ชาวอินโดฯ คลั่งไคล้ฟุตบอลขนาดนี้ แต่ทำไมทีมชาติพวกเขายังไม่ไปไหน?

ชาวอินโดฯ คลั่งไคล้ฟุตบอลขนาดนี้ แต่ทำไมทีมชาติพวกเขายังไม่ไปไหน?
มฤคย์ ตันนิยม

เป็นไปตามคาดสำหรับตั๋วเข้าชม เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริคคัพ 2022 รอบแรกของทีมชาติอินโดนีเซีย ที่จะเปิดบ้านรับการมาเยือนของทีมชาติไทย เมื่อตั๋วเจ้าบ้านกว่า 50,000 ที่นั่ง ขาดหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

นี่คืออีกภาพสะท้อนถึงความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังของชาวอิเหนา ชาติที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน

อย่างไรก็ดี มันกลับสวนทางกับผลงานในทีมชาติของพวกเขา ที่ไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในรายการระดับโลกได้เลยนับตั้งแต่ได้รับเอกราช ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก หรือโอลิมปิก รวมไปถึงแชมป์อาเซียนคัพ

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ไกด์บุ๊คฉบับสมบูรณ์ : AFF มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 แต่ละชาติเน้นกันเบอร์ไหน ?

ไกด์บุ๊คฉบับสมบูรณ์ : AFF มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022 แต่ละชาติเน้นกันเบอร์ไหน ? | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
Think Curve - คิดไซด์โค้ง เมื่อมีการถ่ายทอดสดก็ได้เวลาที่แฟนบอลไทยจะได้สนุกสานกับรายการ เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ อีกครั้ง

ชาติผู้คลั่งไคล้ฟุตบอล

ฟุตบอล ถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของชาวอาเซียน เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ชาติที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกด้วยจำนวน 275 ล้านคน  และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุดเริ่มต้นของความหลงใหลในเกมลูกหนังของพวกเขา เป็นผลพวงมาจากการที่อินโดนีเซีย ได้เป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชีย ที่ไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1938 ภายใต้ชื่อของ ดัตช์ อีสต์ อินดีส์ ในตอนที่ยังตกเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์

หลังจากนั้น ฟุตบอลก็แทบไม่ต่างจากศาสนาของชาวอิเหนา มันเมื่อแทรกซึมเข้าไปในทุกชั้น รายงานล่าสุดเมื่อปี 2022 คาดการณ์ว่าน่าจะมีคนอินโด มากถึง 180 ล้านคน หรือเกือบ 2 ใน 3 ของประเทศ ที่ติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลกที่กาตาร์

ทั้งนี้ ชาวอินโดฯ ไม่ได้สนใจแค่ฟุตบอลต่างประเทศเท่านั้น พวกเขายังติดตามการแข่งขันในประเทศอย่างใกล้ชิด ทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติ

จากรายงานของ Reuters ระบุว่ามีคนอินโดฯ มากถึง 52 ล้านคนที่เฝ้าชมการแข่งขันเกมลีกในแต่ละสัปดาห์ ขณะที่ทีมชาติก็มักจะคลำคล่ำไปด้วยผู้ชมนับแสนเดินทางไปเชียร์ถึงขอบสนาม “เสนายัน” หรือ เกราโน บัง คาร์โน (ปัจจุบันถูกปรับเหลือ 77,193 ที่นั่ง)

Photo : The Guardian

“ผมมาจากอาร์เจนตินา ที่แน่นอนว่าเราต่างมีแพชชั่นกับฟุตบอลเหมือนกัน แต่ผมคิดว่านี่คือระดับของแพชชั่นที่ต่างออกไป” มาร์กอส ฟลอเรส ที่เคยมาเล่นให้กับ เปอร์ซิบ บันดุง เมื่อปี 2016 กล่าวกับ SBS

“ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะมีคนเข้ามาทักทายคุณ หรือครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมตอนผมสั่งกาแฟ เป็นลาเต้แก้วหนึ่ง ผมเห็นคนสามคนอยู่แถวถ้วยกาแฟ และคิดว่าพวกเขากำลังจะทำอะไร จนได้เห็นว่าพวกเขากำลังวาดรูปตราสโมสรลงในแก้วกาแฟของผม”

อย่างไรก็ดี มันกลับสวนทางกับทีมชาติของพวกเขา เมื่อประเทศหมู่เกาะแห่งนี้ แทบไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน พวกเขารั้งอยู่ในอันดับ 151 ของโลก จากทั้งหมด 211 ชาติ และเคยหล่นไปไกล ถึงอันดับ 191 ของโลกในปี 2016

นอกจากนี้ นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา อินโดฯ ก็ไม่เคยสัมผัสกับความสำเร็จอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นอาเซียนคัพหรือ ซีเกมส์ ที่ดีที่สุดก็แค่เพียงรองแชมป์ และแทบไม่ต้องพูดถึงฟุตบอลโลกหรือโอลิมปิกรอบสุดท้าย

เพราะอะไร?

กาฝากที่กัดกิน

อินโดนีเซีย อาจจะเป็นชาติที่เพียบพร้อมทั้งในแง่ทรัพยากรบุคคล และขนาดเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่คอยขัดขวางการพัฒนาฟุตบอลของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็คือปัญหาการทุจริต และการเมืองภายในสมาคมฟุตบอลอินโดเนียเซีย หรือ PSSI

ตั้งแต่อดีต PSSI มักจะเกี่ยวพันกับเรื่องอื้อฉาวมาโดยตลอด ทั้งการที่นูร์ดิน ฮาลิด นายกสมาคมฟุตบอล และนักการเมือง ถูกจับขังคุกในคดีทุจริตแจกจ่ายน้ำมันปรุงอาหารเมื่อปี 2007 แต่ยังเป็นหัวเรือใหญ่ของสมาคม และทำงานจากหลังลูกกรง จนกระทั่งโดนถอดจากตำแหน่งในปี 2011

หรือการที่ PSSI ใช้เงินที่รัฐบาลแจกจ่ายมาเพื่อแผนพัฒนาเยาวชนในทางที่ผิด ไปจนถึงปัญหาเรื่องรายได้ลิขสิทธิ์ ที่สมาคมฯ มอบให้แต่ละทีมแค่เพียงครึ่งเดียวจากรายได้ที่รับมา

“ในปีงบประมาณระหว่างปี 2010-2013 กระทรวงเยาวชนและกีฬาได้มอบเงินทั้งหมด 20,000 ล้านรูเปีย (ราว 44.3 ล้านบาท) ให้ PSSI ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีรายงานการใช้เงินแต่อย่างใด” ปาร์โต ปังการิบวน จากหน่วยงานต่อต้านการทุจริตในฟุตบอล (KORUPSSI) กล่าว

“มันยังมีเงินอีก 400 ล้านรูปเปีย (ราว 8 แสนบาท)  เพื่อการฝึกฝนเด็กเล็ก และเกือบ 3.5 พันล้านรูเปีย (ราว 7.7 ล้านบาท) ที่ใช้สำหรับการประชุมของ PSSI”

Photo : Eurosport

นอกจากนี้ ปัญหาการล็อคผลการแข่งขัน ก็ยังเป็นมะเร็งร้ายที่คอยกัดกินวงการฟุตบอลแดนอิเหนามาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ 10 นักเตะอินโดฯ ถูกจับฐานรับสินบน ก่อนเอเชียเกมส์ 1962 ที่จากาตาร์

หรือเหตุการณ์ที่ เมอร์ยิด เอฟเฟนดี กองหลังอินโดฯ ยิงเข้าประตูตัวเอง ในแมตช์อัปยศ ไทเกอร์คัพ กับทีมชาติไทยเมื่อปี 1998 ที่ทำให้เขาถูกแบนตลอดชีวิต ไปจนถึงเกมที่พวกเขาพ่าย บาห์เรน 10-0 ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 2014 จนฟีฟ่าต้องมาสอบสวน

หรือล่าสุด ที่ผู้บริหารระดับสูงของ PSSI ต้องลาออกจากตำแหน่งในปี 2018 หลังมีคลิปหลุดเสนอสินบนให้โค้ชของ เมดูรา เอฟซี ทีมในลีกสูงสุด ให้ยอมแพ้ ก่อนที่อีกหนึ่งปีต่อมา โจโก ดิรโยโน นายกสมาคมฯ รักษาการณ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง หลังถูกจำคุก 18 เดือนจากคดีล็อคผลการแข่งขัน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือการแย่งชิงอำนาจระหว่างสองขั้วใน PSSI ที่ครั้งหนึ่งอินโดนีเซีย เคยมีลีกสูงสุดถึงสองลีก รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่าสมาคมฟุตบอลฯ และกระทรวงเยาวชนและกีฬา จนทำให้ถูกแบนจากฟีฟ่าในปี 2015

“ชัดเจนว่ามันเป็นช่วงเวลาที่แย่มากสำหรับ PSSI และวงการฟุตบอลอินโดนีเซีย” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ PSSI กล่าวกับ DW

“มีคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน และมีนัยยะแอบแฝงของตัวเองมากเกินไป”

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของปัญหานี้คือการที่สมาคมฯ มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง ที่รัฐบาลมักจะแต่งตั้งคนสนิทขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของ PSSI หรือผู้จัดการทีมชาติ

ธรรมเนียมนี้เป็นมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต เรืองอำนาจในช่วงทศวรรษที่ 1970s มาจนถึงยุคของ ฮาลิด ที่สนิทกับคนในพรรคโกลคาร์ พรรคการเมืองชื่อดังของแดนอิเหนา

“ถ้าคุณควบคุมฟุตบอลได้ ก็เหมือนคุณควบคุมประเทศอินโดนีเซียไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว” เจ้าหน้าที่ของ PSSI อธิบายกับ The Diplomat

อย่างไรก็ดี นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

ฮูลิแกนลูกหนัง

แม้ว่าความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนัง จะเป็นจุดเด่นของพวกอินโดนีเซีย แต่ในทางกลับกันมันอาจจะกลายเป็นดาบสองคม และส่งผลถึงชีวิต หากความรักที่พวกเขามีมันมากเกินไป

ปัญหาความรุนแรง เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอลอินโดฯ มาตลอด โดยมีต้นตอมาจากกลุ่ม ฮูลิแกนลูกหนัง หรือกลุ่มฮาร์ดคอ ที่พร้อมจะมีเรื่องกับแฟนบอลคู่แข่งอยู่เสมอ

Photo : abc

"ความคลั่งไคล้ของแฟนบอลอินโดนีเซีย ถ้าเปรียบให้กับบ้านเราต้องยกตัวอย่างทีมอย่าง เมืองทอง หรือ ท่าเรือ ที่มีความคลั่งไคล้เยอะมาก ๆ แต่ที่อินโดนีเซียจะคลั่งหนักกว่านั้นอีก” สุเชาว์ นุชนุ่ม อดีตนักเตะทีมชาติไทยที่เคยไปค้าแข้งในลีกอินโดนีเซียกล่าวกับ Main Stand

“พวกเขามีทั้งคำชมและคำด่า  และถ้าให้เทียบเรื่องความอินในฟุตบอลท้องถิ่น อินโดนีเซียจะมีความอินมากกว่าแฟนบอลบ้านเรา"

ปัญหาดังกล่าว ทำให้หลายทีมทำข้อตกลงไม่ให้แฟนบอลของตัวเอง ไม่ให้ชมการแข่งขันหากต้องไปเยือนทีมของคู่แค้น หนึ่งในนั้นคือ อเรมา เอฟซี กับ เปอร์เซบายา สุราบายา ที่บรรลุข้อตกลงกันมาตั้งแต่ปี 1988

ทว่า มันก็ยังแก้ไขไม่ได้ เมื่อจากการรายงานของ Save Our Soccer องค์กรที่คอยสอดส่องดูแลกีฬาของอินโดนีเซียระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1994 จนถึงต้นปี 2022 มีแฟนบอลเสียชีวิตจากความรุนแรงในสนามมากถึง 74 คน

นี่ยังไม่รวมเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ระหว่าง อเรมากับ เปอร์เซบายา สุราบายา ที่แม้จะไม่มีแฟนบอลของทีมเยือนมาชมเกม แต่ความพ่ายแพ้ต่อคู่อริ ทำให้แฟนบอล อเรมา กรูลงมาในสนามจนเกิดเป็นเป็นความวุ่นวาย และลงเอยด้วยโศกนาฏกรรม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 131 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 300 คน

“คนท้องถิ่นมองฟุตบอลมากกว่าเกม สำหรับหลายคน มันมีความหมายถึงการยอมรับจากผู้อื่น” เด็กซ์ เกลนนิซา ผู้เชี่ยวชาญฟุตบอลอินโดนีเซียกล่าวกับ Time

“แฟนฟุตบอลในอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษาและเป็นผู้ยากไร้ ดังนั้นตัวตนของพวกเขาบนอัฒจันทร์จึงดูเหมือนเป็นการพยายามหลบหนีจากความยากลำบากในชีวิตประจำวัน”

“สำหรับชาวอินโดนีเซีย ฟุตบอลคือทุกอย่าง โชคร้ายที่มันเกิดขึ้นอย่างมากเกินไปและไม่สมส่วน”

Photo : abc

นอกจากนี้ การทุจริต และการบริหารงานที่ผิดพลาดของ PSSI ยังมีส่วนในการสร้างกลุ่มแฟนบอลฮาร์ดคอ ที่มีแนวคิดต่อต้านอำนาจรัฐ และไม่ไว้ใจผู้บริหารของสมาคมฯ

“ระดับความไว้วางใจของพวกเขาต่ำมากกับ PSSI ผู้จัดการลีก และตำรวจ” เกลนนิซา อธิบาย

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือเสถียรภาพที่ไม่มั่นคงของ PSSI ที่ทำให้การพัฒนาฟุตบอลของพวกเขาไม่ต่อเนื่อง บวกกับความขาดแคลนเครื่องอำนวยความสะดวกในการซ้อมที่มีคุณภาพ โครงการพัฒนาเยาวชน รวมถึงการแข่งขันที่ดีสำหรับผู้เล่นทุกเพศทุกวัย ก็ทำให้ทีมชาติของพวกเขายังจมปลักอยู่ที่เดิม

“PSSI ล้มเหลวในการส่งมอบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะเป็นผู้นำองค์กร” พาดหัวข่าวของ Jakarta Post เมื่อปี 2019

แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังไม่หมดหวัง

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

อันที่จริงสมาคมอินโดนีเซีย ก็มองเห็นปัญหาที่มีอยู่ และพยายามจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ซึ่งมันก็มีสัญญาณที่ดี เมื่อในปี 2020 พวกเขาได้แต่งตั้ง ชิน แตยง อดีตเฮดโค้ชทีมชาติเกาหลีใต้ ชุดฟุตบอลโลก 2018 ขึ้นมากุมบังเหียน หวังสร้างทีมชาติชุดใหม่

“เราได้รับการสนับสนุนอย่างมากจาก PSSI นับตั้งแต่ที่ผมเข้ามา เราก็เปลี่ยนโฟกัสไปไปที่เยาวชนรุ่นใหม่” แตยงกล่าว

ผลงานล่าสุดของพวกเขาคือการผ่านเข้าไปถึงนัดชิงชนะเลิศ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ เมื่อปี 2020 ก่อนจะพ่ายต่อทีมชาติไทยไปด้วยสกอร์รวม 6-2 รวมถึงการผ่านเข้าไปเล่นเอเชียนคัพ 2023 ที่กาตาร์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปีของพวกเขา

“ผู้เล่นอินโดนีเซีย ใจเย็น และมีบุคลิกที่สบาย ๆ” เดรแนน ราดอนนิซ อดีตผู้ช่วยของแตยงกล่าวกับ DW

“ผมเชื่อว่ามันมาจากสภาพอากาศและวัฒนธรรม ผมขอร้องให้พวกเขาอดทน และดุดันตลอด 90 นาที และไม่ก้มหน้าระหว่างเกม แม้กระทั่งตอนที่กำลังแพ้อยู่”

“เราพยายามที่จะเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) ผู้เล่นจำเป็นต้องได้รับการผลักดัน พวกเขารู้สึกสบายเมื่อได้เล่นในอินโดนีเซีย แต่เราอยากให้พวกเขามีความเป็นนานาชาติมากกว่านี้”

Photo : Radar Solo

นอกจากนี้ จากการที่อินโดนีเซีย กำลังจะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้จัดการแข่งขันระดับโลก ที่หมายความว่าจะมีเม็ดเงินจำนวนไม่น้อยถูกนำมาลงทุนทั้งกับเครื่องอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อม และปรับปุรงอัพเกรดสนามแข่ง

“มันหมายความว่าเราจะมีการแข่งขันและการซ้อมอีกมาก และจะมีการลงทุนอีกจำนวนมาก” ราดอนนิซ กล่าวต่อ

“สิ่งนี้จำเป็น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีปัญหา สนามก็ไม่ดี และจำเป็นต้องปรับปรุง”

ส่วนทีมชุดใหญ่ของอินโดนีเซีย แม้ว่าในระดับโลก จะยังดูห่างไกล แต่หากพวกเขาเดินหน้าไปอย่างมั่นคง ไม่แน่วันหนึ่ง “ขุนพลอิเหนา” อาจจะเป็นอีกชาติที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงบัลลังก์เบอร์ 1 ของอาเซียนก็เป็นได้

แหล่งที่มา

https://thediplomat.com/2022/12/why-cant-a-nation-of-276-million-people-field-a-decent-soccer-team/

https://time.com/6219205/indonesia-kanjuruhan-soccer-violence-football/

https://www.thejakartapost.com/news/2015/06/09/group-accuses-pssi-high-corruption.html

https://www.dw.com/en/football-in-indonesia-new-generation-provides-new-hope-ahead-of-asian-cup/a-61999071

https://www.sbs.com.au/sport/article/former-a-league-stars-amazed-at-football-passion-in-indonesia/yu2t9as1e

แชร์บทความนี้
ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ