ชิงแชมป์ฤดูหนาวญี่ปุ่น : บอล 7 สียังขาดอะไรถึงจะมีศักยภาพเทียบเท่ารายการนี้

ชิงแชมป์ฤดูหนาวญี่ปุ่น : บอล 7 สียังขาดอะไรถึงจะมีศักยภาพเทียบเท่ารายการนี้
มฤคย์ ตันนิยม

ยอดผู้ชมกว่า 6,000 คน ในสนามศุภชลาศัย สังเวียนนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล 7HD แชมเปียน คัพ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ฟุตบอล 7 สี” ประจำปีนี้ ถือว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับกีฬาสมัครเล่นในบ้านเรา ที่มีผู้คนสนใจติดตามขนาดนี้

อย่างไรก็ดี มันก็ยังคงเทียบไม่ได้กับญี่ปุ่น โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ หรือ “ศึกชิงแชมป์ฤดูหนาว” ที่จำนวนแฟนบอลในนัดชิงชนะเลิศอยู่ในระดับ 50,868 คน หรือกว่าครึ่งแสน ในนัดชิงชนะเลิศ ของการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว (2022)

ฟุตบอล 7 สี ยังขาดอะไรอยู่บ้าง ที่จะทำให้รายการนี้ได้รับความนิยมเทียบเท่ากับ “ชิงแชมป์ฤดูหนาว” ของญี่ปุ่น ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

กติกาสากล

ฟุตบอล 7HD แชมเปียนคัพ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ฟุตบอล 7สี” ถือเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับเยาวชน ที่อยู่คู่วงการกีฬาไทยมาอย่างยาวนาน หลังมีขึ้นครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1984 ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ “แชมป์กีฬา 7 สี”

อย่างไรก็ดี แม้ว่า ฟุตบอล 7 สี จะเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่ผลิตนักเตะสู่ทีมชาติได้อย่างมากมาย ทั้ง ธีรเทพ วิโนทัย, ปกเกล้า อนันต์ หรือ อดิศักดิ์ ไกรศร แต่สิ่งที่ทำให้รายการนี้ยังไม่สามารถยกระดับเป็นเวทีหลักในการปลุกปั้นผู้เล่น ก็คือกติกาที่ไม่เหมือนฟุตบอลอาชีพ

เนื่องจากฟุตบอล 7สี มีจุดเริ่มต้นมาจากการแข่งขันฟุตบอล 7 คน ทำให้ผู้จัดการแข่งขันยึดถือรูปแบบดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้กฎการแข่งขันหลายอย่างถูกปรับเปลี่ยน หรือตัดออกไป

ไม่ว่าจะเป็นล้ำหน้า ที่จะไม่ถูกใช้, ขนาดของสนามที่ถูกลดจาก 105x67 เมตร เหลือ 75x50 เมตร, การเปลี่ยนตัว ที่เปลี่ยนได้แค่ 4 คน ไปจนถึงเวลาในการแข่งขัน ที่เหลือเพียงครึ่งละ 15 นาที (พักครึ่ง 5 นาที) ในรอบแรกและรอบ 2 และครึ่งละ 25 นาที (พักครึ่ง 10 นาที) ในรอบ 3 จนถึงรอบชิง

Photo : CH 7HD

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การแข่งขันออกมาในรูปแบบที่ต่างจากฟุตบอลที่เป็นสากลอย่างสิ้นเชิง ทั้งการยิงประตูที่ถล่มทลาย, ผู้เล่นไม่มีตำแหน่งแน่นอน จนทำให้ผู้เข้าร่วมพลาดโอกาสที่จะได้เก็บประสบการณ์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ยกตัวอย่างเช่น การไม่มีกฎล้ำหน้า นอกจากจะทำให้ผู้เล่นแนวรุกไม่ได้ฝึกฝนวิธีการเอาชนะกับดักล้ำหน้าแล้ว ผู้เล่นแนวรับก็ไม่ได้ฝึกการจัดระเบียบในแนวรับ รวมถึงการยืนตำแหน่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับฟุตบอล 11 คน

หรือขนาดของสนาม และเวลาที่สั้นลง ก็ไม่สามารถเป็นตัวการันตีได้ว่าการที่ผู้เล่นสามารถลงเล่นได้เต็มเกมในฟุตบอล 7 สี จะสามารถทำให้พวกเขายืนระยะในสนามมาตรฐานได้

Photo : JFA

สิ่งนี้แตกต่างจากฟุตบอลชิงแชมป์ฤดูหนาวญี่ปุ่น ที่สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA ผู้จัดการแข่งขัน จะยึดกติกาฟีฟ่า เป็นมาตรฐาน ทั้งจำนวนผู้เล่น ไปจนถึงขนาดของสนาม โดยมีเพียงแค่เวลาเรื่องเดียวที่ปรับเป็นครึ่งละ 40 นาที ในรอบอื่นๆ แต่นัดชิงชนะเลิศ ยังคงใช้ครึ่งละ 45 นาที ตามกติกาสากล

แน่นอนว่ามันทำให้คนที่ติดตามแฟนฟุตบอลทั่วไป สามารถสนุกกับ “ชิงแชมป์ฤดูหนาว” ได้อย่างไม่สะดุด เนื่องจากกติกาส่วนใหญ่ เหมือนกับฟุตบอลของผู้ใหญ่ทุกอย่าง ขณะที่นักเตะก็สามารถใช้ประสบการณ์ในการแข่งขันฝึกฝนและต่อยอดฝีเท้าต่อไปในอนาคต

ตัวแทนท้องถิ่นที่แท้จริง

แม้ว่าฟุตบอล 7 สี ในทั่วประเทศ จะเป็นการแข่งขันที่เปิดรับสมัครทีมจากทั่วประเทศ แต่ทีมเหล่านั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของจังหวัดที่แท้จริง เนื่องจากมีข้อจำกัดแค่ 1 โรงเรียน สามารถส่งได้ 1 ทีมเท่านั้น

ทำให้บางจังหวัด มีทีมเข้าร่วมอย่างล้นหลาม เช่น กรุงเทพมหานคร ที่มีไม่ต่ำกว่า 10 ทีม หรือเชียงใหม่ ที่มีถึง 3 ทีม แต่บางจังหวัด ไม่ได้ส่งเข้าร่วมแม้แต่ทีมเดียว ในทัวร์นาเมนต์ 2023 ที่เพิ่งจบลงไป

ขณะที่ญี่ปุ่น พวกเขาใช้ระบบคัดเลือก ที่ไม่ว่าในจังหวัดของคุณ จะมีทีมแกร่งกี่ทีม แต่ตัวแทนที่จะมาลงแข่งในรอบสุดท้าย จะมีได้แค่จังหวัดละ 1 ทีม (ยกเว้นโตเกียว มี 2 ทีม) รวมทั้งสิ้น 48 ทีมจาก 47 จังหวัดทั่วประเทศญี่ปุ่น

Photo : Soccer Bible

การทำแบบนี้ นอกจากจะเป็นการเฟ้นหาทีมที่ดีที่สุดเพื่อเป็นตัวแทนของคนในจังหวัดแล้ว มันยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้พัฒนาฝีเท้าไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จากการได้เจอกับคู่แข่งที่โหดหินในจังหวัดของตัวเอง

ยกตัวอย่างเช่นจังหวัดชิสึโอกะ ที่อุดมไปด้วยทีมระดับประเทศมากมากมาย แต่ผลัดกันไปเล่นในรอบสุดท้าย แถมหลายครั้งยังไปถึงตำแหน่งแชมป์ จนทำให้จังหวัดแห่งนี้สามารถผลิตนักเตะสู่สโมสรอาชีพ รวมไปถึงทีมชาติได้มากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ

“โรงเรียนที่เป็นคู่แข่งมักจะมีดาวดังระดับประเทศเสมอ มันจึงเป็นกำแพงที่หนามาก” มาซาฮารุ ซูซูกิ อดีตผู้เล่นโยโกฮามา เอฟ มารินอส และศิษย์เก่ามัธยมชิสึโอกะ กัคคุเอ็น กล่าวกับ Sportiva

“ชิสึโอกะ กัคคุเอ็น ก็เป็นทีมที่แข็งแกร่งหากอยู่ในจังหวัดอื่น เพราะว่าเราไม่เคยแพ้ทีมไหน (นอกจังหวัด) ผมคิดว่ามันคงจะดีหากจังหวัดชิสุโอกะได้โควต้า 3 ทีมในการแข่งขันทั่วประเทศ”

“แต่การต้องต่อสู้กันในสถานที่ทีเข้มงวดเช่นนี้ ทำให้นักกีฬาจากโรงเรียนในจังหวัดชิสึโอกะมีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง ที่ผมสามารถเล่นอาชีพและก้าวผ่านมันได้ ก็เป็นเพราะประสบการณ์มากมายที่เก็บเกี่ยวมาจากสามปีในชีวิตมัธยมปลาย”

Photo : Soccer Bible

นอกจากนี้ มันยังทำให้คนในจังหวัดเหล่านั้นมีอารมณ์ร่วมว่านี่คือลูกหลานของพวกเขา จนทำให้หลายคน เดินทางมาเป็นกำลังใจถึงขอบสนามที่กรุงโตเกียว (และปริมณฑล) และเป็นเหตุผลว่าทำไม รายการนี้จึงเป็นการแข่งขันที่มีผู้ชมระดับครึ่งแสนในทุกปี

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ชิงแชมป์ฤดูหนาว” เป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนมัธยมทั้งสายสามัญและสายอาชีพได้เข้าร่วม ซึ่งต่างจากฟุตบอล 7 สี ที่เปิดรับเฉพาะสายสามัญเท่านั้น

เนื่องจากโรงเรียนสายอาชีพญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อย คือแหล่งบ่มเพาะนักเตะฝีเท้าดี หนึ่งในนั้นคือพาณิชย์ชิมิสึ ที่เป็นแหล่งปลุกปั้นนักเตะระดับทีมชาติอย่าง ฮิโรชิ นานามิ, โยชิคัตสึ คาวางุจิ หรือ ชินจิ โอโนะ เป็นต้น

การเข้าถึงในวงกว้าง

ปฎิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอล 7 สี เป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬาสมัครเล่นระดับเยาวชน ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของไทย จากการที่มันอยู่ยืนยาวอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 40 ปี

อย่างไรก็ดี มันกลับเข้าถึงอยู่แค่ในกลุ่มเฉพาะนั่นคือคนที่ชื่นชอบฟุตบอลไทยเป็นหลัก แถมหลายคนก็เพิ่งจะได้มาติดตามดูแค่ในนัดชิงชนะเลิศเท่านั้น

เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการโหมกระแสยังมีไม่มากพอ ที่นอกจากช่อง 7HD ที่เป็นผู้จัดการแข่งขัน มีเพียงแค่ไม่กี่ช่อง ไม่กี่เว็บไซต์ ที่เกาะติดการแข่งขันตั้งแต่รอบแรก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เข้าใจได้ว่าเพราะการแข่งขันกีฬาเยาวชนในไทยมันไม่ได้บูมไม่ได้บูมขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน การถ่ายทอดสด ก็ถูกจำกัดไว้เพียงแค่ช่อง 7HD ทำให้พวกเขาไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ครบทุกทีม และทำให้แฟนบอลของบางทีมต้องพลาดชมการแข่งขันของทีมตัวเองไป

Photo : Soccer Bible

เมื่อเทียบกับ “ชิงแชมป์ฤดูหนาว” จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทอดสด ที่นอกจาก Nippon Television หรือ NTV จะรับหน้าที่นี้แล้ว ช่องทีวีในแต่ละท้องถิ่น ยังเป็นพาร์ทเนอร์ถ่ายทอดสดการแข่งขันของทีมตัวแทนที่มาจากจังหวัดเหล่านั้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ในรอบสุดท้าย NTV ไม่ได้นำเสนอเพียงแค่ผลงานในสนามของแต่ละทีมเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักเตะ สต้าฟโค้ช กองเชียร์ รวมไปถึงผู้ปกครอง

มันจึงทำให้รายการนี้ เต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึก ขณะเดียวกันพวกเขามักจะมักจะโฟกัสกับผู้แพ้มากกว่าผู้ชนะ เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราว ที่มักจะไม่มีใครพูดถึง

หนึ่งในสกู๊ปดังของพวกเขาคือ “ห้องแต่งตัวครั้งสุดท้าย” (Last Locker Room) ที่จะไปถ่ายห้องแต่งตัวของทีมแพ้ เพื่อดูว่าพวกเขาคุยอะไรกัน รวมถึงสัมภาษณ์นักเตะและโค้ช ถึงความรู้สึกของพวกเขาในฟุตบอล ม.ปลายครั้งนี้

มันคือการนำเสนออารมณ์ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง และถ่ายทอดความรู้สึกนี้ไปให้ผู้คนทั้งประเทศ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่ได้รับชมรู้สึกว่า นี่คือรายการศักดิ์สิทธิ์ เป็นทัวร์นาเมนต์แห่งความฝันที่ผู้คนต้องฝ่าฝันอย่างยากลำบาก เพื่อไปอยู่บนจุดสูงสุด

Photo : JFA

“เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลม.ปลายทางทีวีเป็นครั้งแรก และตลอดช่วงเวลาเหล่านั้น การแข่งขันก็ต้องเผชิญกับวิกฤติหลายอย่างในการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด” ซาวาดะ กล่าวกับ NTV เมื่อปี 2015

“สิ่งที่ทำให้มันก้าวข้ามมาได้ก็คือ ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้เล่นและโค้ช ‘แพชชั่น’ ของเจ้าหน้าที่โทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดสด ครูของสหพันธ์กีฬาโรงเรียนมัธยม และพ่อแม่, รุ่นพี่, ศิษย์เก่า, คนในท้องถิ่นที่ชมการแข่งขัน”

สถิติผู้ชมฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติญี่ปุ่น / ที่มา : gekisaka.jp

บวกกับระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ ที่ไม่ได้มีแค่ทำเนียบแชมป์ หรือ ผลการแข่งขัน แต่ได้รวบรวมไว้ทุกอย่าง ทั้งจำนวนครั้งของทีมที่เข้าร่วม, สมาชิกในทีม ไปจนถึงจำนวนผู้ชมเข้าการแข่งขันในแต่ละปี ที่สามารถสืบค้นย้อนกลับไปได้

สิ่งเหล่านี้คือส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์ญี่ปุ่น มีความน่าสนใจ และน่าติดตาม บางทีหากฟุตบอล 7 สี นำไปปรับใช้ มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับฟุตบอลไทยให้พัฒนาได้มากกว่านี้ก็เป็นได้

แหล่งอ้างอิง

https://www.soccer-king.jp/sk_column/article/394156.html

https://www.soccerbible.com/design/photography/2018/01/framed-73-japanese-high-school-championship-special/

https://www.jfa.jp/eng/match/alljapan_highschool_2022/news/00031366/

https://www.ch7.com/footballchamp7hd/program

https://www.siamsport.co.th/football-thailand/th-other/33554/

https://www.siamsport.co.th/football-thailand/th-other/28085/

https://sportiva.shueisha.co.jp/clm/football/jleague_other/2013/12/03/post_519/

https://web.gekisaka.jp/news/detail/?295911-295911-fl https://koko-soccer.com/news/5-koukousoccer/28330-202101103 

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

ลีดส์ ยูไนเต็ด, ญี่ปุ่น, มังงะ
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ