เล่นง่าย-ได้(ประตู)ไว แนวทางบอล 7 คน สู่การพัฒนาสู่กีฬาอาชีพ
ฟุตบอล 7 คน กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง จากกระแสของฟุตบอล 7 คน แชมป์กีฬา 7HD ที่มีกระแสทั้งในสนาม และนอกสนาม ด้วยกติกาที่สามารถทำประตูได้ตลอด, บรรยากาศแฟนบอลที่เชียร์สถาบัน, บรรดาผู้เล่นดาวรุ่งที่มีแวว และ การได้ออกสื่อหลักอย่างช่อง 7 ที่เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า นี่คือรายการที่ได้รับความนิยม ไม่แพ้กับฟุตบอลลีกในบ้านเรา
ซึ่งอานิสงส์นี้ ส่งผลถึงเวทีฟุตบอลเดินสาย ที่เล่นกันแบบ ฟุตบอล 7 คน จนหลายรายการมีการชิงเงินกันไม่ใช่แค่หลักหมื่น หรือ หลักแสน แต่ชิงกันเป็นเงินล้าน และยอดการเข้าชมเกมผ่านช่องทางออนไลน์ ถือว่าสูงไม่แพ้กัน นั่นมาสู่ความตั้งใจในการจะพัฒนา เวทีฟุตบอล 7 คน ให้มีหน้ามีตาในวงการกีฬาไทย
Think Curve - คิดไซด์โค้ง ขอนำเสนอมุมมองของวงการ 'ฟุตบอล 7 คน' ในวันที่พวกเขา ขอยกระดับไปสู่การยอมรับในวงการกีฬาไทยผ่านบทความนี้กัน
แท็คติก
"ความแตกต่างของบอล 7 คน มันคือตรงกลางระหว่างฟุตซอล กับ ฟุตบอล, ฟุตบอล 7 คน ที่มันยิงกันเยอะ เพราะ หนึ่ง-ประตูมันใหญ่ สองคือมันไม่มีล้ำหน้า เกมมันเลยต่อเนื่องได้มากกว่า ฟุตบอล 11 คน ที่มีล้ำหน้าแล้วเกมจะหยุดลง"
อ.สกล เกลี้ยงประเสริฐ โค้ช ร.ร.หมอนทองวิทยา และอดีตกุนซือ ร.ร.สุรศักดิ์มนตรี มองถึงความต่างของฟุตบอล 7 คน ที่มีความแตกต่างกับฟุตบอล 11 คน ซึ่งแน่นอนว่าด้วยกติกาที่สามารถยิงได้ทุกพื้นที่ ย่อมส่งผลถึงการยิงประตูที่มากมาย และระยะเวลาของเกมที่มีเพียง 25 นาที นั่นทำให้นอกจากผู้เล่นจะต้องคิดเร็วทำเร็วแล้ว การบริหารความฟิตและจิตใจ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
"ถ้าเด็กผ่านกระบวนการเล่นฟุตบอลอาชีพแล้ว ความฟิตมันต่อเนื่องกว่า มันจะเป็นระบบกว่า ซึ่งเขาจะกะระยะถูกว่าจะใช้แรงยังไง แต่ไม่ใช่เล่นสุ่มสี่สุ่มห้า ซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะมีแรงช่วง 5 นาทีแรก รวมถึงสภาพจิตใจด้วย เพราะถ้ามันโดนง่าย โดนก่อน มันก็มีผลเหมือนกัน" อ.สกล กล่าว
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นฟุตบอลที่สามารถยิงประตูและเสียประตูกันง่าย แต่ด้วยวัฒนธรรมการเล่นฟุตบอลของไทย ที่มีความคุ้นชิน นั่นทำให้รายการฟุตบอล 7 คน ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในระดับฟุตบอลนักเรียน ที่หลายโรงเรียน เน้นในการส่งทีมเข้าแข่งขัน ดังเช่นการแข่งขันฟุตบอลแชมป์กีฬา 7HD ในหนล่าสุด มีถึง 256 โรงเรียนจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อสร้างชื่อและเป็นเวทีประลองยุทธ์ลูกหนังที่แท้จริง
หันมาที่อีกระดับหนึ่ง-วงการฟุตบอลเดินสาย เองก็ความตื่นตัวกันอย่างต่อเนื่อง และมีการนำ ฟุตบอล 7 คน มาเป็นรูปแบบการแข่งขัน ซึ่งมีหลายรายการที่ชิงเงินรางวัลระดับล้าน ซึ่งล่อตาล่อใจให้นักฟุตบอลไม่ว่าจะไร้ดีกรีแต่มีฝีมือ หรือระดับติดทีมชาติไทยมาแล้ว เข้ามาร่วมแข่งขันในช่วงที่สามารถให้ทำการแข่งขันได้ บวกกับการบรรยายเกมของผู้บรรยายที่ไม่จำเป็นต้องทางการ แต่สามารถเข้าถึงอารมณ์คนดู ก็เป็นสิงหนึ่งที่ทำให้ ฟุตบอล 7 คน ในฟุตบอลเดินสายมีความสนุกด้วยเช่นกัน
"ผมมองว่าความสนุกของฟุตบอล 7 คนคือ เกมมันเร็ว พอเกมเร็ว คนพากย์ก็ฟรีสไตล์ มันเลยทำให้บอล 7 คน มีความนิยมค่อนข้างสูง" 'กอล์ฟ ปราการ' ภัทรวุฒิ ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้คร่ำหวอดวงการฟุตบอลเดินสายมองถึงประเด็นความสนใจของผู้คนต่อฟุตบอล 7 คน
"ฟุตบอล 7 คนบ้านเรา จริงๆ มันมีมานานแล้ว เหตุผลที่มันเกิดขึ้นมา ก็เป็นเรื่องของขนาดสนามที่เหมาะกับแนวนี้ซะเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงพวกสนามให้เช่าต่างๆ ก็เป็นขนาดเล่น 7 คนได้ มันเลยเป็นที่มาของความนิยมตรงนี้ แล้วจริงๆ ความนิยมนี้มันมีมานานแล้ว แต่ว่าสื่อโซเชียลมันยังมีไม่เยอะ แต่พอตอนหลัง คนมาสนใจและเริ่มเห็น พอมีสื่อนำเสนอ เลยทำให้ทุกอย่างพีคไปหมด"
และนั่นนำมาสู่ความพยายามที่จะพัฒนาและยกระดับฟุตบอล 7 คน ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับวงการฟุตบอล 11 คน มีที่อยู่ในปัจจุบัน
ทำทีม
ถึงแม้ว่า วงการฟุตบอล 7 คนในรูปแบบของฟุตบอลเดินสาย จะได้รับความนิยม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ภาพจำของผู้คนบางส่วนยังมองว่า มีแต่ความรุนแรง และเกี่ยวข้องกับการพนัน ซึ่งเรื่องนี้ กอล์ฟ ปราการ มองว่าเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำความเข้าใจกับสังคม เกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่ต้อง 'ใสสะอาด' มากขึ้น
"ผมมองว่าเรื่องการพนันมันมีทุกที่ไม่เว้นแต่ฟุตบอลอาชีพ แต่บอลเดินสายที่ขาวสะอาดเองก็มีเป็นร้อยรายการเลย เพียงแต่ว่า คนมองเป็นภาพจำ แต่อย่างที่ผมเคยทำฟุตบอล 7 คน กับเครื่องดื่มยื่ห้อหนึ่งที่เป็นสปอนเซอร์ระดับโลก มันก็ไม่เกี่ยวข้อง ถามว่าในฟุตบอลอาชีพก็มี(การพนัน) ตรงนี้ปล่อยมาได้ยังไง แต่คนมองตรงนี้เป็นเรื่องปกติ ขึ้นกับว่าคนจะมองมุมไหน"
"ทุกวันนี้ฟุตบอลเดินสายบูมมาก แต่คนไปจำภาพที่มีปัญหากัน ทั้งๆ ที่รายการที่มีปัญหา ไม่ใช่รายการใหญ่ๆ ที่ผ่านมาเราจัดบอล 7 คนตรงนี้มา 500 กว่าทีม ตลอด 2 ปีไม่เคยมีปัญหาอะไรที่มันรุนแรงออกไปเลย"
กระนั้นเอง ในระยะหลัง ฟุตบอล 7 คนในรูปแบบเดินสายก็มีการพัฒนาแนวทางการแข่งขันในสนาม รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับนอกสนามให้เป็นมาตรฐานตรงนี้มากขึ้น รวมถึงมีความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาอีกด้วย
"ฟุตบอลเดินสายมันมีหลายเกรดที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งรายการเหล่านั้น ตรวจละเอียด ทั้งแต่ความปลอดภัย การจัดการที่พร้อมหมดเลย นอกจากนี้ เรายังจับมือกับ สมาคมฟุตบอลเวียดนาม (VFF) ในการส่งตัวแทนไปแข่ง ซึ่งเราก็ต้องหาตัวแทนไปแข่งกันทุกปี รายการฟุตบอล 7 คนชิงแชมป์อาเซียน ซึ่งในอนาคตหากมีการรับรองก็จะสามารถส่งแข่งขันในนามทีมชาติไทยเต็มตัวได้เลย"
ซึ่งจากความพยายามตรงนี้ มันย่อมส่งผลถึงภาพลักษณ์ของฟุตบอล 7 คน ที่มีการพัฒนามากขึ้นจากการตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศฟุตบอลอาชีพของไทย
ส่งแข่ง
"ผมว่าฟุตบอลเด็ก ผมว่ารายการมันน้อย แต่อย่างฟุตบอล 7 สี มันเปิดให้ทั่วประเทศ ซึ่งแตกต่างกับบอลกรมพละฯ ที่มีแต่ทีมใหญ่ ซึ่งเราได้เห็นหลายโรงเรียนดีๆ ซึ่งมันดีมาก และบอล 7 คน มันสามารถต่อยอดไปถึง 11 คนอยู่แล้ว อย่าง ธีราทร (บุญมาทัน) ก็ยังเคยเตะ 7 คน เมื่อ 10 กว่าปีก่อน" ปืน บางเกริก-บัญชา หุ่นไทย ผู้จัดการทีมฟุตบอล 6 คนของไทย พูดถึงปัญหาของวงการฟุตบอลเด็กและการตอบสนองของฟุตบอล 7 สี
สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ 'เวที' ในการลงเล่น ระบบนิเวศของฟุตบอลไทย ต้องยอมรับว่ามีการแข่งขันกันสูงตั้งแต่รายการฟุตบอลเด็ก จนถึงฟุตบอลผู้ใหญ่ ซึ่งส่งผลถึงการขาดตกของผู้เล่นหลายคนที่มีศักยภาพ แต่ไม่สามารถไปสู่การเป็นนักฟุตอลอาชีพ และต้องมาเล่นฟุตบอล 7 คน เดินสายแทน
"บ้านเรา นักบอลเก่งๆ หายไปเพราะอะไร เพราะมีข้อจำกัดด้านจำนวนคน สมมติว่า ทีมในไทยลีก ทีมนึงมีผู้เล่น 35 คน คูณไป 16 ทีม T2 มี 18 คูณ 35 T3 อีกตั้งเท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่านักบอลสมมติว่าจบจากฟุตบอลนักเรีนหรือมหาวิทยาลัย จบไปจะมีเวทีเล่นเลย แต่ละทีมเขามีคนอยู่แล้ว ซึ่งจะแทรกก็ไม่ง่าย แล้วนักฟุตบอลใหม่ออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน ซึ่งหลายคนเลิกเล่นไปเพราะไม่มีเวทีรองรับ" กอล์ฟ ปราการ พูดถึงปัญหาสำคัญของวงการฟุตบอลไทย
ซึ่งการมีฟุตบอล 7 คน เลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้บรรดาแข้ง มีเวทีในการลงเล่นเพื่อเลี้ยงชีพ รวมถึงเป็นบันไดที่ก้าวไปสู่ฟุตบอล 11 คน ซึ่งมีนักฟุตบอลหลายรายที่เติบโตจากเวทีเดินสาย จนก้าวไปติดทีมชาติไทย อย่าง จิตปัญญา ทิสุด หรือ อนันต์ ยอดสังวาลย์ ซึ่งทั้งหมด นำมาสู่ควาพยายามในการจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลการแข่งขันให้เป็นระเบียบในที่สุด
เขี่ยลูก
ความพยายามในการสร้างสมาคมฟุตบอลเดินสาย หรือ ฟุตบอล 7 คนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แต่ก็ยังมีหลายอุปสรรคที่ยังต้องค่อยๆ ปรับปรุง โดยเฉพาะภาพลักษณ์ และกฎระเบียบ กติกา ที่ต้องชัดเจน
"เชื่อไหมว่าตอนที่ผมจะจดสมาคมฯ เขาไม่รู้เรื่องเลย เราต้องยื่นถึง 4 ครั้งกว่าจะผ่าน เราสู้เรื่องนี้กันสุดๆ เลยเพราะภาพจำของคนในเรื่องนี้ ลึกๆ เขามองว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ แต่ที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว และหลายๆ ที่ ที่จัดกันจริงๆ มีแต่คนบอกว่า ดีกว่าสนุกกว่า การจัดการ ไม่ได้ด้อยกว่าบอลอาชีพ" กอล์ฟ ปราการ พูดถึงความพยายามจัดตั้งองค์กรฟุตบอล 7 คนในเมืองไทย
สวนทางกับ ปืน บางเกริก ที่มองว่ารูปแบบกติกาผู้เล่นควรจะมีความชัดเจน รวมถึงฝากให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนา ทั้งงบประมาณ และมาตรฐานการแข่งขัน
"สำหรับผมการมีองค์กรเกี่ยวกับจัดฟุตบอล 7 คน มันยังซับซ้อน เพราะว่าเกิดนักฟุตบอลที่เล่น 7 คน มันจะสามารถไปเล่นบอล 11 คนได้ไหม เลยมองว่ามันยังซับซ้อน ซึ่งตรงนี้มันต้องพูดคุย ซึ่งสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ อาจจะลงมาดู หรือแบ่งงบลงมาตรงนี้ แล้วให้หน่วยงานมาจัดทางการ และมันควรจะมีต่อเนื่องด้วย แต่อย่าลืมว่าศาสตร์ฟุตบอล 6 คน กับ 7 คน มันก็ต่างกัน 6 คนมันก็เป็นแนวทางของฟุตซอลมากกว่า แต่ 7 คนมันก็กรอบจากสนามใหญ่"
ขณะที่ อ.สกล ยกตัวอย่างเคสกรณีของหลายทีมในวงการฟุตบอลนักเรียนว่า ฝ่ายจัดการแข่งขันควรจะมีมาตรฐานในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เล่น เพื่อให้การแข่งขันมีความยุติธรรม"
"เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เล่น บางที่ก็รวมมาทั้งจังหวัด บางคนจบ ม.6 ไปแล้วยังมาเล่น ซึ่งเรื่องนี้มันต้องชัดเจนในเรื่องคุณสมบัติ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน รวมถึงมาตรฐานของผู้ตัดสิน เพราะผู้ตัดสิน สามารถชี้ขาดบอลแพ้ชนะได้เลย"
ท้ายที่สุด การแข่งขันฟุตบอล 7 คน แม้ว่าจะได้รับความนิยมจนเป็นกระแสอยู่ในทุกๆ ครั้ง หากแต่การพัฒนาสู่แนวทางที่ถูกต้อง จะย่อมนำมาซึ่งการยอมรับและต่อยอดเป็นทางเลือกสำหรับการพัฒนาฟุตบอลไทยในอนาคตอีกเช่นกัน
ข่าวและบทความล่าสุด
RELATED BY AUTHOR