นิชิโนะ, เทกุ และ อิชิอิ เหตุผลที่โค้ชญี่ปุ่นโปรไฟล์ดีแต่จบไม่สวยกับทีมไทยลีก
อาคิระ นิชิโนะ, มาโคโตะ เทงุราโมริ และ มาซาทาดะ อิชิอิ ล้วนเป็นโค้ชชาวญี่ปุ่นที่มีดีกรีไม่ธรรมดา จากความสำเร็จมากมายในบ้านทั้งแชมป์ลีก แชมป์เอเชีย ไปจนถึงคุมทีมชาติลุยฟุตบอลโลกและโอลิมปิก
อย่างไรก็ดี พวกเขาเหล่านี้ ต่างมีจุดจบที่ไม่ค่อยสวยงามนัก ในการคุมทีมในไทย และเคสล่าสุดก็คือ อิชิอิ ถูกย้ายไปรับตำแหน่งในทีมชาติ ทั้งที่พา บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คว้า 3 แชมป์ได้ 2 ปีติดต่อกัน
เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
ลีกนิยมญี่ปุ่น
ไทยและญี่ปุ่นถือเป็นชาติที่มีความสัมพันธ์อันดี เช่นกันสำหรับฟุตบอล ที่ไทยลีกลงนามเซ็นสัญญาความร่วมมือหรือ MOU กับเจลีก มาตั้งแต่ปี 2012 รวมถึงหลายสโมสรของทั้งสองชาติจับมือเป็นพันธมิตร
ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ ยิ่งแนบแน่นขึ้นไปอีกในปี 2017 เมื่อสิทธิโชค ภาโส และชนาธิป สรงกระสินธ์ ย้ายไปเล่นในเจลีก โดยเฉพาะรายหลังที่สร้างปรากฏการณ์มากมาย กลายเป็นใบเบิกทางให้แข้งไทยได้ตามรอยหลังจากนั้น
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่นักเตะเท่านั้น เพราะฝั่งญี่ปุ่นเอง ก็มีโค้ชจำนวนไม่น้อยที่มารับงานในไทย ไล่ตั้งแต่ยุคแรกอย่าง มาซาฮิโร วาดะ ที่มาคุมทีม ชลบุรี เอฟซี เมื่อปี 2014, ซูงาโอะ คัมเบะ ของอุบล ยูเอ็มที เมื่อปี 2018 ไปจนถึง เท็ตสึยะ มูรายามะ ของสมุทรปราการ ซิตี้ เมื่อปี 2019
“ไทยมีอิมเมจเป็น ‘ประเทศที่ชอบญี่ปุ่น’ และแม้แต่ฟุตบอล คนไทยก็ให้ความเคารพฟุตบอลญี่ปุ่นเป็นพิเศษ และมองเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการขึ้นไปเป็นผู้นำของเอเชีย” ทัตสึนาริ ฮอนดะ ผู้สื่อข่าวของ Soccerking กล่าวในบทความ ‘ไม่ใช่แค่อาคิระ นิชิโนะ - คนญี่ปุ่นที่มีบทบาทในไทย
ยิ่งไปกว่านั้นในยุคหลัง โค้ชชาวญี่ปุ่นมีมาคุมทีมในไทย ยังมีโปรไฟล์หรูขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าอาคิระ นิชิโนะ ที่เข้ามาคุมทีมชาติไทย ก็เคยเป็นกุนซือกัมบะ โอซากา ชุดคว้าแชมป์เจลีก และเอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รวมถึงคุมทีมชาติญี่ปุ่น ลุยฟุตบอลโลก หรือ มาโคโตะ เทงุราโมริ อดีตเฮดโค้ช บีจี ปทุม ก็เคยพาทีมชาติญี่ปุ่น U23 เข้าถึงรอบ 4 ทีมสุดท้ายโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน
หรือคนล่าสุด อย่าง มาซาทาดะ อิชิอิ นอกจากจะเคยพาคาชิมา อันท์เลอร์ส ไปถึงแชมป์เจลีกแล้ว เขายังกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งโลก หลังพาสโมสรจากจังหวัดอิบารากิ ไปถึงตำแหน่งรองแชมป์สโมสรโลก และต่อสู้กับคู่แข่งในนัดชิงฯ อย่าง เรอัล มาดริด ได้อย่างสมศักดิ์ศรี
“จำนวนเฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นในไทยลีกในฤดูกาลที่แล้ว (2020) เป็นผลมาจากความนิยมที่สูงมากในท้องถิ่นของโค้ชอาคิระ นิชิโนะ กุนซือทีมชาติไทย” ฮอนดะ อธิบาย
ทั้งนี้ นอกจากความนิยมชมชอบในญี่ปุ่นแล้ว เหตุผลที่ทำให้โค้ชเลือดซามูไร ได้รับความนิยมในไทย ก็เป็นเพราะความสำเร็จอย่างมากมายของเจลีก จนก้าวมาเป็นลีกเบอร์ต้นของเอเชีย และมองว่าพวกเขาน่ามีความรู้และประสบการณ์ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับสโมสรและฟุตบอลไทย
“ด้วยความที่เขามีความรู้ที่สั่งสมมาในโลกของฟุตบอลญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในระดับท็อปของเอเชีย ฉันคิดว่าเขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงเราได้ด้วย Know-how ของเขา” ศิริมา พานิชชีวะ เจ้าของทีมสมุทปราการ ซิตี้ กล่าวในวันแต่งตั้ง เท็ตสึยะ มารุยามะ ขึ้นเป็นเฮดโค้ชคนใหม่
ทว่า พวกเขาเหล่านี้ กลับมีจุดจบที่ไม่สวย เพราะอะไร?
ความแตกต่าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงโค้ชชาวญี่ปุ่น ได้รับความนิยมในไทยลีกมากเพียงใด แต่สุดท้ายพวกเขามักจะพบกับชะตากรรมไม่ต่างจากโค้ชชาติอื่น นั่นคือถูกไล่ออก และแทบจะไม่มีใครอยู่กับทีมได้เกิน 3 ปี
ไม่ว่าจะเป็น เทงุราโมริ ที่ต้องแยกทางกับ บีจี ปทุม หลังออกสตาร์ท ไร้ชัย 5 นัดติดเมื่อปี 2022 หรือ นิชิโนะ ที่ไม่ได้ไปต่อกับทีมชาติไทย หลังทำผลงานได้ไม่ดีในฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ถูกชวนมาวางรากฐานให้ทีมชาติ
“ผมได้ยินมาจากนายกสมาคมฯ (สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง) ว่าเขาอยากจะสร้างฟุตบอลไทยในระบบใหม่ จึงอยากได้รับการสนับสนุนจากผม” นิชิโนะกล่าวในวันรับตำแหน่งกุนซือทีมชาติไทยเมื่อปี 2018
“ฟุตบอลไทยเคยเป็นอุปสรรคสำคัญของญี่ปุ่นในระดับเอเชีย และผมก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าผมมองเห็นศักยภาพมหาศาลของฟุตบอลไทย”
หรือเคสล่าสุดของ อิชิอิ ที่ทั้งที่พาบุรีรัมย์ ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการคว้า 3 แชมป์ ไทยลีก, เอฟเอคัพ และลีกคัพ แต่สุดท้ายก็ยังไม่วาย ถูกส่งไปในนั่งประธานเทคนิค ในทีมชาติไทยอย่างเซอร์ไพรส์
และเหตุผลสำคัญที่ทำให้โค้ชชาวญี่ปุ่น ต้องเผชิญชะตากรรมเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่องภาษา เพราะแม้ว่าพวกเขาจะมีล่ามคอยช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริง มันไม่สามารถถ่ายทอดได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์อย่างที่พวกเขาตั้งใจ
“มันไม่ง่ายเลยกับการคุมทีมในต่างแดน ไม่ใช่แค่ทีมชาติเท่านั้น” นิชิโนะ กล่าวกับ Yahoo News
“มันยากมากที่จะรู้ว่าคุณสามารถสื่อสารความตั้งใจออกไปได้มากแค่ไหน ไปพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน”
“ด้วยความแตกต่างนี้ ผมไม่คิดว่ามันจะถ่ายทอดได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นมันจึงมีความบกพร่องทางภาษาอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ วินัยที่หย่อนยาน ยังเป็นอีกปัจจัย อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีระเบียบวินัยมาก เพื่อความเรียบร้อยของสังคม และมันก็ส่งผลมายังฟุตบอล ที่ทำให้ฟุตบอลญี่ปุ่น มีความจริงจังอย่างมืออาชีพ และเล่นอยู่ในกติกามาตลอด
และด้วยความที่ไทย ดูเหมือนจะเป็นขั้วตรงข้าม ทั้งเรื่องระเบียบวินัย และความเป็นมืออาชีพ ทำให้แม้พวกเขาจะพยายามปรับตัว หรือปล่อยผ่านแค่ไหน แต่ในแง่ประสิทธิภาพ มันก็อาจจะทำให้ผลลัพท์ไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้
“ก็จริงอยู่ที่ (นักเตะไทย) ยังมีความหย่อนยาน แต่อาจจะเรียกว่าผ่อนคลายมากว่า เนื่องจากเมืองไทยอากาศร้อน ดังนั้นผมจึงเข้าใจ และเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้” อิชิอิ กล่าวกับ Number สมัยคุมสมุทปราการ ซิตี้
อย่างไรก็ดี ยังอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน
อำนาจที่มองไม่เห็น
แม้ในช่วงหลายปีหลัง ไทยลีก จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนขึ้นมาอยู่แถวหน้าของอาเซียน แต่ลีกแห่งนี้ก็ยังมีชื่อเสียงในอีกด้านหนึ่งคือการเป็น “ลีกกินโค้ช”
ลีกไทยเป็นลีกที่มีอัตราการเทิร์นโอเวอร์ที่สูงมาก สโมสรพร้อมจะปลดได้เสมอ ยกตัวอย่างเช่นฤดูกาล 2022-2023 ที่ผ่านมา มีกุนซือเพียงแค่ 5 คนที่ได้คุมทีมตั้งแต่ต้นจนจบฤดูกาล นั่นคือ มาซาทาดะ อิชิอิ ของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค ของ โปลิศ เทโร, มาริโอ ยูรอฟสกี ของ เมืองทอง ยูไนเต็ด, ชาบี โมโร ของ ราชบุรี และ สุกฤษฎิ์ โยธี ของลำปาง
หรือในฤดูกาลที่ 2015 ที่การท่าเรือไทย เอฟซี ใช้โค้ชฤดูกาลเดียวถึง 5 คน ไม่ว่าจะเป็น สมชาย ช่วยบุญชุม, ไพบูลย์ เลิศวิมลรัตน์, แกรี่ สตีเฟน, สมชาย ทรัพย์เพิ่ม และ มาซาฮิโร วาดะ ผลัดเปลี่ยนกันมาคุมทีม แถมสุดท้ายยังตกชั้นไปดิวิชั่น 1 อีกด้วย
อันที่จริง Soccer King สื่อญี่ปุ่นก็เคยยกเรื่องนี้มาเป็นประเด็น ในช่วงที่ลีกไทยอุดมไปด้วยโค้ชจากแดนซามูไร และมองว่าการเทิร์นโอเวอร์ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก เพราะเจลีกก็เป็น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผิดแปลกไปจากความเข้าใจของพวกเขา คือการที่เจ้าของสโมสรมีอำนาจมากเกินไป
และหลายครั้งอำนาจเหล่านั้นก็มาแทรกแซงการทำทีม จนทำให้เกิดความเห็นที่ไม่ตรงกับเฮดโค้ช และสุดท้ายคนที่ชนะก็คือเจ้าของเงิน
“ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น สโมสรไทย ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโค้ชบ่อย” ทัตสึนาริ ฮอนดะ กล่าวในบทความ ‘แม้ว่าความต้องการของเฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคในระยะยาว’
“ถ้าผลงานไม่ดี พวกเขาจะหมดความอดทนอย่างรวดเร็ว และบางทีอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะถูกไล่ออก หากขัดแย้งกับ เจ้าของสโมสร”
นอกจากนี้ พวกเขายังมองว่าโครงสร้างทางสังคมแบบอุปถัมภ์ ที่ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่มีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสิน ทั้งที่การทำงานแบบมืออาชีพ เฮดโค้ชควรมีสิทธิ์มีเสียงในระดับต้นๆของสโมสร ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ฟุตบอลไทยพัฒนาไปได้ไม่ไกลอย่างที่
“ประเทศไทย เป็นสังคมที่มีชนชั้น การตัดสินใจส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มมาจากเจ้าของทีม ยกตัวอย่างเช่นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ประสบความสำเร็จมากมายด้วยระบบวันแมน” ฮอนดะ อธิบาย
“แต่คนจำนวนไม่น้อยก็มองว่านี่คือสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาฟุตบอลของไทย”
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไม่ว่าโค้ชจะมีโปรไฟล์ที่เลิศหรูแค่ไหน หรือเคยคุมทีมอะไรมา พวกเขาก็สามารถเอาชื่อเสียงมาทิ้งที่ลีกไทยได้ทั้งนั้น และทำให้แทบจะไม่มีโค้ชคนไหนอยู่กับสโมสรเดียวได้ยาว ๆ เหมือนที่เห็นในลีกยุโรป
“แม้ว่าจะมีโค้ชชาวญี่ปุ่นหลายคนที่ได้คุมทีมในไทย แต่ส่วนใหญ่พวกเขาล้วนมีเวลาจำกัด และอยู่กับสโมสรเดิมได้ไม่เกิน 2 ปี” ฮอนดะให้ความเห็น
“อย่าง ซูงาโอะ คัมเบะ ที่เป็นเฮดโค้ชในไทยมา 8 ปี ก็ผ่านการคุมทีมในลีกไทยมาแล้วถึง 5 สโมสร ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกุนซือของ ระยอง เอฟซี ในลีกระดับ 2 ซึ่งเป็นสโมสรที่ 6 ของเขา”
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเชื่อว่า ไทยลีก ยังคงเป็นลีกที่หอมหวาน ที่โค้ชญี่ปุ่น อยากมาลองท้าทายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้วยเม็ดเงินมหาศาล ที่พร้อมจ่ายให้กับกุนซือเหล่านี้ หรือความสัมพันธ์อันดีตลอดมาระหว่างไทยและญี่ปุ่นก็ตาม
แหล่งอ้างอิง
https://www.soccer-king.jp/news/world/asia/20200729/1101895.html
https://www.soccer-king.jp/news/world/asia/20210512/1387964.html
https://plus.tver.jp/news/70244/detail/
https://news.yahoo.co.jp/articles/23da8be7326c36f72ffc70b5795fea703130571e
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/jopag/article/view/251290/177287