'ช้างศึกบลูล็อค' ภารกิจเพื่อชาติ เพื่อพาไทยไปลูกหนังเยาวชนโลก

'ช้างศึกบลูล็อค' ภารกิจเพื่อชาติ เพื่อพาไทยไปลูกหนังเยาวชนโลก
admin

ศึกฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์อาเซียน ของทั้งสองรุ่นที่ อินโดนีเซีย จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมชาติไทย ทั้งสองชุด ต่างจบด้วยการเป็นรองแชมป์อาเซียน ทั้งหมด

ฝั่งของ ทีมชาติไทย U17 จบด้วยการเป็นรองแชมป์ด้วยการพ่ายจุดโทษ ต่อออสเตรเลีย ในรอบชิงชนะเลิศ ท่ามกลางกำลังใจมากมายที่มีต่อเจ้าหนูชุดนี้ โดยเฉพาะแนวทางการเล่นที่น่าประทับใจและเอ็นเตอร์เทนแฟนบอลได้เป็นอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นรองเรื่องสรีระแต่สู้กับทีมไซส์ยุโรปได้แบบสนุก ทั้งที่หากเทียบขุมกำลัง และระยะเวลาเก็บตัวที่แตกต่างกันพอสมควร

ขณะที่ ทีมชาติไทย U20 ในโปรเจคต์ บลูล็อค ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จบด้วยการเป็นรองแชมป์ด้วยเช่นกัน หลังจากที่พ่ายต่อ อินโดนีเซีย เจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศด้วยสกอร์ 0-1 แต่กลับโดนวิจารณ์อย่างหนัก ถึงแนวทางการเล่นที่แตกต่างที่ดูไม่ค่อยเอนเตอร์เทนสักเท่าไหร่สำหรับแฟนบอล

หากมองย้อนกลับไป ถึงจุดเริ่มต้นในการมอบสิทธิ์ หรือ MOU การทำทีมชาติไทย U20 ให้กับทาง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นั้นเกิดขึ้นจากการที่สมาคมฯ ในยุคก่อนประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก จนส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน รวมถึงปัญหาที่เกิดกับ ทีมชาติไทย U19 และ U23 ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่มักมีปัญหาเรื่องการไม่ปล่อยตัวผู้เล่นในการออกไปแข่งขันรายการต่างๆ คือ ไม่ใช่ทีมที่ดีที่สุด

นั้นก็เพราะ เด็กในวัย 19 หรือ 23 ปี ส่วนใหญ่เล่นในไทยลีกแล้ว เมื่อมีการแข่งขันศึกชิงแชมป์อาเซียน หรือ ชิงแชมป์เอเชีย ในหลายๆ ครั้ง ไม่สามารถเรียกตัวนักเตะจากสโมสรเพื่อมารับใช้ชาติได้ มักจะติดปัญหา และตามกฏ สโมสรสามารถปฏิเสธการปล่อยตัวนักเตะได้ เนื่องจากการแข่งขันไม่ได้อยู่ในช่วงฟีฟ่า เดย์

ด้วยปัญหาดังกล่าว การให้สิทธิการทำทีมชาติไทย ชุดเยาวชน จึงถูกส่งต่อให้สโมสรที่มีกำลังทรัพย์ หรือ มีความพร้อมเอาไปดูแล ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลการทดลองของสมาคมฯ ในการแก้ไขปัญหาการทางการเงิน และปัญหาที่ไม่สามารถเรียกตัวนักกีฬามาเล่นทีมชาติในรายการต่างๆ ได้ตามเป้าหมาย นั้น

เรื่องนี้ หากจำกันได้ล่าสุด คือ ทีมชาติไทย U23 ชุดความหวังโอลิมปิก ที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ก็ไม่ได้นักกีฬาที่ดีที่สุดไปลุยศึกชิงแชมป์เอเชีย จน ช้างศึก U23 ต้องอกหัก ไปไม่ถึงฝัน พลาดตั๋วลุย โอลิมปิกในท้ายที่สุด

การเก็บตัวอยู่กับสโมสร แน่นอนค่ากิน อยู่ หลับ นอน สโมสรจะเป็นผู้ดูแล 100 เปอร์เซนต์ โดยที่สมาคมไม่ต้องเสียเงิน ในจุดนี้พอจะเข้าใจได้ในยุคที่ขาดสภาพคล่อยอย่างหนัก ส่วนข้อดีอื่นๆ ก็เพื่อให้มีการเก็บตัวระยะยาว และสร้างความต่อเนื่อง ของนักเตะ ซึ่งการมอบสิทธิ์ให้กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่มองว่าที่ผ่านมามีผลงานในการปลุกปั้นนักเตะระดับท็อปมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังอาทิ ศุภชัย ใจเด็ด, สุภโชค สารชาติ และ ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา เป็นต้น

ตามโรดแมป และสัญญา MOU ระหว่าง สมาคมฯ กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะมีสิ้นสุดลงในช่วงปี 2025 ที่จะเป็นศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย U20 ที่ ประเทศจีน และจะไปต่อยอดในรายการฟุตบอลเยาวชนโลกที่ ประเทศชิลี

ในศึกชิงแชมป์อาเซียน นี่คืองานแรกของ โปรเจคต์บลูล็อค ซึ่งจะบอกว่าล้มเหลวเลยก็จะดูตัดสินใจเร็วไปหน่อย การได้เห็นช่องโหว่ หรือสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไข และยกระดับทีม ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะเวทีที่จะตอบได้ว่าผ่านหรือไม่คือ ศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก ที่ ประเทศไทย

หากผลงานดีก็ถือว่าโปรเจคต์นี้ “เวิร์ค” ถือว่าเป็นการสร้างทีมรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ ในการผลักดันเด็กเยาวชนขึ้นมาต่อยอดสู่ทีมชาติไทยชุดใหญ่

ณ วันนี้ ศึกชิงแชมป์อาเซียน ถือเป็นก้าวแรก ของบททดสอบ ในเรื่องของผลการแข่งขัน มองในมุมหนึ่ง ถือว่าทำได้ดีในการเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ แต่ในส่วนของฟอร์มการเล่นถือว่าไม่โดนใจแฟนบอลที่มีความคาดหวังค่อนข้างสูงกับทีมชุดนี้ เพราะมียี่ห้อบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด นั้นเอง

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ