อดีตราชาเคลีกในยุคขาลง : ‘ชอนบุก’ น่ากลัวแค่ไหนสำหรับ ทรู แบงค็อก ?
ฟุตบอลลีกในประเทศเกาหลีใต้ เริ่มก่อตั้งขึ้นมาในยุค 1970 มีลีกหลักๆ อยู่สองลีก คือ เนชั่นแนล โปรเฟสชั่นแนล ฟุตบอล ลีก (ระดับอาชีพ) และ เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ ฟุตบอล ลีก (ระดับมหาวิทยาลัย) แต่ทั้งสองลีกที่ตั้งขึ้นมานั้นยังไม่เป็น “ลีกอาชีพ” แบบจริงๆ จังๆ
สุดท้ายทางประธานาธิบดี ชอย ซุน-ยอง ก็พยายามผลักดันลีกฟุตบอลอาชีพให้เกิดขึ้น แต่เมื่อมีกีฬายอดนิยมประจำชาติอย่าง ‘เบสบอล’ ที่จัดตั้งขึ้นเป็น เคบีโอ ลีก ในปี 1982 สมาคมฟุตบอลประเทศเกาหลีใต้ก็เจอต้องกับวิกฤติปัญหายอดคนดูเข้าสนามลดน้อยลง
ในปี 1994 รัฐบาลเกาหลีใต้ จัดตั้งสหพันธ์ฟุตบอลอาชีพ ขึ้นมา แยกตัวเป็นองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาฟุตบอลในเกาหลีโดยเฉพาะไม่ข้องเกี่ยวกับสมาคมฟุตบอลประเทศเกาหลีใต้ เพื่อหวังวางรากฐานกระจายความนิยมของกีฬาฟุตบอลไปตามท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อเตรียมรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2002
จนในที่สุดปี 1998 ลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศเกาหลีใต้ก็กลายมาเป็น เค ลีก อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ก่อนจะแบ่งออกมาเป็นสองดิวิชั่น เค ลีก 1 และ เค ลีก 2 ไม่จำเป็นต้องเน้นจำนวนทีมแข่งขันมาก เน้นไปที่คุณภาพของทีมจากแต่ละเมืองที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ และเมืองใหญ่ ยกตัวอย่าง เช่น อินชอน, ปูซาน, โซล และ เจจู เป็นต้น
แม้ว่าลีกสูงสุดพวกเขาจะมีแค่ 12 ทีม แต่สามารถจัดโปรแกรมการแข่งขัน เพื่อเรียกลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและยอดเข้าชมการแข่งขันที่สนามได้ถึง 38 นัด ระบบจัดการของพวกเขาเป็นอย่างไร? สโมสรที่ได้แชมป์ลีกมากที่สุด 9 สมัยอย่าง ชอนบุก ฮุนได มอเตอร์ส ทำไมถึงเข้าสู่ช่วงขาลง? ความพร้อมล่าสุดของพวกเขาในการดวลกับ แบงค็อก ยูไนเต็ด ยังมีขุมกำลังที่น่ากลัวเช่นใดบ้าง? ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ลีกอาชีพช่วยพัฒนาฟุตบอลองค์รวม
สโมสรฟุตบอลใน เค ลีก 1 จะได้รับการสนับสนุนจากตระกูลนักธุรกิจที่มีเงินกับอำนาจ หรือกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ ซึ่งมีชื่อเรียกกลุ่มนี้ว่า ‘แชโบลส์’ ยกตัวอย่างเช่น ฮุนได เฮฟวี่ อินดัสตรี ที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยมีทาง ชุง มอง-จุน ประธานบริษัทเป็นหัวเรือ ซึ่งให้การสนับสนุนสโมสร อุลซาน ฮุนได แชมป์ลีกปีล่าสุดอยู่ในขณะนี้
ระบบการแข่งขันในลีกสูงสุดอย่าง เค ลีก 1 ปรับเป็นรูปแบบที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ในปี 2013 ที่ลงตัวแล้ว โดยจะแบ่งโปรแกรมออกเป็นสองช่วงคือ ฤดูกาลปกติ รอบแรก แข่งขันแบบพบกันหมด 3 ครั้งทุกทีม พอจบรอบนี้จะจัดอันดับ 1-6 ไปเล่นเพลย์ออฟแบบพบกันหมด 5 เกมเพื่อหาแชมป์ (นำแต้มไปรวมกับฤดูกาลปกติ 33 นัด) โดยอันดับ 1-3 จะได้ไปเล่นในรายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก
ดังนั้นบางครั้งหากทีมที่สามารถการันตีอันดับ 1-6 ได้เร็วตั้งแต่ช่วงโปรแกรมนัดที่ 22-30 เกมจะไม่ค่อยเน้นกับโปรแกรมที่เหลือตามฤดูกาลปกติมากนัก เพื่อรักษาสภาพความพร้อมของตัวผู้เล่น เตรียมตัวไว้แข่งในรอบ เพลย์ ออฟ และบอลถ้วยระดับทวีป
*** ยกเว้นแค่ ซังจู ซังมู สโมสรเดียวที่มีกองทัพทหารเป็นทีมบริหาร จึงไม่เข้าร่วมในการแข่งขันระดับชิงแชมป์ทวีป***
ส่วนอันดับที่ 6-12 จะแบ่งไปเล่นรอบ เพลย์ ออฟ แบบเจอกันหมด 5 เกมเช่นกัน ทีมที่จบอันดับที่ 12 จะตกชั้นอัตโนมัติ ทีมอันดับที่ 11 จะต้องไปเตะนัดชี้ชะตากับทีมจาก เค ลีก 2 ในอันดับที่ 2-4 ที่แข่งขันในรอบ เพลย์ ออฟ จนได้ผู้ชนะ เพื่อหาทีมเลื่อนชั้นและตกชั้นอีกหนึ่งทีม
เมื่อสโมสรต่างๆ ในประเทศตั้งอยู่ตามเมืองชั้นนำตามที่กล่าวไปข้างต้น ก็สามารถกระจายรายได้ให้กับประชากรในถิ่นฐานเหล่านั้นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญที่เป็นแลนด์มาร์ก หรือการขายสินค้าท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องแฟนบอลเข้าสนามไปชมการแข่งขัน เค ลีก ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่บ้าง เพราะมีกีฬา ‘เบสบอล’ ที่มาแย่งความนิยม แต่พวกเขาก็ยังมีเงินทุนสนับสนุนจากสปอนเซอร์หลักอย่างกลุ่มแชร์โบลส์ คอยสนับสนุนเงินทุนการทำทีม
ยิ่งไปกว่านั้นการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของ เค ลีก แม้ว่าจะได้มูลค่าไม่มากจากรายงานการอ้างอิงที่เปิดเผยออกมาในปี 2019 แต่การแนบแพ็คเกจขายพร้อมกับทีมชาติเกาหลีใต้ ยังสามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึง 20 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 712 ล้านบาท) ต่อปี
ซึ่งนับตั้งแต่แข่งขันกันมา ชอนบุก ฮุนได มอเตอร์ส คือ สโมสรที่ประสบความสำเร็จเป็นแชมป์ เค ลีก 1 สูงสุดที่ 9 สมัย มีนักเตะชื่อดังที่เคยค้าแข้งด้วยมากมาย อาทิ ลี ดอง-กุ๊ก อดีตกองหน้าทีมชาติเกาหลีใต้ ที่ติดทีมชาติไปถึง 104 เกม และ โช กยู-ซอง กองหน้าวัย 25 ปี ชุดลุยฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด ที่เพิ่งจะย้ายไปเล่นกับ มิดทิลแลนด์ ในลีกฟุตบอลประเทศเดนมาร์ก
ส่วนสโมสรอื่นๆ ก็มีการปั้นนักเตะเพื่อส่งออกไปเล่นในยุโรปมากมาย ซึ่งอนาคตของดาวรุ่งแต่ละคนขึ้นอยู่กับการไปทดสอบฝีเท้ากับทีมต่างๆ ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ซน เฮือง-มิน ดาวยิงจากสโมสร ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ก็ไม่เคยเล่นฟุตบอลอาชีพใน เค ลีก แต่ข้ามขั้นไปเล่นกับ ฮัมบูร์ก ในเยอรมัน เลย
ขาลงของ ‘ชอนบุก’ อดีตแชมป์สูงสุด
ตั้งแต่ฤดูกาล 2017-2021 สโมสรยักษ์ใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้อย่าง ชอนบุก ฮุนได มอเตอร์ส คว้าแชมป์ติดต่อกันได้ถึง 5 สมัย เรียกได้ว่าครองความยิ่งใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ศักยภาพทีมเหนือกว่าคู่แข่งที่เบียดแย่งแชมป์มาตลอดอย่าง อุลซาน ฮุนได อยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตามซีซั่น 2022 ผลงานของ ชอนบุก กลับไม่สามารถรักษามาตรฐานเช่นเดิมได้ เนื่องจากพวกเขาพะวงถึงการผ่านเข้าชิงแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ทะลุเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ แล้วต้องชนกับ อูราวะ เรด ไดมอนส์ ที่กลายเป็นแชมป์ในบั้นปลาย หลังเอาชนะการดวลจุดโทษพวกเขาไปได้ด้วยสกอร์ 3-1
พอกลับมาเล่นเกมลีกหลังจากความพ่ายแพ้ ชอนบุก เกิดอาการช็อตเสมอ 3 นัดติดต่อกันกับ โปฮัง, ซังจู และ เอฟซี โซล ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลกับตารางคะแนนในรอบ เพลย์ ออฟ ที่ทำให้พวกเขาเร่งไม่ทัน เสียแชมป์ลีกให้กับ อุลซาน ด้วยคะแนนที่ห่างเพียงแค่สามแต้ม
ถ้าเทียบความผิดหวังทั้งหมดที่เกิดขึ้นในซีซั่นก่อน ชอนบุก ที่เคยไปไกลถึงระดับแชมป์ลีก 9 สมัย และแชมป์ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก 2 สมัย ในปี 2006 กับ 2016 รวมไปถึงรองแชมป์ในปี 2011 ย่อมทำให้แฟนบอลของพวกเขาคาดหวังผลงานในฤดูกาลนี้ว่าจะกลับมาได้ดีกว่าเดิม
ปัจจุบันโควต้าในการลงทะเบียนนักเตะต่างชาติของ เค ลีก ปรับเปลี่ยนมาเอื้อให้กับการทำผลงานชิงแชมป์ระดับเอเชียมากขึ้น คือ ใช้นักเตะต่างชาติลงทะเบียนได้ทั้งหมด 6 คน แบ่งเป็นชาติใดก็ได้ 5 คน และนักเตะเอเชียอีก 1 คน ส่งลงสนามพร้อมกันได้คราวละ 5 คน ซึ่งไปสอดคล้องใกล้เคียงกับการเล่นในศึก เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก
อย่างไรก็ตามผลงานของ ชอนบุก ฤดูกาลนี้ในการออกสตาร์ท 7 นัดแรกนั้นย่ำแย่เอามากๆ หล่นไปอยู่อันดับที่ 7 ของตารางคะแนนแบบน่าเหลือเชื่อ แทบจะหมดลุ้นแชมป์ในปีนี้ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะเหลือเกมในฤดูกาลปกติอีกเพียง 1 นัด
ฟอร์มของพวกเขาย่ำแย่จนแฟนบอลของทีมรับไม่ไหว เลือกที่จะทำการประท้วงบอร์ดบริหาร ที่ไม่ยอมปลด คิม ซาง-ซิก เทรนเนอร์คนเก่าออกจากตำแหน่งเสียที ทั้งที่แนวทางการทำทีมของเขาในซีซั่นนี้ล้วนมีแต่ข้อกังขา
ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบการเล่นที่ไม่มีแผนแน่นอน เลือกใช้ทั้งแผน 4-2-3-1, 4-1-4-1, 4-4-2 และ 3-4-3 แถมยังจับนักเตะตัวหลักหลายรายไปเล่นในตำแหน่งที่ไม่ถนัด ยกตัวอย่างเช่น เมียง ซอง-อุง ที่เป็นมิดฟิลด์ตัวกลางแท้ๆ แต่กลับถูกโยกไปเล่นเป็นวิงแบ็คขวา
ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรนักเตะของ ซาง-ซิก เป็นการพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เนื่องจากทีมเจอวิกฤติอาการบาดเจ็บของนักเตะเล่นงานนับ 10 ราย กว่าจะทยอยกลับมาช่วยทีมได้ก็ไม่สามารถกู้สถานการณ์ได้ทัน
ท้ายที่สุดบอร์ดบริหารก็ไม่สามารถทนกระแสต่อต้านของแฟนบอลได้ไหว ยอมปลด ซาง-ซิก ออกจากตำแหน่ง แล้วดึงเอาตัวของ คิม โด-ฮุน เข้ามารักษาการณ์แทนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แต่ผลงานของทีมก็ยังไม่ดีขึ้น ก่อนจะไปได้ตัว แดน เปเตรสคู อดีตนักเตะชื่อดังของ เชลซี มาทำทีมอยู่ในขณะนี้ แต่สถานการณ์ของทีมก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่างจากเดิม ยืนยันได้จากตารางคะแนนที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
สภาพทีมในปัจจุบัน
เปเตรสคู กุนซือชาวโรมาเนียวัย 55 ปี หลังผันตัวมาเป็นโค้ช ผ่านประสบการณืในการคุมทีมมามากมายนับสิบสโมสร รวมทั้งในยุโรปและเอเชีย อาทิ ราปิด บูคาเรสต์ (โรมาเนีย), วิสล่า คราคอฟ (โปแลนด์), ไดนาโม มอสโก (รัสเซีย), ซีเอฟอาร์ คลูจ (โรมาเนีย), อัล นาสเซอร์ (ยูเออี) และ เจียงซู ซู่หนิง (จีน)
ผลงานการคว้าแชมป์ในการเป็นโค้ช เคยพา ยูนิเรีย เออร์ซิเชนี่ (โรมาเนีย) เป็นแชมป์บอลลีก 1 สมัย, คูบาน คราสโนดาร์ (รัสเซีย) เป็นแชมป์ลีกรอง 1 สมัย, เจียงซู ซู่หนิง (จีน) เป็นแชมป์ เอฟเอ คัพ 1 สมัย และ ซีเอฟอาร์ คลูจ (โรมาเนีย) เป็นแชมป์ลีก 5 สมัย พร้อมกับได้รางวัลผู้จัดการทีมยอดเยี่ยมลีกโรมาเนีย 5 ครั้ง
ระบบการเล่นที่ เปเตรสคู ถนัดและชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ 4-3-3 แต่จากปัญหาสภาพทีมของ ชอนบุก เลยจำต้องปรับเปลี่ยนตามหน้างานเป็น 4-5-1, 4-2-3-1 หรือ 4-4-2 สถิติการคุมทีมของ เปเตรสคู นับจนถึงตอนนี้ 16 เกม ชนะไป 7 นัด เสมอ 4 นัด และแพ้ 5 นัด ต้องยอมรับกันตามตรงว่าถ้าวัดจากโปรไฟล์ที่ผ่านมา ยังทำงานได้ไม่น่าประทับใจนัก
แม้ผลงานในบอลลีกจะไม่เป็นดั่งใจ แต่ยังเหลือบอลถ้วย เอฟเอ คัพ ที่เข้าถึงรอบรองชนะเลิศให้ลุ้นแชมป์ รวมไปถึงรายการ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ที่เปิดหัวสวยด้วยการเปิดบ้านเอาชนะ คิตฉี (ฮ่องกง) แบบเฉียดฉิว 2-1
สภาพความพร้อมของนักเตะของ ชอนบุก หากยึดจากเกมที่ลงแข่งกับ คิตฉี เป็นหลัก จะเน้นความแน่นอนด้วยการเล่นระบบ 4-2-3-1 มีผู้เล่นที่น่าจับตามองตามตำแหน่ง ดังนี้
แนวรับมีทาง ฮอง จอง-โฮ แนวรับกัปตันทีมตัวเก๋าวัย 34 ปี ลงบัญชาการเกมป้องกันในตำแหน่งเซนเตอร์แบ็ค ซึ่งประสบการณ์ของเขานั้นล้นเหลือ เคยผ่านเกมระดับทีมชาติชุดใหญ่ของเกาหลีใต้มาแล้ว 43 นัด โดยคู่หูถ้าใช้ตัวต่างชาติจับคู่ด้วยอาจเป็น โทมัส เปตราเซ็ค เซนเตอร์แบ็ค ที่มีความสูงถึง 199 เซนติเมตร เคยติดทีมชาติสาธารณรัฐเช็กชุดใหญ่มาแล้ว 1 เกม
ด้านกองกลางตัวปัดกวาดหน้าแผงหลังมีหัวใจเป็นนักเตะโควต้าต่างชาติอย่าง นานา บัวเต็ง กองกลางชาวกาน่าวัย 29 ปี ที่เคยเป็นอดีตนักเตะเยาวชนของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ส่วนหน้าที่การสร้างสรรค์เกมรุกจะตกเป็นของ จุน อามาโนะ เพลย์เมคเกอร์วัย 32 ปีชาวญี่ปุ่น ที่ยืมตัวมาจากสโมสร โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส และเคยมีประสบการณ์ไปค้าแข้งในลีกยุโรปกับ โลเคเรน (เบลเยี่ยม) (ตลกร้ายเป็นปีที่อุ้มได้แชมป์ เจ ลีก 2019)
ส่วนกองหน้าตัวเลือกอันดับหนึ่งหนีไม่พ้น กุสตาโว่ ดาวยิงชาวบราซิลวัย 29 ปี ที่ทุ่มซื้อมาจาก โครินเธียนส์ สโมสรดังจากลีกบราซิล ด้วยค่าตัวสูงถึง 2.5 ล้านยูโร หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 97.375 ล้านบาท ซึ่งฤดูกาลนี้ยิงไปแล้ว 7 ลูกรวมทุกรายการ
โดยมีทางเลือกเพิ่มเติมเป็นสองตัวรุกชาวบราซิลอย่าง ราฟา ซิลวา แนวรุกสาระพัดประโยชน์อดีตนักเตะจากสโมสร ครูไซโร่ ที่ทำไปแล้ว 3 ประตู กับ 1 แอสซิสต์ และ อังเดร หลุยส์ ตัวริมเส้นวัย 26 ปี ที่ทุ่มซื้อมาจาก กูยาบ้า ในปี 2022 ด้วยค่าตัวกว่า 91.5 ล้านบาท เก็บไว้เป็นอาวุธลับในการพลิกเกม
ต้องมาลุ้นกันว่า แบงค็อก ยูไนเต็ด จะสามารถฉวยโอกาสระหว่างที่ ชอนบุก เป็นช่วงขาลง แล้วเก็บชัยชนะเป็นนัดที่สองติดต่อกันในรายการชิงแชมป์เอเชียได้หรือไม่? แต่เชื่อได้เลยว่าฝั่งทีมเยือนจากเกาหลีใต้ คงจะเน้นกับรายการนี้ไม่น้อย เพราะปีก่อนสามารถทะลุไปถึงรอบรองชนะเลิศ แถมบอลลีกก็ไม่มีอะไรให้ลุ้น เล่นเหมือนปล่อยไปตามยถากรรม เนื่องจากเพิ่งจะพ่าย แดกู คาบ้านมาในเกมล่าสุด ด้วยสกอร์ 1-3
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://onefootball.com/fr/news/whats-new-in-k-league-in-2023-36663523
https://en.wikipedia.org/wiki/K_League
https://en.wikipedia.org/wiki/Jeonbuk_Hyundai_Motors
http://www.kleagueunited.com/2023/04/7-rounds-7-points-and-several-problems.html
http://www.kleagueunited.com/p/about_6.html
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ตอบทุกข้อสงสัย : สัมภาษณ์พิเศษ ‘เบน เดวิส’ แข้งอารมณ์ศิลปินที่ใครก็มองว่า ‘ขี้เกียจ’ ?