เห็นใจหรือรับสภาพ ? : ย้อนความเห็น 'โค้ชอ๊อตโต้' ถึงอดีตเพื่อนร่วมงาน 'มาโน' กุนซือทีมชาติไทย
กระแสเรื่องผลงานของ ทีมชาติไทย ในการคุมทัพของ ‘มาโน โพลกิ้ง’ อดีตกุนซือของ แบงค็อก ยูไนเต็ด กำลังเป็นเรื่องที่แฟนบอลวิจารณ์กันแบบดุเด็ดเผ็ดร้อน หลังทัพ ช้างศึก เพิ่งจะเปิดตัวในการอุ่นเครื่องในทวีปยุโรปในรอบ 58 ปี ด้วยการพ่ายให้กับ ทีมชาติจอร์เจีย เละเทะ 0-8
แน่นอนว่า แฟนบอล ก็ย่อมแตกออกเป็นสองฝ่าย ทั้งส่วนที่เข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวมันเกิดขึ้นจากความไม่พร้อมในด้านใดเป็นสารตั้งต้น รวมถึงกลุ่มที่โทษว่าเป็นปัญหาจากเรื่องการวางแท็คติกผิดพลาดของเฮดโค้ชทีมชาติไทย จนทำให้ผลสกอร์ออกมาน่าผิดหวัง เรียกว่าได้ ‘อาย’ สายตาชาวโลกจริงๆ ก็รอบนี้
รูปเกมเมื่อคืนนี้ที่แฟนบอลตั้งหน้าตั้งตารอชม กลายเป็นว่า ขุนพลของเราห่างชั้นกับทีมอันดับที่ 79 ของโลกตามการจัดอันดับ ฟีฟ่า แร้งค์กิ้ง แบบสู้ไม่ได้ โดนกดอยู่ฝ่ายเดียว แถมตัวนักเตะยังก่อความผิดพลาดในการเล่นจนส่งผลไปสู่การเสียประตู ถ้าจะบอกตรงๆ ว่าหาจุดดีไม่ได้เลยคงไม่ผิดนัก ซึ่งคำถามที่จะเกิดตามมา คือ สรุปแล้ว ‘มาโน’ คือคนที่ใช่และเหมาะสมจริงหรือไม่? ในการทำงานที่มีข้อจำกัดมากมาย
การจะตอบคำถามเหล่านั้นในองค์รวมให้ตรงจุด? คงมีแค่คนที่เคยร่วมงานกับเขามาก่อนเท่านั้น ถึงจะให้ข้อมูลได้ชัดเจนและตรงประเด็น ดังนั้นทีมงานจึงย้อนนึกไปถึง โค้ชอ๊อตโต้-พันธุ์นารายณ์ พันธุ์ศิริ เฮดโค้ชจากสโมสร ชัยนาท เอฟซี ที่ยกให้ มาโน เป็นไอดอลของเขาในวงการบอลไทย
ทั้งคู่เคยร่วมงานกันมาก่อนที่สโมสร แบงค็อก ยูไนเต็ด เป็นเวลานานพอสมควร ดังนั้นย่อมมีหลายมุมมองที่ อ๊อตโต้ สัมผัสได้จาก มาโน แล้วเป็นเรื่องราวที่ทั้งทีมงานและแฟนบอล อาจไม่เคยได้สัมผัสมันมาก่อน จะมีประเด็นใดบ้างที่น่าสนใจ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
บุคลิกและลักษณะการทำงานของ มาโน
อ๊อตโต้ ย้อนความกลับไปว่าตัวเขาได้ร่วมงานกับ มาโน ตั้งแต่เป็นแค่ ‘เด็กฝึกงาน’ หลังจากเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัยใหม่ๆ กับสโมสร ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด แล้วเป็นเรื่องบังเอิญที่ว่าในช่วงเวลานั้น มาโน่ โพลกิ้ง รับบทบาทเป็นเฮดโค้ชให้กับทีมอยู่พอดี
การเก็บประสบการณ์ต่างๆ บวกกับความชื่นชอบในเกมลูกหนัง ทำให้ทาง อ๊อตโต้ ไต่เต้าในสายงานนี้ไปเรื่อยๆ จนได้ทำหน้าที่เป็น นักวิเคราะห์เกม ให้กับ แข้งเทพ จะนับว่าเป็นหนึ่งในทีมงานแผนกสำคัญในมือของ มาโน ก็ไม่ผิดนัก
สิ่งที่ อ๊อตโต้ สัมผัสคาแรกเตอร์ของ มาโน หลังจากได้ทำงานร่วมกันสรุปได้ว่า
“มาโน เป็นคนที่ร่าเริงนะครับ มีความที่เป็นชาวบราซิลผสมกับชาวเยอรมันในตัว นอกเวลางานก็คุยเล่นกันปกติ แต่ในเวลางานก็มีความเคร่งกฎระเบียบตามแบบฉบับโค้ชมืออาชีพ”
“เขาซื้อใจลูกน้องเก่ง ไม่ถือตัว เข้าถึงได้ง่าย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ปรับตัวเข้ากับคนได้ทุกระดับชั้น”
“มีเหตุการณ์หนึ่งที่น่าประทับใจ คือ ผมเป็นเด็กฝึกงานอยู่ แล้วเราก็มีโอกาสเตะบอลเล่นกันในหมู่สตาฟฟ์นี่แหละครับ แล้วมีจังหวะที่ มาโน จ่ายบอลผิดพลาดหรือไม่ส่งบอลให้ผม เขาก็เดินมาขอโทษผม ทำให้ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ดีมากๆ คนหนึ่ง”
“ผมมีสถานะเป็นแค่เด็กฝึกงาน แต่เขาเป็นถึงเฮดโค้ชของสโมสร แต่เขาไม่ถือตัวเลย ถ้าเขาทำผิดพลาดก็พร้อมที่จะขอโทษคุณได้ แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทุกคนเลยนับถือเขาเหมือนพี่ชาย เหมือนพ่อคนหนึ่ง”
แม้ว่า มาโน จะฟังภาษาไทยรู้เรื่อง แต่ในชั่วโมงงานเขาจะสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นหลัก แล้วใช้ล่ามแปลภาษาถ่ายทอดมาอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้เป็นแบบแผนตามฉบับมืออาชีพ แต่นอกเวลางานเขาจะเป็นคนรีแลกซ์ ไม่ได้ตึงในทุกช่วงเวลาการใช้ชีวิต
การที่ มาโน มีคาแรกเตอร์เป็นคนง่ายๆ เป็นกันเองกับทุกคน น้อมรับคำสั่งและทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดตามความสามารถ ทำให้แฟนบอลไทยส่วนใหญ่แซวเขาว่าเป็น ‘โค้ชที่อยู่เป็น’ ปรับเปลี่ยนสถานการณ์ตามหน้างาน สามารถยอมรับเงื่อนไขจากผู้ใหญ่ในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยได้ รวมไปถึงผู้ที่มีอิทธิพลต่อวงการฟุตบอลไทย
แล้วจากการพ่ายแพ้ย่อยยับที่เกิดขึ้น คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า เป็นผลมาจาก มาโน เลือกที่จะเลี่ยงบาลี ไม่เรียกใช้งานนักเตะตัวหลักหลายคน ตามการตกลงกันหลังบ้านกับผู้ใหญ่จากหลายสโมสรยักษ์ใหญ่ในบ้านเ้รา ซึ่งเมื่อเกิดความพังพินาศขึ้นมาแบบที่เห็น คนที่รับจบย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากตัวเขาเพียงคนเดียว เนื่องจากเป็นคนที่ตัดสินใจเสี่ยงกับนักเตะชุดนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นในเกมกับทีมชาติจอร์เจีย
สไตล์การทำทีมของโค้ชแต่ละคน มีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป มาโน ก็เป็นหนึ่งในโค้ชที่มีทางเลือกระหว่างจะใช้แผนเดิมๆ แล้วพัฒนาต่อเนื่องให้ดีมากขึ้น หรือจะปรับเปลี่ยนไปตามคู่แข่งที่เจอ ซึ่งแต่ละทางเลือกมันล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย มันไม่มีอะไรผิดหรือถูกแบบตายตัว
เนื่องจากสุดท้าย ฟุตบอล ตัดสินกันที่ผลการแข่งขัน หากโค้ชคนไหนเก็บชัยชนะได้ตามต้องการ คือ “ถูก” แต่ถ้าผลออกมา “แพ้” มันก็กลา่ยเป็นทางเลือกที่ผิดแค่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าแท็คติกนั้นมันได้ผลหรือไม่ได้ผล
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบตรงๆ อ๊อตโต้ ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนระดับของคู่แข่งที่เจอ ส่งผลกระทบพอสมควรเรื่องของการวางแท็คติก ไทยเรามักจะคุ้นเคยกับการแข่งกับชาติในย่านอาเซียน แค่หลับตานึกก็รู้แล้วว่า ชาตินี้เล่นแบบไหน ส่วนคู่แข่งในระดับเอเชียหรือยุโรปนั้นเป็นอีกเลเวลหนึ่ง
ยิ่งการเจอกับชาติจากยุโรปนั้นไม่ใช่คู่แข่งที่เราคุ้นเคย ชาติสุดท้ายที่เราดวลด้วย คือ ‘สโลวาเกีย’ ที่เดินทางมาแข่งขันศึกชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ที่ประเทศไทย ในปี 2018 แล้วปรากฏว่า ช้างศึก พ่ายไป 2-3 ทั้งที่กุมความได้เปรียบเรื่องสภาพแวดล้อม สนาม เสียงเชียร์ และ สภาพอากาศ พอเราต้องไปเล่นในภูมิอากาศที่แตกต่าง เจอกับคู่แข่งที่เขาเอาจริง เน้นผลการแข่งขัน ผลลัพธ์ที่ออกมาเลยเป็นแบบที่เห็น
อุบัติทางผลการแข่งขันที่กลายเป็นความพ่ายแพ้ย่อยยับ 0-8 ไม่ต่างกับบอลทัวร์นาเมนต์ระดับสโมสร พอวิธีการเล่นของคู่แข่งเปลี่ยน สปีดบอลต่าง ก้าวไปแข่งในพื้นที่ที่เราไม่ได้ถนัดหรือชำนาญ มันก็สามารถเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอย่างเกมกับ ทีมชาติจอร์เจีย เมื่อคืนที่ผ่านมาได้
ปัญหาเรื่องผลงานคุมทีมของ มาโน ที่อยู่ในช่วงขาลง อ๊อตโต้ มองเป็นเรื่องปกติที่โค้ชทุกคนต้องเจอ ตามที่อธิบายเรื่องปัจจัยต่างๆ เอาไว้ว่า
“ผมคิดว่าพอ มาโน เริ่มคุมทีมมาได้ระยะเวลาหนึ่ง แล้วสไตล์การเล่นของเขาชัดเจน ไม่ค่อยเปลี่ยนแผน คู่แข่งก็เริ่มจับทางการเล่นของทีมชาติไทยได้ มีวิธีแก้ มีวิธีการรับมือ อย่างที่เห็นชัดๆ คือ เกมสวนกลับ บวกกับการโจมตีแบบฉวยโอกาสจากลูกเซ็ตพีซ”
“แต่สิ่งสำคัญคือโค้ชทุกคนต้องเจอกับช่วงแย่ๆ เหมือนกันหมด อาจเป็นผลมาจากคู่แข่งจับทางได้ เจอพิมพ์เขียวในการแก้เกมเราได้ แม้แต่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่ยึดมั่นปรัชญาการทำทีมของตัวเองมาก ยังมีช่วงที่ทำทีมแพ้ 4 นัด ในระยะเวลาเพียงแค่สองเดือน เพราะเจอเกมเคาน์เตอร์แอทแทคเล่นงาน”
“สุดท้าย เป๊ป ก็ต้องพยายามพัฒนาแท็คติกของเขาเพื่อแก้ไขจุดอ่อน พอแก้ไขได้สำเร็จ ฟุตบอลของเขาก็พัฒนาไปได้ในอีกระดับหนึ่ง แข็งแกร่งกว่าเดิม ถ้าก้าวผ่านช่วงแย่ๆ ไปได้”
สุดท้ายผลงานการคุมทีมในสนามของ มาโน ในเกม ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก จะกลายเป็นตัวชี้วัดว่าเขาแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีขนาดไหน เพราะทีมคู่แข่งแต่ละชาติที่เราต้องเจอ ก็มีเวลาเตรียมทีมเท่าๆ กันตามปฏิทินสากล ฟีฟ่า เดย์ ซึ่งไม่ใช่ข้ออ้างที่จะสามารถนำมาแก้ต่างได้
ปัจจัยเรื่องการบริหารจัดการ
อ๊อตโต้ มองว่า การบริหารจัดการทีมชาติ เป็นอีกศาสตร์ที่ยากและเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในจุดนั้นมาก่อน ซึ่งหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการพูดคุย วางแผน ปรึกษาหารือ กันอย่างละเอียดกับโปรแกรมเกมอุ่นเครื่องที่มีอยู่ในมือ แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชั่งน้ำหนักทุกอย่างได้ลงตัว
การลองทีมหรือใช้นักเตะใหม่ๆ นั้นทำได้ แต่ก็ต้องเลือกเกมการแข่งขันที่เหมาะสม เพราะมันการเดิมพันที่ค่อนข้างสูง คือ แต้มฟีฟ่าแร้งค์กิ้ง ที่จะมีผลเรื่องการจับฉลากในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ที่สำคัญในภูมิภาคนี้
ถ้าไม่ลองทีม ลองนักเตะใหม่ๆ เลย มันมีความเสี่ยงตอนตัวหลักเกิดอาการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ การลองตัวใหม่ก็ได้ผลดีต่อทีมชาติให้มีตัวเลือกเยอะขึ้น แต่มันก็เสี่ยงกับการไม่ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ การทำทีมชาติไม่ใช่แค่คิดแท็คติกดีๆ ขึ้นมาอย่างเดียว แต่มันต้องรวมถึงการจัดการทุกอย่างให้มันกลมกล่อมและเจอจุดสมดุลย์
ทุกวันนี้ทางสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็มีการสนับสนุนให้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทำทีมได้ราบรื่นมากขึ้น ตามที่ตัวของ อ๊อตโต้ ได้ทราบมาว่า
“ตอนนี้เราก็ได้เห็นว่าสมาคมพัฒนาในจุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติตั้งแต่รุ่นเยาวชน ที่มีทีมแมวมองกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ และแอพพลิเคชั่น โปรแกรมการสเกาท์นักเตะ ที่มีข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกให้ใช้งาน”
“ซึ่งผมก็ได้ข่าวว่าสมาคมมีการเซ็นสัญญากับ Opta เรื่องสถิติต่างๆ เช่นเดียวกัน แต่ไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด โค้ชคนเดียวไม่มีทางไปดูเกมฟุตบอลได้ทุกสนามพร้อมกัน ดังนั้นเขาต้องมีวิธีการจัดการบริหารเวลา ทีมงาน หรือเครื่องมือ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก”
อย่างไรก็ตามหากทาง มาโน มีสถิติอยู่ในมือ เลือกตัวผู้เล่นที่เขาต้องการใช้งานเอาไว้ในใจ แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถเรียกมาใช้งานได้ตามที่หวัง ต่อให้มีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยแค่ไหน? เสียเงินลงทุนไปมากเท่าไหร่ก็ไม่เกิดประโยชน์
แล้วการที่สมาคมฯ วางแผนให้ทีมชาติมีโปรแกรมไปอุ่นเครื่องถึงยุโรป 2 นัด ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องถามกลับมาว่าเราได้ประโยชน์อะไรกลับมาบ้างจากจุดนี้? เพราะคู่แข่งที่เราต้องเจอจริงๆ ในฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก โซนเอเชีย มีสไตล์การเล่นที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
แถมพอถึงเวลาจะประกาศรายชื่อจริงๆ หลายทีมก็ไม่ปล่อยตัวนักเตะมารับใช้ชาติ เพราะเป็นกังวลเกี่ยวกับปัญหาอาการบาดเจ็บของผู้เล่น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งลงสนามในเกมสำคัญยามรับใช้สโมสร ที่ต้องล่าความสำเร็จเช่นกัน ขนาดทางผู้จัดการทีมอย่าง ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ ยังดำเนินการเจรจาไม่สำเร็จ จนต้องเอานักเตะจากสโมสร ‘การท่าเรือ’ บางราย ใส่ไปในโควต้าที่ว่างเว้นอยู่แทน
สุดท้ายพอผลงานที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่แฟนบอลคา่ดหวัง กลายเป็นโค้ชอย่าง มาโน ที่ต้องแบกรับความผิดหนักสุดเหมือนเคยๆ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วต้องดูองค์ประกอบรวมๆ ด้วยว่า ‘การบริหารจัดการ’ ภายในองค์กรนั้นวางแผนเอาไว้ดีจริงแล้วหรือ?
สิ่งที่อยากฝากบอก
ส่วนตัวแล้ว อ๊อตโต้ เชื่อว่า เมื่อทุกอย่างพร้อมและถ้าไม่มีเหตุสุดวิสัย มาโน จะพาทีมชาติไทย กลับมาทำผลงานที่ดีได้อีกครั้ง หากไม่มีตัวผู้เล่นหลักบาดเจ็บหรือติดโทษแบน สามารถเรียกตัวหลักลับมาใช้งานได้พร้อมหน้า โอกาสที่จะพลิกโมเมนตั้มนั้นเป็นไปได้อยู่ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับโชคชะตาของแต่ละคนด้วย พร้อมฝากข้อความเพิ่มเติมถึงรุ่นพี่ไว้ว่า
“มันมีโอกาสออกได้หมดทุกหน้า แต่ผมเชื่อว่าถ้าเขามีผู้เล่นที่ดีที่สุดอยู่ในมือ มีช่วงเวลาการเตรียมทีมที่ดี ยังมีโอกาสอยู่ในการเก็บผลการแข่งขันที่ต้องการ”
“จากมุมมองของคนที่เคยทำงานมากับ มาโน ผมก็ยังคงเชื่อมั่นอยู่ คิดว่ายังมีแฟนบอลชาวไทยคอยซัพพอร์ทคุณ คนที่ซัพพอร์ทคุณยังมี ดังนั้นเล่นเพื่อแฟนบอล ทำงานให้เต็มที่เพื่อแฟนบอลทุกคน”
ช่วงเวลานี้เสียงแฟนบอลอาจมีคำวิจารณ์หนักกับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่ทีมชาติไทยลงสนาม ทุกคนจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งอยู่ดี เนื่องจากไม่มีใครอยากให้ทีมชาติไทยแพ้ แฟนบอลทุกคนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากสนับสนุน มาโน โพลกิ้ง ต่อไปตราบที่เขายังเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทยอยู่
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : การสัมภาษณ์ออนไลน์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เผยทุกสาเหตุ ‘ทีมชาติไทย’ พลาดได้ตัวหลักลุยยุโรป เพราะปัจจัยใดบ้าง?
ส่อง 5 แข้งอันตราย 'ทีมชาติจอร์เจีย' ที่ไม่ได้มีดีแค่ 'ควิชา ควารัตสเคเลีย'