ชาญวิทย์ ผลชีวิน ตำนานบอลไทย…หนึ่งใน 250 ส.ว. ที่มีสิทธิ์ชี้ขาดนายกฯ
#สวมีไว้ทำไม กลายเป็นแฮชแท็กที่ร้อนแรงไปทั่วโซเชียล หลังสมาชิกวุฒิสภาหลายคน แสดงจุดยืน ไม่โหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ทั้งที่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้มากถึง 310 เสียง หรือได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง
ทั้งนี้ ในบรรดารายชื่อทั้ง 250 คน มีคนจากวงการฟุตบอลที่นั่งอยู่ในเก้าอี้นี้ นั่นก็คือ ชาญวิทย์ ผลชีวิน อดีตกุนซือทีมชาติไทย หลายชุด รวมถึงเหรียญทองซีเกมส์ 2005 ซึ่งล่าสุดของดออกเสียงในการโหวตนายพิธาเป็นนายกฯ
เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร มารู้จักกับเขาให้มากขึ้นไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่
กุนซือแชมป์ระดับทวีป
ชาญวิทย์ ผลชีวิน ถือเป็นคนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน โดยเขาเริ่มต้นชีวิตนักฟุตบอลด้วยการเป็นผู้เล่นของราชประชา เอฟซี ในปี 1978 รวมถึงเคยติดทีมชาติชุดบีมาก่อน ในปี 1976
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้เขากลายเป็นที่จดจำคือชีวิตหลังแขวนสตั๊ด เมื่อชาญวิทย์ สามารถพา สโมสร “รวงข้าว “ธนาคารกสิกรไทย คว้าแชมป์ถ้วย ก. ได้ถึง 3 สมัยติดต่อกัน ในปี 1991,1992 และ 1993
แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อในปีถัดมา “โค้ชหรั่ง” พาตัวแทนจากประเทศไทย หักด่านหลายทีมดังระดับทวีป รวมถึง เวอร์ดี คาวาซากิ แชมป์เจลีก ขึ้นไปคว้าแชมป์ “เอเชียน คลับ แชมป์เปี้ยนชิพ” หรือ เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ในปีดังกล่าว ธ.กสิกรไทย ยังก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ ควีนคัพ รวมถึง แอฟโร่-เอเชีย ซึ่งเป็นการเอาแชมป์สโมสรจากแอฟริกา และเอเชีย มาดวลกัน และทำให้ขุนพลรวงข้าว ผงาดคว้าทริปเปิ้ลแชมป์ และทำให้เขาได้รับตำแหน่งโค้ชแห่งปีของเอเอฟซี อีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอในปีต่อมา ธ.กสิกรไทย ยังคงโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง คว้า 3 แชมป์ได้เป็นปีที่สองติดต่อกัน ไล่ตั้งแต่แชมป์ถ้วย ก., ควีนส์คัพ รวมถึงป้องกันแชมป์ เอเชียน คลับ แชมป์เปี้ยนชิพ ซึ่งเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำได้
หลังจากคุม ธ.กสิกรไทยอยู่เกือบทศวรรษ ก็ถึงคราวอำลา เมื่อต้นสังกัดของ ชาญวิทย์ ประกาศยุบทีมในปี 2000 ปิดฉากตำนานแชมป์เอเชีย 2 สมัยลงอย่างน่าเศร้า
ทว่า เส้นทางการเป็นโค้ชของ ชาญวิทย์ ก็ไม่ได้จบลง เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือทีมชาติไทยชุด U-20 หลังเคยคุมทีมชาติไทย U-17 เข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1997
จากนั้นชาญวิทย์ก็คลุกคลีอยู่กับทีมชาติชุดเยาวชน รวมถึงไปคุมทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยอยู่หลายช่วง ก่อนจะกลับมาสร้างชื่ออีกครั้ง หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือของทีมชาติชุดใหญ่ในปี 2005
ก่อนที่ในปีดังกล่าว “โค้ชหรั่ง” จะสร้างความสุขให้แก่แฟนฟุตบอลไทย ด้วยการพาช้างศึก U-23 คว้าแชมป์ซีเกมส์ในปี 2005 รวมถึงเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายเอเชียนเกมส์ในปีเดียวกัน
ทว่านั่นก็เป็นความสำเร็จครั้งท้ายๆ ของ ชาญวิทย์ เมื่อหลังจากนั้น ไทยมีผลงานที่ตกลง ทั้งการตกรอบรองชนะเลิศ เอเอฟเอฟ คัพ ในปี 2007 รวมถึงการไม่สามารถเก็บชัยชนะได้เลยในฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือกรอบที่ 3
ชาญวิทย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หัวเรือใหญ่ของทีมชาติไทยในปี 2008 ก่อนที่ในอีก 9 ปีต่อมา เขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย
เขามาได้อย่างไร…
มรดก คสช.?
จากข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ระบุว่า สมาชิกวุฒิสภาชุดที่ 12 หรือชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 (2017) ทั้งหมด 250 คน ล้วนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการคัดเลือกของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
เช่นกันกับที่เว็บไซ์ของรัฐสภาที่รายงานตรงกันว่า วุฒิสมาชิก ทั้ง 250 คน มาจากการแต่งตั้งของ คสช ที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 (2014) ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กําหนดให้จํานวนและที่มาของวุฒิสภาไว้สองช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลที่กําหนดให้วุฒิสภามีจํานวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” คำธิบายใน parliament.go.th
โดยการคัดเลือกจะมี 3 ช่องทาง คือให้คสช แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา แล้วให้คัดเลือก, สว.โดยตำแหน่ง และกลุ่มสุดท้ายคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลือกมาจากแต่ละกลุ่มอาชีพ
“แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะกำหนดที่มาของ ส.ว. เอาไว้แล้วโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ในระยะเวลา 5 ปีแรก นับตั้งแต่ 2562-2567 ส.ว. ก็ยังมีที่มาแบบ "พิเศษ" กว่าปกติอีกโดยประกอบด้วยสมาชิก 250 คน มีที่มาสามช่องทาง” iLaw ระบุ
“ช่องทางแรก ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน ทำหน้าที่สรรหาผู้ที่มีความเหมาะสมจำนวนไม่เกิน 400 คน เพื่อให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน”
“ช่องทางที่สอง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และช่องทางที่สาม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือก ส.ว. โดย 'แบ่งกลุ่มอาชีพ' เลือกกันเองให้ได้ 200 คน แล้วนำรายชื่อให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน”
สำหรับ ชาญวิทย์ แม้ว่าเขาจะวางมือจากการคุมทีมฟุตบอลไปตั้งแต่ปี 2008 แต่ก็ยังคงอยู่ในวงการกีฬา และเคยนั่งตำแหน่งรองอธิบดี กรมพลศึกษา มาก่อนที่จะเกิดรัฐประหาร
ทำให้ปี 2014 ที่เกิดการปฏิวัติ ชาญวิทย์ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐประหารให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในเดือนตุลาคมปีดังกล่าว
หลังจากเกษียณราชการในปี 2015 ชาญวิทย์ ยังได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ ที่มีหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทําแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และ คสช.
ทำให้เมื่อมีการสรรหาและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดย คสช. ในปี 2019 “โค้ชหรั่ง” ก็มีชื่อเป็นหนึ่งใน 250 คน ที่คาดว่าน่าจะมาจากความเชี่ยวชาญในวงการกีฬาตลอดหลายสิบปีของเขา โดยเฉพาะเกียรติประวัติที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ของรัฐสภา ส่วนใหญ่มาจากการคุมทีมฟุตบอล
สว.จากคนฟุตบอล
สำหรับ ชาญวิทย์ หลังได้รับการแต่งตั้ง ผลงานแรกของเขาคือการโหวตให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย
นอกจากนี้เขายังร่วมกับกลุ่มสว.ผ่านกฎหมายไปกว่า 40 ฉบับ โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่ฝ่ายพรรครัฐบาลเป็นผู้เสนอ
ขณะเดียวกันในเดือนกันยายน 2020 เขายังได้ร่วมอภิปราย ในประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไข ตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ทั้งการปฏิรูปประเทศ และเลือกนายกัฐมนตรี
“ส่วนที่บอกว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ตนฟังแล้วสะท้อนใจ เรามาด้วยกติกาเดียวกัน มาด้วยรัฐธรรมนูญเดียวกัน เล่นมาด้วยกัน เล่นกันอยู่ดีๆ บอก ส.ว.ใช้ไม่ได้ จะไม่ให้ ส.ว.ทำงานแล้ว เพราะที่มามาจากเผด็จการ” ชาญวิทย์กล่าวในการประชุมรัฐสภา
“ตนเป็นนักกีฬา ตนก็มากติกาเดียวกันกับท่าน รัฐธรรมนูญเดียวกัน ท่านจะมากล่าวหาไม่ได้ ตนไม่ยอม เพราะลงสนามเล่นในนามทีมชาติเหมือนกัน”
นอกจากนี้ เขามักจะออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับฟุตบอลไทย ที่หลายความเห็นถูกวิจารณ์ว่าตกยุค ไม่ว่าจะเป็นการเน้นให้นักเตะไทยพัฒนาเรื่องความสามารถเฉพาะตัวมากขึ้น เพื่อไปค้าแข้งในยุโรป ทั้งที่โลกฟุตบอลปัจจุบัน เน้นเรื่องแทคติกและทีมเวิร์ค
“ผมว่าตอนนี้เราไปเน้นระบบตั้งแต่เด็ก ไปใส่ระบบให้กับเด็กก่อน พอไปใส่ระบบ อย่าง วันทูทัช หนึ่งสองออก ครองบอลสวยงาม แต่ว่าความสามารถเฉพาะตัวมันหาย” ชาญวิทย์กล่าวในงาน งานเปิดตัวโครงการ อบรมทักษะรู้เท่าทันสื่อกีฬา
“ทำไมไม่ผสมผสาน อย่างเด็กทั่วโลก คุณไปดูได้เลยว่า เขาฝึกเรื่องอะไรก่อน คือเราฝึกความสามารถเฉพาะตัวก่อนเลย พอความสามารถเฉพาะตัวได้ ระบบอะไรเขาก็เล่นได้ ผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพเลยว่า เวลาทีมเขาซื้อนักฟุตบอล เขาซื้ออะไร เขาซื้อนักฟุตบอลระบบหรอ เขาก็ซื้อที่ความสามารถนักเตะทั้งนั้น”
ก็อาจจะต้องมารอดูว่า ชาญวิทย์ จะมีท่าทีอย่างไร ในการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ หลังพรรคก้าวไกล สามารถรวมเสียงในสภาล่างได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่ สว.หลายคนมีทีท่าว่าจะไม่รับรอง
แต่ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร สุดท้ายมันจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ทั้งในการเมือง และกีฬา ไทย ว่าตำนานแห่งฟุตบอลแดนสยามคนนี้ มีส่วนพาประเทศไปในทิศทางไหน
แหล่งอ้างอิง
https://www.bbc.com/thai/thailand-54983441
https://www.bbc.com/thai/thailand-48224125
https://www.matichon.co.th/sport-slide/news_3551373
https://ilaw.or.th/node/6184?fbclid=IwAR1jafL40U9XpOnsZDyO-AXYlfJkZU_IEtdR2L50cI9VUTaco7cdX2wJ3Yg
https://hris.parliament.go.th/ss_detail.php?ssp_id=20254&lang=th
https://workpointtoday.com/constitution-20/
https://theyworkforus.wevis.info/people/ชาญวิทย์-ผลชีวิน/
https://blog.senate.go.th/profile/chanvit.p/index.php?url=senator_history