เป็นรอง ของถนัด : การสู้สุดใจของทีมชาติญี่ปุ่นในบอลโลก 2022 ราวหลุดมาจากมังงะ
"ห้ามละทิ้งความหวังจนถึงวินาทีสุดท้าย ถ้าล้มเลิกความหวังการแข่งขันก็จะสิ้นสุดลงทันที" มิตสึโยชิ อันไซ โค้ชของมัธยมโชโฮคุ กล่าวเอาไว้
กลายเป็นอีกแมตช์แห่งความทรงจำสำหรับทีมชาติญี่ปุ่น หลังพลิกสถานการณ์เอาชนะสเปนไปได้ 2-1 ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลก 2022 ในฐานะแชมป์กลุ่ม
ทั้งนี้ นอกจากการเอาชนะแชมป์โลกได้ทั้งสองทีมแล้ว สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงคือความใจสู้ของพวกเขา ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นรองสุดขีด ราวหลุดออกมาจากมังงะ
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ติดตามไปพร้อมกับ “Think Curve - คิดไซด์โค้งเขียนให้อ่าน”
ทีมรองบ่อน
‘ซามูไรบลู’ ทีมชาติญี่ปุ่นเป็นชาติที่มุ่งมั่นกับฟุตบอลโลกมาตลอด พวกเขามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการคว้าแชมป์โลกภายในปี 2050 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แผน 100 ปี” ของพวกเขา
อย่างไรก็ดี เส้นทางของพวกเขายังเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะนับตั้งแต่ที่พวกเขาเข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายเวิลด์คัพ ผลงานที่ดีที่สุดของขุนพลซามูไร คือการถูกหยุดไว้เพียงแค่รอบ 16 ทีมสุดท้ายมาโดยตลอด
ไม่ต่างจากฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เมื่อญี่ปุ่น ถูกจับฉลากเข้ามาอยู่ในกลุ่มที่โหดหิน จากการมีสองอดีตแชมป์โลกอย่าง เยอรมัน และสเปน เป็นเพื่อนร่วมกลุ่ม โดยมี คอสตาริกา เป็นคู่แข่งที่ดูจะเบาที่สุด
แม้ว่ามองจากภายนอก แค่โอกาสในการผ่านเข้ารอบน็อคเอาท์ของพวกเขาก็ดูเลือนลางแล้ว แต่ ฮาจิเมะ โมริยาสุ กุนซือของญี่ปุ่นกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะเขามองไปถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ญี่ปุ่นไม่เคยไปถึงมาก่อนในประวัติศาสตร์
“เป้าหมายของเราคือเข้าไปถึงรอบก่อนรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อย เรารู้ว่ามันไม่ง่าย” โมริยาสุ กล่าวก่อนทัวร์นาเมนต์กาตาร์ 2022 จะเริ่มขึ้น
โมริยาสุ ไม่ได้แค่พูด แต่เขาทำให้เห็นตั้งแต่เกมนัดเปิดสนาม เมื่อญี่ปุ่นที่ถูกเยอรมันออกนำไปก่อนในครึ่งแรก สามารถยิงสองประตูรวดในครึ่งหลัง พลิกแซงเอาชนะแชมป์โลก 4 สมัยไปอย่างเหลือเชื่อ
ในตอนนั้นเส้นทางของพวกเขาดูจะสดใส เพราะแค่เอาชนะ คอสตาริกา ในนัดที่ 2 ก็จะผ่านเข้ารอบทันที โดยไม่ต้องไปลุ้นในเกมสุดท้ายกับสเปน
ทว่า มันกลับไม่ได้เป็นอย่างคิด ญี่ปุ่น ที่ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในเกมกับอินทรีเหล็ก กลายเป็นเหมือนคนละทีมในเกมดวลกับคอสตาริกา พวกเขาจ่ายบอลผิดพลาด ไม่สามารถเข้าพื้นที่สุดท้ายของคู่แข่งได้ ก่อนจะมาโดนทีเด็ดของขุนพลกล้วยหอมในช่วงท้ายเกม พ่ายไปอย่างสุดช็อค 0-1
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สถานการณ์ของญี่ปุ่นแขวนอยู่บนเส้นด้าย พวกเขาต้องเอาชนะสเปนในนัดสุดท้ายจึงจะการันตีเข้ารอบ หรือถ้าเสมอก็ต้องลุ้นให้เยอรมันเสมอกับคอสตาริกา ด้วยสกอร์ที่น้อยกว่าพวกเขา
แต่ความเป็นจริงมันแย่กว่านั้น เมื่อสเปน กลายเป็นฝ่ายที่ครองบอลไว้ได้ตลอดครึ่งแรกและได้ประตูออกนำอย่างรวดเร็ว จาก อัลวาโร โมราตา ในนาทีที่ 11 แถมในช่วงเวลาเดียวกัน เยอรมัน ยังออกนำคอสตาริกา ซึ่งถ้าจบแบบนี้ พวกเขาจะตกรอบทันที
อย่างไรก็ดี ซามูไรบลู ไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น เพราะทันทีที่เริ่มครึ่งหลัง พวกเขาก็ฮึดเปิดเกมรุกเข้าใส่อย่างรวดเร็ว และมาได้ 2 ประตูรวด ในเวลาห่างกันแค่ 3 นาที จาก ริตสึ โดอัน และ อาโอ ทานากะ คว้าชัยเหนือทีมใหญ่ได้อีกครั้ง
อะไรที่ทำให้ญี่ปุ่นทำได้แบบนี้?
พลังแฝงเมื่อเจอคู่แข่งที่แข็งแกร่ง
นอกจากแทคติกของ โมริยาสุ ที่ใช้การตั้งรับแล้วหาจังหวะสวนกลับ อีกกุญแจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นทำได้ดีในการพบกับทีมที่ชื่อชั้นเหนือกว่า คือพลังใจที่แข็งแกร่งของพวกเขา
ไม่ว่าจะเป็นเกมกับเยอรมันหรือสเปน ญี่ปุ่นล้วนเป็นทีมที่ครองบอลน้อยกว่า และถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขาก็สู้ไม่ถอย พยายามเล่นอย่างอดทนและมีสมาธิ จนได้ชัยชนะประวัติศาสตร์ในบั้นปลาย
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะนักกีฬาญี่ปุ่นหลายคนต่างเคยมีประสบการณ์ในสิ่งนี้มาตั้งแต่เป็นนักเรียน ภายใต้ระบบชิงแชมป์แห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์ไฮ หรือโคชิเอ็ง
เนื่องจากทัวร์นาเมนต์กีฬานักเรียนญี่ปุ่น มักจะใช้ระบบคัดเลือกแบบหนึ่งจังหวัดหนึ่งโรงเรียน (บางจังหวัดใหญ่อาจได้ 2 โรงเรียน) มาเล่นในรอบสุดท้าย จึงทำให้ผู้ชมมักจะได้เห็นทีมเต็ง เจอกับทีมที่ไร้ดีกรี หรือทีมที่ผ่านเข้ามาเล่นเป็นครั้งแรกอยู่เสมอ
แม้ว่าหลายครั้งที่ผลการแข่งขันจะออกมาว่าทีมเต็งเอาชนะทีมไร้ดีกรีอย่างขาดลอย แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ทีมรองบ่อน สามารถสร้างปาฏิหาริย์เอาชนะทีมใหญ่ได้ราวกับมีพลังแฝง
ตัวอย่างที่ชาวไทยน่าจะคุ้นหูที่สุดคือการแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติฤดูร้อน หรือโคชิเอ็งเมื่อปี 2018 ที่ทีมเบสบอลของโรงเรียนเกษตรคานาอาชิ ม้านอกสายตาจากจังหวัดอาคิตะ รวมใจกันปราบโรงเรียนเต็ง จนเข้าชิงชนะเลิศ แม้สุดท้ายพวกเขาจะพ่ายไป แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากทั้งประเทศ
“ปัจจัยสำคัญคือทัวร์นาเมนต์หน้าร้อน (โคชิเอ็ง) ประกอบไปด้วยโรงเรียนที่เป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัดที่มาเล่นในทัวร์นาเมนต์ที่แพ้เกมเดียวตกรอบ” มาซาฮิโกะ ทาเคนากะ เลขาธิการสมาพันธ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่นอธิบาย
“นักเรียนปีสามจะได้ลงเล่นเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะออกจากชมรมและจบการศึกษาไป พวกเขาจึงต้องพยายามเต็มที่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และทุ่มเทจิตวิญญาณลงไปในทุกการเล่น”
“สิ่งนี้ทำให้เกิดดราม่าที่คาดไม่ถึง อย่างทีมของโรงเรียนรัฐบาลที่เป็นรองพลิกเอาชนะโรงเรียนเอกชนที่เหนือกว่าได้เป็นต้น”
ดังนั้น ทั้งการพลิกเอาชนะแชมป์โลกเยอรมัน และสเปน จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินคาด สำหรับผู้เล่นญี่ปุ่น พวกเขามีความมุ่งมั่นในสิ่งนี้อยู่แล้ว ก่อนจะได้รับผลแห่งความพยายามในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่พวกเขามี
ไม่ยอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย
อันที่จริง การต้องตกอยู่ในสถานการณ์เป็นรอง เป็นสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นได้รับการซึมซับมาตั้งแต่เด็ก ผ่านสิ่งที่ผู้ใหญ่หลายคนเคยมองว่ามันไร้สาระที่เรียกว่า “มังงะ”
เพราะหากกวาดตาดูจากมังงะยอดนิยมหลายเรื่องจะพบว่าผู้เขียนมักจะให้ตัวเอกของเรื่อง มีสถานะเป็นรองคู่ต่อสู้อยู่เสมอ และต้องเอาชนะเพื่อข้ามผ่านให้ได้ ซึ่งถือเป็นพล็อตคลาสสิคแนว “สู้เพื่อฝัน” ของการ์ตูนญี่ปุ่น
ตัวอย่างเช่นในเรื่อง ดราก้อนบอล ที่แก๊งค์ของตัวเอก เป็นรองฟรีซเซอร์ อย่างสุดกู่ แต่ก็ยังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะ หรือในไฮคิว คู่ตบฟ้าประธาน ที่ฮินาตะ โชโย ต้องเอาชนะกำแพงที่เรียกว่า “ส่วนสูง”
มันคือความมุ่งมั่นที่จะก้าวผ่านอุปสรรคของชาวญี่ปุ่น จากการมองว่าทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ หากมีวิธีการที่ถูกต้อง และทำให้พวกเขาไม่เคยหวาดหวั่นแม้ว่าคู่แข่งจะแข็งแกร่งแค่ไหน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปลูกฝังแนวคิด “ไม่ยอมแพ้จนถึงวินาทีสุดท้าย”
มังงะหลายเรื่อง ตอกย้ำแนวคิดในสิ่งนี้อยู่เสมอ ไล่ตั้งแต่กัปตันสึบาสะ ที่หลายครั้งตัวเอกมักจะยิงประตูได้ในช่วงท้ายเกม หรือในเรื่อง Rookies ที่โรงเรียนฟุตาโกะ ทามางาวะ ทีมของตัวเอก พลิกเอาชนะโรงเรียนเมงุโระงาวะ ในอินนิ่งสุดท้าย ในรอบคัดเลือกเพื่อไปโคชิเอ็ง
แต่คงไม่มีเรื่องไหน ได้รับการจดจำไปกว่า สแลมดังค์ โดยเฉพาะเกมที่ โชโฮคุ พบกับ เทคโนฯซังโน ในศึกอินเตอร์ไฮรอบสุดท้าย ที่ฮานามิจิ ซากูรางิ ตัวเอกของเรื่อง ที่แม้จะเจ็บหลังจากจังหวะกระแทกโต๊ะ แต่เขาก็ใช้ท่า “มือซ้ายแค่ไว้ช่วยเสริมแรง” ยิงบอลลงห่วงในวินาทีสุดท้าย ช่วยให้ทีมรองบ่อนอย่างโชโฮคุ เอาชนะแชมป์เก่าไปได้อย่างเหลือเชื่อ
"ห้ามละทิ้งความหวังจนถึงวินาทีสุดท้าย ถ้าล้มเลิกความหวังการแข่งขันก็จะสิ้นสุดลงทันที" มิตสึโยชิ อันไซ โค้ชของมัธยมโชโฮคุ กล่าวเอาไว้
แน่นอนว่าทีมชาติญี่ปุ่นก็แสดงให้เห็นในสิ่งนี้ ทั้งในเกมกับเยอรมันและสเปน หรือแม้แต่เกมที่แพ้คอสตาริกา ที่พวกเขาทุกคนต่างช่วยวิ่งช่วยไล่คู่แข่งจนถึงวินาทีสุดท้าย จนแทบไม่เห็นว่ามีนักเตะคนไหนเดินเล่น แม้จะอยู่ในช่วงท้ายเกมแล้วก็ตาม
“เรารู้ว่าเยอรมันเก่งแค่ไหน เราจึงต้องรับอย่างมั่นคง และอดทน เพื่อหาโอกาส และเราเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี” โมริยาสุ กล่าวหลังเกมเอาชนะเยอรมัน
“ในช่วงพักครึ่ง ผมบอกว่าเราอาจจะตามหลังอยู่ แต่เราต้องเหนียวแน่นจนถึงนาทีสุดท้าย เสียงนกหวีดสุดท้าย เราอาจจะเสียประตู แต่สุดท้ายเราก็ยิงได้มากว่าพวกเขา และมันไม่ใช่แค่การเล่นลูกสวนกลับ แต่เราทำประตูจากการบิวท์อัพและแสดงให้เห็นศักยภาพของเรา”
มันคือความแข็งแกร่งทางจิตใจ ที่พวกเขาได้รับการปลูกฝังและฝึกฝนมาเป็นอย่างดี และกลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ ซามูไรบลู สามารถพลิกสถานการณ์ยามเจอคู่แข่งที่เหนือกว่าในทัวร์นาเมนต์นี้ รวมถึงนัดพบสเปน เมื่อคืนที่ผ่านมา
“สเปนเป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในโลก และเราก็รู้มาก่อนเกมว่า มันต้องยากมาก และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ” โมริยาสุกล่าวกับเกมชนะสเปน 2-1
“แต่ผู้เล่นก็ต่างยืนหยัดและอดทน และพวกเขาก็มาพลิกกระแสของเกมได้ ทุกคนต่างตื่นเต้นที่เราสามารถเล่นเป็นหนึ่งเดียวได้อีกครั้ง”
ก็ต้องมารอดูว่าพลังใจเหล่านี้จะพาญี่ปุ่นไปไกลแค่ไหน ซึ่งอุปสรรคต่อไปของพวกเขาคือ โครเอเชีย รองแชมป์โลกเมื่อปี 2018 ที่เป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่มีชื่อชั้นเหนือกว่าพวกเขา
แต่ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร ความพยายามของพวกเขา ก็น่าจะทำให้ “ซามูไรบลู” เป็นหนึ่งในทีมที่น่าจดจำประจำทัวร์นาเมนต์กาตาร์ 2022 นี้อย่างแน่นอน
แหล่งอ้างอิง
https://www.gov-online.go.jp/eng/publicity/book/hlj/html/201806/201806_05_en.html
https://theathletic.com/3927712/2022/11/24/japan-germany-world-cup-qatar/
https://japannews.yomiuri.co.jp/sports/soccer-worldcup/20221202-74405/