Chang UCC Did you know? : หลายสถาบันก็ทำบอลอาชีพด้วยนะเออ

Chang UCC Did you know? : หลายสถาบันก็ทำบอลอาชีพด้วยนะเออ
admin

การแข่งขันฟุตบอลในระดับอุดมศึกษา อาจจะมีเวทีการแข่งขันที่ไม่ค่อยมากนักที่จะให้นิสิตนักศึกษา ได้ประลองฝีเท้ากัน ซึ่งถ้าอยากจะเห็น เราอาจจะต้องไปดูใน กีฬามหาวิทยาลัย เป็นหลัก จนกระทั่งในยุค 20 ปีหลังที่เราอาจจะคุ้นเคยในชื่อของฟุตบอล ยู-ลีก หรือปัจจุบันในชื่อใหม่ของฟุตบอลช้าง ยู แชมเปี้ยนส์ คัพ ที่จัดแข่งขันในทุกปี

ซึ่งด้วยเวทีในระดับอุดมศึกษาที่ไม่เยอะนี้ ทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่มีโควต้านักกีฬาฟุตบอลต้องก่อตั้งทีมฟุตบอลอาชีพในนามของมหาวิทยาลัยขึ้นและส่งเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลอาชีพในทุกระดับ เพื่อให้นักฟุตบอลของตนเองมีประสบการณ์กับเวทีลีกอาชีพ เป็นขั้นบันไดต่อยอดโอกาสในการค้าแข้งหลังจากจบการศึกษาในอนาคต

Did you know ตอนนี้จะพาไปแนะนำแต่ละสถาบันว่า ทีมไหนมีฟุตบอลอาชีพแข่งขันในเวทีฟุตบอลอาชีพเมืองไทยบ้าง ติดตามได้ผ่านทาง Think Curve - คิดไซด์โค้ง

เริ่มด้วย มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ที่มีสโมสรฟุตบอล ชื่อเดียวกันกับสถาบัน โดยก่อตั้งทีมเมื่อปี 2006 ซึ่งเวลานั้น ฝั่งของ ม.นอร์ทกรุงเทพ ได้รวมทีมเล่นกับทางด้าน เซ็นทรัล ในชื่อของ 'นอร์ทกรุงเทพ-เซ็นทรัล' ก่อนจะแยกตัวออกมาและส่งแข่งขันในถ้วยพระราชทาน ก่อนจะเลื่อนชั้นมาเล่นดิวิชั่น 2 ในฤดูกาล 2009

โดยผลงานของทัพอาชาผยอง คือการจบด้วยแชมป์โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึง 3 สมัยซ้อน โดยมีหัวหน้าผู้ฝึกสอนคนเก่งอย่าง 'โค้ชแบงค์' ดำรงศักดิ์ บุญม่วง กุนซือจอมเก๋าที่มีคู่มือการใช้งานนักเตะระดับอุดมศึกษาและนักเตะต่างชาติให้เล่นร่วมกันอย่างเข้าขา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย และเป็นอีกหนึ่งทีมที่ก่อตั้งสโมสร ในยุคที่ฟุตบอลไทยตั้งไข่ โดย จุฬาฯ เคยลงเล่นในฟุตบอลถ้วยใหญ่ (ถ้วยพระราชทาน ก) ในปี 1920 รวมไปถึง ปี 1955 ที่ส่งทีมลงเล่นในนาม สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ

จุฬาฯ มีความร่วมมือกับหลายทีม ก่อนที่จะเลื่อนชั้นสู่ลีกอาชีพ ในปี 2011 ในนามของ จามจุรี ยูไนเต็ด จนถึงทุกวันนี้

โดยผลงานปีล่าสุด จามจุรี ยูไนเต็ด จบอันดับ 8 ในเวทีไทยลีก 3 โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้การดูแลของ “โค้ชดุลย์” อดุลย์ ลือกิจนา กุนซือที่อยู่กับทีมมาอย่างยาวนานและคอยปลุกปั้นนักเตะลูกพระเกี้ยวในแต่ละปีให้ขึ้นมาเฉิดฉายในเวทีอาชีพตามนโยบายของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยจะเป็นรังเหย้าของทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด แต่ทีมที่แท้จริงนั้นคือ โดม เอฟซี ก่อตั้งเมื่อปี 2014 ที่เพิ่งจะคว้าตั๋วกลับมาเล่นไทยลีก 3 โซนกรุงเทพฯและปริมณฑลได้หมาดๆ

โดยจุดประสงค์ของทีมเพื่อพัฒนานักกีฬา ป้อนเข้าสู่ระดับชาติอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการพัฒนากีฬาฟุตบอล โดยไม่ใช้นักกีฬาต่างชาติ หัวหน้าผู้ฝึกสอน คือ “โค้ชป๊อป” ประทีป เสนาลา กุนซือที่เป็นทั้งศิษย์เก่าและผู้เล่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รู้วิธีการจัดการนักเตะลูกแม่โดมของเขาได้อย่างดี

มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นมหาวิทยาลัยที่มีการส่งเสริมและสนับสนุนในกีฬาฟุตบอลอย่างต่อเนื่องผ่านทางสโมสรเกษมบัณฑิต เอฟซี ก่อตั้งเมื่อปี 2009 เป็นอีกสโมสรหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในฟุตบอลไทย เคยคว้าตำแหน่งรองแชมป์ถ้วยพระราชทานประเภท ข. เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่น ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 จนมาถึงระดับไทยลีก 3 ในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ม.เกษมบัณฑิต ยังมี 'ทีมน้อง' ที่ส่งทีมแข่งขันในฟุตบอลกึ่งอาชีพอย่าง ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก อย่าง ร่มเกล้า ยูไนเต็ด ซึ่งทีมนี้ เพิ่งจะคว้าแชมป์โซนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในฤดูกาล 2023 นี้เอง

มหาวิทยาลัยธนบุรี มีสโมสรที่ชื่อเดียวกันกับมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2016 จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น ธนบุรี ยูไนเต็ด เมื่อปี 2020 เริ่มต้นจากดิวิชั่น 3 กลุ่มภาคกลาง และไต่เต้าจากไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก เลื่อนชั้นสู่ ไทยลีก 4 จนมาถึง ไทยลีก 3 โซนกรุงเทพและปริมณฑล

โดยปีล่าสุดของศึกไทยลีก 3 ทัพม้าศึกฝั่งธนก้าวมาทำผลงานได้อย่างน่าเซอร์ไพรส์ ด้วยการจบอันดับที่ 4 ของตาราง ชนิดที่ทีมมีลุ้นตั๋วแชมเปี้ยนส์ลีกถึงนัดสุดท้าย ซึ่งจากการเลือกใช้ผู้เล่นในแต่ละนัดที่เรียกได้ว่า เล่นได้อย่างสนุกทุกนัด

อีกหนึ่งทีมแกร่งจากสถาบันอุดมศึกษา ในลีกอาชีพ นั่นคือ มหาวิทยาลัยปทุมธานี ทีมจากโซนภาคตะวันตก ที่ทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในยุคหลังๆ โดนสามารถเข้าสู่รอบแชมเปี้ยนส์ลีก ของศึกไทยลีก 3 3 สมัย และปีล่าสุด ทีมได้แชมป์โซนตะวันตกอีกด้วย

โดย “โค้ชไบร์ท” กันตวัฒน์ สุวรรณภาญกูร กุนซือหนุ่มทำหน้าที่เป็นกุนซือ และทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง จากการผสมผสานผู้เล่นของมหาวิทยาลัยและผู้เล่นต่างชาติที่ลงตัว แชมป์โซนจึงตกเป็นของทัพบัวหลวงในปีล่าสุด

ขณะที่อีกหนึ่งทีมที่มีรากฐานจากสถาบันอุดมศึกษา นั่นคือ "นาคามรกต" เกษตรศาสตร์ เอฟซี ที่มีที่มาจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ลงเล่นในไทยลีก 2 มาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมก่อตั้งในปี 1943

ทีมลงเล่นในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน มาอย่างต่อเนื่องกระทั่งปี 2543 จะได้เลื่อนชั้นสู่ดิวิชั่น 1 ในฐานะอันดับ 3 ของถ้วยพระราชทาน ข และขึ้นๆ ลงๆ ก่อนที่จะตกชั้นหนแรกในปี 2006 และต้องใช้เวลา 10 ปี ถึงจะกลับมาเล่นในไทยลีก 2 และอยู่มาถึง 7 ฤดูกาลก่อนจะต้องตกชั้นหลังสิ้นฤดูกาล 2023/24

นอกจากนี้ยังมีทีมอื่นๆ อาทิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตแชมป์ไทยลีก ปี 2006 ที่เคยมีทีมฟุตบอล ของตัวเอง ในนามของ บียู เดฟโฟ่, อาร์แบค เอฟซี ที่มีรากฐานจาก สโมสรตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อนจะเปลี่ยนมือให้ทาง มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ดูแลทีม เมื่อปี 2001

มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ อดีตรองแชมป์ถ้วยพระราชทาน ข. 2014 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น 'ราชพฤกษ์ เมืองนนท์ ยูไนเต็ด' และขายสิทธิ์ให้กับทาง นครศรีธรรมราช ยูนิตี้ ในอีก 2 ปีถัดมาและเป็น นครศรี ยูไนเต็ด ในปัจจุบัน และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่เคยมีทีมอย่าง บีทียู ยูไนเต็ด ส.บุญมีฤทธิ์ ลงเล่นในระดับไทยลีก 4 มาแล้ว

และนี่คือทีมระดับอุดมศึกษา ที่โลดแล่นบนเวทีฟุตบอลอาชีพของไทย และพวกเขาคือหนึ่งในแหล่งผลิตแข้งที่ป้อนสู่ระบบฟุตบอลไทยอย่างแท้จริง

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ