ช้างศึก vs ซามูไร : ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นส่ง “ทีมชาติปลอม” มาเตะคิงส์คัพ?

ช้างศึก vs ซามูไร : ครั้งหนึ่งญี่ปุ่นส่ง “ทีมชาติปลอม” มาเตะคิงส์คัพ?
มฤคย์ ตันนิยม

เรียกว่าเซอร์ไพรส์ไม่น้อย สำหรับคิวอุ่นเครื่องเกมแรกในปี 2024 ของทีมชาติไทย หลังเตรียมบุกไปเยือนทีมชาติญี่ปุ่นในวันที่ 1 มกราคม ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบัน ซามูไรบลู จะก้าวขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลกเป็นที่เรียบร้อย แต่ครั้งหนึ่ง พวกเขาก็เคยพบกับความปราชัยต่อไทยในศึกคิงส์คัพ 1995 ด้วยสกอร์ 3-2

อย่างไรก็ดี น่าแปลกที่ เกมการแข่งขันนัดนี้ กลับไม่ถูกบันทึกในเว็บไซต์ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น แถมชื่อผู้เล่นก็ไม่คุ้นหู จนทำให้เหมือนพวกเขาส่ง “ทีมชาติปลอม” มาเตะ?

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น ญี่ปุ่นที่ไทยเคยเอาชนะ คือทีมชาติญี่ปุ่นแท้จริงหรือไม่ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

วันที่ไทยเหนือกว่าญี่ปุ่น

สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนปรัมปราของฟุตบอลไทย คือคำบอกเล่าต่อๆกันมาว่า “เมื่อก่อนไทยกับญี่ปุ่น ฝีเท้าทัดเทียมกัน แถมไทยยังเคยเอาชนะญี่ปุ่นได้บ่อยๆ แค่พวกเขาพัฒนาไปไกลจนไทยตามไม่ทัน”

แม้ว่าข้อเท็จจริงจะไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะฟุตบอลญี่ปุ่นพัฒนามาตั้งแต่หลัง โตเกียว โอลิมปิก 1964 ที่ขุนพลซามูไร ไปไกลถึงตำแหน่งเหรียญทองแดง ในฟุตบอลโอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโกรวมถึงตำแหน่งแชมป์เอเชียนคัพอีกหลายสมัย แต่การที่ไทยเคยเอาชนะญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นจริง

หนึ่งในนั้นคือศึกคิงส์คัพ 1995 ที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ก่อนจะพบกับปราชัยในเกมกับไทย 3-2 ด้วยแฮตทริคของ เนติพงษ์ ศรีทองอินทร์ ยอดดาวยิงของทีมชาติไทยในขณะนั้น

Photo : สารานุกรมฟุตบอลไทย

ทว่า พวกเขาก็ยังดีพอที่จะเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะพ่ายโรตอร์ โวโลการ์ด ของรัสเซีย 3-0 คว้าตำแหน่งรองแชมป์ กลับบ้านไป

อย่างไรก็ดี น่าแปลกที่เกมนัดนี้กลับไม่ได้รับการบันทึกไว้ในเว็บไซต์ของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ที่ปกติแล้วพวกเขาจะจดบันทึกสถิติการแข่งขัน รวมถึงรายชื่อผู้เล่นในเกมวันนั้นไว้ทุกนัด ไม่ว่าจะเป็นเกมนัดแรกในประวัติศาสตร์เมื่อปี 1917 ที่แพ้ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงการแข่งขันในโอลิมปิก

นอกจากนี้ แข้งจากแดนอาทิตย์อุทัย ที่มาเล่นในตอนนั้น ยังแทบไม่คุ้นหู พวกเขาไม่มีทั้ง รุย รามอส แข้งโอนสัญชาติจากบราซิล, คาซูโยชิ มิอูระ ดาวยิงตัวเก่ง หรือ มาซามิ อิฮาระ กองหลังคนสำคัญ รวมถึง ชิเงทัตสึ มัตสึนางะ ผู้รักษาประตูจอมหนึบ

Photo : สารานุกรมฟุตบอลไทย

ขณะเดียวกัน แม้ว่าผู้เล่นในชุดบุกไทย อย่าง ฮิโรอากิ โมริชิมา, อัตสึชิ ยานางิซาวะ หรือ สึเนยาสึ มิยาโมโตะ จะเป็นขาประจำในทีมชาติญี่ปุ่นต่อไปในอนาคต แต่หลายคนไม่เป็นเช่นนั้น แถมบางคน คิงส์คัพ ยังเป็นเวทีสุดท้ายในสีเสื้อซามูไรบลูของพวกเขาอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น คาซูอากิ ทาซากะ กองกลางกัปตันทีมในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว ที่แฟนบอลชาวไทยน่าจะจำเขาได้ดีจากทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ ก็ได้ลงเล่นทีมชาติต่ออีกเพียง 7 นัด หรือ เคซูเกะ คูริฮาระ คนที่ยิงประตูในเกมแพ้ไทย ก็ไม่เคยติดทีมชาติอีกเลยหลังจากนั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดคำถามว่า หรือว่า ทีมชาติญี่ปุ่น ที่ไทยเอาชนะไปได้ 3-2 คิงส์คัพ 1995 จะเป็นทีมชาติญี่ปุ่นปลอม ?

แท้หรือปลอม ?

อันที่จริงทีมชาติปลอม ในคิงส์คัพ ถูกตั้งคำถามมาตลอด โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกล สามารถตรวจสอบได้ ที่ทำให้ผู้คนได้รู้ว่า ทีมชาติที่เราเคยเข้าใจว่าพวกเขาคือทีมชาติชุดใหญ่ หลายครั้งเป็นแค่ทีมกองทัพ ทีมสมัครเล่น หรือสโมสร เท่านั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับทีมชาติญี่ปุ่นชุดคิงส์คัพ 1995 จะเรียกว่าทีมชาติปลอมก็ยังไม่เชิง แต่จะเป็นทีมชาติจริง ก็ยังไม่ใช่ เพราะอันที่จริงพวกเขาคือทีมชาติเฉพาะกิจ

จากบันทึกของ sune-file.net ระบุว่า ทีมชาติญี่ปุ่นชุดนี้ถูกเรียกว่า Nihon Sembatsu ที่แปลว่าทีมรวมดาราญี่ปุ่น โดยผู้เล่นส่วนใหญ่จะเป็นนักเตะที่ไม่ได้เป็นทั้งตัวหลักหรือตัวสำรองในทีมชาติชุดใหญ่ หรือบางคนอาจจะเป็นนักเตะที่มีแววในอนาคต

ทำให้ผู้เล่นในทีมชุดนี้มีอายุอยู่ระหว่าง 18-25 ปีเท่านั้น อีกทั้งบางคนยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมปลาย หรือมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น ยายางิซาวะ (มัธยมโทยามะ), ยูโซ ฟุนาโคชิ (มัธยมปลายฟูนาบาชิ) หรือ ชิเงโยชิ โมจิซึกิ (มหาวิทยาลัยสึคุบะ) เป็นต้น

Photo : สารานุกรมฟุตบอลไทย

ส่วนเหตุผลที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ส่งทีมชุดนี้มา เนื่องจากคิงส์คัพ 1995 จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับศึกไดนาสตี้คัพ (19-26 กุมภาพันธ์ 1995) หรือฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียตะวันออก ที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกว่า

ทำให้ทีมรวมดาราญี่ปุ่นชุดนี้ จึงมีสถานะเป็นเหมือนทีมชุดบี รวมถึงการแข่งขันทุกเกมในคิงส์คัพ 1995 ก็จะไม่ถูกนับเป็น “เอแมตช์” และเป็นเหตุผลว่าเพราะเหตุใด ผลการแข่งขันของทีมชาติญี่ปุ่นในรายการนี้จึงไม่ได้รับการบันทึกไว้ในเว็บไซต์ของ JFA

นอกจากนี้ ด้วยความที่มันเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้ถูกรับรอง จึงทำให้สถิติการลงเล่น รวมถึงการยิงประตูในทัวร์นาเมนต์ที่ไทย ไม่ได้ถูกนับรวมเข้าไป ที่ทำให้นักเตะญี่ปุ่นชุดคิงส์คัพหลายคน มีสถิติการเล่นทีมชาติแช่อยู่ที่ 0 จนแขวนสตั๊ด

Photo : สารานุกรมฟุตบอลไทย

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ญี่ปุ่น มาเล่นในรายการนี้ เพราะอีก 2 ปีต่อมา JFA ก็ส่งทีมมาเตะในคิงส์คัพกับไทย เพียงแค่ครั้งนี้เกมการแข่งขันทุกนัด (ยกเว้นเกมเจอโรมาเนีย) ได้รับการรับรองให้เป็น “เอแมตช์” และถูกบันทึกไว้ในหน้าเว็บไซต์ของ JFA

ทั้งนี้ แม้ว่าการแข่งขันครั้งดังกล่าว ไทยจะไม่สามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้ หลังลงเอยด้วยการเสมอ 1-1 แต่มันก็ทำให้แฟนบอลไทยได้มีโอกาสเห็นความสามารถที่ “แท้จริง” ของทีมชาติญี่ปุ่น ที่เต็มไปด้วยดาวดังอย่าง “คิงคาซู” คาซูโยชิ มิอูระ, โชจิ โจ และ มาซาคิโยะ มาเอโซโนะ เป็นต้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

เหตุใด เจลีก จึงเตรียมปรับ เวลาเปิด/ปิดฤดูกาล มาเป็นเดือนสิงหาคม-พฤษภาคม ?
ฟุตบอลเจลีกกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น นับตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 1993 ศึกเจลีกก็ยึดรูปแบบเปิดฤดูกาลในฤดูใบไม้ผลิ (กุมภาพันธ์-มีนาคม) และปิดฤดูกาลในฤดูใบไม้ร่วง (พฤศจิกายน-ต้นเดือนธันวาคม) มาโดยตลอด

ผ่านมาเกือบ 30 ปี “ช้างศึก” จะมีโอกาสได้อุ่นเครื่องกับทีมชาติญี่ปุ่นอีกครั้ง ในวันที่ 1 มกราคม 2024 และเชื่อว่าไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาในรูปแบบไหน แต่เกมนัดนี้จะเป็นที่จดจำสำหรับแฟนบอลไทย ไม่แพ้การแข่งขันในคิงส์คัพ 1995 อย่างแน่นอน

แหล่งอ้างอิง

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.555493601145014.138559.469349673092741&type=3

https://www.rsssf.org/tablesk/kings95.html

http://www.tsune-file.net/captainmark/19950200.htm

http://samuraiblue.jp/timeline/19950106/

https://www.11v11.com/matches/thailand-v-japan-22-february-1995-245538

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ