Chang UCC Did you know : Old Firm Derby ศักดิ์ศรี จุฬา-มธ.

Chang UCC Did you know : Old Firm Derby ศักดิ์ศรี จุฬา-มธ.
Korkit PS

หากว่ากันด้วยดาร์บี้ฟุตบอลไทย เราอาจจะนึกถึงการขับเคี่ยวของสองทีมใหญ่ อย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด และ เมืองทอง ยูไนเต็ด หรือกระทั่ง เอลกลาซิโก้เมืองไทย อย่าง ชลบุรี เอฟซี กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่แข่งขันเมื่อไหร่ มีประเด็นให้พูดถึงเมื่อนั้น

แต่ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย มีอีกหนึ่งดาร์บี้ ที่ดำเนินการแข่งขันมา 90 ปี ซึ่งเป็นศึกของสองสถาบันการศึกษาที่แข่งขันกัน จนเป็นฟุตบอลประเพณี นั่นก็คือการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ประวัติศาสตร์การพบกัน เรื่องราวต่างๆ วันนี้เรานำมารวบรวมไว้ที่ คิดไซด์โค้ง

ที่มาเดียวกัน

หากพูดถึงฟุตบอลที่เป็น 'ศึกสองสถาบัน' ที่แข่งขันกันมานานและเป็นที่รู้จัก ฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ถือเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จักและมองว่าเป็น ศึกศักดิ์ศรี เพราะทั้งสองสถาบันต่างมีประวัติศาสตร์ และอาจจะเรียกได้ว่า ต่างมีรากเหง้าที่เชื่อมโยงกัน

Photo : Chulalongkorn University

ย้อนกลับไปกับจุดเริ่มต้นของ 2 สถาบันกันเล็กน้อย เริ่มต้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างที่ทราบกันดีว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีที่มาจาก โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 1910 หรือ พ.ศ.2453 ซึ่งภายหลัง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะ โรงเรียนฝึกหัดมหาดเล็กฯ สถาปนาเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขณะที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดเริ่มต้นจาก มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นี่คือ ตลาดวิชา แห่งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การคนแรก ที่ต้องการจะขยายการศึกษาให้กับประชาชน ก่อนที่ในปี 1947 หรือ พ.ศ. 2490 จะเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปัจจุบัน

Photo : Thammasart University

จึงเห็นได้ว่า ทั้งสองสถาบันต่างมีจุดเริ่มต้นที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งนักเรียนหลายคน เติบโตแยยกย้ายไปเรียนในสองสถาบันนี้ ก่อนจะนัดพบกัน และคิดริเริ่มที่จะทำกิจกรรมสำคัญเพื่อ 'สมานมิตร'

สมานมิตร สู่ บอลประเพณี

จุดเริ่มต้นของการแข่งขันฟุตบอลของทั้งสองสถาบัน ต้องย้อนกลับไปช่วงปี 1933-1934 (พ.ศ. 2476-2477) เหล่านักเรียนสวนกุหลาบฯ ต่างเรียนจบออกมาและเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ฝั่งของจุฬาฯ โดย ประถม ชาญสันต์, ประสงค์ ชัยพรรค, ประยุทธ์ สวัสดิ์สิงห์ ต่างนัดพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ฝั่งธรรมศาสตร์อย่าง ต่อศักดิ์ ยมนาค และ บุศย์ สิมะเสถียร ว่าจะร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองสถาบันขึ้น

Photo : Matichon Online

ซึ่งทั้งฝั่งจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ต่างเห็นพ้องด้วยจึงได้ไปพูดคุยกับฝ่ายกิจการนิสิต จนเกิดเป็นฟุตบอลประเพณีครั้งแรกขึ้น ในวันที่ 4 ธันวาคม 1934 ณ สนามหลวง โดยเก็บค่าผ่านประตู 1 บาท เพื่อบำรุงสมาคมปราบวัณโรค และจากนั้น ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ก็มีการจัดการแข่งขันอย่างต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 90 ปี

Photo : Matichon Online

โดยในทุกการแข่งขัน ย่อมจะมีกิจกรรมของนิสิตนักศึกษา ตั้งแต่ขบวนแห่ถ้วย พาเหรดล้อการเมือง การแปรอักษร ซึ่งเป็นการสะท้อนแนวคิดต่องนิสิตนักศึกษาต่อสังคมไทยในเวลานั้น ซึ่งแม่กองในการจัดงานคือฝั่งของ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ และ สมาคมธรรมศาสตร์ฯ

ส่วนการแข่งขันฟุตบอล แน่นอนว่าแข่งขันกันมา 74 ครั้ง ใน 90 ปี ซึ่งสถิติการแข่งขันเป็นฝั่งของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ ชนะมากที่สุดคือ 24 ครั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนะ 18 ครั้ง และเสมอ หรือ การเป็นแชมป์ร่วม 32 ครั้ง

ซึ่งมีหลายเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่าได้ อย่างเช่น หากปีใดที่ จุฬาฯ ชนะ ฟุตบอลประเพณี ก็จะมีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับบ้านเมือง อย่างเช่นหนล่าสุดในครั้งที่ 74 ที่ จุฬาฯ ชนะ ก็เกิดการระบาดหนักของ โควิด-19 จนต้องหยุดแข่งขันฟุตบอลประเพณีไปจนถึงปัจจุบัน

Photo : Chulalongkorn University

นอกรอบบอลประเพณี

แต่ในหลายๆ ครั้งการเจอกันของทั้งสองทีมก็เกิดขึ้นกันนอกฟุตบอลประเพณีก็มี อย่างในยุคที่ฟุตบอลไทยเป็นลีกอาชีพ ทั้งสองทีมก็เคยลงเล่นในระดับเดียวกัน อย่างการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 4 หรือ ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 เดิม

Photo : Dome Football Club

โดยฝั่งของจุฬาฯ ที่ใช้ชื่อทีมว่า จามจุรี ยูไนเต็ด เลื่อนชั้นจากถ้วยพระราชทาน ข เมื่อปี 2011 ขณะที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งทีมเข้าร่วมในนามของ โดม เอฟซี เมื่อปี 2015

โดย สถิติการพบกันของทั้งสองทีม เจอกันมา 4 ครั้ง เป็นทาง จามจุรี ชนะ 3 และ โดม ชนะเพียงครั้งเดียว ก่อนที่ทั้งสองทีมจะไม่ได้เจอกันบนลีกอาชีพถึง 7 ฤดูกาล จนกระทั่งทั้งสองทีมเตรียมจะเจอกันอีกครั้งในเวทีไทยลีก 3 หลัง โดม เอฟซี ตีตั๋วเลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 3 ในรอบ 5 ปี!

Photo : Dome Football Club

ยังไม่นับรวมถึงการเจอกันในฟุตบอลมหาวิทยาลัยรายการต่างๆ ที่ทั้งสองทีมเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ และต่างมีนิสิตนักศึกษาที่เป็นกำลังหลักในทีมชาติมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าหรือศิษย์ปัจจุบัน

และนี่คือเรื่องราวของ Old Firm Derby ของลูกหนังอุดมศึกษาอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีเรื่องราวเล่าขานและเป็นตำนานมาตลอด 90 ปี ส่วนตอนหน้าของ Did you know จะเป็นเรื่องใด โปรดรอติดตามในตอนต่อไป

อ้างอิง

แชร์บทความนี้
ขมิ้นน้อยบนหลังเสือ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ