เพราะเหตุใด โมร็อกโก จึงอยู่ในกลุ่มชาติอาหรับ?
หลังโมร็อกโก ผ่านเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 2002 ก็มีคำกล่าวว่าพวกเขาคือความภาคภูมิใจของชาวอาหรับ แต่พวกเขาอยู่ในแอฟริกาไม่ใช่หรือ?
อาหรับ ≠ ตะวันออกกลาง
ความเป็นจริง มันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะอาหรับไม่ได้หมายถึงทวีป แต่คือภูมิภาคที่ทอดมาตั้งแต่แอฟริกาฝั่งตะวันตก จวบจนถึงตะวันออกกลาง ที่กินพื้นที่กว่า 13 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากกว่า 400 ล้านคน ซึ่งโมร็อกโก คือหนึ่งในนั้น
ดังนั้น อาหรับจึงไม่ได้มีความหมายจำกัดแค่ประเทศในตะวันออกกลาง แต่เป็นประเทศในตะวันออกกลางส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับ
ชาวอาหรับ ยังมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น ผ่านการร่วมกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ที่ประกอบไปด้วยประเทศที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประจำชาติ และใช้ภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ รวมทั้งสิ้น 22 ประเทศ
ทั้งนี้ นอกจาก โมร็อกโก แล้วมันยังประกอบไปด้วย อีก 9 ชาติแอฟริกา คือ แอลจีเรีย, คอโมโรส, จิบูตี, อียิปต์, ลิเบีย, มอริเตเนีย, โซมาเลีย, ซูดาน และตูนิเซีย และอีก 12 ชาติเอเชีย คือ บาห์เรน, อิรัก, จอร์แดน, คูเวต, เลบานอน, โอมาน, ปาเลสไตน์,ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เยเมน รวมถึงเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 อย่างกาตาร์
พวกเขามักจะมีกิจกรรมร่วมกัน เช่นการแข่งขันฟุตบอลที่ชื่อว่า อาหรับคัพ ที่ล่าสุดเมื่อปี 2021 ถูกใช้เป็นทัวร์นาเมนต์ทดสอบสนาม ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 และเป็นแอลจีเรียที่คว้าแชมป์ไปครอง
อย่างไรก็ดี อิหร่านกลับเป็นประเทศเดียว ที่อยู่ในโซนนี้ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตอาหรับ ทั้งที่นับถือศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขามีภาษาราชการเป็นภาษาเปอร์เซีย
ทว่า คนบางกลุ่มในประเทศโมร็อคโกเองก็ไม่ได้รู้สึกภูมิใจกับการถูกเรียกว่า “ชาวอาหรับ”
พลเมืองชั้นสอง
แม้ว่าโมร็อกโก จะมีคุณสมบัติในการเป็นชาวอาหรับ ทั้งการเป็นสมาชิกสันนิบาต, ผู้คนร้อยละ 99.6 นับถือศาสนาอิสลาม และมีภาษาอารบิกเป็นภาษาราชการ แต่ก็มีผู้คนไม่น้อย ที่ไม่ค่อยพอใจกับการแปะป้ายพวกเขาในฐานะ “ชาวอาหรับ”
เนื่องจาก โมร็อคโก มีประชากรกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่มีเชื้อสายเบอร์เบอร์ หนึ่งในชนเผ่าดั้งเดิมของ โมร็อคโก ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าชาวอาหรับ มีความพยายามจะลบตัวตนของพวกเขา
นอกจากนี้ ภาษาทามาไซท์ ภาษาถิ่นที่ชาวโมร็อคโกถึง 1 ใน 3 พูดกัน รวมถึงภาษาเบอร์เบอร์ ก็ถูกผลักให้เป็นภาษาชั้นสอง รองมาจากภาษาอารบิก และเพิ่งจะได้ยกฐานะเป็นภาษาราชการ เมื่อปี 2011 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเร่งรีบ เพื่อเอาใจผู้คนในช่วงอาหรับสปริง
แต่สิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้พวกเขามากที่สุด คือการถูกเหยียดจากชาติอื่นในภูมิภาคอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่นที่ชื่อว่า Darija ก็มักถูกล้อเลียน ดูถูก ถากถาง จากชาติอื่นที่พูดภาษาอารบิก เป็นภาษาที่เข้าใจยาก
หรือการที่ผู้หญิงชาวโมร็อคโก มักจะถูกเหมารวม และกล่าวหาในเชิงลบว่าเป็นโสเภณี หรือครั้งหนึ่งซาอุดิอาระเบีย เคยห้ามผู้หญิงจากชาติทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกาแห่งนี้ เดินทางมาทำพิธีอุมเราะห์ หรือการแสวงบุญที่นครเมกกะ ส่วนจอร์แดน ต้องมีผู้ปกครองที่เป็นผู้ชายมาด้วย
เนื่องจากชาติอาหรับหลายชาติ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง มีความเชื่อว่าผู้หญิงโมร็อกโก เป็นแม่มด และจะใช้เวทย์มนต์คาถา เพื่อล่อลวงชายหนุ่มที่ไร้เดียงสา
“เด็กผู้หญิงโมร็อกโก อาจจะสร้างปัญหาให้คุณได้ คำเตือนจากผู้หญิงบางคน” ส่วนหนึ่งของพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ของซาอุดิอาระเบีย เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
และนี่อาจจะเป็นเหตุผลว่า แม้ว่าชาวอาหรับจะดูเป็นกลุ่มก้อน แต่พวกเขาก็ยังไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกัน และทำให้ความพยายามปลุกกระแสชาตินิยมอาหรับ อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย
แหล่งอ้างอิง
https://www.aljazeera.com/news/2022/12/10/how-the-arab-world-celebrated-moroccos-win
ข่าวและบทความล่าสุด