เอเย่นต์ ที่มีใบอนุญาตของ ฟีฟ่า มีประโยชน์จริงหรือไม่สำหรับวงการฟุตบอลไทย ?

เอเย่นต์ ที่มีใบอนุญาตของ ฟีฟ่า มีประโยชน์จริงหรือไม่สำหรับวงการฟุตบอลไทย ?
ณัฐพล อ่วมเรืองศรี

จากการที่ ฟีฟ่า หรือ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ มีความคิดที่จะจัดระเบียบผู้แทนนักกีฬาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยการเปิดรับสมัครสอบ “ฟีฟ่า เอเย่นต์” สำหรับบุคคลทั่วไปในการเป็นตัวแทนอย่างถูกต้องให้กับนักกีฬาหรือสโมสรต่างๆ ทั่วโลก ทำให้มีผู้สนใจเข้ารับการสอบคัดเลือกครั่งนี้ในประเทศไทยถึง 15 คน ที่ผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติ

แล้วจะมีการเปิดรับคัดเลือกผู้สมัครรอบที่สองระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 1 กรกฎาคม ซึ่งจะมีตัวกฏ ฟีฟ่า เอเย่นต์ เรกูเลชั่น เป็นระเบียบข้อบังคับที่ใช้กันอย่างสากล เริ่มใช้เพื่อเป็นการปกป้องกลุ่มเอเย่นต์ที่มีใบอนญาต ให้ดำเนินงานได้อย่างราบรื่น ส่วนทางเอเย่นต์ที่ไม่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ หากทำผิดกฏดังกล่าว ก็ต้องโดนบทลงโทษไปตามระเบียบ

PHOTO : MGRONLINE

หน้าที่ของเอเย่นต์นักเตะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทำหน้าที่เป็นตัวแทนการเจรจาของนักเตะ เพื่อติดต่อเรื่องการโยกย้ายสโมสร หรือ ดูแลในส่วนข้อสัญญา เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับลูกค้าของพวกเขา ช่วยเรื่องการเดินทางเข้าประเทศ ทำเอกสารและจัดการสัญญาต่างๆ ไม่ให้เกิดข้อเสียเปรียบ

อย่างไรก็ตามเอเย่นต์รุ่นแรกของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่สอบผ่านใบอนุญาตการทำงานส่วนนี้ตั้งแต่ปลายปี 2010 กลับมีคนที่ล้างมือออกจากวงการไปแล้ว เนื่องจากเหตุผลในหลายๆ ด้าน ที่มันไม่ได้สวยหรูกับการทำงานที่ไม่เป็นมืออาชีพในลีกบ้านเรามากนัก

PHOTO : FA THAILAND

ความแตกต่างของเอเย่นต์ที่ถูกต้อง กับกลุ่มที่ไม่มีใบนุญาตคืออะไร ข้อได้เปรียบในการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการกับฟีฟ่ามีส่วนช่วยเหลือในส่วนใดบ้าง ทีมงาน คิดไซด์โค้ง ได้มีการต่อสายสอบถามโดยตรงเกี่ยวกับประเด็นนี้ไปยัง คุณโดม - ยศรัณย์ โควสุรัตน์ เกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการนี้ในทุกประเด็นที่เกริ่นนำมา ซึ่งคำตอบของเขาจะออกมาเป็นเช่นไร ร่วมรับรู้ไปพร้อมกันกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง

ขั้นตอนการสอบและค่าใช้จ่าย

จุดเริ่มต้นของ พี่โดม ในการจะเลือกเส้นทางไปสู่วงการเอเย่นต์ นั้นมีพื้นเพมาจากการเรียนจบปริญญาโทด้านการจัดการกีฬา มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาทำงานกับ บริษัท สยามสปอร์ต ซิดิเคท จำกัด มหาชน หรือที่แฟนๆ รู้จักกันในนาม สยามกีฬา ฝ่ายพัฒนาการตลาด

ประกอบกับช่วงนั้น สยามสปอร์ต มีทีมฟุตบอลที่รู้จักกันดีอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด อยู่ในมือ คุณยศรัณย์ มองว่าการประกาศสอบเอเย่นต์ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจะประสบความสำเร็จในอนาคต แล้วน่าจะนำมาใช้ประโยชน์กับงานของตัวเองได้ด้วย จึงเลือกที่จะตัดสินใจลองดูสักตั้ง เพราะดูตรงสายกับความรู้ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม

พี่โดม เปิดเผยคร่าวๆ ถึงรายละเอียดในการสอบเอาไว้ว่า

“ค่าสมัครสอบนั้นไม่แพงเลยในยุคนั้น อาจเป็นเพราะว่าพี่เป็นรุ่นแรกด้วย แต่จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้แล้วเพราะมันนานมาก แต่อยู่ที่หลักพัน พอสอบผ่านก็ต้องจ่ายค่าประกัน เพื่อเป็นการปกป้องตัวเองตามกฏของฟีฟ่า เผื่อไว้ในกรณีที่มีปัญหากับนักเตะหรือสโมสร”

วิดีโอฮธิบายถึงการสอบ ฟีฟ่า เอเย่นต์
“ข้อสอบมันจะมีทั้งหมด 20 ข้อ เป็นทั้งแบบช้อยส์และข้อเขียนปนกันไป ถามเกี่ยวกับกฏเกณฑ์การซื้อ-ขายผู้เล่น ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล มันจะมีเอกสารที่ครอบคลุมข้อมูลให้ไปดาวน์โหลดมาศึกษาได้เลยโดยตรงจากเว็บไซต์ของ ฟีฟ่า ชื่อว่า Law of a player transfer”
“ข้อสอบ 20 ข้อ จะมาจาก ฟีฟ่า 15 ข้อ ส่วนอีก 5 ข้อจะเป็นของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด”

จำนวนผู้สมัครสอบในปีนั้นถือว่าได้รับการตอบรับดีมาก มีคนเข้าสอบประมาณเกือบ 100 คนได้ เพียงแต่คนที่สอบผ่านมีเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นที่แย่ที่สุด สำหรับวงการเอเย่นต์ในประเทศไทย

ซึ่งปัจจัยที่มันแย่กว่านั้น คือ ความนิยมของทีมในบ้านเราในการใช้คอนเนคชั่น เส้นสาย จากเอเย่นต์ที่ไม่ได้มีใบอนุญาติต่างหาก ที่ทำให้เอเย่นต์ที่มีใบอนุญาตแบบถูกต้อง ไม่ได้ทำงานอย่างสะดวกสบาย คุ้มค่ากับการที่อุตส่าห์ไปสอบจนได้รับใบประกอบวิชาชีพมาครอง

ประโยชน์ของใบอนุญาต

พี่โดม บอกเล่าจากประสบการณ์ที่เจอมาด้วยตัวเองว่า ธุรกิจฟุตบอลในบ้านเรา มันเป็นเรื่องของคอนเนคชั่นล้วนๆ เลย การเจรจากันหลังบ้านด้วยความรู้จักมักจี่แบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องทำตามกฏเกณฑ์เสมอไป

กลายเป็นว่าข้อได้เปรียบเดียวของ เอเย่นต์อย่างถูกต้องจากฟีฟ่าในไทย คือ การมีชื่ออยู่ในเว็บอย่างเป็นทางการ Fifa.com เป็นการการันตีว่า ทำงานได้อย่างถูกต้อง และสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนักเตะทั่วโลก เนื่องจากต่างคนต่างมีฐานข้อมูลอยู่ในระบบ

PHOTO : FA THAILAND

ข้อดีของการรวมกลุ่มกันของเอเย่นต์ที่ถูกต้องจากทางฟีฟ่า คือ สามารถสร้างคอนเนคชั่น ติดต่อหากันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว คุยกันโดยตรงได้เลยไม่ต้องไปผ่านตัวกลางใดๆ ทั้งเอเย่นต์ด้วยกันหรือจะเป็นนักเตะเองก็ตาม การเจรจาระหว่างกันมันดูมีเครดิตการันตีมากกว่าเอเย่นต์ที่ไม่มีใบรับรอง ทำให้มืออาชีพจากต่างประเทศอยากคุยงานกับเรามากกว่า

โดยตัวของ คุณยศรัณย์ เล่าให้ฟังถึงการใช้ใบประกอบวิชาชีพนี้จริงๆ เอาไว้ว่า

“พอได้ใบมาพี่ก็เริ่มงานในฤดูกาล 2011 เลย นักเตะคนแรกที่พี่ติดต่อมาให้กับทีม หนองคาย เป็นกองหน้าต่างชาติชาว บูร์กินาฟาโซ ชื่อว่า เจอร์เมน ปาติโอโน่ เล่นอยู่ระดับ ไทยลีก สอง รู้สึกจะเป็นดาวซัลโวของทีมด้วยในปีนั้น”
PHOTO : DZFOOT

“ต่อมาเลกที่สองพี่เซ็นประตูให้กับทีม ภูเก็ต ในดิวิชั่น 1 ชื่อว่า โจนาธาน มาติจาส พอปี 2012 ก็ย้ายไปเล่นให้กับ สงขลา เอฟซี แล้วปี 2013 เขาก็ได้เล่นในลีกสูงสุด เป็นดีลไทยลีกคนเดียวของพี่เลย นอกนั้นจะเป็น T2 หรือ T3 ทั้งหมด”

“ตอนนั้นนักเตะไทยเองยังไม่เข้าใจระบบเอเย่นต์เหมือนในสมัยนี้ เลยไม่ค่อยใช้กันเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง”

อย่างไรก็ตามถ้าพูดกันตรงๆ พี่โดม มองว่า เอเย่นต์ที่ไม่มีใบอนุญาต ก็สามารถทำงานในประเทศไทยได้ตามปกติ แถมยังได้รับความนิยมจากสโมสรในบ้านเรามากกว่าเสียอีก เนื่องจากสโมสรในไทย มีปัญหาเรื่องการยกเลิกสัญญากับนักเตะเป็นประจำ ซึ่งถ้าใช้เอเย่นต์แบบถูกกฏ ทีมจะไม่สามารถทำแบบนั้นได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

บางทีก็มีกลุ่มเอเย่นต์ที่ไม่ขึ้นทะเบียน แอบไปแฝงทำงานอยู่ในสโมสรต่างๆ รับบทบาทหน้าที่ต่างกันออกไป ฟีดแบ็คจากเอเย่นต์แบบถูกต้องในต่างประเทศ ก็ค่อนข้างแอนตี้กับกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ในเมื่อตัวองค์กรใหญ่อย่าง ฟีฟ่า ไม่ได้มีมาตรการออกมาป้องกันการรับงานแบบไม่ถูกกฏ

พี่โดม เปิดเผยถึงความแตกต่างกับเอเย่นต์ขึ้นทะเบียนกับไม่ขึ้นทะเบียนว่า

“เอเย่นต์ที่ไม่ได้มีใบอนุญาต เขาขอแค่ขายนักเตะ ดีลนักเตะให้ได้ ให้จบ จบแล้วก็จบกันรับเงินไป”

“ส่วนเอเย่นต์ที่ถูกต้องก็ต้องรับหน้าที่ดูแลนักเตะของตัวเองให้ดีที่สุด หากมีปัญหาอะไรกับสโมสรเราก็จะเข้าไปเป็นตัวกลางในการจัดการให้ได้ จนกว่าจะหมดอายุสัญญาต่อกัน”

PHOTO : SPORTS BUSINESS INSTITUTE

“สโมสรในไทยมีปัญหาเรื่องการเงินเยอะมาก เลยชอบดีลกับเอเย่นต์ที่ไม่มีใบอนญาตมากกว่า เพราะเขาสามารถเอาเปรียบนักเตะที่ไม่มีใครช่วยได้”

“ถ้ามาติดต่อกับเอเย่นต์ที่ถูกต้องจากทางฟีฟ่า ในกรณีที่นักเตะในความดูแลของเราเกิดปัญหา เราสามารถยื่นเรื่องติดต่อไปโดยตรงได้เลย นี่คือข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่ง แล้วเบื้องต้นเราก็สามารถคุยกับสมาคมได้ก่อนเลยทันที”

แม้ว่าวงการเอเย่นต์ในช่วงแรกๆ ในประเทศไทย อาจดูไปได้ไม่สวยเท่าไหร่ เพราะมีการโดนแย่งงานจากกลุ่มคนที่ไม่มีใบอนญาตแบบถูกต้อง แต่ทางตัว พี่โดม บอกว่า กลุ่มเอเย่นต์นอกระบบ ก็มีคนที่ดีๆ เหมือนกัน มีมารยาทในการเจรจา ไม่ล้ำเส้นกันและกัน แถมยังมีบางคนที่กำลังจะสอบเข้าไปในระบบเร็วๆ นี้อีกด้วย

ซึงเอเย่นต์นอกระบบที่อ้างถึงนั้น เขามีการช่วยเหลือเอเย่นต์แบบถูกต้องที่ไม่มีงานในประเทศไทย ด้วยการดึงตัวไปเป็นหนึ่งในทีมงาน ช่วยเหลือประคับประคองกันไป มีน้ำจิตน้ำใจที่ดีต่อกันตามแบบฉบับของคนบ้านเรา

สาเหตุที่อำลาวงการ

เมื่อสอบถามถึงค่าตอบแทน เรื่องของเงินคอมมิชชั่นต่างๆ พี่โดม บอกว่าอาชีพเอเย่นต์มันก็ดีในระดับหนึ่ง สำหรับคนที่สามารถปิดดีลใหญ่ๆ ได้ บางรายบางดีลเชื่อว่ามีโอกาสได้เงินระดับ 7 หลักเลยก็มี ยกตัวอย่างเช่นเอเย่นต์นอกระบบ ที่เคยให้ความช่วยเหลือกลุ่มเอเย่นต์ที่ถูกต้องยามงานหดหาย

เงินคอมมิชชั่นต่างๆ ในยุคก่อนที่ พี่โดม ยังรับบทบาทเป็นเอเย่นต์อยู่นั้น ไม่มีข้อกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่า ห้ามเกินจำนวนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการตกลงกับตัวนักเตะเป็นรายๆ ไป สมัครใจกันที่ตัวเลขเท่าไหนก็เท่านั้น แล้วไม่มีการต้องจ่ายใดๆ ให้กับ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย หรือ ฟีฟ่า เพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากค่าประกันหลักพัน และ ค่าต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งปัจจุบันราคาต่อปีพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 600 ฟรังสวิสฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 22,944 บาท/ปีไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม พี่โดม เปิดเผยถึงสาเหตุที่เลือกจะล้างมือไปจากวงการเอเย่นต์ไว้ว่า

“หลังจากที่พี่สอบผ่านรุ่นแรก แล้วมันก็มีการสอบเอเย่นต์ต่ออีกประมาณ 5-6 ปีได้มั้ง แล้วทางฟีฟ่าก็หยุดโครงการนี้ไปนาน 5-6 ปี เพราะว่า ถ้าให้พูดตรงๆ พวกเขาก็ไม่มีมาตรการณ์เข้ามาป้องกันการทำงานของเอเย่นต์ที่ไม่ขึ้นทะเบียนได้เลย พวกเค้าก็ทำงานกันได้ตามปกติ”

“พอฟีฟ่าประกาศพักโครงการ เราก็เลยรู้สึกว่ามันไม่มีมาตรการป้องกันเรื่องนี้จริงๆ สินะ เราก็เลยหันมาโฟกัสการทำงานประจำของเราดีกว่า”

วิดีโอสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับ Fifa Agent Regulation
“พูดกันตรงๆ นะ ถ้าทาง ฟีฟ่า และ สมาคมฯ ที่เปิดสอบรอบนี้ แล้วยังไม่มีการออกกฏหรือมาตรการมาป้องกันใดๆ ที่มันได้ผลจริง ทุกอย่างมันก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีก ซึ่งพี่ก็ไม่ได้ตามข่าวแล้วจริงๆ ว่าอัพเดตไปในทิศทางที่ดีขึ้นแค่ไหน”

ปัจจุบัน พี่โดม - ยศรัณย์ หมดคุณสมบัติในการจะกลับไปสอบเป็นเอเย่นต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะหันไปทำหน้าที่ แมตช์ คอมมิชชันเนอร์ รวมไปถึงทีมงานผู้ช่วยระบบ VAR ใน ไทย ลีก ซึ่งยังไม่มีบุคคลากรที่เพียงพอต่อการใช้งานมากเท่าไหร่นัก

อย่างไรก็ตามจากการถ่ายทอดประสบการณ์ตรง ที่เจอมากับตัวเองให้กับทีมงานได้รับรู้แล้วส่งต่อไปให้กับผู้ที่กำลังสนใจอาชีพนี้อยู่ คงพอจะเป็นแนวทางให้ได้ฉุกคิดได้ว่า ไม่มีค่าตอบแทนสูงใดๆ จะได้มาง่ายๆ แล้วปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ในวงการฟุตบอลบ้านเรา ยังมีเบื้องลึกเบื้องหลังอีกมากที่แฟนบอลยังไม่รับรู้

ดังนั้นการพัฒนาวงการฟุตบอลไทย มันต้องไปแบบเป็นองค์รวม จะดีแค่บางส่วนนั้นไม่ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะก้าวไปข้างหน้าหนึ่ง แล้วก็กลับมาถอยหลังสองก้าวเหมือนเคยๆ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

https://www.transfermarkt.com/jonathan-matijas/profil/spieler/72125

https://agents.fifa.com/home

การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

https://agents.fifa.com/home

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ