เก็งกิ ฮารางูจิ : ตำนาน อูราวะ กับสไตล์และแนวคิด ที่ เอกนิษฐ์ ควรตามรอย
เอกนิษฐ์ ปัญญา เริ่มสร้างผลงานในสีเสื้อของ อูราวะ เรดส์ หลังได้ออกสตาร์ทเป็นตัวจริง ก่อนจะทำ 1 แอสซิสต์ ในเกมที่ต้นสังกัดบุกพ่าย โปฮัง สตีลเลอร์ส ในเกม เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่ม เมื่อคืนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี “เจ้าร้านขนมปัง” ตามฉายาที่แฟนเรดส์ตั้งให้ อาจจะใช้เวลาอีกสักพักในการเบียดแย่งตัวจริงในทีม ทำให้บางทีการเลียนแบบรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ก็เป็นวิธีที่ไม่เลว
และคนที่น่าสนใจที่สุดก็คือ เก็งกิ ฮารางูจิ เด็กปั้นของเรดส์ ที่เล่นอยู่กับ สตุ๊ตการ์ท ในบุนเดสลีกาของเยอรมัน ด้วยตำแหน่งในช่วงแรกของนักเตะอาชีพไปจนถึงสไตล์การเล่นที่คล้ายคลึงกัน
อะไรบ้างที่ “ปังยะซัง” ควรเลียนแบบ ติดตามไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
กล้าได้กล้าเสีย
เก็งกิ ฮารางูจิ ถือเป็นนักเตะที่สร้างชื่อกับ อุราวะ เรดส์ มาตั้งแต่สมัยเยาวชน และอยู่ในทีมชุด “โกลเดนเจนเนเรชั่น” ที่คว้าแชมป์ถ้วยเจ้าชายทาคามาโดะ ทัวร์นาเมนต์ ระดับเยาวชน ด้วยการเอาชนะ นาโงยา แกรมปัส ในนัดชิงชนะเลิศไปอย่างขาดลอย 9-1 เมื่อปี 2008
จากนั้นในปีต่อมา เขาก็ได้เซ็นสัญญาอาชีพกับ เรดส์ พร้อมทำสถิติเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร ด้วยวัยเพียง 17 ปี 4 เดือน และกลายเป็นนักเตะญี่ปุ่นอายุน้อยสุดที่ยิงประตูให้สโมสร (17 ปี 11 เดือน กับ 3 วัน) หลังเบิกสกอร์ในเกมกับ นาโงยา แกรมปัส
ฮารางูจิ ค่อย ๆ สถาปนา ขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญ และซีซั่นที่เขาเฉิดฉายก็มาถึงในปี 2011 หลังทำไป 9 ประตูจาก 30 นัด ช่วยให้ เรดส์ รอดพ้นจากการตกชั้นได้อย่างฉิวเฉียด
จุดเด่นของ เก็งกิ คือการเลี้ยงบอล และความเร็ว ซึ่งคล้ายกับ เอกนิษฐ์ แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือความกล้าได้กล้าเสีย เมื่ออดีตเยาวชนของเรดส์ ไม่กลัวที่จะเลี้ยงบอลใส่คู่แข่ง แม้อาจจะทำให้เขาโดนเตะ หรือเจอกับคู่แข่งที่ประสบการณ์มากกว่า
แม้ว่าสไตล์การเล่นแบบนี้ อาจจะทำให้เขาโดนตำหนิในเชิงชอบฉายเดี่ยวมากเกินไป แต่มันก็กลายเป็นอาวุธของ เรดส์ ในยามคับขัน ที่เห็นได้จากประตูชัยในหลายเกมของทีมมาจากปลายสตั๊ดของเขา
นอกจากนี้ ด้วยตำแหน่งที่เริ่มต้นนักเตะอาชีพกับปีกซ้าย เหมือนกับ “ปังยะซัง” ทำให้นอกจากจะมีโอกาสผลิตสกอร์ได้แล้ว ยังทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์โอกาสให้ทีมได้เช่นกัน
โดยตลอดการค้าแข้ง 7 ฤดูกาลในถิ่นไซตามะ สเตเดียม ฮารางูจิ ทำไปได้ถึง 40 ประตู และอีก 32 แอสซิสต์ จาก 204 นัดในทุกรายการ และเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีส่วนร่วมกับประตูมากที่สุดในทีม
อย่างไรก็ดี ความยอดเยี่ยมของเขาไม่ได้มีแค่นี้
ความอึดเกินใคร
จุดเด่นอีกอย่างที่ “ปังยะซัง” ควรศึกษาจาก ฮารางูจิ คือความสารพัดประโยชน์ เพราะนอกจากปีกซ้ายตำแหน่งถนัดแล้ว เขายังสามารถเล่นได้ทั้งปีกขวา มิดฟิลด์ตัวกลาง กองกลางตัวรุก และหน้าต่ำ
ความยืดหยุ่นเหล่านี้เกิดจากความพยายามพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เล่นในตำแหน่งที่โค้ชต้องการได้ จนทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นที่สามารถเลือกใช้ได้หลายบทบาท
อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งที่ทำให้ เก็งกิ สามารถทำแบบนี้ได้ คือความสามารถในการยืนระยะของเขา เนื่องจากอดีตเยาวชนของเรดส์ คือหนึ่งในผู้เล่นที่มีความอึดเป็นลำดับต้น ๆ ของทีม วิ่งได้ไม่หมด แม้จะอยู่ช่วงท้ายเกม
โดยคนที่ดึงศักยภาพของ ฮารางูจิ ในส่วนนี้ออกมาใช้งานได้มากที่สุดคือ วาฮิด วาลิฮอดซิช กุนซือชาวบอสเนีย ที่เคยคุมทีมชาติญี่ปุ่นในช่วงปี 2015-2018
เขาเล็งเห็นว่าความอึดของ ฮารางูจิ น่าจะมีประโยชน์แก่ทัพซามูไรบลู ในบทบาทตัวสอดขึ้นมาจากแถวสอง ทำให้หลายครั้ง วาฮิด มักจะใช้งาน เก็งกิ ในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวกลาง แทนจะเป็นปีกซ้ายที่เจ้าตัวถนัดมากสุด
“จุดเด่นของแกไม่ใช่การสปรินท์ที่ยอดเยี่ยม แต่เป็นการวิ่งได้ต่อเนื่องยาวนานกว่าใคร” วาฮิด กล่าวกับ เก็งกิ
“การพาบอลจากตำแหน่งที่ต่ำกว่าเล็กน้อย หรือการกระโจนจากตำแหน่งเหล่านั้นสามารถคุกคามคู่ต่อสู้ได้มากกว่าการวิ่งจากตำแหน่งแดนหน้า”
ก่อนที่สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ ฮารางูจิ กลายเป็นนักเตะที่โค้ชหลายคนเลือกใช้ก่อนใคร
บู๊สุดพลัง
แม้ว่าจะเป็นผู้เล่นตำแหน่งตัวรุก แต่อีกจุดแข็งที่มองข้ามไม่ได้ของ ฮารางูจิ คือความทุ่มเท เขาพร้อมที่จะเข้าแย่งบอลจากคู่แข่งอย่างไม่ลังเล จนกลายเป็นผู้เล่นตัวรุกลำดับต้นๆ ที่เข้าปะทะมากที่สุดในแต่ละเกม
“ลักษณะเฉพาะตัวของฮารางูจิ คือความทุ่มเท ซึ่งไม่ค่อยพบในผู้เล่นตำแหน่งตัวรุก” ผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า อาโอฟูโตะ กล่าวเว็บไซต์ Blue Football
“เขาช่วยทีมด้วยการเข้าบู๊แย่งบอลอย่างดุเดือดและวิ่งเร็วกว่าทุกคนในจังหวะเปลี่ยนเกม”
“ช่วงหลังเขามักถูกใช้ในตำแหน่งตัวกลาง ความสารพัดประโยชน์ ทำให้บทบาทของเขาของเขากว้างขึ้น และกลายเป็นสเน่ห์ของเขา”
อย่างไรก็ดี การเข้าบอลของฮารางูจิ นั้นไม่ได้มั่วซั่ว เขาจะอ่านเกม รอจังหวะ แล้วค่อยตัดสินใจเข้าไปแย่งบอล ซึ่งเป็นปรัญชาของผู้เล่นญี่ปุ่น ที่ได้รับการถ่ายทอดแบบรุ่นต่อรุ่น จากเด็ทมาร์ คราเมอร์ โค้ชชาวเยอรมันที่วางรากฐาน จนทำให้ทีมชาติญี่ปุ่น คว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1968
แนวคิดของ คราเมอร์ คือต้องแน่ใจก่อนจะเข้าปะทะ เพราะเขามองว่ามันไม่มีประโยชน์ที่จะเข้าบอลแบบ 50-50 ที่อาจทำให้ ทีมที่กำลังเล่นเกมรับเป็นฝ่ายเสียเปรียบหนัก หากแพ้ในการแย่งบอล
“การเข้าปะทะที่มีความเสี่ยงสูงนั้นไม่มีประโยชน์” อดีตโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นผู้ล่วงลับอธิบาย
“ครูเคนโด้คนหนึ่งเคยสอนผมคำหนึ่งกับผมนั่นคือ ‘ทำให้สำเร็จ’ (Zanshin) ถ้าคุณพยายามจะตัดสินทุกอย่างในดาบเดียว ตอนที่โดนแลกกลับมาคุณอาจจะถูกตอบโต้ในสภาวะที่ไร้การป้องกัน และมันก็อันตรายเกินไป”
“ฟุตบอลก็เหมือนกัน การเข้าปะทะแบบ 50-50 นั้นไม่มีประโยชน์หากโดนสวนกลับมา”
และมันก็เป็นรูปแบบในการป้องกันของ ฮารางูจิ ที่ทำให้เขามีบทบาททั้งเกมรุกและเกมรับ ทั้งตอนค้าแข้งกับเรดส์ ทีมชาติญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งเล่นให้กับทีมในเยอรมัน
เชื่อว่าหาก เอกนิษฐ์ สามารถพัฒนาในส่วนเหล่านี้ได้ น่าจะทำให้เขามีเขี้ยวเล็บมากขึ้น และช่วยเพิ่มโอกาสในการยึดตำแหน่งตัวจริงของ เรดส์ ต่อไปในอนาคตก็เป็นได้
แหล่งอ้างอิง
https://ym-football.com/player-genkiharaguchi/
https://real-sports.jp/page/articles/775190215911277626/
https://www.soccer-king.jp/sk_column/article/66682.html
https://www.transfermarkt.com/genki-haraguchi/leistungsdatendetails/spieler/79377