เดินหมากกระดานใหม่ : วิเคราะห์ข้อสงสัยอะไรทำให้ ‘ฮอนดะ’ ลาออกจาก กัมพูชา ?
ได้รับคำชมมากมายจากพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของ กัมพูชา ภายใต้การทำทีมของ เคซึเกะ ฮอนดะ กุนซือชาวญี่ปุ่นใน AFF 2022
ทว่าหลังคำชมคล้อยหลังไม่กี่ชั่วโมง ฮอนดะ ก็ประกาศลาออก เขาคิดอะไรอยู่ ? ทำไมถึงตัดสินใจแบบนั้น ? ติดตามที่ ThinkCurve - คิดไซด์โค้ง
หัวนักธุรกิจและการสร้างชื่อเสียง
ฮอนดะ เป็นคนที่คิดคำนึงถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ของตัวเองตั้งแต่ตอนที่เขายังเป็นนักเตะเเล้ว ทุกย่างก้าวของเขาล้วนมีความหมายแฝงอยู่ ยกตัวอย่างเช่นในยุคปี 2010 ที่นักฟุตบอลญี่ปุ่นยังไม่ได้เน้นแฟชั่นมากมาย ฮอนดะ คือคนแรก ๆ ที่วางตัวในฐานะนักเตะที่มาดเท่กินขาด เขามักปรากฎตัวผ่านหน้าสื่อด้วยการใส่ชุดสูทเข้ารูป, สวมเเว่นดำคุมโทนให้ดูเป็นหนุ่มเท่มากกว่าจะเป็นแข้งเอเชียอินโนเซ้นส์เหมือนกับคนอื่นๆ ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเขาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Narita Collection
อย่างที่ได้กล่าวไป การสนใจแบรนด์ ก็เหมือนกับการที่เขาเป็นคนมีหัวธุรกิจ และเขาก็มีธุรกิจที่เกี่ยวกับฟุตบอลด้วย นั่นคืออคาเดมี่ที่ชื่อว่า Honda Estilo มีโรงเรียนฟุตบอลในสังกัดถึง 65 แห่งและมีนักเตะในสังกัดกว่า 3,500 คน เขายังได้สร้างสนาม ZOZOPARK Honda Football Area ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกระดับเบอร์ต้นๆของญี่ปุ่นโดยมีสโลเเกนชวนปลุกใจอย่าง "เราต้องกล้าฝัน และต้องกล้าทำตามฝันของตัวเอง"
หากมองจากธุรกิจที่เขาทำ เราจะเห็นได้ว่าผลงานของ ฮอนดะ กับ กัมพูชา นั้นมาถึงจุดคุ้มทุนของเขาเเล้ว เขาเข้ามาทำงานกับกัมพูชา ในปี 2018 และทำงานโดยไม่รับเงินเดือน เพราะเขาตั้งใจจะโชว์ให้เห็นศักยภาพของทีมงาน และหลักสูตรการทำทีมฟุตบอลของเขา ซึ่งสุดท้ายเขาก็ทำได้จริง ๆ เขาเปลี่ยน กัมพูชา จากทีมที่เคยโดนยิง 4-5 ลูกขึ้น แพ้เละในอดีต กลายเป็นทีมที่เล่นดีมีระบบชัดเจน ชนิดที่ว่าทีมชาติไทยเบอร์ 1 ของอาเซียน ยังต้องออกแรงหนักกว่าจะชนะได้ 3-1
วิเคราะห์ตามหลักการลงทุน
หากมองในแง่การสร้างความน่าเชื่อถือ ฮอนดะ ได้ทำภารกิจของเขาสำเร็จแล้ว อคาเดมี่ และ แบรนด์ของเขาได้รับผลกระทบในแง่บวกกับผลงานที่กัมพูชาแน่นอน ความสำเร็จนี้อาจจะนำแบรนด์ของเขาไปยังจุดที่สูงกว่า หรือทีมที่อยู่ในสปอทไลท์มากกว่า กัมพูชา ในอนาคตอันใกล้นี้ หากพูดในภาษาธุรกิจคือ เขาพา กัมพูชา มาถึงจุด "ชนเพดาน" แล้ว
ฮอนดะ เคยสัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2019 ถึงการพัฒนาทีมชาติกัมพูชาให้กลายเป็นทีมหัวแถวของอาเซียนว่า “นั่นเป็นไปไม่ได้ เราไม่สามารถกระโดดข้ามขั้นได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น เราต้องการอีก 5, 10 หรือ 20 ปีเพื่อไปให้ถึงระดับเดียวกัน” ฮอนดะ กล่าวเสริม “ที่ผมพูดมันเป็นแผนระยะยาว เราต้องสร้างวัฒนธรรมก่อน”
“ต้องคิดดูว่าไทยและเวียดนามลงทุนด้านฟุตบอลมากแค่ไหน ประเทศเหล่านั้นลงทุนอย่างมากในอุตสาหกรรมฟุตบอล และกัมพูชาจำเป็นต้องลงทุนมากขึ้น มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง"
หากอ้างอิงจากเวลาดังกล่าวนี่คือการทำงานกับทีม กัมพูชา ยังไม่ถึง 5 ปีเลยด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าคงเป็นไปได้ยากที่สตาร์อย่าง ฮอนดะ จะหยุดอยู่ที่กัมพูชาไปอีก 10 หรือ 20 ปี เพื่อเป้าหมายการเป็นทีมระดับแถวหน้าของ อาเซียน
การสู้ได้สนุกเล่นอย่างมีระบบกลายเป็นสิ่งที่หลายคนให้คำชมกับ ฮอนดะ เป็นอย่างมาก แต่หากเรามองภาพให้กว้าง ๆ การที่ กัมพูชา จะก้าวข้ามระดับอาเซียนได้แบบที่ไทย และ เวียดนาม พยายามทำกันมานมนาน
หรืออย่างใกล้ ๆ ที่สุดคือการไปอยู่ระดับเดียวกับ ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย หรือ เวียดนาม นั้น คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร และยังเป็นเรื่องยากเอาเรื่อง ดังนั้น หาก ฮอนดะ ยังทำทีมกัมพูชาต่อไป ก็อาจจะเป็นการ “ไต่ขอบ” ไปเรื่อยๆ หรือในกรณีที่แย่ที่สุดคือ หากหลังจากนี้ กัมพูชา ไม่สามารถรักษาผลงานและต่อยอดความสำเร็จจากจุดนี้ได้ ฮอนดะ ก็อาจจะโดนวิจารณ์ในแง่ลบมากขึ้น และนำไปสู่การค่อยๆ “ลดระดับ” ตนเองลงในท้ายที่สุด
ว่าง่าย ๆ ก็คือโปรเจ็คต์ของ ฮอนดะ อาจจะใหญ่กว่าการคุมทีมชาติ กัมพูชา ดังนั้น ตอนนี้คือเวลาที่สมควรแล้ว นี่คือการลงจากตำแหน่งที่ทำให้คนทั้งอาเซียน จดจำ ฮอนดะ ในฐานะผู้สร้างชีวิตใหม่ให้กับฟุตบอลกัมพูชา และสิ่งนี้จะนำพาเขาไปสู่โปรเจ็คต์ที่ใหญ่กว่านี้ได้นั่นเอง
ไม่ได้ทิ้งกันดื้อ ๆ
อย่าเข้าใจผิดว่า ฮอนดะ ทิ้งกัมพูชาไปดื้อ ๆ เพราะแสวงหาชื่อเสียง บารมี และรายได้ที่มากขึ้น แม้จริง ๆ แล้วสิ่งที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ "น่าจะ" มีผลต่อการตัดสินใจของเขาไม่น้อย ทว่าก่อนที่จะออกเขาก็ได้ทิ้งมรดกเอาไว้มากพอที่จะให้คนมาสานต่อเเล้ว
หลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่า แม้ ฮอนดะ จะเป็นโค้ชทีมชาติ กัมพูชา แต่เขาไม่ได้ใช้ชีวิตกินอยู่ในประเทศกัมพูชาตลอดทั้งเดือนทั้งปีอะไรแบบนั้น ช่วงแรก ๆ ฮอนดะ ก็ใช้วิธีวีดีโอคอล และมีโค้ชคนอื่น ๆ คอยคุมซ้อมแทนเขา
และถ้าหากเราดูจากรายชื่อ "เฮ้ดโค้ช" ที่แท้จริง ที่กัมพูชาส่งชื่อให้กับทาง AFF ในการแข่งขันปี 2018 และ 2020 ก็ไม่ใช่ชื่อของ ฮอนดะ แต่เป็นชื่อของ ริว ฮิโรสะ ที่เป็นเฮ้ดโค้ชบนหน้าเอกสาร ใน AFF 2020 ขณะที่ในปี 2018 เฮ้ดโค้ชที่มีชื่อบนกระดาษก็เป็น เฟลิกซ์ ดิมาส ผู้ช่วยชาวอาร์เจนตินา ของเขา ... นั่นหมายความเครดิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับทีมชาติกัมพูชา นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจาก ฮอนดะ เพียงคนเดียว เขายังมีผู้ช่วยและโค้ชเก่ง ๆ ที่มากมายคอยเป็นคนเบื้องหลังทำงานให้กับเขาอยู่
นอกจากนี้โครงสร้างของกัมพูชา ก็มีพื้นฐานที่แน่นมากกว่าแต่ก่อนเยอะ เพราะตอนนี้ ทีมสต๊าฟของ กัมพูชา ยังจัดเต็มด้วยทีมงานโค้ชที่อิมพอร์ทจากญี่ปุ่นทั้งหมด ตั้งแต่โค้ชผู้รักษาประตู, โค้ชฟิตเนส, โค้ชฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล, และ ผู้อำนวยการเทคนิค ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่เด็ก ๆ ของกัมพูชาชุดนี้ ดูมีความคล่องตัว รวดเร็ว และความเข้าใจเกมสูงมาก เพราะเหล่าโค้ชคุณภาพเหล่านี้ลงไปคุมงานกันตั้งแต่รุ่น ยู19 และมีนักเตะหลายคนจากทีมชุดยู 19 เมื่อปี 2018 ที่กลายเป็นกำลังหลักของ กัมพูชา ชุดปัจจุบันนี้
ด้วยทีมงานระดับคุณภาพและการมีโครงสร้างการพัฒนาที่ดีอยู่แล้ว การขาด ฮอนดะ ไปคนเดียวคงไม่ทำให้กราฟทีมชาติกัมพูชาหัวคว่ำลงในทันทีอย่างแน่นอน
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นนี่คือช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วสำหรับ ฮอนดะ ที่จะมูฟออนสู่ก้าวที่ใหญ่กว่า ขณะที่ กัมพูชา แม้จะต้องขาดแม่ทัพคนสำคัญไป แต่สิ่งที่แม่ทัพคนนี้ทิ้งไว้ ก็ไม่ได้แย่เลย พวกเขามีแนวทางแล้ว เหลือแค่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเท่านั้น บางที 10-20 ปี พวกเขาอาจจะตามชาติแถวหน้าอาเซียนแบบที่ ฮอนดะ บอกจริง ๆ ก็ได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
โมเดิร์นกัมพูชา : ‘ฮอนดะสไตล์’ การสอนให้นักเตะ วิ่ง บู๊ และกินอยู่แบบมืออาชีพ
3 สมัยได้เรื่อง : เปิดไทม์ไลน์พัฒนาการ กัมพูชา ในมือ เคสึเกะ ฮอนดะ
Inverted Wing Back : ตำแหน่งที่ทำให้ ธีราทร เล่นกองกลางได้เนียนตา
แหล่งอ้างอิง
https://www.theasiangame.net/honda-driving-cambodia-forward/
https://www.khmertimeskh.com/501175676/honda-cambodia-needs-to-be-patient-when-it-comes-to-intl-football-results/
https://www.theguardian.com/football/2018/aug/12/keisuke-honda-to-coach-cambodia-national-team-while-playing-in-a-league
https://www.reuters.com/article/cambodia-soccer-japan-idINKBN1KX06R