‘เมลเบิร์น ซิตี้’ สโมสรในเครือ ‘แมนฯ ซิตี้’ ที่ทุ่มทุนจนเป็นแชมป์ลีกสูงสุดออสเตรเลีย
เมลเบิร์น ซิตี้ คู่แข่งของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด บนเวที เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ที่มีคิวจะออกไปเยือนสนาม ช้าง อารีน่า ในวันพุธที่ 25 ตุลาคม เวลา 17.00 นาฬิกา ถือว่ามีดีกรีไม่ธรรมดาเพราะเป็นถึงแชมป์ เอ ลีก ออสเตรเลีย เมื่อฤดูกาลที่แล้ว ทำแต้มทิ้งห่างทีมรองแชมป์มากถึง 11 คะแนนเลยทีเดียว
ปัจจัยที่ทำให้ เมลเบิร์น ซิตี้ ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด ปฎิเสธไม่ได้ว่ามาจากสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับแชมป์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ อย่างสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งนับรวมอยู่ในกลุ่มของทีมพันธมิตรในเครือเดียวกัน ดังนั้นเรื่องของเม็ดเงินในการเสริมทัพย่อมไม่ใช่ปัญหา
ความน่าเกรงกลังของพวกเขาเรื่องของขุมกำลังผู้เล่น, เทรนเนอร์คุมทีม และ สไตล์การเล่นต่างๆ จะเป็นเช่นไร? ศึกครั้งนี้จะเป็นงานหนักของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด แชมป์ ไทยลีก ขนาดไหน? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Think Curve - คิดไซด์โค้ง
สโมสรในเครือกลุ่มทุน ‘อาบูดาบี’
ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป (CFG) เป็นกลุ่มพันธมิตรสโมสรฟุตบอล ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งเสริมแบรนด์ของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2013 จากความคิดของ เฟอร์ราน โซเรียโน่ อดีตรองประธานสโมสร บาร์เซโลน่า ที่ต้องการขยายความยิ่งใหญ่ของต้นสังกัด ด้วยแนวคิดการสร้างอคาดมี่คุณภาพไปทั่วทุกมุมโลก โดยแนวคิดนี้กลายเป็นหมันเพราะปัญหาเรื่องการเมืองภายในสโมสร เจ้าบุญทุ่ม ภายใต้การบริหารงานของประธานคนเก่าอย่าง โจน ลาปอร์ต้า
อย่างไรก็ตาม โซเรียโน่ ได้ย้ายมาทำงานกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในปี 2012 แล้วรีบผลักดันโปรเจ็คท์นี้ให้เกิดขึ้นทันที แล้วจากความสัมพันธ์กับ ดอน กาเบอร์ ผู้บริหารศึก เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ในเวลานั้นที่เคยติดต่อกันมาก่อน เลยเกิดดีลในการเทคโอเวอร์ นิวยอร์ค ซิตี้ มาอยู่ในเครือ CFG เป็นทีมแรก ซึ่งแฟนบอลอาจเคยได้เห็นอดีตนักเตะของ เรือใบสีฟ้า อย่าง แฟร้งค์ แลมพาร์ด ถูกส่งไปช่วยทีมในเครืออย่าง นิวยอร์ค ซิตี้ มาแล้ว
แผนการขยายอาณาจักร ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป ของ โซเรียโน่ ตั้งเป้าให้ทางกลุ่มทุนจาก ‘อาบูดาบี’ ภายใต้การบริหารของ ท่านชีคมันซูร์ ไปไล่เทคโอเวอร์สโมสรจากทั่วโลกที่มีศักยภาพตามประเทศต่างๆ มาอยู่ในเครือ ทั้งใน สหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, อินเดีย, ญี่ปุ่น, สเปน, บราซิล, อุรุกวัย, จีน, เบลเยี่ยม, ฝรั่งเศส และ อิตาลี
ซึ่งนับรวมในปัจจุบัน CFG ถือสิทธิ์สโมสรทั่วโลกกว่า 11 สโมสร โดยทุกทีมต้องมีการแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เพื่อเชื่อมโยงมาถึงสโมสรแม่อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยกตัวอย่างเช่น เสื้อแข่ง, ตราสโมสร หรือสิ่งอื่นๆ ที่สามารถสื่อความหมายย้อนกลับมาได้
เมลเบิร์น ซิตี้ นับเป็นสโมสรที่สอง ที่ทาง CFG ติดต่อเทคโอเวอร์มาบริหารงานได้สำเร็จ ในปี 2014 ซึ่งเดิมทีสโมสรนี้ ใช้ชื่อเดิมว่า เมลเบิร์น ฮาร์ท แล้วในปี 2015 ก็มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการบริหารงานต่างๆ จะถูกกำหนดแนวทางจากสโมสรแม่อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้
หากทาง เรือใบสีฟ้า มีดาวรุ่งที่มีศักยภาพแต่ยังไม่พร้อมในการขึ้นชุดใหญ่ ก็จะสามารถส่งมาอยู่กับทีมในกลุ่ม CFG ได้ทันที โดยจะเลือกตามความเหมาะสมว่าควรจะไปอยู่กับสโมสรไหน ยกตัวอย่างเช่น นิวยอร์ค ซิตี้ (สหรัฐฯ), กิโรน่า (สเปน) หรือ ปาแลร์โม่ (อิตาลี) เป็นต้น รวมถึงนโยบายการเสริมทัพต่างๆ ก็จะได้งบประมาณอัดฉีดแต่ละปีมากพอสมควร
ซึ่งนับตั้งแต่ CFG เข้ามาบริหารงา่น เมลเบิร์น ฮาร์ท ก็เปลี่ยนชื่อเป็น เมลเบิร์น ซิตี้ พร้อมกับเปลี่ยนสีเสื้อจากเดิมที่เป็นแดง-ขาว มาเป็นสีฟ้าให้เชื่อมโยงกับทีมแม่ สามารถคว้าแชมป์บอลถ้วยครั้งแรกได้ในปี 2016 และคว้าแชมป์ เอ ลีก ออสเตรเลีย ทั้งฤดูกาลปกติและรอบเพลย์ออฟ รวมกันทั้งหมดได้ถึง 4 สมัยด้วยกันเลยทีเดียว
การแข่งขันในศึก เอ ลีก ออสเตรเลีย จะแบ่งออกเป็นฤดูกาลปกติ และ รอบ แกรนด์ ไฟนอล เพื่อหาแชมป์ในรอบต่างๆ มีจำนวนทีมแข่งขันทั้งหมด 12 ทีม
แชมป์ฤดูกาลปกติจะตัดสินจากทีมที่มีแต้มมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง หากมีสองทีมที่มีแต้มเท่ากันจะวัดจากการตัดสินไล่เรียงไปตามหัวข้อ ดังต่อไปนี้
- จำนววนเกมที่ชนะ
- ผลต่างประตูได้เสีย
- จำนวนประตูได้
- เฮดทูเฮดระหว่างทั้งสองทีม
- แต้มแฟร์เพลย์
- ผลต่างประตูได้เสียเฉพาะเกมเยือน
- ประตูได้เกมเยือน
- ประตูได้เสียเกมเหย้า
- ประตูได้เกมเหย้า
- โยนเหรียญหัว-ก้อย หรือจับฉลากหากมีแต้มเท่ากันมากกว่า 3 ทีม
ส่วนการแข่งขันในรอบ แกรนด์ ไฟนอล จะคัดเอาเฉพาะอันดับ 1-6 ไปแข่งขันกันแบบแพ้คัดออก อันดับ 3 เจอกับอันดับที่ 6 และ อันดับที่ 4 เจอกับ อันดับที่ 5 ทีมอันดับสูงกว่าได้เป็นเจ้าบ้าน เจอกันเกมเดียวจบ
ต่อมาในรอบรองชนะเลิศ ทีมอันดับที่ 1 ในฤดูกาลปกติ จะเจอกับทีมผู้ชนะที่มีอันดับต่ำที่สุดในฤดูกาลปกติ จากการแข่งขันทั้งสองเกม ส่วนทีมอันดับที่ 2 ในฤดูกาลปกติ จะเจอกับทีมที่อันดับสูงกว่าจากผู้ชนะของทั้งสองเกม ทั้งสองเกมแข่งแบบเหย้าเยือน ทีมอันดับ 1 และ 2 ในฤดูกาลปกติจะเลือกได้ว่าจะแข่งเป็นเจ้าบ้านก่อนหรือทีมเยือนก่อนในเกมแรก
พอได้ผู้ชนะจากรอบรองชนะเลิศสองทีม จะมาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเกมเดียวจบ โดยทีมที่อันดับสูงกว่าในฤดูกาลปกติจะได้แข่งขันในบ้าน
นอกจากนี้ CFG ยังลงทุนในเรื่องของการสร้างอคาเดมี่พัฒนานักเตะเยาวชน, ปรับปรุงสนามแข่งขัน และ การส่งเสริมทีมหญิงด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเข้ามาดูแลทุกองค์ประกอบภายในสโมสร ให้มีความก้าวหน้าไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนพร้อมกับมีแนวทางที่ชัดเจนฤดูกาลที่แล้ว เมลเบิร์น ซิตี้ จึงมีการเสริมทัพนักเตะดังๆ อย่าง วาลอน เบริช่า กองกลางดีกรีทีมชาตินอร์เวย์และโคโซโว วัย 30 ปี มาจาก แร็งส์ สโมสรในศึก ลีก เอิง ฝรั่งเศส ส่วนในฤดูกาลนี้ก็มีการคว้าตัว โทลกาย อาสลาน อดีตกองกลางจากสโมสร อูดิเนเซ่ และ ฮัมซ่า ซากี กองกลางจากสโมสร โอแซร์ มาเติมความแข็งแกร่ง
ภาพรวมของทีม
ปัจจุบัน เมลเบิร์น ซิตี้ มอบหมายหน้าที่เฮดโค้ชให้กับ ราโด วิโดซิช ผู้จัดการทีมมาประสบการณ์วัย 62 ปี ซึ่งถูกโยกจากการคุมทีมหญิงมาคุมทีมชายในปี 2022 แล้วก็พาทีมประสบความสำเร็จด้วยการเป็นแชมป์ตั้งแต่ฤดูกาลแรก
ก่อนหน้านี้ วิโดซิช คลุกคลีกับวงการบอลลีก ออสเตรเลีย มาอย่างโชกโชน เริ่มตั้งแต่คุมทีม ควีนแลนด์ ไลอ้อนส์ ก่อนจะโยกไปทำงานกับสโมสรใหญ่อย่าง บริสเบน โรอาร์ รับหน้าที่ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม, คุมทีมเยาวชน, รักษาการณ์ตำแหน่งผู้จัดการทีม และ นั่งแท่นเป็นประธานเทคนิค ตั้งแต่ปี 2006-2013
ต่อมาก็ย้ายไปทำงานกับ ซิดนีย์ เอฟซี, วนกลับมาอยู่กับ บริสเบน โรอาร์, ย้ายไป เมลเบิร์น วิคตอรีย์ และ เวลลิงตัน ฟีนิกซ์ ด้วยการทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมทั้งหมด แล้วถึงได้มาลงเอยกับการนั่งแท่นเป็นเทรนเนอร์ทีมหญิงของ เมลเบิร์น ซิตี้ ตั้งแต่ปี 2018-2022
แนวทางการเล่นของพวกเขา ย่อมถูกวางมาให้เหมือนกับสโมสรแม่อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คือ เน้นการต่อบอลครองเกม ระบบการเล่นที่ถูกใช้งานเป็นประจำจะเป็น 4-2-3-1 และ 4-3-3 คุมพื้นที่ในแดนกลางเพื่อสร้างความได้เปรียบ
แม้ว่าฟอร์มการเล่นในนัดเปิดหัวศึก เอ ลีก ออสเตรเลีย ซีซั่นนี้ จะไม่ค่อยสวยหรูเท่าไหร่ จากการพ่ายคาบ้านให้กับ เวสเทิร์น ยูไนเต็ด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วยสกอร์ 1-2 แต่มีข่าวดีให้ชื่นใจบ้าง คือ โทลกาย อาสลาน เพลย์เมคเกอร์คนใหม่ สามารถเบิกสกอร์แรกให้กับทีมได้แล้ว
ส่วนผู้เล่นแนวรุกที่น่าจับตามองรายอื่นๆ จะเป็นดาวเตะดีกรีทีมชาติออสเตรเลีย ที่แฟนบอลอาจคุ้นชื่อกันดี อาทิ เจมี่ แม็คคลาเรน กองหน้าตัวเป้าที่มีสถิติการยิงประตูสุดโหดให้กับสโมสร ด้วยการกดไป 93 ประตู จากการลงเล่น 115 นัด และ แม็ทธิว เล็กกี้ ที่เคยทำแสบบุกมายิงประตูทีมชาติไทยมาแล้ว ซึ่งคาดว่ามีอาการบาดเจ็บอยู่จากการไม่มีชื่อในเกมลีกสุดสัปดาห์ ต้องมาลุ้นเช็คความฟิตกันอีกที
แนวรับจะมี นูโน่ ไรส์ ดาวเตะชาวโปรตุเกสวัย 32 ปี ที่เคยผ่านการค้าแข้งกับสโมสรดังอย่าง สปอร์ติ้ง ลิสบอน แต่ได้โอกาสลงเล่นแค่ในทีมชุด บี ก่อนตระเวนไปอยู่กับ เม็ตซ์ (ฝรั่งเศส), พานาธิไนกอส (กรีซ), วิคตอเรีย เซตูบัล (โปรตุเกส) และ เลฟสกี้ โซเฟีย (บัลแกเรีย) เป็นหัวใจในการคุมแผงหลัง
การเจอกันระหว่าง เมลเบิร์น ซิตี้ กับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ถือเป็นครั้งแรกของทั้งสองสโมสร แล้วอาจเป็นเกมชี้ชะตาของ ปราสาทสายฟ้า ในการผ่านเข้ารอบต่อไป เพราะเจ้าบ้านมีแต้มตามหลังอาคันตุกะจากออสเตรเลียที่ลงเล่นบนเวทีนี้ไปแล้วสองนัด เสมอกับ เวนโฟเรต์ โคฟุ ในบ้าน 0-0 และบุกไปชนะ เจ้อเจียง 2-1 ทำให้มี 4 แต้ม นำหน้าอยู่หนึ่งคะแนน
แน่นอนว่าเกมนี้คงไม่ใช่งานง่ายของแชมป์จาก ไทยลีก ที่มีแค่ 3 คะแนนจากการเปิดบ้านถล่ม เจ้อเจียง ขาดลอย 4-1 และเพิ่งบุกไปแพ้ โคฟุ 0-1 หากหวังจะพลิกสถานการณ์กุมความได้เปรียบเพื่อผ่านเข้ารอบ จำเป็นต้องมองถึงสามแต้มเพียงอย่างเดียว
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
https://www.espn.com/soccer/story/_/id/37629792/how-much-success-had-world
https://www.footballtransfers.com/en/teams/au/melbourne-city/transfers
https://en.wikipedia.org/wiki/Melbourne_City_FC
https://aleagues.com.au/more/competition-rules/
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ