เซ็นกี่คนก็ได้ : ทำไมเจลีกจึงไม่กลัว ‘แข้งต่างชาติ’ เข้ามาเบียดพื้นที่นักเตะท้องถิ่น ?
ปัจจุบัน ลีกเอเชียกลายเป็นอีกหมุดหมายสำคัญสำหรับแข้งจากนอกทวีป ที่ทำให้ผู้เล่นหลากหลายเชื้อชาติพาเหรดกันมาโชว์ฝีเท้าในดินแดนแห่งนี้ และเจลีกก็คือหนึ่งในนั้น
ลีกอาชีพญี่ปุ่น ถือเป็นลีกที่มีการเปิดรับนักเตะต่างชาติมากที่สุดลีกหนึ่งของเอเชีย ด้วยกฎที่ว่าจะผู้เล่นที่ไม่ได้มีสัญชาติญี่ปุ่นเข้าทีมกี่คนก็ได้ เพียงแต่จะมีชื่อลงเล่นในแต่ละเกมได้ไม่เกิน 5 คน
แม้ว่าการผ่อนปรนดังกล่าว อาจจะทำให้โอกาสในการลงเล่นของแข้งสัญชาติญี่ปุ่นน้อย แต่พวกเขาก็ยืนยันที่จะทำแบบนี้ เพราะอะไร?
ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง ได้ที่นี่
แหล่งการตลาด
อันที่จริง เจลีก ก็ไม่ได้ปล่อยฟรีเรื่องโควต้านักเตะต่างชาติ เพราะพวกเขาเคยบังคับใช้กฎ 3+1 ที่แต่ละทีมสามารถส่งผู้เล่นที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นลงเล่นได้มากที่สุดไม่เกิน 3 คน บวกกับนักเตะเอเชียอีก 1 คนมาตั้งแต่ฤดูกาล 2009 เพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ที่นำกฎดังกล่าวมาบังคับใช้เมื่อปีก่อน
ทว่าหลังจากนั้นเจลีกก็ปรับเปลี่ยนมาตลอด ด้วยเป้าหมายที่จะขยายตลาดทั้งในระดับเอเชียและระดับโลก จากการที่ความนิยมในประเทศของลีกเริ่มหยุดนิ่งมานานหลายปี
ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนกฎให้ ผู้เล่นจากชาติพันธมิตร ที่เซ็นสัญญาความร่วมมือกับญี่ปุ่นได้แก่ ไทย, เวียดนาม, กัมพูชา, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, มาเลเซีย และ กาตาร์ จะไม่ถูกนับเป็นนักเตะต่างชาติ ในปี 2017 จนกลายเป็นประตูบานใหญ่ให้ ชนาธิป สรงกระสินธ์ เข้ามาสร้างปรากฎการณ์ในเจลีก
“เจลีกมีความรู้และความชำนาญที่สามารถมอบให้แก่ส่วนต่างของเอเชีย” เคอิ โคยามะ ฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเจลีก กล่าวกับ NNA
“การที่สตาร์ท้องถิ่นมาร่วมทีมเจลีก ทำให้การแข่งขันเจลีกมีคนดูในเอเชียมากขึ้น นักเตะที่ได้ย้ายมาเจลีกก็เติบโตขึ้น พัฒนาขึ้น และทำให้ทีมชาติแข็งแกร่งขึ้น และพวกเขาก็จะกลายมาเป็นคู่แข่งของญี่ปุ่น และยกระดับฟุตบอลเอเชียทั้งหมดให้สูงขึ้น”
หรือการขยายโควต้าผู้เล่นต่างชาติจาก 3 คนเป็น 5 คน (ลงเล่นพร้อมกันไม่เกิน 3 คน ไม่รวมโควต้าเอเชีย และพันธมิตร) ในปี 2018 พร้อมกับการต้อนรับ อันเดรส อิเนียสตา เพลย์เมกเกอร์ชาวสเปน ที่ย้ายมาเล่นให้ วิสเซิล โกเบ รวมถึงอดีตเพื่อนร่วมทีมชาติของเขา เฟอร์นันโด ตอร์เรส ที่มาล่าตาข่ายให้ ซางัน โทสุ
และการปรับเปลี่ยนเหล่านี้ก็เหมือนจะเป็นไปได้ดี เมื่อการมาถึงของผูเล่นระดับเวิลด์คลาส นอกจากจะทำให้เจลีกได้รับความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้น ขณะเดียวกันมันก็ทำให้ยอดผู้ชมในสนาม รวมถึงรายได้จากด้านอื่นๆ ทั้งของที่ระลึก ทัวร์ชมสนาม ไปเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ยกตัวอย่างเช่น วิสเซิล โกเบ ที่ทำสถิติแฟนบอลเฉลี่ยทั้งฤดูกาลแตะหลัก 20,000 คนเป็นครั้งแรกของสโมสรในปี 2018 รวมไปถึงรายได้จากการเยี่ยมชมสนามจาก 840 ล้านเยน (200 ล้านบาท) มาเป็น 1,260 ล้านเยน (330 ล้านบาท) ในปี 2019
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจลีก พยายามผ่อนปรนโควต้าผู้เล่นต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยกเลิกกฎ 3+1 ในปี 2019 โดยแต่ละทีมจะลงทะเบียนผู้เล่นที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นกี่คนก็ได้ แต่ส่งรายชื่อในแต่ละเกมได้ไม่เกิน 5 คน รวมตัวสำรอง (ไม่นับชาติพันธมิตร) และใช้มาจนถึงฤดูกาลปัจจุบัน
ว่าแต่พวกเขาไม่กลัวว่านักเตะท้องถิ่นจะไม่ได้เกิดบ้างหรือ
ระบบโฮมโกรวน์
“เราจะทำให้การแข่งขันมีระดับสูงขึ้นด้วยการขยายทางเลือกให้แก่สโมสร” เจลีกอธิบายสาเหตุการเพิ่มโควต้าต่างชาติ
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เจลีกไม่ค่อยเข้มงวดกับการจำกัดการหลั่งไหลของแข้งต่างชาติเข้ามาในลีกก็คือความเชื่อมั่นในคุณภาพของนักเตะท้องถิ่น ว่าดีพอที่จะเบียดแย่งตำแหน่งกับผู้เล่นอิมพอร์ท
ญี่ปุ่นถือเป็นชาติชั้นนำของเอเชียในเรื่องระบบเยาวชน ที่ทำให้พวกเขาสามารถสร้างผู้เล่นเก่งๆ ขึ้นมาใช้งานอย่างไม่ขาดสาย แถมยังสามารถส่งออกไปเล่นในต่างประเทศได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
“ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นของเจลีกคือการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของระบบเยาวชน ซึ่งสามารถส่งต่อสตาร์สู่ทีมชาติแบบรุ่นต่อรุ่น” แดน ออร์โลวิตช์ นักเขียนแห่ง Japan Times อธิบาย
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบโฮมโกรว์น หรือระบบ HG ที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2019 โดยบังคับให้แต่ละทีมต้องมีนักเตะ HG อยู่ในทีมไม่น้อยกว่าที่กำหนดในแต่ละปี ด้วยเป้าหมายที่จะให้แต่ละทีมได้มีโอกาสพัฒนานักเตะชาวญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
สำหรับผู้เล่นที่จะได้รับสถานะ HG คือผู้เล่นที่ลงทะเบียนกับสโมสร 3 ฤดูกาล หรือ 36 เดือนขึ้นไป ในระหว่างอายุ 12-21 ปี แต่ไม่จำเป็นว่าต้องเป็น 3 ฤดูกาลที่ติดกันก็ได้ แต่ถ้าหากนักเตะคนดังกล่าวถูกปล่อยยืม สโมสรที่ยืมตัวไปจะได้เครดิต HG จากกรณีนี้
เช่น A ซัง เป็นนักเตะของ Z เอฟซี มาตั้งแต่อายุ 12 ปี และอยู่กับสโมสรมาตลอดจน 18 ปี ก็ถูกปล่อยให้ Y ยูไนเต็ด ยืมตัวไปใช้งาน 3 ฤดูกาล กรณีนี้สโมสรที่จะได้เครดิต HG ของ A ซัง ก็จะเป็นทั้ง Z เอฟซี และ Y ยูไนเต็ด เป็นต้น
ในช่วงเริ่มแรก เจลีก ใช้นโยบายนี้เฉพาะการแข่งขันในเจ1 เท่านั้น ซึ่งแต่ละทีมจะต้องมีผู้เล่น HG ไม่น้อยกว่า 2 คน แล้วค่อยเพิ่มมาเป็น 3 คนในฤดูกาล 2021 ก่อนที่ตั้งแต่ฤดูกาล 2022 จะเพิ่มเป็น 4 คน และบังคับใช้ในเจ2 และเจ3 อย่างน้อยทีมละไม่ต่ำกว่า 1 คน
ทั้งนี้ ในฤดูกาล 2023 และ 2024 แม้ว่าสโมสรในเจ1 จะยังคงต้องมีนักเตะ HG อย่างน้อย 4 คนเหมือนเดิม แต่ทีมระดับ เจ2 และ เจ3 ต้องมีไม่น้อยกว่า 2 คน
สำหรับสโมสรที่ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จะถูกลงโทษด้วยการลดจำนวนผู้เล่นสัญญาแบบ Pro A (สัญญาทีมชุดใหญ่) ที่จะลงทะเบียนได้สูงสุด 25 คนต่อฤดูกาล และจะลดลงไปในทุกฤดูกาล จนกว่าจะทำได้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พวกเขา ไม่ค่อยแคร์กับโควต้านักเตะต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้น ในทางกลับกัน เจลีกมองว่าผู้เล่นจากต่างประเทศ ยังช่วยยกระดับลีกให้มีคุณภาพมากขึ้น รวมไปถึงความเข้มข้นในการแข่งขันในทีม ที่ทำให้ผู้เล่นท้องถิ่น ต้องรีดเค้นศักยภาพของตัวเองออกมาให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน มันยังเปิดโอกาสให้ผู้เล่นท้องถิ่น ได้เจอนักเตะที่มีรูปร่างที่เหนือกว่า รวมถึงสไตล์การเล่นที่หลากหลาย แถมการที่แต่ละทีมรายล้อมไปด้วยผู้เล่นต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ยิ่งทำให้ผู้เล่นคุ้นชินกับพหุวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นมากกับการออกไปค้าแข้งในต่างแดน
สิ่งเหล่านี้คือกุญแจสำคัญที่ช่วยขัดเกลาให้ผู้เล่นญี่ปุ่นแข็งแกร่งขึ้น จนทำให้พวกเขากลายเป็นชาติแถวหน้าของเอเชียในการส่งออกผู้เล่นในต่างแดนอย่างสม่ำเสมอ
แน่นอนว่า การเข้ามาของผู้เล่นต่างชาติ ย่อมทำให้เกิดความกังวลว่าพวกเขาจะมาแย่งโอกาสลงสนามของนักเตะท้องถิ่น ซึ่งญี่ปุ่นเองก็เคยตระหนักในเรื่องนี้
แต่พวกเขาพยายามหาทางรับมืออย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าจะปิดกั้น ไปพร้อมกับโอกาสในการพัฒนาลีก เพื่อที่ให้วงการฟุตบอลของพวกเขาเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง
แหล่งที่มา
https://good-writer.xyz/2019/02/12/j-reague-provision/
https://www.soccerdigestweb.com/news/detail/id=72450
https://aboutj.jleague.jp/corporate/global/asia_action/asean/
https://spojoba.com/articles/829
https://www.jleague.jp/aboutj/homegrown.html
https://www.jleague.jp/news/article/24988/
https://www.jleague.co/news/asean-players-so-far-in-jleague/
https://www.nna.jp/nnakanpasar/backnumber/190101/feature_005
https://www.japantimes.co.jp/sports/2022/12/04/soccer/world-cup/japanese-soccer-evolution/