Contest & Ball recovery time : 2 สถิติใหม่ในบอลโลกที่ยืนยันว่ายุคนี้คือยุค "เพรสซิ่งฟุตบอล"

Contest & Ball recovery time : 2 สถิติใหม่ในบอลโลกที่ยืนยันว่ายุคนี้คือยุค "เพรสซิ่งฟุตบอล"
ปฐมพร จาวะลา

เชื่อว่าในฐานะเเฟนบอล เวลาเปิดดูถ่ายทอดสดการเเข่งขันฟุตบอล สิ่งเเรกที่เราโหยหาคือ ชื่อทีม สกอร์เเละเวลา ในการเเข่งขัน ถ้าไม่มีให้เห็นมันจะรู้สึกโหวงๆแปลกๆ อึดอัดอย่างบอกไม่ถูก

นอกจากชื่อทีม สกอร์เเละเวลา ที่เราจะได้เห็นบนหน้าจอถ่ายทอดสด ในยุคหลังๆอีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นกันจนชินตาคือ เปอร์เซ็นต์การครองบอลของเเต่ละฝั่ง เพื่อเเสดงให้เห็นว่าลูกฟุตบอลอยู่ในการครอบครองของฝ่ายไหนมากกว่ากัน

ตั้งเเต่เข้ายุค 2000s เป็นต้นมา มีการนำเอาสถิติเเละการคำนวณมาใช้ควบคู่ไปกับฟุตบอลอย่างเเพร่หลายเเละหลายๆทีมหันมาโฟกัสด้านนี้มากขึ้นในการวางแผนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแผนการเล่นหรือเเนวทางในการซื้อตัวผู้เล่น

Photo : FIFA

เเละในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2022 ที่กาตาร์ ฟีฟ่าได้เเสดงสิ่งใหม่ที่น่าสนใจบนหน้าจอให้เราได้เห็น เป็นคำว่า Contest เเสดงออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาอยู่ตรงกลางระหว่าง เปอร์เซ็นต์การครองบอล เเละ Ball recovery time ซึ่งเเสดงออกมาให้เห็นเป็นวินาที เเล้วมันคืออะไร คำนวณจากอะไร ติดตามได้ที่ คิดไซด์โค้ง

Contest คือ ช่วงเวลาที่ไม่มีฝ่ายไหนได้ครอบครองบอล

คำนี้ถ้าแปลตรงตัว มันจะหมายถึง "การต่อสู้ การประลอง การเเก่งเเย่ง" ซึ่งในฟุตบอลมันก็จะหมายถึงช่วงเวลาที่ไม่มีฝ่ายไหนได้ครอบครองลูกฟุตบอล เป็นช่วงเวลาของการชิงจังหวะของเเต่ละฝ่าย

“นอกจากการคำนวณเเบบดั้งเดิมที่มีอยู่เเล้ว เราได้นำเอาระบบการคำนวณเเบบใหม่ที่ฟีฟ่าคิดค้น นำมาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ เราสามารถคำนวณช่วงเวลาที่ไม่มีฝ่ายไหนได้ครอบครองบอลได้ มันช่วยห้เราลงลึกเเละเห็นถึงความเข้มข้นของการเเข่งขันได้มากขึ้น” อาร์เเซน เวนเกอร์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลของฟีฟ่า อธิบาย
Photo : Marca

โอเคมันก็เข้าใจง่ายๆ เเต่ที่น่าสนใจคือ ฟุตบอลเล่นกันสองทีม ผลัดกันครอบครองบอล  เเล้วจะมีตอนไหนบ้างที่ถือว่าเป็นช่วงที่ไม่มีฝ่ายไหนได้ครอบครองบอล ในเว็บไซต์ฟีฟ่าได้อธิบายไว้ว่า คือช่วงที่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายพยายามเเย่งชิงบอลกัน ทั้งบนพื้นเเละในการดวลกันกลางอากาศ อย่างเช่น

เวลาที่กองหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคลียร์บอลหรือบล็อกบอลออกไป เเล้วบอลลอยกลางอากาศหรือกระดอนไปกับพื้น ก่อนที่จะมีคนมาเก็บบอลไปได้ หรือเวลาที่ผู้รักษาประตูปัดบอลออกมาก็นับได้เช่นกันว่าเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีฝ่ายไหนได้ครอบครองบอลเหมือนกัน

หรือช่วงเวลาที่เเย่งบอลกันเเล้วลูกฟุตบอลหลุดจากการครอบครองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เจอคนเก่งมักมีพลังแฝง: การสู้สุดใจของทีมชาติญี่ปุ่นในบอลโลก 2022 ราวหลุดมาจากมังงะ | Think Curve - คิดไซด์โค้ง
พบกับกุญแจสำคัญที่ทำให้ซามูไรบลูแข็งแกร่งเมื่อเจอกับทีมที่มีชื่อชั้นเหนือกว่า

การจะนับว่าได้ครองบอลนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องทำการสัมผัสบอลครั้งที่สองเพื้อเลี้ยงหรือส่งบอล ถึงจะนับเป็นการครอบครองบอลจากการเเย่งชิง

เราจะสังเกตเห็นเลยว่า ในฟุตบอลโลกครั้งนี้ ถ้าเกมไหนที่สูสี หรือเพรสซิ่งใส่กันอย่างดุดันจะทำให้ เปอร์เซ็นต์ของช่วงเวลาที่ไม่มีฝ่ายไหนได้ครอบครองบอลนั้นสูง

Ball recovery time

อีกสถิติหนึ่งที่เราได้เห็นบนหน้าจอถ่ายทอดสดก็คือ คำว่า Ball recovery time ที่เเสดงผลออกมาเป็นจำนวนวินาที

“การคำนวณเวลาตรงนี้ คือจำนวนเวลาที่ใช้ในการเอาบอลกลับมาครอบครองหลังจากสูญเสียการครองบอลของเเต่ละทีม มันช่วยให้เราเห็นว่าเเต่ละทีมมีประสิทธิภาพเเละทำได้เร็วเเค่ไหนในการที่จะเอาบอลกลับมาครอบครอง” อาร์เเซน เวนเกอร์ อธิบาย
Photo : ESPN

เริ่มนับเวลาหลังจากที่ มีใครคนใดคนหนึ่ง ในทีมสูญเสียการครองบอลทั้ง เเล้วทั้งทีมใช้เวลากี่วินาทีในการเอาบอลกลับมาครอบครองใหม่ได้อีกครั้ง

เเน่นอนว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่เริ่มต้นจาก 0-0 ต้องทำประตู ถึงจะเป็นผู้ชนะ เเละการจะทำให้ได้มาซึ่งประตู ก็ต้องเอาบอลมาทำเกมรุกใส่คู่เเข่ง เพราะฉะนั้นทีมที่มีเวลาอยู่กับลูกบอลมากกว่า ย่อมมีโอกาสลุ้นประตูได้มากกว่า

เเละในฟุตบอลยุคหลังๆคือยุคของการเพรสซิ่ง ทีมไหนมีการเพรสซิ่งกดดันคู่เเข่งได้ตลอดทั้งเกมก็ย่อมจะเป็นทีมที่ได้เปรียบ

“ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะบ่งบอกเราได้ว่า ทีมที่เเข็งเเกร่งเเละมีการเพรสซิ่งที่ดุดัน จะสามารถเอาบอลกลับมาจากคู่เเข่งได้อย่างรวดเร็ว” เวนเกอร์ อธิบายเพิ่มเติม

ยุคเเห่งการเพรสซิ่ง

จริงๆเเล้วในฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ฟีฟ่านำข้อมูลสถิติ เเบบใหม่ ถึง 11 เบบ มาใช้ประกอบเป็นกราฟฟิค อธิบายในรายการถ่ายทอดสดการเเข่งขัน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้กับเเฟนบอล

“เราต้องการเเบ่งปันองค์ความรู้ วิสัยทัศน์ ในการใช้ข้อมูลสถิติที่น่าเชื่อถือได้ มาวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับฟุตบอล เเละเพื่อทำให้ทุกคนสามารถเข้าใจเกมได้มากขึ้น” อาร์เเซน เวนเกอร์ กล่าว

Photo : Ronado

เเต่ข้อมูลสถิติส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ใช้คำนวณเเละนำมาวิเคราะห์กันอยู่เเล้วในวงการฟุตบอล ในเชิงของเเท็คติก ทั้งรูปแบบการยืนของทีม การเข้าทำในพื้นที่สุดท้าย ความน่าจะเป็นในการที่จะทำประตูได้  ถ้าใครเคยทำงานเบื้องหลังในทีมมาจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เเละฟีฟ่าทำออกมาได้อย่างเข้าใจง่าย เเละช่วยให้เเฟนบอลดูฟุตบอลโลกสนุกขึ้นจริงๆ

เราเคยผ่านช่วงเวลาฟุตบอลในยุคของติกิ ตาก้า มาเเล้ว ยุคที่ผู้คนให้ความสำคัญของเปอร์เซ็นต์การครอบครองบอล เพราะเชื่อว่า ยิ่งมีเวลาอยู่กับลูกบอลมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเป็นฝ่ายชนะมากกว่า ทีมใหญ่เเละทีมที่เเข็งเเกร่งมักจะใช้วิธีการเล่นเเบบนี้ ซึ่งก็จริง เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องทำยังไงก็ได้ให้ลูกฟุตบอลข้ามเส้นประตูไป ทำให้มีคนพูดถึงสถิติการครอบครองบอลเเละนำมาใช้วิเคราะห์อย่างเเพร่หลายในยุคนั้น

เเละมีช่วงนึงที่การอุดตั้งรับลึกเเบบจอดรถบัสหน้าประตูเเล้วรอสวนกลับได้รับความนิยมในการใช้ต่อกรกับติกิ ตาก้า เเละได้ผลไม่ได้ผลบ้าง เเต่ก็มีคนทำให้เราเห็นว่ามันก็ทำได้เช่นกัน…

Photo : Goal 

เเละทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้ อย่างเชลซี ที่ได้เเชมป์ ยูฟ่า เเชมป์เปี้ยน ลีกส์ ปี 2012 ในยุคของโรเเบร์โต ดิ มัตเตโอ อุดกระจายจนเป็นเเชมป์ยุโรปได้ หรือ แอตเลติโก มาดริด ในยุคของ ดีเอโก้ ซิเมโอเน่ ที่เน้นตั้งรับเเล้วสวนกลับจนได้เเชมป์ ลาลีกาเเละเข้าชิงยูฟ่า เเชมป์เปี้ยนส์ ลีก ด้วย

เเต่ด้วยความพัฒนาของเเท็คติกฟุตบอลที่ไม่มีวันจบสิ้น มีการคิดค้นวิธีการรบกวนวิธีการเล่นเเบบติกิ ตาก้า ขึ้นมาที่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพกว่าการตั้งรับเเล้วอุดเฉยๆ นั่นก็คือการ “วิ่งเพรสซิ่ง”

เพราะพวกเขาเชื่อว่า การรบกวนเเละวิ่งกดดันคู่เเข่งเเละเอาบอลกลับมาให้เร็วที่สุด เเละฉวยโอกาสเข้าทำเร็วจากจังหวะที่เเย่งบอลกลับมาได้ คือ หนทางของการที่จะไม่เเพ้ ถ้าวิ่งใส่ตลอดเวลาไม่ให้คู่เเข่งมีเวลากับลูกฟุตบอล ก็ยากที่จะหาโอกาสเข้าไปทำประตู

Photo : DW

มันเหมือนศาสตร์สองศาสตร์ คนละขั้วตรงข้ามกัน ถูกออกเเบบมาเพื่อรับมือกันเเละกัน ฝ่ายหนึ่งก็คิดว่าถ้าอยากไล่บอลก็ไล่บอลไปเลย เเต่เราส่งบอลเเม่นยำไม่มีกลัว อีกฝ่ายก็คิดว่า อยากส่งกันก็ส่งไปเลย เเต่พวกเราจะวิ่งไล่กดดัน ไม่ให้เล่นง่ายๆ อยู่ที่ว่าเราเชื่อในฟุตบอลสไตล์ไหน

ทำให้ข้อมูลสถิติเปอร์เซ็นต์ของช่วงเวลาที่ไม่มีทีมไหนครอบครองบอล หรือ จำนวนเวลาที่ใช้ในการเอาบอลกลับมาครอบครอง ดูเหมือนจะเป็นสิ่งใหม่ที่คนในวงการฟุตบอลหันมาสนใจเเละนำมาวิเคราะห์กันอย่างจริงจังมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

เเละการที่ฟีฟ่า เริ่มเอาข้อมูลสถิติ พวกนี้ขึ้นบนหน้าจอให้เห็น ช่วยเป็นการตอกย้ำว่านี้คือยุคของ เพรสซิ่งฟุตบอลอย่างเเท้จริง

Photo : Premiere League

ทีมไหนที่ใช้เวลาในการเอาบอลกลับมาได้เร็ว มีการวิ่งกดดันคู่เเข่งที่ทำได้ตลอดทั้งเกม จะเป็นทีมที่เเข็งเเกร่งเเละพร้อมสู้ได้ทุกทีม เป็นสูตรสำเร็จของทีมเล็กในการที่จะใช้ต่อกรกับทีมใหญ่ได้ดี อย่างเช่นเกมที่ซาอุดิอาระเบีย พลิกล็อค เอาชนะ อาร์เจนติน่า พวกเขาลงมาวิ่งอย่างลืมตาย ช่วยกันวิ่งใส่ผู้เล่นอาร์เจนติน่าในครึ่งหลัง ทำให้ผู้เล่นอาร์เจนติน่าออกบอลกันไม่ถนัด เเม้เเต่เมสซี่เอง ก็ยังเล่นได้ลำบากในเกมนั้น

นักบอลยุคนี้ต้องตั้งอยู่บนมาตรฐานที่สูงกว่ายุคก่อน ๆ เยอะมาก … ด้วยความที่เป็นยุคของบอลเร็ว บอลเพรสซิ่ง ความเข้มข้นของเกมสูง ต้องใช้พลังในการเล่นมากขึ้นกว่ายุคก่อน ต้องมีความฟิตมากๆ พร้อมที่จะวิ่งอย่างเข้มข้นตลอด 90 นาที ก้มหน้า ก้มตา วิ่งเอาบอลกลับมา พอได้บอลกลับมาก็ต้องทำเกมรุกต่ออย่างรวดเร็ว เพราะอีกฝ่ายก็จะทำการเพรสซิ่งกลับเหมือนกัน

หากไม่ฟิต ได้บอลเเล้วขาอ่อน หมดเเรงจากการเพรสซิ่ง ไม่พร้อมที่จะเล่นทันที ก็จบกันพอดี  นักฟุตบอลในยุคนี้ทุกคน ต้องพร้อมที่จะเป็น ฟอเรสต์ กัมพ์ กันทั้งทีม ต้องพร้อมที่จะ รัน ฟอเรสต์ รัน ทุกเมื่อ

แหล่งอ้างอิง

https://theathletic.com/3922022/2022/11/22/what-is-in-contest-possession-world-cup/?fbclid=IwAR1fAc1byDU6yqbuvP2bCLDcOSdncTgwXd2FLUR61hdtpuKKyd8xs6fxSv8

https://worldsoccertalk.com/tv/world-cup-to-feature-new-advanced-in-game-stats-on-screen-20221113-WST-407879.html

https://www.fifatrainingcentre.com/en/fwc2022/efi-metrics/efi-metric--ball-recovery-time.php

แชร์บทความนี้
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

สนใจโฆษณาติดต่อ