ฉีกทุกกฎเกณฑ์ : เบรนท์ฟอร์ด B ทีมใหม่ลูกชายเบ็คแฮม ที่ไม่ส่งแข่งลีกเยาวชน
เบรนท์ฟอร์ด ทำฮือฮาด้วยการคว้า โรเมโอ บุตรชายคนรองของ เดวิด เบ็คแฮม เข้าร่วมทีมชุด B ด้วยสัญญายืมตัวจนจบฤดูกาล หลังประทับใจผลงานของแข้งรายนี้นับตั้งแต่เข้ามาซ้อมกับทีมเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน
อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของดีลนี้ไม่ได้อยู่ที่นักเตะที่เป็นทายาทของตำนานเทพบุตรลูกนิ่งของปีศาจแดงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึง เบรนท์ฟอร์ด B ทีมที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ของการพัฒนาระบบเยาวชนของอังกฤษด้วย
จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า เบรนท์ฟอร์ด B ทีมนี้ ไม่ใช่ทีมในระบบอคาเดมี่เหมือนกับสโมสรทั่วไป แต่เกิดจากการคิดนอกกรอบจนกลายเป็นทีมที่ไม่เหมือนใคร ความพิเศษของ เบรนท์ฟอร์ด B คืออะไร ? และเหตุใดถึงถูกสร้างขึ้นมาให้มีลักษณะเฉพาะแบบนี้ ? ร่วมหาคำตอบได้ที่ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ความจริง เบรนท์ฟอร์ด ก็มีระบบอคาเดมี่เหมือนกับทุกสโมสร จนกระทั่งพวกเขาต้องเสียเพชรเม็ดงามในทีมเยาวชนอย่าง เอียน คาร์ลอส โปเวด้า กับ จอช โบฮุย ไปให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตามลำดับ เมื่อปี 2016
และด้วยความที่นักเตะทั้งสองยังไม่มีสัญญาอาชีพ เบรนท์ฟอร์ด จึงได้เงินชดเชยกลับมาเพียงหยิบมือ รายละ 30,000 ปอนด์เท่านั้น (1 ล้าน 2 แสนบาท) เรียกว่าไม่คุ้มเอาเสียเลย เมื่อเทียบกับเม็ดเงิน 2.5 ล้านปอนด์ต่อปี (102 ล้านบาท) ที่ลงไปกับอคาเดมี่ พวกเขารู้สึกเหมือนกับโดนทีมใหญ่เอาเปรียบ อุตส่าห์ฟูมฟักนักเตะมาอย่างดี แต่อยู่ ๆ ก็ถูกใครก็ไม่รู้ชุบมือเปิบไปดื้อ ๆ
“มันทำให้เราตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เกมที่ยุติธรรม เราไม่สามารถลงเล่นในสนามเดียวกับทุกคนได้ เพราะเราใช้ต้นทุนสูง และเงินชดเชยที่ได้มาจากนักเตะเหล่านั้นก็ไม่มากพอ แม้แต่จะโปะรายจ่ายที่เราเสียไปยังทำไม่ได้เลย” ราสมุส แอนเคอร์เซน อดีตผอ.ฟุตบอลของเบรนฟอร์ด ชี้แจง
การเสีย โปเวด้า กับ โบฮุย คือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ เบรนท์ฟอร์ด เปลี่ยนแนวคิดการสร้างผู้เล่นเยาวชนไปโดยสิ้นเชิง จนนำมาซึ่งการประกาศปิดอคาเดมี่ของสโมสร และถอนตัวออกจากโครงการพัฒนานักเตะเยาวชนของอังกฤษ (Elite Player Performance) รวมถึงระบบลีกเยาวชนของอังกฤษ (Professional Development League) และนี่เองก็เป็นจุดกำเนิดของ เบรนท์ฟอร์ด ทีม B
จากเดิมที่มีทีมเยาวชนหลายรุ่น เบรนท์ฟอร์ด ก็ยุบมาเหลือทีมเดียวแทน นั่นคือ เบรนท์ฟอร์ด B ที่จะรวมผู้เล่นอายุระหว่าง 17-23 ปีไว้ในทีมเดียวกันเลย และทีมชุดนี้จะไม่ถูกส่งลงแข่งในลีกเยาวชนของอังกฤษอีกต่อไป
แล้ว เบรนท์ฟอร์ด B จะลงเล่นในรายการไหนล่ะ ? ในเมื่อไม่ได้อยู่ในระบบลีกของอังกฤษแล้ว คำตอบคือพวกเขาก็จะเดินสายเตะเกมอุ่นเครื่องกับทีมในลีกสมัครเล่นของอังกฤษ ทั้งทีมชุดใหญ่และชุดเล็ก, ออกไปเล่นกับทีมเยาวชนของสโมสรชั้นนำอย่าง บาเยิร์น มิวนิค, อินเตอร์ มิลาน, เอซี มิลาน และปอร์โต้ รวมถึงลงเล่นทัวร์นาเมนต์พิเศษในต่างแดนแทน
ส่วนนักเตะที่ เบรนท์ฟอร์ด คัดเข้าสู่ชุด B นั้น พวกเขาจะมุ่งเน้นไปที่นักเตะที่ถูกปล่อยออกมาจากสโมสรใหญ่ และนักเตะในแถบสแกนดิเนเวียที่เป็นตลาดที่ถูกทีมใหญ่มองข้าม โดยอาศัยความกว้างขวางจากเจ้าของทีมอย่าง แม็ทธิว เบนแฮม ซึ่งเป็นเจ้าของ มิดทิลแลนด์ สโมสรดังในเดนมาร์กด้วย
ทีนี้ เบรนท์ฟอร์ด ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทีมใหญ่แย่งนักเตะเยาวชนไปอีกแล้ว และพวกเขายังสามารถประหยัดต้นทุนจากการทำทีมเยาวชนลงมาได้อีกปีละ 1.5 ล้านปอนด์ (60 ล้านบาท) เรียกได้ว่าพวกเขาได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งร่อง
ไม่เพียงแค่นั้น เบรนท์ฟอร์ด ยังสามารถพัฒนาเด็กได้อย่างทั่วถึงและเข้มข้น เพราะทีมเยาวชนถูกลดเหลือทีมเดียวแล้ว พวกเขาจึงจัดเต็มจ้างสตาฟฟ์มาดูแลไม่ต่างจากทีมชุดใหญ่ ทั้งโค้ชใหญ่, ผู้ช่วยโค้ช, ฝ่ายเทคนิค, โค้ชผู้รักษาประตู, โค้ชฟิตเนส, นักวิเคราะห์เกม, คนดูแลเสื้อผ้า หรือแม้แต่ฝ่ายสื่อสารที่จะคอยส่งข้อมูลให้กับทีมชุดใหญ่ เพื่อสร้างนักเตะทีมชุด B ที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อป้อนสู่ทีมชุดใหญ่นั่นเอง
ขณะที่ตัวนักเตะเองก็มีแรงจูงใจที่จะโชว์ฟอร์มให้ดียิ่งขึ้น เพราะหากพวกเขาทำผลงานได้ดีในทีม B ก็จะถูกดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ทันที โดยไม่ต้องไต่เต้าขึ้นไปตามลำดับขั้นอายุอีกแล้ว เนื่องจากกำแพงดังกล่าวพังทลายไปพร้อมกับการยุบอคาเดมี่
“ทีม B ของเรา คือเส้นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะพาคุณสู่ทีมชุดใหญ่ จำนวนสตาฟฟ์และผู้เชี่ยวชาญที่เราใช้พัฒนานักเตะเหล่านี้ในทุก ๆ เกมใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมที่คุณเห็นจากทีมชุดใหญ่มาก ๆ” ราสมุส แอนเคอร์เซน อดีตผอ.ฟุตบอลของเบรนฟอร์ด กล่าว
ด้วยวิธีคิดที่แตกต่างทำให้ เบรนท์ฟอร์ด B เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง และสร้างนักเตะคุณภาพป้อนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่คนแล้วคนเล่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ตอนนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยพะวงว่าจะถูกดูดนักเตะไป ตอนนี้ เบรนฟอร์ด กลับเป็นฝ่ายโขกเรียกค่าตัวนักเตะจากทีมเหล่านั้น ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เคสของ คริส เมแฟม คือตัวอย่างที่ชัดเจน กองหลังชาวเวลส์เติบโตขึ้นมาจากทีมชุด B ของ เบรนท์ฟอร์ด ก่อนก้าวขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่และทำผลงานได้ดี สุดท้าย เบรนท์ฟอร์ด ขายเขาให้กับ บอร์นมัธ ด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ (604 ล้านบาท) ในปี 2019 เมื่อเทียบกับเงินชดเชย 30,000 ปอนด์ (1 ล้าน 2 แสนบาท) ที่ได้จากการเสียสองดาวรุ่งอย่าง เอียน คาร์ลอส โปเวด้า กับ จอช โบฮุย ต้องบอกว่าคนละเรื่องกันเลย
การสร้างทีม B ของ เบรนท์ฟอร์ด ประสบความสำเร็จถึงขนาดที่ว่า นักเตะบางคนยังไม่ได้เล่นในทีมชุดใหญ่ของสโมสรด้วยซ้ำ แต่ถูกเรียกติดทีมชาติชุดใหญ่แล้ว อย่างในรายของ โคเบน ฟินสัน ที่ติดทีมชาติไอซ์แลนด์ หรือ มาร์คัส ฟอร์ส ที่ติดทีมชาติฟินแลนด์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของทีม B ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
แม้ปัจจุบัน เบรนท์ฟอร์ด จะกลับมาเปิดอคาเดมี่อีกครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ทีมรุ่น U-17 ขึ้นไป และส่งลงแข่งในระบบลีกเยาวชนของอังกฤษตามเดิม แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาทีม B เอาไว้ และยึดแนวทางการสร้างทีมแบบเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับทีมได้อีกมหาศาลในอนาคต
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
Nordic Mentality : การ ‘ใช้ชีวิต’ ที่ทำให้นักเตะนอร์เวย์ดู ‘ไนซ์’ อยู่ไหนก็มีแต่คนรัก
จบ ป.ตรี เงินเดือน 3 ล้าน : วิชาลับในรั้วมหา'ลัยของ คาโอรุ มิโตะมะ
พ่อมดก็ช่วยไม่ไหว : เกิดอะไรขึ้นกับเชลซีในฤดูกาลนี้?
แหล่งที่มา : https://inews.co.uk/sport/football/brentford-academy-closed-scouts-126896