาเกี่ยวข้องหรือเปล่า ? คงไม่ผิดนักที่เราจะตอบว่า "มี"

Photo : ฟุตบอล 108

"อย่างแรกเลยคือเราต้องยอมรับว่ามันมีการเกี่ยวข้องกันแน่นอนระหว่างการเมืองกับฟุตบอลไทย"  สมฤกษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หรือ "ปูเป้" ที่คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลไทยอย่างยาวนาน และเป็นเจ้าของช่อง "ฟุตบอล 108" ใน Youtube กล่าวในการสัมภาษณ์กับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

สมฤกษ์ พยายามอธิบายความเกี่ยวข้องนี้ว่าการจะได้ใครสักคนมาเป็นนายกสมาคมนั้น ก็มีการเลือกตั้งเช่นกัน และการเลือกตั้งนายก ส.บอล มีวิธีการคือให้สโมสรที่เป็นสมาชิกยกมือโหวตเลือก ซึ่งตัวแทนของสโมสรเหล่านี้คือเจ้าของทีมหรือประธานสโมสร ที่ส่วนใหญ่นั้นล้วนเป็นคนการเมือง หรือเป็นผู้นำ, ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นทั้งสิ้น

"คนทั่วไปที่จะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลได้นี่มันมีน้อย เพราะอย่างนั้นเนี่ย พอเป็นนักการเมืองที่เป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลแล้วก็หมายความว่าพวกเขาก็ต้องมีพรรคการเมืองที่สังกัดหนุนหลังโดยธรรมชาติปกติอยู่แล้ว" สมกฤษ์ ว่าต่อ

นอกจากนี้เรายังได้อีกหนึ่งความคิดเห็นจากอีกหนึ่งคนในวงการฟุตบอลไทย อย่าง ธนะ วงศ์มณี บรรณาธิการของ Goal Thailand ก็ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่าไม่ต่างกันว่าการเมืองและกีฬามีการเกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน

Photo : Main Stand 

"การเมืองกับกีฬาเป็นคนละเรื่องกันก็จริง แต่เกี่ยวกันแน่นอน ความหมายอย่างสั้นที่สุดของการเมืองน่าจะเป็น 'ใครได้อะไร ได้เมื่อไหร่' การอยู่ร่วมกันของคนหลายคน มี 'ผลประโยชน์' ที่ต้องจัดสรรแบ่งปันอยู่แล้ว”

“ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดเช่น ลานปูนหลังหมู่บ้าน จะเอาไปทำสนามบอล, สนามบาส, ตะกร้อ, วอลเลย์ หรือสนามแบดฯ ดี ทำหลายอย่างได้ไหม หรือจะจัดเวลา วันไหนใช้เล่นอะไร ฯลฯ นี่ก็คือการเมืองที่เกี่ยวกับกีฬาแล้ว"

คำถามต่อไปคือทำไมนักการเมืองจึงนิยมทำทีมฟุตบอล และแทบไม่มีปุถุชนคนธรรมดาเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในระบบลีกของประเทศไทยเลย ?

ฟุตบอลคือหัวคะแนนธรรมชาติ

เหตุผลที่นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลเพราะคือการเข้าถึงประชาชนในแต่ละท้องที่โดยตรง นักการเมืองเริ่มใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการรักษาความนิยมส่วนบุคคลเอาไว้ ขณะเดียวกัน “อำนาจรัฐ” ก็มีส่วนเสริมและเอื้อต่อการทำทีมฟุตบอลอย่างมาก ทั้งในส่วนของ “สปอนเซอร์” หรือ “สนามแข่งขัน”

ยกตัวอย่างในจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น ชลบุรี, สุพรรณบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุรีรัมย์ ทีมฟุตบอลของจังหวัดนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมืองที่เรียกว่า "บ้านใหญ่" (ตระกูลที่มีอิทธิพลในท้องที่) ทั้งสิ้น

Photo : ONE31

หากพวกเขาทำทีมฟุตบอลได้ดี มีความสำเร็จ ทำให้ผู้คนในจังหวัดหรือท้องที่นั้น ๆ รู้สึกว่าผู้บริหารทีมมีความใส่ใจ จริงจัง และทุ่มเทเพื่อสโมสร ภาพลักษณ์นี้ก็จะสะท้อนไปยังการเมืองในสนามใหญ่ ในเชิงที่ว่า "ถ้าบริหารทีมฟุตบอลให้เรามีความสุขได้ ทำไมเขาจะบริหารบ้านเมืองให้เรามีความสุขไม่ได้" ... ซึ่งภาพนี้ก็จะชัดมาก ๆ กับเจ้าของทีมที่พาสโมสรประสบความสำเร็จ พวกเขาก็จะได้รับความนิยมในแง่ของตัวบุคคลเพิ่มขึ้นทันที

กลับมาที่การเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลกันอีกสักหน่อย ชัดเจนว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง และคนยกมือโหวตนายกคือเจ้าของสโมสรที่เป็นนักการเมือง นั่นก็หมายความว่าเหล่าประธานสโมสรก็มีโอกาสจะโหวตแคนดิเดตนายกที่มาจากขั้วการเมืองเดียวกันให้เป็นผู้ได้รับเลือก

เหมือนกับการยกมือโหวตนายกรัฐมนตรีซึ่งเราจะได้เห็นว่า ส.ส. จากพรรคการเมืองเสียงข้างมากก็จะโหวตแคนดิเดตฝั่งนายกของฝั่งตัวเอง เช่นเดียวกันกับฝั่งเสียงข้างน้อยในสภาที่ต้องยกมือสนับสนุนแคนดิเดตของฝั่งตัวเองเช่นกัน ... ส่วนเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ยอมเลือกคนที่ดูมีคุณสมบัติเหมาะสมในมุมมองของคนส่วนใหญ่ คำตอบแบบเข้าใจง่ายที่สุดคือในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการเลือก พวกเขาก็ย่อมเลือกคนที่พวกเขา "เชื่อว่า" เหมาะสมที่สุด ไม่มีคำว่าผิดหรือถูกไม่ว่าคุณจะยกมือโหวตให้ใครก็ตาม

Photo : Suphanburi FC

ขั้วการเมืองหรือใครเป็นรัฐบาลของประเทศย่อมส่งผลต่อมาถึงการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอล โดยการเลือกตั้งหลาย ๆ ครั้งหลังสุดก็แสดงให้เห็นแบบนั้น ยกตัวอย่างเช่นในยุคที่ วรวีร์ มะกูดี ได้เป็นนายกส.บอลไทย  และขั้วทางการเมืองจาก พรรคภูมิใจไทย อย่างสมยศ พุ่มพันธ์ม่วง

ในการเลือกตั้งนายกสมาคมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2563 มีรายชื่อผู้มีสิทธิ์โหวตทั้งหมดได้แก่ สโมสรไทยลีก 1 จำนวน 16 ทีม, สโมสรไทยลีก 2 จำนวน 18 ทีม, อันดับ 1-7 จากไทยลีก3 โซนเหนือและโซนใต้ รวม 14 ทีม, อันดับ 1-3 จากการแข่งขันไทยลีก4 ทั้ง 6 โซน รวมเป็น 18 ทีม, แชมป์อเมเจอร์ลีก (ไทยลีก5) 1 ทีม, แชมป์กับรองแชมป์ฟุตบอลลีกหญิง 2 ทีม

เอาแค่ 16 ทีมใหญ่ ๆ ที่ชื่อคุ้นหูแฟนบอล ณ เวลานั้นก็มาจากขั้วอำนาจฝั่ง สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ว่าเป็นฝั่งรัฐบาลอยู่แทบทั้งสิ้นเช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี, ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด,บีจี ปทุม ยูไนเต็ด, สมุทรปราการ ซิตี้, ชลบุรี เอฟซี, ราชบุรี มิตรผล, ตราด เอฟซี, พีที ประจวบ, นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี, สุพรรณบุรี เอฟซี, ชัยนาท ฮอร์นบิล และ สุโขทัย เอฟซี  

Photo : Fair

แม้จะไม่มีการเปิดเผยว่าตัวแทนจากสโมสรที่กล่าวมาโหวตให้ใครแต่การชนะขาดลอยของ สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ถึง 51 ต่อ 17 เสียง (บัตรเสีย 1 ใบ) ก็เป็นการบ่งบอกได้อย่างดีว่าขั้วอำนาจการเมืองสนามใหญ่ของฝั่งไหนแข็งแกร่ง ตัวแทนของพวกเขาก็มีโอกาสที่จะถูกโหวตชนะในการเลือกตั้งนายกส.บอล มากขึ้น

"ในยุคของคุณ วรวีร์ ยุคท้ายๆ น่าจะเป็นสมัยท้ายๆ ต่อเนื่องมาถึงยุคของท่านสมยศ อันนี้ก็จะเป็นการเมืองระหว่าง เพื่อไทย กับ ภูมิใจไทย ในช่วงเวลานั้น" สมกฤษ์ ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ

"สังเกตุดูครับว่า คะแนนเสียงที่ให้กับคุณ วรวีร์ ในตอนนั้นเนี่ยจะเป็นคะแนนเสียงจากฝั่งเพื่อไทย เพราะนักการเมืองที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ก็จะเป็นพรรคเพื่อไทยเป็นส่วนใหญ่ พี่ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวกันโดยบังเอิญหรือเปล่านะ"

Photo : FA Thailand

"แต่มาอยู่ยุคของท่าน สมยศ คะแนนเสียงก็มาจากพรรคภูมิใจไทย และ พลังประชารัฐ เหมือนกัน ... หรือมันอาจจะเป็นช่วงบังเอิญว่า พรรคภูมิใจไทย และ พลังประชารัฐ บังเอิญได้เป็น สส. ในรัฐบาลช่วงนั้นพอดี  ถ้าถามว่ามันเกี่ยวข้องมั้ย พี่ว่ามันเกี่ยวอยู่แล้วล่ะ เพราะว่าใครก็อยากจะตอบสนองผู้มีอำนาจทางการเมืองในยุคนั้นๆ ถูกมั้ย ?"  สมกฤษ์ ทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ชวนคิดต่อ

เปลี่ยนขั้ว = เปลี่ยนแปลง ?

การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันจากความเกี่ยวข้องทางการเมืองพบเห็นได้ในทุกวงการ แต่อย่างไรเสียสิ่งที่เกิดขึ้นจากครั้งอดีตก็สามารถเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับปัจจุบันได้เช่นกัน

"การยึดอำนาจของ คสช ในปี 2557 ทำให้ตัว 'ผู้ใหญ่' ในรัฐบาล กลายเป็นคนที่นายกสมาคมฯ ต่อติดได้ง่ายขึ้น กลายเป็นว่าการประสานงาน ประสานประโยชน์ต่าง ๆ คล่องตัวขึ้นมาเสียอย่างนั้น" ธนะ ตอบทันทีว่าเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้วทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องก็จะเปลี่ยนแปลงไม่เว้นแม้กรทั่งวงการฟุตบอล

ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือไม่ว่าคุณจะมาจากขั้วอำนาจไหน สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือการมีผลงานที่เด่นชัดทั้งเรื่องของผลการแข่งขัน และ เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าผลงานดีจับต้องได้ชัดเจน ก็จะทำให้พวกเขาเหล่านั้น "ชนะใจ" ได้จากแฟนบอลของทั้งสองฝั่ง เพราะเรื่องของผลงานคือตัวตัดสินอย่างแท้จริงในยุคที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้กว้างขึ้น ลึกขึ้น และรวดเร็วขึ้น

"วันเวลาของสายลมที่เปลี่ยนผันมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อก่อนเราอาจคาดเดาได้ว่า ใครจะเข้ามาเป็นนายกสมาคมฟุตบอลคนต่อไป เพราะมันก็จะมีตัวละครเดิมๆ อยู่"

"แต่วันนี้เนี่ยวงการฟุตบอล มันก็เหมือนๆ กับ สังคมและการเมือง ที่จะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามา มีคนเก่งๆ รุ่นใหม่อีกเยอะมาก ที่บางทีผู้เลือกหรือโหวตเตอร์ เขาอาจจะไม่ได้คำนึงถึง ระบบของการอุปถัมป์ หรือขอกันแบบในอดีตอีกแล้ว" ปูเป้ ให้ความเห็น

ด้านตัวเเทนจากฝั่ง Goal Thailand ก็พูดถึงประเด็นนี้เพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะเป็นสายลมเเห่งการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ถึงกับใช้คำว่า "เปลี่ยนระบบนิเวศเปลี่ยนแบบสุดขั้ว" เลยทีเดียว

"การเลือกตั้งใหญ่เกี่ยวข้องกับทุกอย่างในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครในฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่พอใจนโยบายและการจัดการงบประมาณของรัฐบาลเดิม ได้เข้ามาโดยสัญญาว่าจะ 'ไม่เหมือนเดิม' ไม่ใช่ 'ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ'

"เชื่อว่า 'คอนเนคชั่น' จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้ง ส.บอล เพราะ 'ใครได้อะไร ได้เมื่อไหร่' เกี่ยวข้องกับคอนเนคชั่นอย่างมาก และระบบนิเวศการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนแบบสุดขั้ว เปลี่ยนไปเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด ฐานการวิเคราะห์แนวโน้มแบบเดิม ๆ ถูกรื้อวันต่อวัน ตรงนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกับการเมืองย่อยอย่างเวทีเลือกตั้ง ส.บอล" ธนะ กล่าวทิ้งท้าย

ที่สุดแล้ว ความเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว อาจจะยังมาไม่ถึงจากสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดในสภา พรรคร่วมรัฐบาล กำลังสั่นคลอน พรรคการเมืองที่ถูกประชาชนเลือกมาเป็นอันดับ 1 กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และมีแววว่าอาจจะมีเปลี่ยนขั้วการเมืองในสภาขึ้นเร็ว ๆ นี้ และนั่นทำให้การเปลี่ยนแปลงที่หลายคนคาดเอาไว้อาจจะยังไม่มาถึงในการเลือกตั้งครั้งนี้

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะการเปลี่ยนแปลงคือวัฎจักรของทุกสิ่ง

แต่จะช้า-เร็ว, มาก-น้อย แค่ไหน เวลาจะช่วยหาคำตอบให้กับเรื่องเหล่านี้ แต่สิ่งที่สามารถยืนยันได้คือการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง... ขึ้นอยู่กับว่าการเกี่ยวข้องของมัน นำมาซึ่งผลประโยชน์ในเชิงบวกกับคนส่วนใหญ่หรือไม่... เท่านั้นเอง

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เมื่อครั้งหนึ่ง “อิชิอิ” เคยทำงานในโรงอาหาร หลังคว้ารองแชมป์สโมสรโลก

คล้ายตรงไหนบ้าง? : ศุภณัฏฐ์ นักเตะเงา โลซาโน่ ในสายตาสื่อต่างประเทศ

เก่งในสนามไม่พอ : สาเหตุใด บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถึงครองความยิ่งใหญ่ได้แบบยั่งยืน ?

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ