จุดเปลี่ยนฟุตบอลซามูไร : เกิดอะไรขึ้นหลังญี่ปุ่นแพ้ไทย 5-2 เมื่อปี 1984?
ญี่ปุ่น ถือเป็นชาติที่มีพัฒนาการทางฟุตบอลมาโดยตลอด เพราะนับตั้งแต่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้เป็นครั้งแรกในปี 1998 พวกเขาก็กลายเป็นขาประจำในทัวร์นาเมนต์นี้ทุกครั้ง
อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้ “ซามูไรบลู” มีเกมนัดหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยลืม แถมยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น นั่นคือเกมที่ ญี่ปุ่น แพ้ ไทย 5-2 ในโอลิมปิก 1984 รอบคัดเลือก
เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
แรงกระตุ้นชั้นดี
แม้ว่าก่อนปี 1998 ญี่ปุ่นจะไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก แต่เมื่อเทียบกับไทย ชื่อชั้นของพวกเขากินขาด โดยเฉพาะการเคยไปคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก ในปี 1968
ทำให้การโคจรมาพบกัน ในรอบคัดเลือก โอลิมปิก 1984 ญี่ปุ่น ไม่ได้มองว่า ไทย เป็นคู่แข่งที่เอาชนะได้ยาก แถมการแข่งที่สนามกลาง (ยุคนั้นใช้สนามกลางเล่นรอบคัดเลือก) น่าจะทำให้พวกเขาได้เปรียบ
"ทีมจากตะวันออกกลางแข็งแกร่ง แต่ทีมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเอาชนะได้ นี่คือการจับฉลากที่มีโชคเลย” สื่อญี่ปุ่นพูดถึงผลการจับฉลาก
“ไม่ว่าใครก็คิดว่าต้องเอาชนะไทยได้ เหตุผลก็คือไทยเป็นพวก ‘อูจิเบงเคอิ’ (ดุดันในบ้าน แต่ออกไปข้างนอกจะไม่เก่ง) ถ้าไปแข่งที่กรุงเทพ ไทยอาจจะเป็นคู่แข่งที่ยาก แต่การแข่งที่สนามกลางอย่างสิงคโปร์ ก็เอาชนะได้”
อย่างไรก็ดี มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อ ไทย ที่นำโดย ปิยะพงศ์ ผิวอ่อน จัดการสอนบอล ซามูไรบลู ด้วยการถล่มไปอย่างขาดลอย 5-2 โดยปิยะพงศ์ ยังสามารถทำแฮตทริคในเกมนัดดังกล่าว
“วันที่น่าอัปยศของความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับต่อทีมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Soccer Critique ให้คำจำกัดความเอาไว้
ความพ่ายแพ้จากนัดดังกล่าว ส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างหนัก และทำให้ญี่ปุ่น ต้องพบกับความปราชัยในอีก 3 นัดที่เหลือ และเสียไปถึง 11 ประตู ตกรอบคัดเลือกไปอย่างชอกช้ำ
อย่างไรก็ดี สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ไม่ยอมให้ความพ่ายแพ้นี้ต้องสูญเปล่า เมื่อหลังจากนั้นพวกเขาตัดสินใจยกเครื่องขนาดใหญ่ โดยเริ่มจากการยุบแผนกเสริมสร้างความแข็งแกร่ง หลังการลาออกของ ซาบุโร คาวาบูจิ ผู้อำนวยการ
"จากความพ่ายแพ้ทั้งหมด ซาบุโร คาวาบูจิ ผู้อำนวยการฝ่ายเสริมสร้างความแข็งแกร่งถึงกับช็อค และประกาศลาออกหลังจบการแข่งขัน ส่วนแผนกเสริมสร้างความแข็งแกร่งก็ถูกยุบไปเลยเช่นกัน” ผู้ใช้นามปากกาว่า wataridori21 บรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
ขณะเดียวกัน ความปราชัยอย่างหมดรูป ยังทำให้ผู้เล่นญี่ปุ่นขวนขวายที่จะออกไปเล่นในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมองว่า Japan Soccer League ลีกกึ่งอาชีพของพวกเขา ไม่เพียงพอที่จะพัฒนาฝีเท้าอีกแล้ว
“ยาฮิโระ คาซามะ กองกลางทีมชาติ แสดงความจำนงที่จะย้ายไปเล่นในต่างประเทศก่อนทัวร์นาเมนต์ ได้ย้ายไปเล่นให้กับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน ในเยอรมันตะวันตก” wataridori21 กล่าวต่อ
“การย้ายไปเล่นในต่างประเทศของคาซามะ ซึ่งตามรอย ยาสุฮิโระ โอคุเดระ และ คาซึโอะ โอซากิ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ยังเป็นเพียงลีกสมัครเล่นในเวลานั้น”
ส่วน ปิยะพงศ์ กลายเป็นชื่อที่รู้จักไปทั่ววงการฟุตบอลแดนอาทิตย์อุทัย กับการฝากรอยช้ำ รวมถึงให้บทเรียนราคาแพงที่พวกเขาไม่มีวันลืม
“ก่อนมีเจลีก ในโอลิมปิกรอบคัดเลือก ‘84 ที่ลอสแองเจลิส ไทยเอาชนะญี่ปุ่นไปอย่างขาดลอย 5-2 ชื่อของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ดาวยิงตัวเก่งที่ทำแฮตทริคได้ ยังคงถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลญี่ปุ่น” ทัตสึนาริ ฮอนดะ ผู้สื่อข่าวของ Soccer King อธิบาย
แหล่งอ้างอิง
https://www.soccer-king.jp/news/media/jsk-news/20170210/551047.html
ข่าวและบทความล่าสุด