ฉลามเกยตื้น! ชลบุรี เอฟซี ตำนานแชมป์ไทยลีกสู่การหนีตกชั้นในวันนี้

ฉลามเกยตื้น! ชลบุรี เอฟซี ตำนานแชมป์ไทยลีกสู่การหนีตกชั้นในวันนี้
นันทน์ภูมิ พุทธิพงษ์

ฤดูกาล 2023/24 เป็นอีกฤดูกาลที่ “ชลบุรี เอฟซี” ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลุ้นหนีตกชั้น เพียงแต่ในคราวนี้คงอาจจะใกล้เคียงและสุ่มเสี่ยงมากที่สุด ทั้งโปรแกรมที่เหลือ ผลการแข่งขัน และขุมกำลังของทีม ที่อาจจะต้องใช้คำว่า “ปาฏิหารย์” หากหวังจะอยู่รอดบนเวทีไทยลีก

อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้ ‘ทัพฉลามชล’ ที่ขึ้นชื่อเป็นต้นแบบการทำทีมฟุตบอลไทย มาสู่จุดที่ตกต่ำที่สุดที่อยู่ใกล้ปากเหวและสุ่มเสี่ยงสู่การตกชั้นสู่ไทยลีก 2 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์!

มาร่วมติดตามเรื่องราวและที่มาที่ไปของ ระเบิดเวลา ลูกนี้ของ ชลบุรี กับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่!

ต้นแบบลูกหนังที่ประสบความสำเร็จ

หากย้อนกลับไปสู่ยุคอันรุ่งเรืองของ ชลบุรี เอฟซี ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเริ่มต้นที่ปี 2005 จากการคว้าแชมป์โปรวินเชียล ลีก ด้วยขุมกำลังอันเป็น ‘ขนานแท้และดั้งเดิม’ จากรั้ว ร.ร.อัสสัมชัญศรีราชา และ ร.ร.จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี โดยมี วิทยา เลาหกุล เป็นกุนซือใหญ่ พร้อมกับเลื่อนชั้นสู่ไทยลีก เป็นครั้งแรก

Photo : Chonburi Football Club

แม้การออกทะเลใหญ่ที่ชื่อ ไทยลีก ชลบุรี เอฟซี จะเจียนอยู่เจียนไปในหลายครั้ง แต่พวกเขายังอุตส่าห์เอาตัวรอด ด้วยการจบอันดับ 8 ของตาราง พร้อมๆ กับการอำลาทีมของ โค้ชเฮง

แต่กระนั้น คือจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อ ชลบุรี เอฟซี ตั้งอดีตโค้ช ร.ร.อัสสัมชัญศรีราชา อย่าง ‘เซอร์เด็จ’ จเด็จ มีลาภ ก้าวมาคุมทัพ พร้อมกับใช้ขุมกำลังหลักที่ได้ว่าสุกงอมพอดี

Photo : Chonburi Football Club

ชื่อของ โกสินทร์ หทัยรัตนกุล, สองพี่น้องสุขะ, อาทิตย์ สุนทรพิธ รวมไปถึงแนวรับทั้ง ชลทิตย์ จันทคาม, ไพศาล โพธิ์นา, เกียรติประวุฒิ สายแวว นำมาซึ่งแชมป์ไทยลีกในปี 2007 กลายเป็นทีมภูธรทีมแรกที่คว้าแชมป์ไทยลีก

Photo : Chonburi Football Club

ซึ่งแน่นอนว่าผลผลิตทั้งหมด มาจากการมองการณ์ไกล ของผู้บริหารทีม ทั้ง อรรณพ สิงห์โตทอง, ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ และ สองพี่น้อง สนธยา-วิทยา คุณปลื้ม ที่มีจุดหมายเดียวกัน คือ การเห็นรอยยิ้มจากเด็กๆ และ อนาคตของยั่งยืนเป็นนักเตะอาชีพ และ ก้าวไปสู่ทีมชาติได้ในอนาคต

Photo : Chonburi Football Club

“(การปั้นผู้เล่นเยาวชน) ถ้าได้ 2 คนนี่วิเศษมาก 3 คนนี่ถือว่า ‘ปาฏิหาริย์’ เพราะการได้เด็ก 1 คน เราตั้งเป้าแต่ละ พ.ศ.เกิด แต่กว่าจะโตมา ก็มีเข้ามีออกกันไป กระทั่งถึง ม.6 6-7 ปี มันไม่ใช่ 10 กว่าคน แต่มัน 20 คน ก่อนจะเหลือเล่นบอลอาชีพได้” 

“แต่ละปี เราขอรุ่นละคน แต่คนนึงสามารถเล่นกับเราได้อีกหลายปี แต่ถ้ามี 2-3 คนได้นี่คือปาฏิหาริย์” อรรณพ ให้สัมภาษณ์กับ Changsuek ให้ปี 2020

ด้วยแนวทางอันเป็นเอกลักษณ์ของทีม ทำให้ทัพฉลามชล ไม่สิ้นแข้งดาวรุ่งฝีเท้าดี นำมาซึ่งโทรฟี่สีเงินยวงไหลสู่สโมสรไม่ขาดสาย ทั้งแชมป์เอฟเอ คัพ, ลีก คัพ และถ้วยพระราชทาน ก รวมไปถึงการได้โลดแล่นบนเวทีลูกหนังเอเชีย

Photo : KHALIL MAZRAAWI / AFP

แต่เมื่อสุริยนจะย่ำสนธยา กาลเวลา ก็เปลี่ยนผันให้ฟุตบอลแบบชลบุรีประสบปัญหาเช่นกัน

เงินเป็นเหตุ?

หากว่ากันด้วยเหตุและผล ชลบุรี เอฟซี ส่อเค้าประสบปัญหาด้านสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ราวๆ ฤดูกาล 2016 จนมาส่งผลกระทบแบบชัดเจนที่สุด คือในฤดูกาล 2020/21 ที่ส่งผลกระทบหนักจากผลพวงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จนต้องขายผู้เล่นตัวหลักหลายรายเพื่อมาประคองสถานการณ์

“สโมสร ได้ปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยได้ตัดสินใจใช้นักฟุตบอลเยาวชนของสโมสร ซึ่งมีผู้เล่นไทยเพียง 4 คน ที่ไม่ได้เป็นเด็กฝึกหัดของสโมสร จากรายชื่อผู้เล่นไทยในทีมชุดใหญ่ทั้งหมด 21 คน ส่งผลให้สโมสรมีงบประมาณเพียงพอที่จะจ้างผู้เล่นต่างชาติราคาแพงขึ้นได้”

“อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาด โรคโควิด-19 กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ทำให้สโมสร ต้องรับภาระรายจ่ายที่มากกว่ารายได้อีกครั้ง รวมไปถึงหนี้คงค้างที่มีมากเกินจะแบกรับเอาไว้ได้ ทำให้สโมสร จำเป็นต้องเลือกหนทางสุดท้ายที่คิดจะทำ นั่นก็คือ การขายนักฟุตบอลคนสำคัญออกไป เพื่อนำเงินเข้ามาพยุงสโมสร ให้อยู่รอดต่อไป” แถลงการณ์ตอนหนึ่งของ ชลบุรี เอฟซี ในการขาย วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ให้ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด ในเวลานั้น

Photo : Chonburi Football Club

ซึ่งการได้เงินมาจากการขายนักเตะตัวหลักในช่วง 2-3 ปีหลัง ทั้ง วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ ประมาณ 38 ล้านบาท, กฤษดา กาแมน ที่มีค่าตัวย้ายไปร่วมงานกับ บีจี ปทุมฯ ประมาณ 30 ล้านบาท แม้จะดูว่าเป็นการ ‘พี่ช่วยน้อง’ ไปในตัว แต่กลับกัน เงินส่วนนี้กลับไม่เพียงพอต่อการบริหารทีม ซึ่งส่งผลถึงการผลักดันผู้เล่นเยาวชนของทีมที่มาจาก ‘ระบบอะคาเดมี่’ อันเป็นจุดแข็งสำคัญ ที่เริ่มประสบปัญหา

ขุมกำลัง และ อะคาเดมี่ ทำ(ไม่)ถึง?

“เรามองว่านักเตะที่เกรดเอ มันจะไปอยู่โรงเรียนใหญ่ๆ ซึ่งเราไม่สามารถไขว่คว้ามาอยู่กับเราได้ เราเลยปิ้งไอเดียว่าเราไปทําทีมฟุตบอลเด็กอายุ 13 ปีดีกว่า เพราะเด็กไม่ต้องวุ่นวายกับทีมใหญ่ในกรุงเทพ ทีมใหญ่จะคัดเด็ก ประมาณ ม.4 เราคัดเด็ก ม.1 ดีกว่า เพื่อให้เด็กไต่เต้าพัฒนาฝีเท้า พอถึง ม.3 เราก็มีเด็กที่จะขึ้นมาทีมชุดใหญ่วิธีนี้จะพัฒนาเด็กได้ดีกว่า เด็กที่เพิ่งเข้ามาอยู่กับเราตอน ม.4” อรรณพ หรือ ‘เดอะเซนต์’ กล่าวถึงแนวคิดการปั้นผู้เล่นในยุคเริ่มแรก

แต่การที่จะดันผู้เล่นเยาวชนขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในปัจจุบัน ถูกตั้งคำถามว่า ชั้นของพวกเขาดีพอที่จะลงเล่นในเกมระดับสูงจริงๆ เหรอ?

Photo : กรมพลศึกษา

แน่นอนว่า อะคาเดมี่ของ ชลบุรี เอฟซี ได้รับการอมรับทั้งในระดับชาติ และระดับเอเชีย หากแต่มองในช่วง 2-3 ปีหลัง อะคาเดมี่ในรุ่น U18 ของชลบุรี ห่างหายกับถ้วยแชมป์มานานโข โดยเฉพาะรายการหลักๆ อย่าง ฟุตบอลนักเรียนกรมพลศึกษา ในรุ่น 18 ปี ประเภท ก ที่แชมป์ครั้งสุดท้ายของพวกเขา ต้องย้อนกลับไปถึงปี 2020 ซึ่งยุคนั้น มีแข้งอย่าง วรากร ทองใบ, กษิดิศ กาฬสินธุ์ และ สองพี่น้องเขตภาราลงเล่น

รวมไปถึงรายการหลักของสมาคมฯ อย่างไทยแลนด์ ยูธ ลีก ที่ ชลบุรี เอฟซี ผ่านเข้ามาถึงรอบรองชนะเลิศได้แค่รุ่น U18 แต่รุ่น U16 และ U14 กลับไม่สามารถผ่านมาถึงตรงนี้ได้

ซึ่งจากสองเรื่องแรก ส่งผลกระทบถึงทีมชุดใหญ่ของ ชลบุรี เอฟซี แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อทีมขาดงบประมาณ การจะจ้างผู้เล่นดีๆ โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติที่มีคุณภาพ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย และต้องเซ็นผู้เล่นต่างชาติที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในเวทีไทยลีกอย่าง มูริลโล่ เฟรตาส, วิลเลียน ลิร่า, ยานนิค เอ็มโบเน่ ที่ฟอร์มการเล่นที่ยังไม่ดีพอที่จะเป็น ตัวความหวังของทีม ให้ได้เท่ากับเมื่อฤดูกาลก่อน

รวมไปถึงแข้งจากระบบอะคาเดมี่ของทีมที่ ‘ชั้นยังไม่ถึง’ และมิพักถึงเรื่องปัญหานอกสนาม ที่ผู้เล่นชลบุรี เอฟซี ถูกมองว่า ‘ขาดวินัย’ จนมีข่าวที่แข้งในทีม เมาแล้วขับจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ปัญหาทั้งหมดที่สะสม จึงเป็น ‘ต้นเหตุ’ ที่ส่งผลถึงฟอร์มของ ชลบุรี เอฟซี ในตอนนี้

กุนซือไม่ตรงสเปก?

มาโกโตะ เทกุระโมริ เข้ามาคุม ชลบุรี เอฟซี ซึ่งถูกคาดหวังว่า การที่เข้ามารับงานคุมทีมกับทัพฉลามชลในฤดูกาลนี้ จะสร้างความฮือฮาอย่างมาก เพราะตัวเขาได้อาญาสิทธิ์เรื่องของการซื้อผู้เล่นและการจัดตัวได้ตามใจ

แต่ทว่ากับมีผลงานการคุมทีมที่สวนทางกับเมื่อสมัยที่เขากุมบังเหียนอยู่กับ บีจี ปทุม ยูไนเต็ด โดยฝากผลงานการคุมทัพฉลามชลในศึกไทยลีกไว้ที่ การแพ้ถึง 6 จาก 12 เกม และนั่นคือจุดเริ่มต้นในการหนีตกชั้นอย่างเต็มตัว

Photo : Chonburi Football Club

และถึงแม้ว่าจะได้คนใน อย่าง ณัฐวุฒิ วิจิตรเวชการ และ วิทยา เลาหกุล ประธานเทคนิค เข้ามาคุมทีม ซึ่งดูเหมือนว่าทุกอย่างจะดีขึ้นจากฟอร์มที่ล้ม บีจี ปทุมฯ ในเกมเอฟเอ คัพ รอบ 32 ทีม และโค้งสุดท้ายของเลกแรก แต่ท้ายที่สุด ปัญหาเรื่องของตัวผู้เล่นก็กลับมาย้อนเข้าตัว “โค้ชเฮง” ส่งผลถึงผลงานในเลกสอง

ทางรอด?

หากว่ากันตามหน้าสื่อ สถานการณ์ของ ชลบุรี เอฟซี ยังมีโอกาสรอดตกชั้น ตามทฤษฎี ทว่า 3 เกมสุดท้ายของเกมไทยลีกที่เหลือ ชลบุรีจะมีเกมในบ้านที่จะต้องพบกับ พีที ประจวบ และ ตราด เอฟซี ซึ่งเป็นทีมในโซนลุ้นหนีตกชั้นอยู่เช่นกัน

ถ้ามองในแง่ดี ชลบุรีมีเกมในบ้านถึง 2 นัดกับทีมลุ้นหนีตกชั้นเช่นกัน และ เกมที่จะบุกไปเยือน เมืองทอง ยูไนเต็ด เกมนั้นถ้าจะมองอีกมุม เมืองทองเป็นทีมเหย้าก็จริง แต่ว่าต้องแข่งขันที่ สนามศุภชลาศัย นี่จึงเป็นโอกาสที่ ชลบุรี จะเร่งฟอร์มตัวเองเสียแต่บัดนี้ เพื่ออย่างน้อยการลุ้นหนีตกชั้นของ ชลบุรี จะยังพอมีโอกาส

Photo : Chonburi Football Club

แต่หากผลลัพธ์ออกเป็นตรงกันข้าม แน่นอนว่า นี่คือโอกาสหนึ่งที่ทัพฉลามชลจะได้ทบทวนแนวทางของทีม โดยเฉพาะกับผู้เล่นอะคาเดมี่ และ ชุดใหญ่ในทีม ที่อาจจะต้องคัดกรอง และส่งเด็กๆ ไปเล่นกับทีมต่างๆ ที่มีการแข่งขันสูงขึ้นเพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่มากพอ ก่อนจะนำขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ก่อนจะดีกว่าหรือไม่?

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ช่วงเวลานี้ได้แต่ขอให้ทีม “ชลบุรี เอฟซี” อยู่รอดปลอดภัยบนเวทีไทยลีก ไม่งั้นคงเสียดายไม่น้อยที่ทีมตำนานไทยลีก อาจจะต้องตกชั้นลงไปเล่นในลีกรองเป็นครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่แฟนฉลามชลไม่อยากให้เกิดขึ้น….

อ้างอิง

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ