‘เคอร์ติส กู้ด’ หลังต่างชาติหน้าใหม่ ‘บุรีรัมย์’ ที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่ชื่อ
ตลอดช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากระแสข่าวลือในการเสริมทัพของแชมป์ ไทย ลีก 9 สมัย อย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มาแรงแซงทางโค้งเป็นพิเศษ ตามแบบฉบับแนวทางการบริหารทีมของ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร ที่ไม่เคยหยุดนิ่งและเหลิงไปกับความสำเร็จที่ผ่านมา
ชื่อของ เคอร์ติส กู้ด เซนเตอร์แบ็คจากสโมสร เมลเบิร์น ซิตี้ กลายเป็นนักเตะที่มีข่าวแรงที่สุดกับทัพ ปราสาทสายฟ้า หลังดาวเตะรายนี้เตรียมอำลาต้นสังกัดหลังจบฤดูกาลนี้ แล้วสื่อในแดนจิงโจ้ ต่างพร้อมกันประโคมข่าวว่าปลายทางของเขา คือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงโควต้าต่างชาติในซีซั่นหน้า แล้วในที่สุดจากที่ลือกันก็เป็นจริง เมื่อมีการเปิดตัวกันไปเมื่ออาทิตย์ก่อน
จำนวนโควต้าตัวต่างชาติในฤดูกาล 2024 ใน ไทย ลีก จะมีการปรับเปลี่ยนเป็น ต่างชาติทั่วไป 5 คน, เอเชีย 1 คน และอาเซียน 3 คน รับรองได้เลยว่า บุรีรัมย์ ต้องมีการสังคายนานักเตะจากชุดเดิมยกเซ็ต แล้วเลือกแค่บางคนที่ได้ไปต่อ ซึ่งรายชื่อที่จะได้รับผลกระทบแน่ๆ ย่อมหนีไม่พ้น ดิออน คูลส์, คิม มิน-ฮยอก, โกรัน เคาซิช, เจฟเฟอร์สัน ทาบินาส, ลูคัส คริสปิม และ กิลเยร์โม่ บิสโซลี่ ที่ไม่รู้ว่าจะมีใครได้ไปต่อบ้าง?
อย่างไรก็ตามหากวิเคราะห์กันในอีกมุม กู้ด มีโอกาสที่จะได้ลงเล่นร่วมกับ มิน-ฮยอก (ยังไม่หายเจ็บ), มาร์เซโล ยาโล่ และ คูลส์ เพื่อทำหใ้แนวรับของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แข็งแกร่งขึ้น จนสามารถยกระดับผลงานของสโมสรในการลงชิงชัยในถ้วยชิงแชมป์เอเชีย ซึ่งยังไม่เคยไปได้ไกลดั่งหวังสักทีก็เป็นไปได้
แนวรับสัญชาติออสเตรเลียรายนี้มีดียังไง? พื้นเพปูมหลังคร่าวๆ ของเขานั้นน่าสนใจขนาดไหน? เหตุใดเขาถึงเคยไปไกลถึงขนาดได้เล่นบนเวที พรีเมียร์ลีก อังกฤษ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ? การค้าแข้งอยู่กับ เมลเบิร์น ซิตี้ นับสิบปีทำให้เขาสร้างสถิติใดไว้บ้าง? จริงหรือไม่ที่เขาเคยเผชิญหน้ากับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มาก่อน ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
อดีตดาวเตะ ‘นิวคาสเซิล’
เคอร์ติส กู้ด เป็นดาวรุ่งที่น่าจับตามองของวงการฟุตบอลออสเตรเลียตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นเพื่อนบ้านในเมือง เมลเบิร์น ของ แจ็คสัน เออร์ไวน์ (Jackson Irvine) กองกลางดาวดังทีมชาติออสเตรเลีย ที่บ้านอยู่ละแวกเดียวกันเดินหากันได้ในสองนาที ทั้งคู่เล่นฟุตบอลร่วมกันมาตั้งแต่ 10 ขวบให้กับ น็อกซ์ ซิตี้ เติบโตและพัฒนาฝีเท้าแบบใกล้ชิดมาด้วยกัน แล้วจากฝีเท้าอันโดดเด่นของ กู้ด ทำให้เขาได้รับมอบทุนการศึกษาจาก ศูนย์ฝึกกีฬาแดนจิงโจ้ ที่ตั้งอยู่ที่เมือง แคนเบอร์ร่า แล้วใช้เวลาเพราะบ่มฝีเท้าเพียงแค่ 2 ปี (2009-2011) ก็ได้เซ็นสัญญาอาชีพฉบับแรกกับสโมสร เมลเบิร์น ฮาร์ทส
ด้วยวัยเพียงแค่ 18 ปี กู้ด มีโอกาสลงเล่นในระดับลีกอาชีพในบ้านเกิดฤดูกาลแรกไปถึง 25 เกม ทำได้ 1 ประตู จนทำให้ฝีเท้าของเขาไปเตะตาแมวมองของ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ทีมดังในศึก พรีเมียร์ลีก อังกฤษ จนได้รับเทียบเชิญให้ไปทดสอบฝีเท้าเป็นระยะเวลา 10 วัน จากการยืนยันของ จอห์น ดิดูลิกา (John Didulica) ผู้จัดการทั่วไปของ เมลเบิร์น ฮาร์ท ที่ทวีตข้อความไว้บน ทวิตเตอร์ เอาไว้ว่า
“เคอร์ติส กู้ด ออกเดินทางไปเมื่อคืน เพื่อไปทดสอบฝีเท้ากับ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด เป็นระยะเวลา 10 วัน”
หลังจากนั้น ดิดูลิก้า ก็มีการอัพเดตสถานการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับลูกทีมรายนี้หลังผ่านไป 2-3 วัน เอาไว้ว่า
“นิวคาสเซิล ส่งข้อความมาหาเราอย่างเป็นทางการว่า พวกเขาประทับใจมากๆ กับช่วงเวลาที่ กู้ด ฝึกซ้อมร่วมกับทีม ด้วยบุคคลิกที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมลเบิร์น ฮาร์ท และ เอ ลีก มีคุณภาพที่ยอดเยี่ยม”
เมื่อทุกอย่างเป็นไปในทิศทางบวกแน่นอนว่า กู้ด ได้เซ็นสัญญากับ นิวคาสเซิล ตามที่ฝันเอาไว้เป็นระยะเวลายาวถึง 6 ปี ซึ่งทาง จอห์น อลอยซี่ (John Aloisi) เฮดโค้ชของ เมลเบิร์น ฮาร์ทส ก็ยินดีกับลูกทีมรายนี้ที่จะมีโอกาสพิสูจน์ฝีเท้าของตนเองบนเวทีใหญ่อย่าง พรีเมียร์ลีก แล้วเชื่อมั่นว่า กู้ด จะทำผลงานได้ดีจากการเป็นเซนเตอร์แบ็คที่มีทักษะการขึ้นบอลจากแผงหลังแบบสมัยใหม่ ที่เรียกว่า ‘Ball Playing Defender’ ซึ่งผลผลิตจากสโมสรของเขา แสดงให้เห็นแล้วว่า อคาเดมี่ในประเทศออสเตรเลีย สามารถสร้างนักเตะที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในลีกชั้นนำได้
ถึงแม้ว่า กู้ด จะมีช่วงเวลาพิสูจน์ตัวเองเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่เขาสามารถโชว์ศักยภาพจนเอาชนะใจ อลัน พาร์ดิว (Alan Pardew) กุนซือของทัพ สาลิกาดง ในขณะนั้น ต้องสละเวลามาติวเข้มด้วยตัวเอง ก่อนจะตัดสินใจซื้อขาดไปร่วมทีมด้วยราคา 515,000 ยูโร ในปี 2012 เป็นการเซ็นสัญญารายที่สองต่อจาก โรแม็ง อมัลฟิตาโน่ (Romain Amalfitano) ในช่วงซัมเมอร์
อย่างไรก็ตามช่วงเวลาของ กู้ด ในสีเสื้อ สาลิกาดง กลับไม่สวยงามแบบที่คาดเอาไว้ เนื่องจากเขามีอาการบาดเจ็บรบกวนอยู่ตลอด ได้ลงเล่นส่วนใหญ่อยู่ในทีมสำรอง เป็นตัวจริงเกมแรกในยุคของ อลัน พาร์ดิว บนเวที ลีก คัพ ในปี 2013 เกมที่บุกไปเยือนทีมรองบ่อนอย่าง มอร์แคมป์ แล้วเอาชนะไปได้ 2-0 เก็บคลีนชีทได้
ส่วนเกมต่อมาต้องรอไปถึงยุคของ ราฟาเอล เบนิเตซ (Rafael Benitez) ในปี 2017 บนเวที เอฟเอ คัพ ในเกมที่บุกไปเยือน อ็อกซ์ฟอร์ด ยูไนเต็ด แล้วลงเอยด้วยการพ่ายไปแบบยับเยิน 0-3 จอดป้ายไว้เพียงแค่การแข่งขันรอบ 4 เท่านั้น
แม้ว่าระหว่าง 6 ปีที่อยู่กับ นิวคาสเซิล เขาจะถูกปล่อยให้ยืมตัวไปเล่นเพื่อเรียกความมั่นใจกับ แบรดฟอร์ด ซิตี้ และ ดันดี ยูไนเต็ด แต่ก็ไม่มีช่วงเวลาที่น่าจดจำเท่าไหร่นัก อาจจะมีเพียงโมเมนต์เดียวที่คงตราตรึ่งใจเขามาจนถึงทุกวันนี้ คือ การได้ลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศ ลีก คัพ 2013 ให้กับ ไก่แจ้ ณ สนาม เวมบลีย์ พบกับ สวอนซี ซิตี้
แต่ในทางกลับกันมันก็อาจเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายตามหลอกหลอน กู้ด ได้เช่นเดียวกันกับเกมนัดนั้น เพราะเขาถูกเปลี่ยนตัวออกตั้งแต่ช่วงพักครึ่ง ซึ่งต้นสังกัดชั่วคราวของเขาพ่ายในเกมนั้นไปแบบไม่มีทางสู้ 0-5 แล้วจากการกลับไปอยู่กับต้นสังกัดที่แท้จริงอย่าง นิวคาสเซิล แต่กลับไม่ได้รับโอกาสลงเล่นบนเวที พรีเมียร์ลีก อังกฤษ สักนาทีเดียว ใกล้เคียงที่สุดก็มีชื่ออยู่บนม้านั่งสำรองเกมเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นในปี 2013 นัดที่บุกพ่าย แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ขาดลอย 0-4
ภายหลัง กู้ด ออกมาเฉลยสาเหตุที่ช่วงเวลาการค้าแข้งของเขากับ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ไม่ประสบความสำเร็จ เอาไว้ว่า
“ผมได้เรียนรู้อย่างมากกับการใช้ชีวิตในเกาะอังกฤษ มันเป็นเรื่องที่น่าโชคร้ายที่อนาคตการค้าแข้งของผม ต้องเจอกับปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวน เมื่อตอนเดินทางมารับใช้ทีมชาติ ผมพยายามกระตุ้นตัวเองด้วยการซ้อมอย่างหนักและทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่าผมทำอะไรได้บ้าง แต่มันก็ลงเอยอย่างที่เห็น”
สุดท้ายแล้วเมื่อหมดสัญญากับ นิวคาสเซิล ในปี 2017 ที่เขาลงเล่นไปเพียง 2 นัดตลอด 6 ปี จนสื่อหยิบยกไปล้อว่าค่าเหนื่อยของเขาที่ลงสนามสูงถึงเกมละ 9 แสนปอนด์ แม้ว่าจะพยายามดิ้นรนหาทีมย้ายก่อนสัญญาจะหมดด้วยการไปทดสอบฝีเท้ากับ ซโวลล์ ทีมในลีกสูงสุดประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ก็ไม่สามารถสร้างความประทับใจได้
กลายเป็นว่าพื้นที่เดียวที่จะรักษาใจอันบอบช้ำของเขาได้ คงหนีไม่พ้นศึก เอ ลีก ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของเขา แล้วสโมสรที่หยิบยื่นโอกาสให้เขาก็หนีไม่พ้น เมลเบิร์น ซิตี้ หรือ เมลเบิร์น ฮาร์ทส เดิมที่ถูกรีแบรนด์ขึ้นมาใหม่ ภายใต้การดูแลของ ซิตี้ กรุ๊ป ที่เป็นสโมสรอาชีพสโมสรแรกที่เขาเคยสร้างชื่อเอาไว้
ตำนานแห่งเมลเบิร์น
การกลับมาอยู่กับทีมเก่าของ กู้ด สร้างความมั่นใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก ได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่องจนได้รับมอบตำแหน่งกัปตันทีม พาทีมคว้าแชมป์ ลีก ออสเตรเลีย ทั้งฤดูกาลปกติและรอบแชมเปี้ยนชิพ ทั้งหมดรวม 4 สมัย (2020/21 (ฤดูกาลปกติและรอบแชมเปี้ยน), 2021/22 และ 2022/23) ติดทีมออลสตาร์ประจำลีก 1 ครั้ง (2022) และติดทีมยอดเยี่ยมลีก 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ซีซั่น 2020/21-2022/23
ยิ่งไปกว่านั้น กู้ด ยังเป็นผู้เล่นที่ลงสนามให้กับ เมลเบิร์น ซิตี้ มากที่สุดตลอดกาลจำนวน 179 นัด เคยคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมของสโมสรมาครองได้ในฤดูกาล 2020/21 จนเขากลายเป็นสัญลักษณ์และตัวแทนจิตวิญญาณความเป็นนักสู้ของสโมสรนี้ แล้วทำให้ทางผู้บริหารตัดสินใจเปลี่ยนชื่อรางวัล Player of the Year มาเป็น Curtis Good Award ซึ่งนับเป็นเกียรติสูงสุดของนักเตะสักคนหนึ่งที่พึงมีได้ จากการที่ต้นสังกัดเห็นคุณค่าว่าอยู่ในระดับตำนานของทีม
แม้ว่าเกมส่งท้ายของ กู้ด ในสีเสื้อ เมลเบิร์น ซิตี้ จะจบลงแบบตลกร้ายไปสักหน่อย เมื่อเขาพาต้นสังกัดไปไกลได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์ด้วยการพ่ายนัดชิงชนะเลิศให้กับ เมลเบิร์น วิคตอรี่ ด้วยการดวลลูกจุดโทษ 3-4 หลังเสมอกันในเวลา 0-0 แถมเจ้าตัวยังโดนใบเหลืองใบที่สองเป็นใบแดงไล่ออกจากสนามในนาทีที่ 118
แต่แฟนบอลที่เข้ามาชมเกมนัดสั่งลาของเขา ณ สนาม เอเอเอ็มไอ สเตเดี้ยม ก็มีจำนวนมากถึง 21,358 คน ปิดฉากการค้าแข้งบนเวที เอ ลีก อย่างสมเกียรติ ซึ่งเขาได้กล่าวอำลา เมลเบิร์น ซิตี้ ทีมอันเป็นที่รักของเขาเอาไว้ว่า
“การเป็นเด็กถิ่นเมืองเมลเบิร์น ผมได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนอื่นๆ ให้รับใช้สโมสรแห่งนี้นานเท่าที่จะเป็นไปได้ จากการมอบความมั่นใจให้กับผมตั้งแต่เป็นนักเตะเยาวชน เปิดประตูให้ผมได้มีโอกาสไปค้าแข้งในยุโรป รวมไปถึงการประสบความสำเร็จร่วมกันตั้งแต่ผมกลับมาเล่นในออสเตรเลีย สโมสรแห่งนี้มีบทบาทอย่างใหญ่หลวงกับการใช้ชีวิตของผมทั้งในและนอกสนาม”
“เพื่อนร่วมทีมของผมทุกคน เหล่าสตาฟฟ์โค้ช และแฟนๆ ล้วนมีส่วนสำคัญกับผมจนนาทีสุดท้าย ผมรักสโมสรแห่งนี้ และการได้รับเกียรติให้ใช้ชื่อเป็นรางวัลของสโมสรหลังจากผมจากไปถือเป็นเรื่องที่เป็นเกียรติสูงสุดสำหรับผม ทั้งตัวผมและครอบครัวจะเรียกทีมนี้ว่า บ้าน ตลอดไป”
ยิ่งไปกว่านั้น มิชาเอล เปตริลโล่ (Michael Petrillo) ผู้อำนวยการกีฬาของ เมลเบิร์น ซิตี้ กล่าวสดุดีถึงสิ่งที่ กู้ด ทิ้งไว้กับสโมสรแห่งนี้ว่า น่าเสียดายที่กองหลังที่ดีที่สุดคนหนึ่งของ เอ ลีก กลับไม่มีอนาคตสวยหรูแบบที่ควรจะเป็นเพราะอาการบาดเจ็บ ถึงแม้เขาจะไม่ได้กลายเป็นแนวรับทีดีที่สุด แต่เขามีส่วนสำคัญมากๆ กับความสำเร็จของสโมสรนี้จากผลงานที่เขาทำไว้ แฟนบอลและทุกคนที่นี่จะให้ความเคารพเขาว่าเป็นตำนานของทีมตลอดไป
การปิดตำนานของ กู้ด บนเวที เอ ลีก อาจเป็นจุดเริ่มของตำนานบทใหม่ของเขากับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งเส้นทางนั้น มีจุดเริ่มจากการเผชิญหน้ากันมาก่อนแบบที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว
จากอดีตศัตรูสู่เพื่อนร่วมทีม
กู้ด เพิ่งจะผ่านการเป็นศัตรูในการเผชิญหน้ากับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด บนเวที เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม ฤดูกาลนี้มาหมาดๆ 2 เกม เหย้า-เยือน ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้ง เมลเบิร์น ซิตี้ และ ปราสาทสายฟ้า ต่างกอดคอตกรอบไปด้วยกันทั้งคู่ โดยกิมมิคที่น่าสนใจ คือทั้งสองทีมต่างใช้กุนซือเป็นชาวออสเตรเลียเหมือนกันทั้ง ออเรลิโอ วิดม่าร์ (Aurelio Vidmar) และ อาเธอร์ ปาปาส
เกมในนัดแรกเป็นทางฝั่ง เมลเบิร์น ซิตี้ ที่ได้ลงเล่นเป็นเจ้าบ้านก่อน พ่ายให้กับอาคันตุกะ บุรีรัมย์ คาถิ่นแบบน่าเจ็บใจ 0-1 เป็นทาง โกรัน เคาซิช ที่ทำแสบยิงประตูชัยในาทีที่ 86 ซึ่งในเกมดังกล่าว กู้ด ได้ลงเล่นเป็นตัวจริงและอยู่ในสนามจนจบเกม
มาถึงนัดที่สองในถิ่น ช้าง อารีน่า ทางฝั่ง เมลเบิร์น ซิตี้ เปลี่ยนกุนซือมาเป็น ราโด วิโดซิช (Rado Vidosic) เป็นฝ่ายบุกมาถอนแค้นได้สำเร็จ ด้วยการบุกมาเอาชนะไปได้ 2-0 จากประตูของ อเลสซานโดร โลปาเน่ (Alessandro Lopane) นาทีที่ 22 และ เจมี่ แม็คคลาเรน (Jamie Maclaren) นาทีที่ 41 ซึ่งทาง กู้ด ก็โชว์ฟอร์มได้อย่างแข็งแกร่งในการขันแนวรับตั้งแต่นาทีแรกจนสิ้นเสียงนกหวีดเป่าจบเกม แล้วสามารถเก็บคลีนชีทกลับออกไปได้ด้วย
ผลงานของ กู้ด ทั้งสองนัด อาจมีสิ่งที่ไปเตะตาทีมงานของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ไม่ว่าจะเป็นการออกบอลจากแผงหลัง, การสั่งการแนวรับด้วยความเป็นผู้นำ หรือ การเล่นลูกกลางอากาศได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าการที่ ปราสาทสายฟ้า จะเซ็นใครมาเป็นโควต้าต่างชาติ พวกเขาต้องไต่ตรองมาอย่างดีและถี่ถ้วนแล้ว
การกลับมายัง บุรีรัมย์ ในกรอบเวลาเพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งปีของ กู้ด แล้วเปลี่ยนบทบาทจากศัตรูมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญ น่าจะเป็นการผจญภัยบทใหม่ที่น่าสนใจไม่ว่ากับทั้งตัวของนักเตะเอง หรือแม้แต่ต้นสังกัดใหม่ แล้วโอกาสแก้ตัวครั้งสำคัญคงหนีไม่พ้นเวที เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ซึ่งต้องมาดูกันว่า คราวนี้จะไปได้ไกลกว่าเดิมแค่ไหน?
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Curtis_Good
https://www.hitc.com/en-gb/2018/09/20/curtis-good-explains-why-newcastle-spell-failed/
https://www.ftbl.com.au/news/curtis-good-to-trial-at-newcastle-united--297176
https://aleagues.com.au/news/all-good-curtis-newcastle/
https://www.bbc.com/sport/football/19065309
https://melbournecityfc.com.au/news/20240501-good-to-depart/
https://aleagues.com.au/news/a-league-melbourne-city-curtis-good-transfer-news-next-club/
https://www.transfermarkt.com/melbourne-city-fc_buriram-united/index/spielbericht/4166366
https://www.transfermarkt.com/buriram-united_melbourne-city-fc/index/spielbericht/4166364