เจ็บแบบซ้ำๆ : วิเคราะห์ ช้างศึก ยู23 โดน อินโดนีเซีย ย้ำแผลเก่าอดเข้าชิง
หลังจากทีมชาติไทย ชุดอายุต่ำกว่า 23 ปี ตกรอบรองชนะเลิศศึก AFF U23 2023 จากการถูก ทีมชาติอินโดนีเซีย ย้ำแค้นไปอีกรอบด้วยสกอร์ 1-3 ส่งผลให้แผลเก่าตอนที่แพ้นัดชิงศึกซีเกมส์ตามมาหลอกหลอน ‘โค้ชหระ’ อิสสระ ศรีทะโร และเหล่าลูกทีมแบบซ้ำไปซ้ำมา
แน่นอนว่าทัวร์นาเมนต์หลังจากนี้ของ ทัพช้างศึกจูเนียร์ ล้วนแต่เป็นรายการแสนหินล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นศึกชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก และลุ้นเหรียญในศึกเอเชี่ยนเกมส์ 2023 ซึ่งคู่แข่งที่ต้องเผชิญหน้าล้วนแข็งแกร่งกว่าในภาพรวมทั้งหมด
การบ้านของ โค้ชหระ และทีมงานสตาฟฟ์โค้ชยู-23 ย่อมหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เมื่อผลลัพธ์รายการล่าสุดไม่เป็นไปดังหวัง ทั้งที่ควรจะไปถึงรอบชิงชนะเลิศจากการที่เป็นเจ้าภาพรับหน้าเสื่อ แถมรูปเกมหลายนัดที่ผ่านมาก็มีเสียงสะท้อนจากแฟนบอล ถึงเรื่องของศักยภาพทีมที่ดูไม่แข็งแกร่งแบบที่ควรจะเป็น
จุดอ่อนของ ทีมชาติไทยยู-23 ที่ต้องปรับแก้หลังจากนี้มีอะไรบ้าง? ร่วมวิเคราะห์หาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
การบริหารจัดการ
ปฏิเสธได้ยากว่าการบริหารจัดการของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยยุคนี้ หลายเรื่องหลายราวที่ผ่านมาทั้งบอลลีกและทีมชาติ ล้วนเต็มไปด้วยปัญหาเรื่องความสับสนงงงวย เหมือนผู้ที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง แทบไม่ได้คุยไม่ได้ปรึกษากันมาก่อน
ยกตัวอย่างเช่นทัวร์นาเมนต์ AFF U23 2023 ที่ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ แต่การวางโปรแกรมดูเหมือนจะไม่ใช่ระยะเวลาที่เหมาะสมเท่าไหร่นัก เพราะเป็นช่วงที่ลีกฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย กลับมาแข่งขันกันแบบเต็มระบบช่วงแรกพอดิบพอดี
ประโยชน์ที่ควรจะได้จากการทดสอบฝีเท้าผู้เล่น การลองใช้งานนักเตะหน้าใหม่ที่นคุณภาพจริงๆ พอจะไปแข่งขันในระดับเอเชียได้แบบไม่อายกลับไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากสโมสรต่างๆ ไม่ปล่อยผู้เล่นตัวหลักที่อยู่ในแผนการทำทีมมาช่วยชาติ เพราะต้องยอมรับกันตามตรงว่ารายการนี้ไม่ใช่โปรแกรมตามปฏิทิน ‘ฟีฟ่า เดย์
แม้ว่า โค้ชหระ จะเคยให้สัมภาษณ์ไว้ ตั้งแต่เริ่มลุยงานคุมทีมช่วงแรกถึงเป้าหมายของการเตรียมทีมไว้ว่า
“เราต้องการเห็นความสัมพันธ์ภายในทีมและการตอบสนองของเด็กว่าตอบสนองแค่ไหน และข้อบกพร่องต่างๆที่เราจะได้เจอแน่ๆ มันจะชัดเจนยิ่งขึ้น”
แต่ในเมื่อผู้เล่นที่เขาสามารถเรียกตัวมาใช้งานได้นั้นไม่ใช่ตัวหลัก ไม่มีเวลาเก็บตัวเข้าแคมป์ฝึกซ้อมหลักอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ ความเข้าใจต่างๆ ของผู้เล่นเรื่องแท็คติก ความเข้าขารู้ใจกัน ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน เหมือนโปรแกรมที่ผ่านมานี้ เหมือนจัดขึ้นเพื่อตามหานักเตะมาเป็นตัวเลือกในอนาคตเพิ่มเติมมากกว่า แล้วน่าจะเป็นข้อดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่สัมผัสได้ตอนนี้
คุณภาพของนักเตะ
ในเมื่อผู้เล่นที่เรียกตัวมาใช้งานได้เป็นแค่ตัวสำรอง นักเตะที่ไม่ได้เป็นตัวหลักในแผนการทำทีม ศักยภาพฝีเท้าเป็นแค่ตัวสำรองหรือดาวรุ่ง ไทยลีก ดีสุดอาจเป็นตัวจริงขาประจำใน ไทยลีก สอง และ สาม การจะคาดหวังให้ผลงานในการแข่งขันเป็นไปตามเป้านั้นเป็นเรื่องยากมาก
ยิ่งเวลาผ่านพ้นไปเรื่อยๆ กำหนดการที่จะลงแข่งขันในรายการชิงแชมป์ระดับเอเชียใกล้เข้ามา แต่กลับไม่ได้ใช้นักเตะชุดที่ประสิทธิภาพเต็มร้อย ซึ่งจะมีโอกาสเป็นตัวหลัก “จริงๆ” มันไม่ต่างกับใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์
นักเตะหลายรายที่เรียกมาใช้งานแบบขัดตาทัพ ต้องยอมรับกันตามตรงว่า “คุณภาพไม่ถึง” ขนาดบางรายที่เป็นตัวหลักมาตั้งแต่ศึกซีเกมส์ที่ได้เหรียญเงิน ก็ยังคงดีไม่พออย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะแนวรับที่หลวมโครก พร้อมเสียประตูได้ทุกเวลาจากความเชื่องช้า, ขาดสมาธิ และ ไม่มีทีมเวิร์ค
ก่อนหน้านี้ โค้ชหระ ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ถึงสิ่งที่เขาคาดหวังจากลูกทีม ก่อนจะถึงฤดูกาลแข่งขันรายการชิงแชมป์ต่างๆ ว่า
“แน่นอนว่าสิ่งสำคัญสำหรับทีมชุดนี้ คือเรื่องของความเข้าใจ และความมีระเบียบวินัย ทั้งในและนอกสนามของนักเตะทุกคน”
“เราจะพยายามมองหาข้อดี ข้อเสียของนักเตะทุกคนที่มาให้ได้มากที่สุด เพื่อวิเคราะห์แล้วหานักเตะที่ดีที่สุด สำหรับการทำการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติต่างๆ ที่จะเข้ามาในปีหน้า”
อย่างไรก็ตามเมื่อนักเตะที่เรียกมาใช้งานได้จริง ไม่ใช่ตัวที่เขาต้องการใช้จริงๆ การวิเคราะห์ เตรียมทีม สอนเรื่องของแท็คติกต่างๆ หวังเสริมสร้างให้นักเตะเข้าใจย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะสุดท้ายแล้วตัวที่เรียกมานั้นคุณภาพไม่ถึง โอกาสที่จะได้ไปต่อนั้นน้อยกว่าครึ่ง เผลอๆ อาจจะต้องย้อนกลับไปหาชุดเดิมที่คว้าอันดับ 4 จากรายการ โดฮา คัพ ที่แทบไม่ได้ร่วมงานกันมานานหลายเดือน จนแฟนบอลแทบลืมหน้าไปหมดแล้ว
ต้องเรียนรู้จากบทเรียนเก่า
ความพ่ายแพ้ต่อ ทีมชาติอินโดนีเซีย คาบ้านของตัวเองในฐานะเจ้าภาพ แม้ว่าจะมีข้ออ้างนานับประการ แต่ก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ว่าเสียหน้า เพราะคราวนี้ถือเป็นการย้ำแผลเก่าเข้าไปอีกรอบ หลังจากชวดเหรียญทองแบบย่อยยับบนเวทีซีเกมส์
การจะพัฒนาทีมไปให้ไกลได้กว่าเดิม จำเป็นต้องนำบทเรียนที่เป็นจุดอ่อนกลับมาทบทวน วิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขจนกว่าจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งถ้าแนวทางการทำทีมของ โค้ชหระ คือ การอ้างอิงจากตัวเลขสถิติ มีทีมแจกแจงรายละเอียดแบบยิบย่อยครบทุกองค์ประกอบ ตัวเลขต่างๆ และวิดีโอการเล่นที่อัดไว้ คงเป็นหลักฐานได้ดีที่สุด
แม้ว่ารายการ AFF U23 2023 ปากแฟนบอลจะบอกว่าไม่ได้สนใจผลการแข่งขัน แต่ถ้าสื่อนำเสนอข่าวออกไปว่าแพ้ ผลกระทบที่ตามมาย่อมเป็นการวิจารณ์แบบหนักหน่วงอย่างไม่มีทางเลี่ยง ความกดดันต่างๆ ย่อมถาโถมเข้ามาแบบไม่ขาดสาย ซึ่งต้องมาลุ้นกันว่า โค้ชหระ จะรับมือกับมันได้ดีแค่ไหน ซึ่งเจ้าตัวเคยมีการพูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า
"โค้ชเองนั้นมีความกดดันอยู่แล้ว แต่โฟกัสเรื่องการทำงาน ผลแข่งขันนั้นอยากได้ แต่ขึ้นอยู่กับการแข่งขันช่วงเวลานั้นด้วย”
“อยากให้ทุกคนไปดูรายละเอียดแต่ละเกม ว่าเด็กพวกนี้พัฒนาดีแค่ไหน ไปลงในรายละเอียดอย่างการเตรียมแท็คติก เตรียมร่างกาย เตรียมทุกอย่าง เข้าใจว่าทุกคนคาดหวัง แต่จริงๆ ต้องดูว่าเป้าหมายเราอยู่ตรงไหน”
ว่ากันตามหน้าเสื่อแล้วเรื่องของการพัฒนายังไม่เห็นไปถึงไหน การเตรียมทีมก็ไม่มีเวลาเพียงพอ ผ่านมาแล้วสองทัวร์นาเมนต์แค่ระดับแชมป์อาเซียน ผลลัพธ์ยังออกมาไม่เป็นตามที่ต้องการ ยังไงสิ่งที่น่าห่วงที่สุดย่อมเป็นอนาคตของ ‘โค้ชหระ’ มากกว่าสิ่งอื่นใดจริงๆ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.matichon.co.th/sport/news_4115970
บทความที่เกี่ยวข้อง :
5 นักเตะไทยยู-23 ฟอร์มเด่น : เกมถล่มเมียนม่าร์ 3-0 เปิดหัวศึก AFF U23 2023
ข่าวและบทความล่าสุด