เคาะวนไปไม่จบง่ายๆ : ทำไมเกมบุก บีจี จึงไม่ “ดุดัน” และ “โบ๊ะบ๊ะ” ?

เคาะวนไปไม่จบง่ายๆ : ทำไมเกมบุก บีจี จึงไม่ “ดุดัน” และ “โบ๊ะบ๊ะ” ?
ชยันธร ใจมูล

บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เปิดบ้านเอาชนะ อุทัยธานี เอฟซี ไป 2-0 ... มองผิวเผินนี่คือสกอร์ในแบบที่ชนะสบาย ๆ อย่างไรก็ตามหากใครได้รับชมเกมนี้ คุณจะได้เห็นปัญหาของ บีจี อีกครั้งนั่นคือ "เกมรุก" ที่ขาดความดุดันและทะลุทะลวง

ทำไมทีม ๆ นี้จึงยังไม่ร้อนแรง โดยเฉพาะเกมรุกที่ถือเป็นจุดขายเรียกให้แฟนบอลเข้ามาเชียร์ และเป็นสิ่งสำคัญของทีมระดับลุ้นเเชมป์ ?

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่

จุดอ่อนของ 3-5-2

มาโกโตะ เทกุระโมระ หรือ "เทกุ" คือกุนซือที่ชื่นชอบในระบบกองหลัง 3 ตัวเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าเรื่องของระบบการเล่นในวงการฟุตบอลนั้น ไม่มีระบบไหนในโลกที่การันตีว่าดีที่สุด ถ้าใช้เมื่อไหร่จะเป็นแชมป์เมื่อนั้น ... เพราะทุก ๆ ระบบล้วนมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป และที่จริงแล้วสิ่งที่สำคัญกว่าระบบคือเรื่องของวิธีการเล่นมากกว่า

แผนการเล่นหลัง 3 ของ บีจี ปรากฎในรูปแบบของ 3-5-2 แน่นอนว่าแผนนี้มีจุดเด่นที่ความสมดุล คุณจะได้เกมรับที่เหนียวแน่นเวลาตั้งรับ เพราะจะมีนักเตะกองหลังถึง 5 ตัว และยังมีมิดฟิลด์ลงมาปัดกวาดก่อนบอลจะถึงพื้นที่สุดท้ายอีก และแน่นอนเมื่อทีมได้เล่นเกมบุก วิงแบ็คทั้ง 2 ข้างจะขึ้นมาจัดการเกมรุกแบบเต็มระบบ เชื่อมเกมกับเหล่าตัวรุก ทำให้คุณมีนักเตะในเกมรุกมาขึ้นโดยธรรมชาติ

ไม่มีคำอธิบาย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องกังวลของแผนการเล่นนี้คือ "ความเชี่ยวชาญ" มีทีมไม่มากนักบนโลกนี้ที่ใช้ระบบการเล่นนี้เป็นประจำ เพราะในความยืดหยุ่นที่เราได้กล่าวไว้ว่าข้อดีคือจะได้นักเตะจำนวนเยอะขึ้นเวลาตั้งเกมรับ หรือขึ้นเกมบุก คือการซ่อนไว้ด้วยเรื่องของความเข้าใจในระบบการเล่นมาก ๆ เพราะ ในจังหวะรุกและรับ ทุกคนต้องสอดประสานกันตลอด เรียกได้ว่าแต่ละคนนอกจากจะต้องจัดการพื้นที่ที่รับผิดชอบของตัวเองให้ดีแล้ว ยังต้องช่วยงานเพื่อนร่วมทีมเพื่อเล่นร่วมกับตำแหน่ง เพื่อให้ได้เกมรับที่เเน่นหนา และเกมรุกหลากหลาย มีผู้เล่นขยายไปเต็มพื้นที่ของสนาม สร้างความกดดันให้กับคู่แข่งในยามที่ได้บอล

บีจี ตอนนี้ เพิ่งสร้างทีมขึ้นมาใหม่จะพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิดนัก แม้จะมีตัวหลักยืนพื้นเป็นตัวเดิม แต่ถ้านับตั้งแต่ต้นฤดูกาลนักเตะใหม่อย่าง ชนาธิป, อิกอร์ เซเกอเยฟ, ไรฮาน สจ๊วร์ต, ดานิโล อัลเวส ไล่มาจนถึงนักเตะที่เสริมเข้ามาในตลาดนี้อย่าง กฤษดา กาแมน ถือเป็นนักเตะที่ถูกวางไว้เป็นตัวหลักของทีม แต่ตลอดทั้งฤดูกาลที่ผ่านมา แข้งเหล่านี้สลับกันเจ็บ มา ๆ หาย ๆ จนทำให้ 11 ตัวจริงเปลี่ยนแทบทุกนัด

ไม่มีคำอธิบาย

แม้ในยุคที่โค้ชธง ธงชัย สุขโกกี คุมทีมจะมีการเล่นระบบหลัง 3 อยู่บ้าง แต่แน่นอนว่าในรายละเอียดของ โค้ชธง และ โค้ชใหม่ อย่าง เทกุ ย่อมมีความแตกต่างที่แต่ละคนใส่ลงไป สิ่งที่เราได้เห็นคือ บอลของ เทกุ คือบอลที่เน้นครอบครองบอลเป็นหลัก ผ่านบอลให้เยอะ ๆ และใช้การเข้าทำแบบหลากหลาย เจาะตรงกลางก็ได้ ออกปีกก็ได้ ซึ่งในแง่ของการครองบอล จะว่าไปแล้ว บีจี ก็ทำได้ไม่เลวใน 2 เกมแรกของเลกที่ 2 แต่ฟุตบอลนั้นวัดกันในจังหวะสุดท้าย ที่ต้องอาศัยความเร็วและความแม่นยำมาก ๆ

ด้วยความที่ใหม่ตั้งแต่โค้ชยันนักเตะแบบนี้สปีดบอล และสปีดเกมอาจจะน้อยเกินไป ในการเจาะประตูคู่แข่ง ยิ่งเมื่อต้องมาเจอคู่แข่งที่ตั้งใจมารับอยู่แล้วแบบนี้ ถ้าไม่เร็วและเเม่นจริง ไม่ว่าจะระบบการเล่นไหนก็ผ่านไปลุ้นในพื้นที่สุดท้ายได้ยากทั้งนั้น

โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรก จะเห็นได้ว่า บีจี ไม่สามารถหาโอกาสยิงใส่ อุทัยธานี ได้เลยแม้แต่หนเดียว

พลังที่หายไป

นอกจากนักเตะตัวหลักในส่วนของเกมรุกจะสลับ ๆ กันเจ็บตลอดแล้ว ปัญหาที่เห็นได้ชัดของบีจี คือการขาดตัวทะลุลวงชนิดที่ว่าเลี้ยงกินตัวเก่ง ๆ แบบที่หลอกคู่แข่งแล้วสามารถแตะหนีไปได้เลย

ไม่มีคำอธิบาย

จริงอยู่ที่ ชนาธิป ยังพอทำไหว แต่ ชนาธิป ก็ไม่ใช่นักเตะหนุ่ม ๆ แล้ว อีกทั้งเจ้าตัวก็เพิ่งสลัดอาการบาดเจ็บมาได้ไม่นาน ดังนั้นการมีตัวทะลวงอย่าง ชนาธิป คนเดียวมันจึงน้อยเกินไป และถึงแม้จะมี อิคซาน ฟานดี้ กองหน้าตัวทีมชาติสิงคโปร์ ที่ยังหนุ่มยังเเน่น แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการบาดเจ็บ ที่เพิ่งพักมาหลายเดือน ดังนั้นการจะได้เห็นความดุดันแบบวิ่งทะลุไลน์คู่แข่งแล้วซัดเปรี้ยงเต็มข้อเหมือนตอนมาใหม่ ๆ ก็เป็นไปได้ยากในเวลานี้

ยิ่งในระบบกองหลัง 3 ตัวที่มีตัวริมเส้นเป็นอย่าง วิงแบ็ค เป็นหลักในการขึ้นเกม แล้วมีวิงแบ็คที่ ไม่รวดเร็ว คล่องตัว และเปิดบอลด้านข้างได้ดีมากพอแล้ว ทั้งพลังและความหลากหลายในเกมรุกก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก

ไม่มีคำอธิบาย

หากคุณมองที่อายุของนักเตะเกมรุกบีจีในตอนนี้ แทบจะเป็นนักเตะวัย "30up" ทั้งหมด สิ่งที่ได้จากนักเตะวัยเก๋าเหล่านี้คือเรื่องของความเฉียบขาด ตัดสินใจถูกจังหวะ ตามประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยผ่านมา

แต่สิ่งที่พวกเขาเหล่านี้หายไปคือจังหวะการเลี้ยงตะลุย การกินตัว 1-1 การเข้าปะทะ และการช่วยทีมเล่นเกมรุกตั้งแต่แดนบน ซึ่งต้องอาศัยพลังมากหากจะหวังให้นักเตะตอบโจทย์ทั้งหมดที่กล่าวมา ซึ่งนักเตะที่พอจะทำจ็อบเหล่านี้ได้ ต้องเป็นนักเตะหนุ่ม "ชั้นดี"

ซึ่งต้องขอยกตัวอย่าง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในปีที่ มาซาทาดะ อิชิอิ คุมทีมคว้า 3 แชมป์สมัยที่ 2 ที่มีนักเตะต่างชาติอย่าง ดุมบูย่า และ โบลินกิ เป็นตัวชน ตัวพัก ส่วนนักเตะหนุ่มชาวไทยอย่าง ศุภชัย ใจเด็ด และ ศุภณัฎฐ์ เหมือนตา เป็นคนเล่นเกมเพรสซิ่ง และเป็นคนที่คอยผสานงาน ให้ความสด ความเร็ว เป็นตัวเข้าทำ ซึ่งในซีซั่นนั้น ศุภชัย ก็คว้าดาวซัลโวไทยลีก ส่วน ศุภณัฎฐ์ ก็มีสถิติทั้งยิงและแอสซิสต์มากที่สุดในชีวิตค้าแข้งของเขา

สิ่งที่ บีจี ขาดตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องของพลัง ซึ่งไม่ได้บอกว่าตัวรุกเดิมไม่ดี เพียงแต่อาจจะต้องการผสมดาวรุ่งชั้นดีเข้าไป จึงจะได้พลัง และความเร็วเพิ่มเติมเข้ามา อย่างน้อยที่สุดมีเด็กจี๊ด ๆ อายุน้อย ๆ ลงมาจัดการกับคู่แข่งในช่วง 15-20 นาทีสุดท้าย ก็น่าจะเป็นการเปลี่ยนกลิ่นเกมรุก ที่ทำให้คู่แข่งจับทางยากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้

สรุปคือทั้งหมดนี้น่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการสร้างทีมและการปรับตัวกับระบบการเล่น "โค้ชเทกุ" มีโอกาสได้เสริมนัพเตะเพียงแค่ตลาดเดียวเท่านั้น แถมยังเป็นตลาดกลางซีซั่น ดังนั้นเราต้องรอเช็คกันต่อเนื่องว่าในตลาดครั้งต่อ ๆ ไป หรือหลังจบซีซั่นนี้ เขาจะได้นักเตะที่หยิบมาใส่แผนการเล่นแล้วลงล็อคมากแค่ไหน

ไม่มีคำอธิบาย

ส่วนที่ 2 คือบางที เทกุ อาจจะมีวิธีการที่เหมาะสมอยู่แล้ว ภายใต้ระบบการนเล่นหลัง 3 นี้ รอเพียงแต่นักเตะทุกคนกลับมาฟิตพร้อมลงเล่น เราอาจจะได้เห็นว่า บีจี จะดุดันขึ้นกว่าที่เป็นในตอนนี้หรือไม่ ?

แชร์บทความนี้

ข่าวและบทความล่าสุด

หัวหน้ากองบรรณาธิการ, คิดไซด์โค้ง-ThinkCurve
mask-bg
logo-black

SOCIAL MEDIA

MOST POPULAR

สนใจโฆษณาติดต่อ